ก่อนเรียกประเทศ “สหรัฐอเมริกา” คนไทยเรียกว่าอะไรบ้าง? แล้วชื่อนี้ใช้เมื่อใด?

จอร์จ วอชิงตัน ลงนามในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา (ภาพจาก https://www.aoc.gov)

ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นชื่อที่คุ้นหูและใช้กันมาจนเคยชิน แต่นี่คือ 5 ชื่อที่คนไทยแปลจากภาษาอังกฤษที่ว่า The United State of America ซึ่งในบทความเรื่อง “ประธานาธิบดีแห่งกรุงสยาม” ที่เอกลักษณ์ ไชยภูมิ เขียนไว้นั้น มีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงการแปลชื่อของประเทศสหรัฐอเมริกาในอดีตที่ผ่านมาไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ และเน้นคำโดยผู้เขียน)

“ผู้ที่พยายามแปลชื่อประเทศอเมริกาขึ้นเป็นคนแรกๆ คือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาท กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ โดยทรงแปลว่า ประเทศรวมแห่งอเมริกา

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘สหกรณรัฐอเมริกา’

เอกสารปี พ.ศ. 2463-65 ยังเรียก สหรัฐว่า “สหปาลีรัฐอเมริกา”

แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระอุปัชฌาย์จารย์ของพระองค์ทรงเห็นว่าน่าจะใช้คำว่า ‘สหการีรัฐอเมริกา’ จะดีกว่า

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับมา แต่ยังเห็นว่า คำว่า ‘การี’ ฟังดูไม่เหมาะสม เนื่องจากไปพ้องกับคำว่า ‘กาลี’ แบบกาลีบ้านกาลีเมือง ประกอบกับการที่คนไทยเรามีนิสัยรักสนุกชอบแผลงและเทียบเคียงคำ ทำนอง “ฉะนี้” ให้กลายเป็น “ชะนี” เช่นนี้มาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

พระองค์จึงเปลี่ยนไปใช้คำว่า สหปาลีรัฐอเมริกา แทน สหการีรัฐอเมริกา โดยคำว่าสหปาลีรัฐอเมริกาที่ว่านี้ ถูกใช้อย่างแพร่หลายเรื่อยมา

จนกระทั่งหลังการปฏิวัติใน พ.ศ. 2475 หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (พระยศในขณะนั้น) ได้บัญญัติคำๆ ใหม่ขึ้นมาใช้แทน คือคำว่า สหรัฐอเมริกา อันเป็นคำที่ยังคงใช้อยู่ตราบถึงทุกวันนี้”

ส่วนแต่ละชื่อข้างต้น เริ่มใช้ และเลิกใช้ไปเมื่อใด จะค้นหามานำเสนอในโอกาสต่อไป

 


ข้อมูลจาก

เอกลักษณ์ ไชยภูมี.  “ประธานาธิบดีแห่งกรุงสยาม” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2564