หน้าที่ผัว – กฎหมายผัว ๆ เมีย ๆ ในรัชกาลที่ 5-7

จากการที่การเป็นผัวเมียกันตามกฎหมายแต่เดิมไม่มีหลักฐานกำหนดไว้อย่างชัดเจน ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดข้อพิพาทนี้ขึ้นก็คือ การต้องพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิง เมื่อฝ่ายหนึ่งอ้างสิทธิที่เกิดจากการเป็นผัวเป็นเมีย ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกลับปฏิเสธความสัมพันธ์เพื่อยืนยันสิทธิของตนเองและปฏิเสธหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบในฐานะผัวหรือเมีย ซึ่งในการสัมพันธ์ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต่างก็หยิบยกเอา “หน้าที่ของการเป็นผัว” กับ “หน้าที่ของการเป็นเมีย” มาต่อสู้กัน อันสามารถแสดงให้เข้าใจได้ว่าผัวเมียนั้นเป็นกันอย่างไร

หน้าที่ของการเป็นผัว

จากการพิจารณาเอกสารประเภทคดีความและฎีกาในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 หน้าที่ของการเป็นผัวอาจสังเกตได้จากข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินระหว่างผัวเมีย และข้อพิพาทเมียกล่าวโทษผัวว่าไม่เลี้ยงดู ซึ่งข้อพิพาทเหล่านี้สามารถสะท้อนหน้าที่ของผัวคือ “การเลี้ยงดูครอบครัว” 

ในข้อพิพาทเรื่องทรัพย์สินระหว่างผัวเมีย ตัวอย่างเช่น คดีความที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2446 ระหว่างเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี และคุณหญิงสุ่น พิพาทกันด้วยเรื่องที่ดินริมวังบูรพาภิรมย์ ด้านหน้าจดถนนพาหุรัด มีผลประโยชน์เป็นรายได้จากค่าเช่าตึกแถว ในคดีนี้นอกเหนือจากการต่อสู้ตามตัวบทกฎหมายแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายต่างหยิบยกเอาหน้าที่การเป็นผัวเมียมาต่อสู้กันเพื่ออ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทั้งนี้ “คุณหญิงสุ่น” มีคำให้การว่า

“เจ้าพระยาภาณุวงษ์ได้ทะเลาะวิวาทกับสุ่นถึงแก่ความแตกร้าวละทิ้งเรือนไป ไม่ได้นำพาเหลียวแลจนทุกวันนี้ถึง 50 ปีแล้ว สุ่นเปนผู้ปกครองหาเลี้ยงบุตรตลอดจนทุกวันนี้ แลเหย้าเรือนที่ปลูกสร้างแลให้มีผู้เช่าเปนทุนทรัพย์ของสุ่นแต่คงเปนสินสมรศ แต่ครั้นเกิดเพลิงไหม้ถึง 3 ครั้ง สุ่นก็ลงทุนทำก่อสร้างเปน 4 ครั้ง ทั้งครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทุนรอนของเจ้าพระยาภาณุวงษ์ แลสุ่นได้เปนความด้วยเรื่องที่นี้จนชนะแลทั้งได้แบ่งขายที่นี้ โดยมิประกาศโฆษณาในนามของสุ่นผู้เดียว เจ้าพระยาภาณุวงษ์ก็หาได้ทักท้วงไม่ สุ่นจึงถือว่าที่นี้เป็นกรรมสิทธิ์แก่สุ่น”

เจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)

จากคำให้การของคุณหญิงสุ่นข้างต้น ความหมายก็คือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ไม่ได้ทำหน้าที่ผัวที่จะต้องเลี้ยงดูเมีย ซึ่งเป็นสิทธิที่เมียทุกคนจะต้องได้รับเป็นเวลานานถึง 50 ปี ดังนั้นสิทธิการเป็นผัวของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ จึงสิ้นสุดลงไปด้วย

ในแง่นี้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ จึงไม่มีสิทธิในที่ดินรายนี้ในแง่ที่เป็นสินสมรส เพราะทั้งสองไม่ได้เป็นผัวเมียกันแล้ว โดยคุณหญิงสุ่นอ้างสิทธิปกครองจากการลงทุนทำประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว ตามลักษณะสิทธิในการครอบครองที่ดินทั่วไป ซึ่งในที่นี้คุณหญิงสุ่นน่าจะมองตนเองในฐานะคนทำมาหากินที่สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเองหรือมีอำนาจปกครองตนเอง ไม่ได้อยู่ใต้ปกครองของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ที่เป็นผัวดังที่ปรากฎจากคำให้การที่คุณหญิงสุ่นที่พยายามเน้นให้ศาลเชื่อว่าตัวเธอกับเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ได้ขาดจากการเป็นผัวเมียกันแล้ว

ในขณะเดียวกัน “เจ้าพระยาภานุวงศ์ฯ” ก็พยายามต่อสู้ว่า ตัวท่านได้ทำหน้าที่ของผัว โดยท่านได้เลี้ยงดูคุณหญิงสุ่นในฐานะเมีย ทั้งในยามปกติ ยามที่เจ็บป่วย ไม่เคยทอดทิ้งให้ต้องลำบาก ในแง่นี้ตามกฎหมายท่านกับคุณหญิงสุ่นจึงยังไม่ขาดจากการเป็นผัวเมีย

อ่าน “หน้าที่เมีย” ได้ที่ : หน้าที่เมีย – กฎหมายผัว ๆ เมีย ๆ ในรัชกาลที่ 5-7

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เรื่องผัว ๆ เมีย ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 7 ผ่านกฎหมาย คดีความและฎีกา” เขียนโดย ภาวิณี บุนนาค ในศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2561