เบื้องหลังกบฏแมนฮัตตัน กับเหตุที่ต้อง “เลื่อน” ถึง 5 ครั้ง

เรือหลวงศรีอยุธยาสถานที่กักตัว จอมพล ป. ในกบฏแมนฮัตตัน (ภาพจาก ทหารเรือกบฏฯ)
เรือหลวงศรีอยุธยาสถานที่กักตัว จอมพล ป. ในกบฏแมนฮัตตัน (ภาพจากหนังสือ ทหารเรือกบฏ แมนฮัตตัน)

‘กบฏแมนฮัตตัน’ ที่เกิดขึ้นในบ่ายวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 และสิ้นสุดลงตอนเย็นวันที่ 1 กรกฎาคม  2494 เป็นความพยายามของทหารเรือกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้ริเริ่มก่อการ ด้วยต้องการโค่นล้มรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มาจากการรัฐประหาร เบื้องหลังการปฏิบัติการครั้งนี้ ทำไมจึงต้องเลื่อน เลื่อน และเลื่อน ถึง 5 ครั้ง ซึ่งก็ไม่ทราบว่ามากที่สุดใน ‘วงการ’ หรือไม่

นิยม สุขรองแพ่ง อดีตจ่าทหารเรือผู้ร่วมกบฏ บันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ใน “ทหารเรือ ‘กบฏแมนฮัตตัน’” ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ในที่นี้ขอคัดย่อมาเฉพาะเหตุที่ต้องเลื่อนปฏิบัติการครั้งแล้วครั้งเล่า เนื้อหาส่วนหนึ่งดังนี้

“ก่อนที่จะถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2494 อันเป็นวันปฏิบัติการของกลุ่มคณะกู้ชาติได้ใช้ความพยายามถึง 5 ครั้ง แต่ก็ต้องล้มเลิกก่อนเวลาลงมือปฏิบัติการ ดังจะเห็นได้จากคําพิพากษาของศาล ดังต่อไปนี้ ‘ในการนี้ ได้มีการประชุมวางแผน และฝึกซ้อมการเข้ายึดสถานที่ตั้งรัฐบาล เตรียมรอโอกาสที่จะลงมือปฏิบัติ การอยู่ ได้มีการเลื่อนกําหนดลงมือหลายครั้ง’

คณะกู้ชาติได้ใช้ความพยายามที่จะจับตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่แล้วต้องเลื่อนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่าดัง ต่อไปนี้

ครั้งที่ 1

วันที่ 22 ตุลาคม 2493 เป็นวันส่งทหารไปร่วมรบกับกองทัพสหประชาชาติในสมรภูมิเกาหลีเป็นครั้งแรก ณ ท่าเรือคลองเตย คณะกู้ชาติมีแผนการที่จะเข้าควบคุมตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และบรรดาขุนศึกที่มีอํานาจสั่งการแก่กองทัพทั้งสามและตํารวจในระหว่างพิธี แม้ว่าจะมีผู้ไปส่งเป็นจํานวนมาก แต่คณะกู้ชาติจะจู่โจมเข้าไปทางด้านหลัง เพื่อไม่ให้ผู้คน แตกตื่น ส่วนทางด้านหน้าก็จะใช้กําลังทหารบกที่จะเดินทาง ไปเกาหลีซึ่งสายงานได้ตกลงกันไว้แล้วเข้าสกัดกั้น

ทางด้านริมแม่น้ำ เรือรบซึ่งจอดเทียบท่าอยู่ในบริเวณนั้นจะให้ความสนับสนุน และเมื่อได้ตัวผู้ที่ต้องการแล้วจะนําไปควบคุมไว้ที่กองสัญญาณทหารเรือ กําลังนาวิกโยธิน จากกองสัญญาณฯ จะเคลื่อนออกไปรักษาการณ์ ตามจุดที่ได้รับมอบหมายโดยประสานงานกับนาวิกโยธิน ที่จะมาจากฝั่งธนบุรี หลังจากนั้นจะได้ออกอากาศกระจายเสียงสั่งห้ามหน่วยทหารบางหน่วยเคลื่อนย้ายกําลังออกจากที่ตั้ง ทั้งนี้ โดยจะออกอากาศจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งราชนาวี (2 ร.น.) ซึ่งตั้งอยู่ในกองสัญญาณทหารเรือ

คณะกู้ชาติได้ประชุมกันที่บ้านหลังหนึ่งเพื่อเตรียมการตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 21 ตุลาคม จนกระทั่ง ถึงเวลา 02.00ฃ น.ของวันใหม่ คือ วันที่ 22 ตุลาคม 2493 อันเป็นวันที่จะปฏิบัติการ น.ต.ประกาย พุทธารี ได้แจ้งว่า ไม่แน่ใจว่าจะนํากําลังนาวิกโยธิน (น.ย. 4-5) จากสวนอนันต์ ธนบุรี ออกมาปฏิบัติการได้

ความตั้งใจที่จะปฏิบัติการในครั้งแรก เป็นอันต้องระงับไป

ครั้นรุ่งเช้าวันที่ 22 ตุลาคม 2493 หลังจากที่ได้สั่งระงับการปฏิบัติการแล้ว สมาชิกคณะกู้ชาติหลายคน ได้ไปสังเกตการณ์ที่สี่แยกถนนวิทยุ ได้พบสารวัตรทหารเรือถืออาวุธเรียงรายตามจุดต่างๆ มีจํานวนมากผิดปกติ

หลังจากนั้น ได้ไปบริเวณพิธี ณ ท่าเรือคลองเตย และได้เข้าไปจนใกล้ตัวจอมพล ป. โดยไม่มีใครสนใจ แสดงว่าไม่มีใครล่วงรู้แผนการครั้งนี้เลย

ในวันเดียวกันนั้นเอง คณะกู้ชาติก็ได้ทราบว่า นายทหารสังกัดกรมสรรพาวุธทหารเรือคนหนึ่งนําแผนการครั้งนี้ไปบอกให้นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ทราบ เรื่องจึงรู้ ไปถึง พล.ร.อ.สินธุ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ท่านจึงได้สั่ง เตรียมการป้องกันดังกล่าวแล้ว

ครั้งที่ 2

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2493 เป็นวันแข่งขัน รักบี้ฟุตบอลระหว่างกองทัพบกกับราชนาวี ตามปกติ การแข่งขันนัดนี้จะมีผู้เข้าชมอย่างคับคั่ง นายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งสามกองทัพจะได้รับเชิญไปชมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา คณะกู้ชาติได้วางแผนจู่โจมเข้าจับจอมพล ป. พิบูลสงครามเหมือนเมื่อครั้งก่อนตอนสายของวันแข่งขัน ผู้ปฏิบัติการต่างเตรียมพร้อมอยู่ตามจุดต่างๆ ที่กําหนดไว้

ครั้นเวลาประมาณ 14.00 น. มีข่าวว่ากําลังตํารวจจากโรงเรียนตํารวจปทุมวันมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ น.ต.มนัส จารุภา จึงรีบออกไปสังเกตการณ์ ได้พบว่ากําลังตํารวจประมาณ 2 กองร้อยพร้อมทั้งอาวุธเคลื่อนไปตามถนนเพลินจิตแล้วเลี้ยวเข้าซอยหลังสวน สันนิษฐานว่าฝ่ายตํารวจอาจทราบระแคะระคายและเตรียมป้องกัน น.ต.มนัส จึงรีบกลับไปที่กองเรือรบ เมื่อปรึกษาหารือกันแล้ว ที่ประชุมตกลงให้ระงับเป็นครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาแข่งขันปรากฏว่าจอมพล ป. ติดราชการไม่ได้ไปชมการแข่งขัน

การระงับการปฏิบัติการทั้งสองคราว ทําให้สมาชิกบางคนหวาดผวาเกรงความลับจะแตก จึงบังเกิดความท้อแท้

ครั้งที่ 3

ต้นปี พ.ศ. 2494 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก กําหนดจะทําพิธีแจกเข็มเสนาธิปัตย์และประกาศนียบัตร ณ ห้องประชุมกระทรวงกลาโหม โดยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นประธานในพิธี นายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งสามกองทัพและนายตํารวจชั้นผู้ใหญ่จะต้องมาร่วมในพิธี ถ้าไม่ติดราชการอื่นที่จําเป็นกว่า การปฏิบัติการคราวนี้คณะกู้ชาติมอบหมายให้สายงานฝ่ายทหารบกเป็นผู้จู่โจม เข้าควบคุมตัวจอมพล ป. ในบริเวณกระทรวงกลาโหม ทหารเรือจากกองเรือรบจะเข้าปลดอาวุธกองรักษาการณ์ ที่หน้ากระทรวงกลาโหม สายงานฝ่ายทหารบกอีกส่วนหนึ่ง จะเคลื่อนกําลังจาก ร.พัน 1 รักษาพระองค์เข้ายึดพื้นที่ รอบๆ ศาลาว่าการกลาโหม พิธีจะเริ่มเวลาประมาณ 14.30 น. จึงตกลงให้ทุกสายงานพร้อมกันในเวลา 14.00 น. แผนการนี้ได้ประชุมตกลงกันล่วงหน้าเป็นเวลาหลายวัน

ครั้นถึงวันปฏิบัติงานหัวหน้าสายฝ่ายทหารบก ผู้รับมอบหน้าที่ให้เป็นผู้จับจอมพล ป. แจ้งว่าสายของตนไม่พร้อม ฝ่ายทหารเรือสั่งระงับได้ทันท่วงที

ที่น่าวิตกที่สุด คือ ทหารบกจาก ร.พัน 1 รักษาพระองค์เคลื่อนที่ออกมาแล้วถึง 2 หมวด พร้อมทั้งปืนกลหนักและกระสุนจริง จึงต้องทําที่เป็นฝึกซ้อม การใช้ปืนกลหนัก เป็นเหตุให้ผู้บังคับบัญชาสงสัย และเพ่งเล็งในระยะต่อมา

สาเหตุแห่งความล้มเหลวคราวนี้เนื่องมาจาก นายทหารบกชั้นนายพันผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จับ จอมพล ป. เกิดไม่กล้าขึ้นมา เกรงจะทําการไม่สําเร็จ เพราะนายทหารผู้นี้เคยพลาดมาครั้งหนึ่งแล้วในกรณีกบฏเสนาธิการ (หรือกบฏ 1 ตุลาคม 2491 โดยมี พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต เป็นหัวหน้า) นายทหารผู้นี้ จึงไม่มาตามนัด ทําให้ผู้ปฏิบัติงานในสายนี้เสียกําลังใจไม่กล้าเสี่ยงกระทําการ

ครั้งที่ 4

เดือนพฤษภาคม 2494 ทางราชการได้จัดส่ง ทหารบกไปเกาหลีอีกรุ่นหนึ่ง โดยใช้ ร.ล.อ่างทองลําเลียง ทหารบกไปถ่ายลงเรืออเมริกันที่เกาะสีชัง คณะกู้ชาติเพิ่งจะรู้ก่อนที่เรือจะออกเพียง 3 ชั่วโมงจึงเตรียมการไม่ทัน

อย่างไรก็ตาม สมาชิกคณะกู้ชาติจํานวน 6 คนได้ ไปสังเกตการณ์ที่ท่าเรือคลองเตยก่อนเรือจะออกประมาณครึ่งชั่วโมง ปรากฏว่า มีผู้ไปส่งไม่มากนักและมีสารวัตรทหารเรือไปรักษาการณ์เพียงไม่กี่คน

นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของทั้งสามกองทัพทยอยกัน มาอย่างครบถ้วน เป็นบุคคลสําคัญที่มีอํานาจสั่งการเกือบ ทั้งหมด ขาด พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์คนเดียวเท่านั้น

สมาชิกคนหนึ่งเห็นว่าเป็นโอกาสอันงามที่หาได้ไม่ง่ายนัก เสนอให้รีบกลับไปนํากําลังมาจากกองสัญญาณทหารเรือออกมาปฏิบัติการ แต่เนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวเติมน้ำมัน รถกึ่งสายพานไว้ ข้อเสนอนี้จึงตกไป สมาชิกอีกคนหนึ่ง ใจร้อน เสนอให้ใช้กําลังที่มาด้วยกันเพียง 6 คน ปฏิบัติการจู่โจมเดี๋ยวนั้น เพราะปืนกลมือเมดเสนก็มีอยู่ในรถแล้ว แต่มีผู้ทัดทานว่า เมื่อฝ่ายตรงข้ามเห็นว่าผู้จู่โจมมีเพียง 6 คน อาจจะฮึดสู้ขึ้นมาก็ได้ หากเป็นเช่นนั้นก็คงจะมีการยิงต่อสู้กันอย่างรุนแรง อาจทําการไม่สําเร็จก็ได้

คณะกู้ชาติต้องพลาดโอกาสอันงามนี้ไปอย่างน่าเสียดาย!

ครั้งที่ 5

วันที่ 26 มิถุนายน 2524 เป็นวันประชุมนาย ทหารชั้นผู้ใหญ่ในทําเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับการปัองกันราชอาณาจักร การประชุมจะเริ่มเวลาประมาณ 10.00 น. และจะเสร็จประมาณ 13.00 น. โดยที่ทราบล่วงหน้าหลายวัน คณะกู้ชาติจึงได้วางแผนจู่โจม ดังนี้

1.หน่วยล้อมทําเนียบรัฐบาลเข้าควบคุมตัวผู้มีอํานาจสั่งการ ให้เป็นหน้าที่ของเสรีไทย อดีตนักเรียน ส.ห. โดย มีนายทหารเป็นหัวหน้า

2.หน่วยจู่โจมวังปารุสกวัน ให้ทําการยึดและทําให้ยานเกราะหมดสมรรถภาพในการเคลื่อนที่และหมดอํานาจ ในการยิงชั่วคราว หน่วยนี้ใช้กําลังหมู่รบจากกองเรือรบ โดยมีรถจี๊ปกลาง ติดปืนขนาด 9 มม. น.ต.มนัส จารุภา เป็นหัวหน้า

ทั้งนี้ เสรีไทยอดีตนักเรียน ส.ห. จะเข้าสนับสนุน ปฏิบัติการด้วย ส่วนทหารเรืออีกจํานวนหนึ่ง รออยู่ในซอยวัดปรินายก

3.กองพันนาวิกโยธินที่ 4 และ 5 (น.ย. 4-5) เคลื่อนที่เข้าสมทบและสนับสนุนปฏิบัติการของหน่วยในข้อ 1 และข้อ 2

และทําการยึดพื้นที่ประสานกับหน่วยในข้อ 4 สายนี้ น.ต.ประกาย พุทธารี เป็นหัวหน้า

4.ในทันทีที่ทราบเรื่องการออกปฏิบัติการของหน่วย อื่นแล้ว นาวิกโยธินจากกองสัญญาณทหารเรือ พร้อมด้วยรถ ถึงสายพานจะเคลื่อนกําลังออกมาประสานงานการยึดพื้นที่ กับหน่วยในข้อ 3

การเตรียมการเพื่อให้เป็นไปตามแผน

แผนการตามข้อ 1 ใช้พาหนะรถยนต์นั่งธรรมดา ที่มีอยู่แล้ว ขนหน่วยจู่โจมเสรีไทยเข้าไปในทําเนียบรัฐบาล

แผนการตามข้อ 2 จัดหาแบตเตอรี่ใหม่มาใส่รถจี๊ปกลาง โดยเช่าจากร้านแบตเตอรี่ที่รู้จัก ส่วนปืนกล 17 มม.ซึ่งติดตั้งบนรถต้องจัดการสร้างครอบทําด้วยไม้ เพื่อมิให้สะดุดตาอันจะก่อให้เกิดความสนใจขึ้นได้ในขณะที่ รถวิ่งไปตามถนนในเวลาออกปฏิบัติการ ครอบไม้นี้จะถอด จากกันได้โดยง่าย ถ้ามองดูในขณะที่ประกอบเข้าด้วยกัน แล้ว จะดูเหมือนลังไม้ขนาดใหญ่ เมื่อจะใช้ก็ถอดครอบทิ้งไป

แผนการตามข้อ 3 ในการลําเลียงทหารจากกองพัน นาวิกโยธิน ที่ 4-5 สวนอนันต์ ธนบุรี ข้ามฟากไปยัง ฝั่งพระนคร ได้ตกลงเช่ารถบรรทุกรับจ้างขนาดใหญ่ จํานวน 5 คัน ราคาคันละ 400 บาท กําหนดให้ไปจอด รออยู่ที่เชิงสะพานข้ามคลองมอญปากทางเข้าวัดชิโนรส ถนนอิสรภาพ เวลา 8.30 น.ของวันที่ 26 มิถุนายน 2494

แผนการตามข้อ 4 จัดหาเบนซินเติมรถกึ่งสายพานของกองสัญญาณทหารเรือ เพราะตามปกติรถเหล่านี้จะ มีน้ำมันเหลือก้นถังเท่านั้น ในการนี้ สายของคณะกู้ชาติได้ไปขอซื้อเชื่อมาเติมเตรียมไว้

พร้อมกันนั้น ได้จัดส่ง ร.ท.ประยูรสวัสดิ์ เอกภูมิ เข้าไปในวังปารุสกวัน โดยอาศัยติดรถงานของผู้รับเหมา ก่อสร้างและรถบรรทุกน้ำมันเข้าไป ทําการสอดแนมดู กําลังป้องกันในวังปารุสกวัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยานเกราะ จึงได้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับที่ตั้งและจํานวนรถอย่างละเอียด นอกจากนั้น ยังได้จัดพิมพ์ใบปลิวแถลงการณ์ ของคณะกู้ชาติขึ้นเป็นจํานวนมาก เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน เมื่อลงมือปฏิบัติการแล้ว

ส่วนค่าใช้จ่ายในการเตรียมการ บรรดาสมาชิกช่วยออกตามฐานานุรูป บางคนถึงกับต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้

วันที่ 26 มิถุนายน 2494 วันปฏิบัติการ น.ต.มนัสกับนายทหารเรืออีก 3 คน ได้ขับรถขนอาวุธ และใบปลิวออกจากกองสํารองเรือรบไปยังจุดนัดพบที่ ถนนจรัญสนิทวงศ์… ณ จุดนั้นรถของ พ.ต. วีระศักดิ์ มัณฑจิตร ได้มาจอดรออยู่แล้ว จึงได้ช่วยกันขนถ่ายอาวุธและใบปลิว เพื่อให้ พ.ต.วีระศักดิ์นําไปแจกจ่ายให้กําลังฝ่ายเสรีไทย เมื่อขนถ่ายเสร็จแล้ว รถทั้งสองคันได้แล่นตามกันไปยังเชิงสะพานทางเข้าวัดชิโนรส รถบรรทุกทั้ง 5 คัน ที่จ้างมาได้จอดรออยู่แล้ว จึงแล่นรถต่อไปอีกเล็ก น้อยและจอดรอรับข่าวจาก น.ต.ประกาย พุทธารี

ส่วน ร.ท.วีระ โอสถานนท์ ได้นําทหารพร้อมทั้งอาวุธ ประมาณ 20 คนขึ้นรถบรรทุกมีผ้าใบคลุมมิดชิด ไปจอดอยู่ในซอยหน้าวัดปรินายก รอเวลาปฏิบัติการ

ใกล้จะถึงเวลา 11.00 น. น.ต.ประกายมาบอกว่า “มีเหตุขัดข้องไม่สามารถนํากําลังนาวิกโยธินออกมาได้”

นับเป็นความผิดพลาดครั้งที่ ๒ ของ น.ต. ประกาย อันทําให้แผนการต้องล้มเหลวเป็นครั้งที่ 5 และ ครั้งนี้ยิ่งลําบากกว่าครั้งก่อน ๆ มาก เพราะได้ขนอาวุธยุทธภัณฑ์ออกมาแล้ว นึกไม่ออกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงพากันไปที่กองสํารองเรือรบเพื่อปรึกษาหารือกัน

ในที่สุด เห็นว่าไม่มีทางที่จะทําต่อไปได้ เพราะขาดนาวิกโยธิน ซึ่งเป็นกําลังหลัก จึงตกลงใจล้มเลิกแผนการทั้งหมด ส่วนอาวุธที่เอาออกมาจากกองสํารองเรือรบ ถ้าจะเอากลับไปคืน ในตอนกลางวัน ผู้ใหญ่อาจสังเกตเห็น จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา ตกลงให้รอเอากลับไปคืนในตอนกลางคืน ในระยะนี้ ให้ขนถ่ายเอาไปไว้ในรถของทหารเรือก่อน ครั้นถึงพลบค่ำ ประมาณ 18.30 น.จึงนําอาวุธเข้าไปเก็บในคลัง ส่วนใบปลิวก็ทิ้งน้ำไป

นอกจากแผนการจะล้มเหลวเป็นครั้งที่ 5 แล้ว บรรดาสมาชิกเริ่มระส่ำระสาย เพราะเกรงความลับจะถูกเปิดเผย ตัวเองจะถูกจับ บางคนขอถอนตัวเพราะหมดกําลังใจที่ เห็นความไม่แน่นอนของสมาชิกบางคนและความล้มเหลว ครั้งแล้วครั้งเล่าของคณะกู้ชาติ…”

คืนวันที่ 28 มิถุนายน 2494  น.ต.มนัส จารุภา ติดต่อผ่านหัวหน้าสายให้ลงมือปฏิบัติการ ในบ่ายวันที่ 29 อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า! อันเป็นการปฏิบัติการครั้งที่ 6 และเป็นครั้งเดียวที่ได้ลงมือจริงๆ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เปิดบันทึกหายากของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เล่าเหตุระทึกกรณีเรือแมนฮัตตัน


ข้อมูลจาก

นิยม สุขรองแพ่ง. ทหารเรือกบฏ “แมนฮัตตัน”. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2529.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564