เทียบไทม์ไลน์รถไฟไทย กับรถไฟโลก จากรถจักรไอน้ำในอังกฤษ สู่รถไฟไทยสมัยรัชกาลที่ 5

รถไฟสยาม ภาพไปรษณียบัตรเก่าสมัยรัชกาลที่ 5

รถไฟที่มีสัญลักษณ์เสียง ปู๊น ปู๊น เกิดขึ้นในยุโรปตรงกับสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาของไทยเรา แรกๆ คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นในเหมืองแร่ของประเทศเยอรมนี เนื่องเพราะความจำเป็นที่ต้องลำเลียงแร่ที่ขุดได้เป็นจำนวนมากๆ จึงมีการออกแบบเกวียนขนส่งแร่ถ่านหินที่ได้จำนวนมากๆ ล้อของเกวียนหรือยานพาหนะลำเลียงต้องแข็งแรง จึงต้องเลือกใช้ล้อที่ทำด้วยเหล็ก และไม่มีอะไรดีเท่าใช้เป็นพาหนะเทียมม้า และเพื่อให้การลำเลียงมีความสะดวกยิ่งขึ้นจึงพิจารณาแล้วว่าต้องมีรางเลื่อน

เมื่อล้อทำด้วยเหล็ก รางเลื่อนเพื่อความราบรื่นก็ต้องทำด้วยเหล็ก นั่นเป็นจุดกำเนิดของรถไฟที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำในยุคต้น

ในปี ค.ศ. 1690 (พ.ศ. 2233) บริษัทโทมัส ซาเวอรี่ แห่งประเทศอังกฤษ ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรเครื่องจักรไอน้ำขนาดใหญ่เป็นรายแรก แต่ยังไม่มีการนำไปใช้เป็นหัวรถจักร เพราะยังไม่มีใครคิดไกลไปถึงขนาดนั้นแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นอีกจุดหนึ่ง บริษัทโทมัส ซาเวอรี่ ได้ผลิตเครื่องจักรไอน้ำที่ว่านี้ออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการในอีก 4 ปีต่อมา

อีกประมาณ 10 ปีต่อมา คือในปี ค.ศ. 1700 (พ.ศ. 2243) มอริส จอห์นสัน ได้พัฒนาเครื่องจักรไอน้ำแบบใช้ลูกสูบขึ้น และต่อมาเจมส์ วัตต์ จึงเพิ่มระบบคอนเดนเซอร์เข้าไปอีกในปี ค.ศ. 1776 (พ.ศ. 2319) ตรงกับสมัยกรุงธนบุรี ทำให้เครื่องจักรไอน้ำแบบดั้งเดิมกำลังขับเคลื่อนสูงขึ้น และเข้าใกล้ความเป็นรถจักรไอน้ำเข้าไปแล้ว และเจมส์ วัตต์ นี่เองที่ได้รับยกย่องว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ให้กำเนิดรถจักรไอน้ำเป็นรายแรก

ส่วนรถไฟที่ให้บริการรับส่งคนโดยสารครั้งแรกในโลกนั้น เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2368 เปิดเดินรถครั้งแรกนั้นระหว่างสถานีเมืองสต๊อกตัน กับดาร์ลิงตัน ตรงกับสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

หัวรถจักรคันแรกนั้น วิศวกรริชาร์ด เทรวิค สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2347 ทดลองแล่นครั้งแรกในระยะทางใกล้ๆ แต่สามารถลากน้ำหนักได้ถึง 10 ตัน และรถไฟที่ทดลองบรรทุกคนโดยสารครั้งแรกจริงๆ นั้นมีขึ้นหลังจากการคิดประดิษฐ์หัวรถจักรไอน้ำของริชาร์ด เทรวิค 7 ปี ผู้คิดดัดแปลงทดลองใช้บรรทุกคนโดยสาร คือวิศวกรชื่อเมอเร่ย์ เบลนคินซอป (ค.ศ. 1810/พ.ศ. 2353)

ประเทศอังกฤษจึงเป็นประเทศแรกที่มีการเดินรถไฟเพื่อบรรทุกสัมภาระและเพื่อการโดยสาร และมีการพัฒนาก้าวหน้าเป็นโบกี้ยาวถึง 45 ฟุต และแบ่งชั้นโดยสารออกเป็นชั้น 1 ชั้น 2 และตู้นอน แต่ยังไม่มีตู้เสบียงสำหรับตู้เสบียงนั้นไปเกิดขึ้นในอเมริกาเป็นครั้งแรก

เนื่องจากอังกฤษเป็นชาติแรกที่มีรถไฟแบบหัวรถจักรไอน้ำเป็นชาติแรก สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียจึงได้ส่งหัวรถจักรจำลองมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2398 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ คราวทรงแต่งตั้ง นายเฮนรี่ ปาร์ก เป็นราชทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรี

ราชบรรณาการที่นายเฮนรี่ ปาร์ก นำเข้ามาในเวลานั้นมีรถไฟจำลอง เรือกำปั่นไฟจำลอง และกระจกฉากสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย เครื่องเขียนสำรับหนึ่งและของต่างๆ เป็นอันมาก

นั่นเป็นครั้งแรกที่รถจักรไอน้ำเข้ามาแนะนำตัวเองในประเทศไทย 

รถไฟสายแรกที่ถือกำเนิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครั้งแรกที่สุดนั้นเป็นการเดินรถโดยบริษัทเอกชนของชาวเดนมาร์กร่วมทุนกัน เปิดเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ กับสมุทรปราการ โดยทำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชานุญาตต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าเป็นการนำความเจริญมาสู่ประเทศไทยอย่างใหญ่หลวงในด้านการคมนาคมและการพาณิชย์ จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งบริษัทเปิดการเดินรถไฟตามประสงค์ของบริษัทชาวเดนมาร์กเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2429 ผู้แทนพระองค์ ได้แก่ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปกรณ์ฝ่ายหนึ่ง กับอัลเฟรด ยอนลอบเตอด เอฟ.อาร์.ยี.เอส และแอนดริยา ดู เปลลิส เดริชลู (พลโท พระยาชลยุทธโยธิน) อีกฝ่ายหนึ่ง พระบรมราชานุญาตมีกำหนด 50 ปี เมื่อครบกำหนดตามสัญญาทางบริษัทต้องโอนกิจการให้กับประเทศไทย

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จไปทรงแซะดินเป็นปฐมฤกษ์ หลังจากนั้นจึงเริ่มการก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำสมุทรปราการโดยกรรมกรชาวจีน นานประมาณ 2 ปีจึงแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเดินรถเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436 และเลิกกิจการไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 รางรถไฟสายแรกของไทยจึงเป็นการริเริ่มของเอกชน…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “รถไฟไทย” เขียนโดย ปอน ประพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2564