หน้าที่เมีย – กฎหมายผัว ๆ เมีย ๆ ในรัชกาลที่ 5-7

หน้าที่ของการเป็นเมียตามที่ปรากฏในคดีความและฎีกาสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 โดยเฉพาะในข้อพิพาทเรื่องเมียกล่าวโทษว่าผัวไม่เลี้ยงดู ในข้อพิพาทนี้ฝ่ายชายมักจะกล่าวหาฝ่ายหญิงว่าไม่ได้ทำหน้าที่ของเมียที่ดี ดังนั้นพวกเขาจึงไม่เลี้ยงดูพวกเธอ ในทางตรงข้ามกัน ฝ่ายเมียก็มักจะกล่าวถึงตนเองว่าได้ทำหน้าที่เมียที่ดี เพื่อที่เรียกร้องสิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดูในฐานะเมีย โดยหน้าที่ของการเป็นเมียที่ประมวลได้จากคดีความและฎีกา ที่สำคัญคือ หน้าที่ของ “การเป็นแม่บ้านแม่เรือน” หน้าที่ต้อง “เคารพเชื่อฟังผัว” และหน้าที่ต้อง “ช่วยเหลืออุปการะเกื้อกูลกัน”

หน้าที่ของ “การเป็นแม่บ้านแม่เรือน” ตัวอย่างเช่น เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2463 หม่อมแสงมณีกล่าวโทษหม่อมเจ้าทองเชื้อธรรมชาติว่าประพฤติชั่วทอดทิ้งไม่เลี้ยงดูลูกเมีย จึงร้องขอให้หม่อมเจ้าทองเชื้อธรรมชาติจ่ายค่าเลี้ยงดูและแบ่งทรัพย์สินให้แก่ลูก ๆ

ในหนังสือของ “หม่อมเจ้าทองเชื้อธรรมชาติ” กล่าวว่า “การทางบ้านซึ่งเปนน่าที่ของแม่เจ้าเรือนก็มิได้จัดการทำ การบริโภคก็อัตคัดทุกอย่าง เที่ยวหาซื้อตามหาบตามที่มีผู้มาขายก็เห็นว่าพอ ครั้นเมื่อมีเพื่อนฝูงซึ่งเปนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปมาหาข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าก็ต้องเลี้ยงดูรับรองท่านให้สมเกียรติยศท่าน กลับใช้วาจาเอาเนื้อหมาให้มันกินก็ได้ ถึงการบริโภคทุกวันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้อาไศรยมารดาข้าพระพุทธเจ้าเท่านั้น หม่อมแสงมณีทองแถมณกรุงเทพไม่พยายามหาความศุขให้ข้าพระพุทธเจ้าเลย เงินทองส่งไปเท่าใดก็ว่าหมดและไม่พอใช้ กลับเขี้ยวเข็ญด่าว่าต่อไปอีก”

หน้าที่สำคัญอีกประการของเมียคือ หน้าที่ “ต้องเคารพเชื่อฟังผัว” ดังปรากฏจากคำกล่าวของฝ่ายผัวที่มักจะกล่าวหาว่าฝ่ายเมียแสดงกิริยาไม่เหมาะสมกับผัวจนเป็นสาเหตุทำให้เขาไม่เลี้ยงดูพวกเธอ เช่น ใช้คำหยาบต่อว่าผัว พูดจาไม่เชื่อ ซึ่งหน้าที่นี้ยังรวมไปถึงการเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ ญาติพี่น้องของผัวด้วย ดังในหนังสือของ “หม่อมเจ้าทองเชื้อธรรมชาติ” ที่ต่อว่าฝ่ายหม่อมแสงมณีว่า

“(หม่อมแสงมณี) ใช้คำหยาบและด่าต่อหน้าประชุมชน…ด่าว่าข้าพระพุทธเจ้าเป็นสัตว์ และลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ข้อนี้ข้าพระพุทธเจ้าถือว่าด่าบิดาข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าเป็นกิริยาและวาจาที่ไม่สมควรที่สุภาพสตรีจะพึงใช้ ใช่แต่เท่านั้น ยังใช้คำว่าหน้าด้านเลวกว่าฝุ่นตามถนนเสียอีก ชาติสัตว์ นอกจากนี้ยังด่าทอถึงพี่ป้าอาลุงของข้าพระพุทธเจ้า…ทำให้ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกว่าข้าพระพุทธเจ้าเกลียดอะไรในโลกนี้เท่ากับเกลียดหม่อมแสงมณีทองแถมณกรุงเทพ เปนไม่มี”

หน้าที่สำคัญอีกประการของการเป็นเมียคือ “ช่วยเหลืออุปการะเกื้อกูลกัน” ซึ่งตัวอย่างของหน้าที่นี้สะท้อนได้จากกรณีฎีกาของอำแดงใหญ่ (เมีย) กล่าวโทษหลวงสถานพิทักษ์ (ผัว) ว่าไม่เลี้ยงดู ในฎีกาอำแดงใหญ่พยายามบอกว่า เธอเป็นผู้คอยช่วยเหลือหลวงสถานพิทักษ์เมื่อต้องคดี

“เมื่อหลวงสถานพิทักษ์ต้องคดี ข้าพระพุทธเจ้าได้ช่วยเปนธุระในการที่ทนายจะว่าความตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ก็สู้ยอมเสียเงิน โดยคิดหวังการข้างหน้า เผื่อว่าหลวงสถานพิทักษ์หลุดพ้นไปได้ จะได้เลี้ยงดูข้าพระพุทธเจ้าเปนแม่นมั่นนั้น”

ซึ่งในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า เธอพยายามเน้นย้ำว่าเธอได้ทำหน้าที่ของเมียที่จะต้อง “ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน” ไม่ว่าจะในยามสุขหรือยามทุกข์ ดังนั้นการที่อำแดงใหญ่กล่าวว่า เธออยู่คอยช่วยเหลือหลวงสถานพิทักษ์ในยามต้องเดือดร้อนจำคุก เพื่อแสดงให้เห็นว่าเธอได้ทำหน้าที่ของเมียที่ดีอย่างสม่ำเสมอ เธอในฐานะของเมียก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้หลวงสถานพิทักษ์เลี้ยงดูเธอ

อ่าน “หน้าที่ผัว” ได้ที่ : หน้าที่ผัว – กฎหมายผัว ๆ เมีย ๆ ในรัชกาลที่ 5-7

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เรื่องผัว ๆ เมีย ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 7 ผ่านกฎหมาย คดีความและฎีกา” เขียนโดย ภาวิณี บุนนาค ในศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2561