ตะลึง! Blueprint ยุครัชกาลที่ 5 โครงการทางรถไฟสยามสู่จีน มีจริงหรือ-ใครอยู่เบื้องหลัง? (1)

รัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ประทับอยู่บนซาลูนหลวงในวันเปิดเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-โคราช สร้างขึ้นโดยความช่วยเหลือของวิศวกรชาวอังกฤษ อังกฤษเป็นพี่เลี้ยงในการวางเส้นทางรถไฟครั้งแรกในสยาม และเป็นผู้เสนอให้สยามตัดทางรถไฟนานาชาติสายแรกของเอเชีย เริ่มจากกรุงเทพฯ ไปเมืองจีน ก่อนสยามจะมีรถไฟเป็นของตนเอง (ภาพจาก BLACK AND WHITE, 2 May 1896 หนังสือเก่าของสะสมคุณไกรฤกษ์ นานา)

ปี ค.ศ. 1886 (พ.ศ. 2429) ในยุคที่สยามยังไม่มีรถไฟเป็นของตนเอง แต่รัฐบาลกลับสนใจที่จะสำรวจเส้นทางรถไฟนานาชาติสายหนึ่ง อีก 128 ปีต่อมา บริษัทประมูลยักษ์ใหญ่ของอังกฤษได้นำผลสำรวจโครงการนี้ออกประมูลขายในราคาแพงลิบลิ่ว โดยโฆษณาว่าเป็นข้อมูลลับของทางการไทยที่ไม่เคยเปิดเผยสู่ประชาชน แต่ผู้รับเหมาอังกฤษก็ได้รับพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 5 ให้สำรวจและตีราคาในทางลับหลังค้นพบเส้นทางใหม่จากสยามไปจีน

ทว่า โครงการนี้กลับสาบสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย และไม่มีใครพูดถึงอีกเลยจนตลอดรัชกาล ท่ามกลางการหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงโดยนักประวัติศาสตร์สมัยหลัง และเป็นข้อมูลที่ถูกถอดออกไปจากประวัติการรถไฟไทยของทางราชการอย่างมีปริศนา

Advertisement

ภายหลังอังกฤษพิชิตพม่าตอนกลางสำเร็จในสงครามครั้งที่ 2 กับพม่า (ค.ศ. 1852-53) ก็สามารถยึดพม่าได้เกือบทั้งประเทศ เหลือไว้เพียงอาณาบริเวณตอนบนที่เป็นเทือกเขาสูงเกาะติดกันหนาแน่น และเป็นพื้นที่ทับซ้อนประกอบด้วยรัฐอิสระหลายแห่งครอบคลุมดินแดนสิบสองปันนาทั้งฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งคั่นกลางอยู่ระหว่างพม่า สยาม และจีน[6]

รัฐอิสระเหล่านี้ประกอบด้วยเมืองประเทศราชที่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า สยาม และจีน ในเวลาเดียวกัน มีอาทิ เมืองเชียงรุ้ง เชียงตุง และเชียงแขง แต่พม่า สยาม และจีน ก็มิได้เข้มงวดกับรัฐอิสระมากนัก โดยปล่อยให้เจ้าเมืองถวายบรรณาการและสวามิภักดิ์อยู่กับใครก็ได้ตามแต่ดุลพินิจของเจ้าเมืองท้องถิ่น เนื่องจากรัฐอิสระไม่มีผลประโยชน์อะไร และตั้งอยู่ในที่ทุรกันดารห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครองของพม่า สยาม และจีน จึงมีลักษณะเป็นเพียงรัฐบริวารประดับบารมีของประเทศใหญ่ที่แวดล้อมอยู่เท่านั้น[6]

แต่อังกฤษก็มีเดิมพันสูงเกี่ยวกับสิบสองปันนามากกว่าพม่า สยาม และจีน ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ

1. อังกฤษต้องการให้พื้นที่สิบสองปันนา หรือที่อังกฤษเรียกว่า Independent Shan States  มีขอบเขตชัดเจน และมีเส้นเขตแดนที่แน่นอนตายตัว โดยขึ้นอยู่กับเจ้าอธิปัตย์เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นคือพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ

2. ใช้สิบสองปันนาเป็นเส้นทางการค้า และผูกขาดโดยอังกฤษแต่ชาติเดียวกับทางเมืองจีน 

3. อังกฤษต้องการเคลียร์พื้นที่โดยครอบครองฝั่งขวาของแม่น้ำโขง เป็นกรรมสิทธิ์ของอังกฤษโดยชอบธรรม

จากการปลุกเร้าของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ต้องการใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ดังนั้น สิบสองปันนาซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งขวาจึงไม่อาจถูกปล่อยไว้โดยไม่มีชาติใดอ้างกรรมสิทธิ์ได้[15]

อังกฤษจึงจำเป็นต้อง “ยกระดับ” ความกดดันในการถือครองกรรมสิทธิ์เหนือสิบสองปันนา  หรือรัฐฉานของพม่าซึ่งตนมีภาษีดีกว่าชาติมหาอำนาจอื่นใดอย่างรวดเร็วที่สุด จึงได้รวบรัดที่จะแลกเปลี่ยนหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้า และกะเหรี่ยงยางแดงของไทยโดยแลกกับรัฐเชียงแขง นอกจากนี้อังกฤษยังมีนโยบายวางทางรถไฟจากพม่าเข้าสู่จีน และต้องตัดหน้าทำก่อนที่ทางฝรั่งเศสจะคิดทำขึ้นเช่นกัน[6]

ภาพเก่าหาดูยาก : รัชกาลที่ ๕ (ทรงยืนบนหมอนรางรถไฟทรงผ้าพันพระศอ) ก่อนทรงทดลองนั่งรถไฟที่ชาวอังกฤษเป็นแม่งานสร้างสายกรุงเทพฯ-โคราช ทรงเชื่อว่าอังกฤษเป็นแม่แบบของการรถไฟโลกจึงได้พระราชทานสัมปทานให้คนอังกฤษสำรวจเมืองไทยก่อนชาติอื่นๆ (ภาพจาก BLACK AND WHITE, 2 May 1896)

ในระยะที่อังกฤษขะมักเขม้นอยู่กับการจัดระเบียบรัฐอิสระแถบสิบสองปันนาในช่วงทศวรรษ 1880 นั้น สยามยังไม่มีความกระตือรือร้นเกี่ยวกับรัฐบริวารปลายพระราชอาณาเขตเลย

อาจกล่าวได้ว่าอังกฤษเป็นตัวกระตุ้นให้สยามหันมาศึกษาภูมิประเทศบริเวณนั้นมากยิ่งขึ้น หลังจาก
ที่สยามหมดความสนใจสิบสองปันนาไปตั้งแต่ถอนทัพจากศึกเมืองเชียงตุงในรัชกาลที่ 4 แล้ว[8]

มาตรการหนึ่งที่สยามตั้งรับความเคลื่อนไหวของอังกฤษ คือ การแสดงความกระวีกระวาดที่จะศึกษาภูมิ
ประเทศในเขตรัฐบริวารอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก โดยว่าจ้างนักสำรวจชาวอังกฤษชื่อนายแมคคาร์ธี (James Fitzroy McCarthy) ให้เข้ามาเดินหน้าสำรวจ “รัฐบริวารชายขอบ” ของสยามทางภาคเหนือ นับเป็นการทำแผนที่แบบตะวันตกฉบับแรกของไทยเพื่อยืนยันอำนาจของตนในฐานะรัฐสมัยใหม่ที่มีพรมแดนชัดเจนในปี ค.ศ. 1888 แผนที่ฉบับนี้มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Map of Siam and Her Dependencies

แต่แผนที่ทางการฉบับนี้ก็ยังบรรจุข้อมูลที่คลุมเครือและยังไม่สามารถบ่งชี้พรมแดนในสิบสองปันนาและ
สิบสองจุไทให้ชัดเจนลงไปได้ โดยนายแมคคาร์ธีระบุอย่างไม่เต็มปากเต็มคำบนแผนที่บริเวณภาคเหนือของสยามว่า Boundary Not Defined หรือ “เขตแดนยังไม่กำหนด”[6]

ดังนั้น การที่รัฐบาลอังกฤษซึ่งมีท่าทีเอาจริงเอาจังมากกว่าไทยและต้องการใช้อำนาจโดยชอบธรรมเหนือพม่าซึ่งอังกฤษยึดครองอยู่โดยทำทางรถไฟเหนือดินแดนในกรรมสิทธิ์ของตนเข้าไปสู่เมืองจีน และสยามซึ่งยังไม่มีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนในดินแดนรัฐอิสระทางภาคเหนือจึงตกอยู่ในฐานะที่เป็นรอง และไม่มีปากเสียงโต้แย้งแต่อย่างใด

ความคิดที่จะมีรถไฟของคนไทย

“รถไฟ” เป็นระบบขนส่งมวลชนสมัยใหม่ซึ่งคนอังกฤษเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น และมีใช้ในอังกฤษก่อนที่ใดๆ ในโลก การที่อังกฤษจะนำระบบคมนาคมแบบใหม่เข้ามาใช้ในเมืองขึ้นของตนจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่กลับเป็นความน่าตื่นเต้นสำหรับคนไทยซึ่งไม่เคยมีรถไฟและไม่เคยเห็นรถไฟมาก่อน แค่จะได้นั่งรถไฟก็ยังต้องดิ้นรนเดินทางไปขึ้นถึงในอังกฤษ

คนไทยเห็นรถไฟจากอังกฤษครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2398) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระ
จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แต่เป็นเพียงรถไฟ “ของเล่น” เท่านั้น ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย พระราชินีอังกฤษได้ทรงจัดส่งรถไฟจำลองเข้ามาถวาย โดยให้ราชทูตชื่อ นายแฮร์รี่ ปาร์คส์ (Harry Parkes) เข้ามาแลกเปลี่ยนสนธิสัญญากับฝ่ายไทย ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1855 ดังข้อความตามหลักฐานของทางการไทยตอนหนึ่งว่า

“ในปีเถาะ เดือน ๔ นั้น มิสเตอร์ฮารีปักซึ่งเป็นทูตเข้ามาทำสัญญาด้วย เซอร์ยอน เบาริง แต่ก่อนนั้น นำหนังสือออกไปประทับตราแผ่นดินอังกฤษแล้ว กลับเข้ามาเปลี่ยนหนังสือสัญญาซึ่งประทับตรากรุงเทพพระมหานคร มีพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการเข้ามาเป็นอันมาก มิสเตอร์ฮารีปักเข้ามาด้วยเรือกลไกชื่อ ออกแกลน ถึงกรุงเทพพระนครทอดอยู่ที่หน้าป้อมป้องปัจจามิตร ป้อมปิดปัจจนึก ณ วันอังคาร เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ได้ยิงปืนสลุตธงแผ่นดิน ๒๑ นัด ทั้ง ๒ ฝ่าย ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ
มิสเตอร์ฮารีปักกับขุนนางอังกฤษ ๑๗ นาย เข้าเฝ้าออกใหญ่ถวายพระราชสาส์น ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ถวายเครื่องราชบรรณาการอย่างรถไฟ ๑ อย่าง กำปั่นไฟ ๑ กระจกฉากรูปควีนเป็นกษัตริย์ฉาก ๑ กระจกฉากรูปควีนวิคตอเรียเมื่อมีบุตร ๘ คน กับเครื่องเขียนหนังสือสำรับ ๑ และของต่างๆ เป็นอันมาก เจ้าพนักงานในตำแหน่งทั้งปวงมารับไปต่อมือฮารีปักเองเนืองๆ เจ้าพนักงานกรมท่า จึงได้
บัญชีไว้บ้าง ของถวายในพระบวรราชวังก็มีเป็นอันมาก ท่านก็ให้เจ้าพนักงานมารับไปเหมือนกัน”[12]

อังกฤษนั้นภาคภูมิใจกับการค้นพบเครื่องจักรไอน้ำของตนมาก โดยเครื่องจักรชนิดนี้ถูกนำไปใช้เป็นกลไก
ขับเคลื่อนรถไฟและเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ หรือที่เรียกเรือกำปั่นไฟในยุคนั้น อนึ่ง คนอังกฤษเริ่มใช้รถไฟเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ โดยเปิดทางรถไฟสายแรก (ของโลก) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1825 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ของไทย[13]

แผนที่โดยนักสำรวจอังกฤษอธิบายปัญหาของคาบสมุทรอินโดจีน (The Problems of Indo-China) ปมของปัญหาเกิดจากการคุกคามของชาติตะวันตกผสมโรงกับปัญหาชายแดนที่ไม่สามารถกำหนดขอบเขตและกรรมสิทธิ์บริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางภาคเหนือของพม่าและสยามได้ (ภาพจาก The Peoples and Politics of The Far East)
(ภาพขยาย) ข้อพิพาทในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนของรัฐฉานและแคว้นสิบสองปันนาล้อมรอบอยู่ด้วยพม่า สยาม และจีน เป็นพรมแดนร่วมที่ประกอบด้วยรัฐบริวารใหญ่ๆ คือ (๑) เชียงรุ้ง (๒) เชียงตุง และ (๓) หลวงพระบางและเป็นช่องทางการค้าที่อังกฤษกับฝรั่งเศสต้องการใช้เป็นเส้นทางเข้าสู่จีนตอนใต้ (ดังลูกศรชี้)

คนไทยคนแรก (และคณะแรก) ที่ได้นั่งรถไฟในรัชกาลที่ 4 คือหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา) ผู้เป็นล่ามในคณะราชทูตไทยไปอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1857 ท่านได้เขียนถึงยานพาหนะชนิดหนึ่งซึ่งเป็นของประหลาดสำหรับคนไทยที่ไปเห็นมา ถึงขนาดที่ยกย่องให้เป็น “รถวิเศษ” สำหรับคนไทยและต้องสาธยายจนยืดยาวเพราะกลัวคนทางบ้านจะนึกภาพไม่ออก

“ยังมีรถวิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือรถไฟสำหรับใช้ทางไกล ไปได้ตลอดทุกหัวเมืองที่อยู่ในเกาะเครดบริดเตน ทางรถไฟนั้นทำด้วยเหล็กเป็นทางตรง ถ้าถึงภูเขาก็เจาะเป็นอุโมงค์ตลอดไปจนข้างโน้น ที่เป็นเนินต่ำๆ ก็ตัดเนินลงเป็นทางราบเสมอดิน ถ้าถึงแม่น้ำฤๅคลองก็ก่อตะพานศิลาข้าม ถ้าเป็นที่ลุ่มก็ถมขึ้นให้ดอนเสมอ แล้วทำเป็นสองทางบ้าง สี่ทางบ้างเคียงกัน ทางรถไปทางหนึ่ง ทางรถมาทางหนึ่ง ไม่ให้ร่วมทางด้วยกลัวจะโดนกัน ที่เรียกว่ารถนั้นใช่จะเป็นรถไฟทุกรถหามิได้เป็นรถไฟอยู่รถเดียวแต่รถหน้า แล้วลากรถอื่นไปได้ถึงยี่สิบรถเศษ บางทีถ้าจะไปเร็วก็ลากแต่น้อยเพียงเจ็ดรถแปดรถ รถที่เดินเร็วเดินได้โมงละหกสิบไมล์ คือสองพันเจ็ดร้อยเส้นเป็นกำหนด รถเหล่านั้นมีขอเหล็กเกี่ยวต่อๆ กันไป แต่จัดเป็นสี่ชนิด

ชนิดที่หนึ่งนั้น รถอันหนึ่งกั้นเป็นสามห้องๆ หนึ่งนั่งได้สี่คน รวมสามห้องสิบสองคน พร้อมด้วยฟูกเบาะหมอน ทำด้วยแพรบ้าง บางทีทำด้วยสักหลาดแลหนังฟอกอย่างดี ตามฝาใส่กระจกมิดชิดไม่ให้ลมเข้าได้ ข้างในมีมุลี่แพรสำหรับบังแดด รถที่สองก็ทำเป็นสามห้องเหมือนกัน แต่ห้องหนึ่งนั่งได้หกคน ที่ทางไม่สู้งามเหมือนรถที่หนึ่ง ยังรถที่สามเป็นรถเลวไม่ได้กั้นห้อง รถอันหนึ่งมีอยู่แต่ห้องเดียว คนนั่งได้กว่ายี่สิบคน ปนปะคละกันไป เก้าอี้ข้างในก็ไม่มีเบาะหมอน และไม่สู้สะอาดงดงาม อีกรถที่ ๔ นั้น สำหรับบรรทุกของแลสัตว์มีม้าแลวัวเป็นต้น ในขณะรถไฟเดินอยู่นั้นจะมีคนมายืนอยู่ฤๅต้นไม้อันใดที่อยู่ริมทางก็ดี คนที่อยู่บนรถจะดุว่าคนผู้ใดต้นอะไรก็ดีไม่ทันรู้จักชัด ด้วยรถไปเร็วนัก”[1]

รถไฟยังเป็นแค่ความฝันของคนไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ทั้งยังไม่ปรากฏว่าหม่อมราโชทัยถ่ายรูปรถไฟกลับมา
ให้คนที่กรุงเทพฯ ดู และเป็นที่เชื่อว่าท่านหม่อมก็ถ่ายรูปไม่เป็นและยังไม่มีแม้แต่กล้องถ่ายรูปเป็นของตนเอง คนไทยจึงต้องรอกันต่อไปจนกว่าจะได้เห็นรถไฟจริงๆ ในรัชกาลถัดมา

ล่วงมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2429 หรืออีก 29 ปี หลังจากท่านหม่อมได้เห็นรถไฟแล้ว สยามประเทศจึงค่อยเริ่มคิดที่จะมีรถไฟขึ้นใช้ในสยาม ซึ่งก็คือทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปสมุทรปราการ (เรียกในสมัยนั้นว่า ทางรถไฟสายปากน้ำ) อันนับได้ว่าเป็นทางรถไฟสายแรกในสยาม แต่กว่าจะสร้างเสร็จและเปิดใช้ได้จริงๆ ก็เลยมาจนถึงวันที่ 11 เมษายน 2436 (ร.ศ. 112 หรือ ค.ศ. 1893) และก็มีระยะทางเพียง 21 กิโลเมตรเท่านั้น[12]

ภาพประกอบข่าว การสำรวจพื้นที่บริเวณรัฐอิสระในสิบสองปันนาของพม่า เพื่อกำหนดพรมแดนที่ชัดเจนในปี ค.ศ. ๑๘๙๐ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนดินแดนกับสยาม เพราะอังกฤษมีแผนจะวางเส้นทางรถไฟไปจีน ผ่านสิบสองปันนา (ภาพจาก THE ILLUSTRATED LONDON NEWS, 12 April 1890)

ทว่า ความคิดนี้ก็มิใช่ความคิดริเริ่มของรัชกาลที่ 5 ด้วยซ้ำ แต่เป็นความคิดของชาวเดนมาร์กชื่อกัปตันริชลิว (André du Plessis de Richlieu) ได้รวมทุนกับเพื่อนร่วมชาติซึ่งมีถิ่นที่พักอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งเป็นบริษัท แล้วทำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระบรมราชานุญาตทำกิจการเดินรถไฟ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ก็ได้พระราชทานสัมปทานให้มีกำหนด 50 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วทางบริษัทก็จะต้องโอนกิจการให้กับรัฐบาลสยาม อนึ่ง รถไฟสายแรกนี้ยังเป็นของเอกชนและมิได้เป็นรถไฟหลวงสายแรก (อันได้แก่สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา พ.ศ. 2443/ค.ศ. 1900 - ผู้เขียน)

อนึ่ง ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะโครงการรถไฟครั้งแรกสุดในสยามเท่านั้น และจะไม่เน้นที่เส้นทาง
สายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำ พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) ซึ่งถือเป็นเส้นทางสายแรกที่มีใช้ในประเทศนี้[13]

เอกสารของทางการพบในประเทศไทยอีกฉบับหนึ่งซึ่งเชื่อถือได้ก็ยังยืนยันว่าทางรถไฟสายแรกที่เปิดใช้ในสยาม คือ สายกรุงเทพฯ-ปากน้ำ ในปี พ.ศ. 2436 จึงขออนุมานในเบื้องต้นว่าประวัติการรถไฟสยามเห็นพ้องตรงกันว่า โครงการทางรถไฟสายแรกในประเทศนี้เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2436 แน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง[14]

ทว่า ในความเป็นจริงโครงการรถไฟในประเทศสยามได้เกิดความคิดริเริ่มมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) นานถึง 7 ปี เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่เพียงระดับชาติ (National) แต่เป็นระดับนานาชาติ (International) พาดผ่านข้ามไป 3 ประเทศ คือ พม่า สยาม และจีน และเป็นโครงการที่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 5 โดยตรง สำรวจเสร็จเรียบร้อยเป็นแผนงานประจำปี พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) แต่กลับไม่มีการเปิดเผยหรือรับรู้ในประเทศสยาม ด้วยเหตุผลบางอย่างที่ไม่อาจอธิบายได้

เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่โครงการเมกะโปรเจ็คต์ขนาดนี้จะถูกปิดบังซ่อนเร้นไว้ได้อย่างมิดชิดและไม่ได้ถูกเปิดเผยให้คนภายในประเทศได้ทราบเลยจนตลอดรัชกาลที่ 5 แต่กลับเป็นแผนงานมาตรฐานตะวันตกที่สมบูรณ์แบบในรูปแบบพิมพ์เขียว (Blueprint) พร้อมรายละเอียดเชิงลึก ผลสำเร็จและเบื้องหลังโครงการโดยมีหลักฐานจากคณะนักสำรวจอังกฤษพิมพ์รายงานเผยแพร่ไว้ที่ประเทศอังกฤษ[16]

คณะราชทูตจากสยามเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ณ ประเทศอังกฤษ (ค.ศ. ๑๘๕๗) เป็นการเรียกแขกทางอ้อมให้อังกฤษสนใจที่จะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในสยาม

มหาอำนาจแข่งกันสร้างทางรถไฟไปจีน  

ชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้กำเนิดกิจการเดินรถไฟและพัฒนาระบบเดิน
รถไฟชาติแรกๆ ของโลก บังเอิญเป็นนักล่าเมืองขึ้นชั้นแนวหน้าที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันนัก จึงได้นำระบบรถไฟเข้ามาใช้ในเมืองขึ้นใหม่ของตนในตะวันออกไกลเพื่อแสดงศักยภาพของพวกตน การรถไฟเป็นเครื่องมือของจักรวรรดินิยมในการขับเคลื่อนกองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ได้รวดเร็วที่สุด ทั้งยังเป็นข้ออ้างสำหรับการขนถ่ายสินค้าและเคลื่อนย้ายผู้คนได้คราวละมากๆ สร้างความเลื่อมใสศรัทธาต่อผู้นำท้องถิ่นทั่วไป

แต่เส้นทางรถไฟภายในอาณานิคมของทั้ง 2 ชาตินี้ จำเป็นต้องสร้างขึ้นพาดผ่านพื้นที่ทับซ้อนหลายแห่งซึ่งยังไม่อาจชี้ชัดว่าเป็นของใคร ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสจึงเพียรพยายามที่จะใช้ผู้แทนของตนเกลี้ยกล่อมให้ผู้นำท้องถิ่นเชื่อถือและยินยอมให้สัมปทานแก่ชาติมหาอำนาจดำเนินกิจการ แต่บ่อยครั้งก็ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันบนเวทีการเมือง ทำให้ต่างฝ่ายต่างกีดกันพวกเดียวกันเอง ปล่อยให้ผลประโยชน์ท้องถิ่นขาดการสานต่อและขาดความทุ่มเทดังที่ควรจะเป็น[6]

คณะราชทูตจากสยามเข้าเฝ้าพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ณ ประเทศฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๘๖๑) เป็นการเรียกแขกทางอ้อมให้ฝรั่งเศสสนใจที่
จะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในสยามเพื่อแข่งขันกับอังกฤษ

ในช่วงครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 18 จีนเป็นศูนย์กลางของความมั่งคั่งทางทรัพยากรของทวีปเอเชีย อังกฤษและฝรั่งเศส ใช้มาตรการต่างๆ แข่งกันที่จะใช้อิทธิพลภายในอาณานิคมที่พวกตนมีอำนาจอยู่ปูทางเข้าไปสู่จุดศูนย์กลางของแหล่งทรัพยากรดังกล่าว

ดังนั้น ในเมื่ออังกฤษได้ครอบครองพม่าอย่างเด็ดขาดแล้ว ก็ได้วางแผนที่จะรุกคืบขึ้นไปยังจีนผ่านรัฐอิสระ
ทางภาคเหนือของพม่าและสยาม ในเวลาเดียวกันนั้นฝรั่งเศสซึ่งพม่าและสยามต้องการจะดึงเข้ามาถ่วงดุล
อำนาจอังกฤษเห็นช่องทางที่จะแทรกแซงกิจการภายในของพม่าและสยามเพื่อกันท่าอังกฤษ ทำให้เกิดการเขม่นกันและทำธุรกิจตัดหน้ากันตลอดเวลา

แต่ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันทางการทหาร ซึ่งไม่คุ้มทุน การต่อสู้แบบใหม่เกิดเป็นการชิงไหวชิงพริบและเกมการเมืองที่ยืดเยื้อ โดยมีผู้นำท้องถิ่นเป็นตัวประกัน[3]

การเดินทางเข้าสู่จีนตอนใต้โดยใช้เส้นทางบกเป็นอุปสงค์และอุปทานใหม่สำหรับชาติมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ภายหลังการค้นพบว่าการเดินเรือทางน้ำผ่านทางแม่น้ำสาละวินของพม่าโดยอังกฤษ และทางแม่น้ำโขงของสยามโดยฝรั่งเศสนั้นไม่สะดวกและไม่มีประสิทธิภาพดังที่คาดการณ์ไว้ เพราะแม่น้ำทั้ง ๒ สายมักจะตื้นเขินในฤดูแล้ง มีไข้ป่าชุกชุม และพื้นที่ป่าเขาตามชายฝั่งก็เป็นที่ซ่องสุมของโจรผู้ร้ายที่คอยดักปล้นสะดมเรือโดยสารและเรือสินค้า จึงไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักได้[2]

การที่อังกฤษคิดจะสร้างทางรถไฟจากพม่าเข้าจีน และฝรั่งเศสต้องการจะสร้างเส้นทางรถไฟจากอินโดจีนสู่ยูนนานนั้น เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจและสมเหตุสมผลกว่าการเดินเรือทวนน้ำขึ้นไป รถไฟจึงเป็นยานพาหนะทางเลือกที่สะดวกรวดเร็วกว่า ซึ่งได้รับความนิยมจากนายทุนที่พร้อมจะให้การสนับสนุนโครงการนี้ให้สัมฤทธิผลจงได้ [16]

“รถไฟเล็ก” ราชบรรณาการที่ควีนวิกตอเรียพระราชทานเข้ามาให้รัชกาลที่ ๔ ทำให้ชาวสยามเห็นรูปร่างหน้าตาของรถไฟเป็นครั้งแรก

“การเรียกแขก” ชักนำชาติมหาอำนาจให้เห็นลู่ทาง

การเรียกแขกของผู้นำพม่าและสยามตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีในครั้งรัชสมัยพระเจ้ามินดงทรงส่งกินหวุ่นมินจี
เป็นราชทูตไปฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1854 และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งพระยามนตรีสุริยวงศ์ไปอังกฤษในปี ค.ศ. 1855 เป็นการเรียกแขกแบบสงวนท่าทีและสงบเสงี่ยมเจียมตัว หมายถึงไม่ผลีผลามและไม่รวบรัดบุ่มบ่าม

คณะราชทูตแต่งกายงดงามตามโบราณราชประเพณี เมื่อเข้าเฝ้าประมุขยุโรปก็หมอบคลานเข้าไปเฝ้าอย่างนอบน้อมพินอบพิเทา ก้มศีรษะแสดงความคารวะอย่างสูงที่สุดด้วยความจงรักภักดีเสมือนอยู่ต่อหน้ากษัตริย์ของตนเอง เพราะต้องการแสดงให้เห็นเกียรติยศ ความภูมิฐานและฐานะอันมั่งคั่ง สมศักดิ์ศรีของกษัตริย์ผู้สูงส่งจากเอเชีย เป็นที่กล่าวขวัญถึงบนหน้าหนังสือพิมพ์อังกฤษและฝรั่งเศสอย่างเอิกเกริก[10]

แต่เมื่อภารกิจเรียกแขกเสร็จสิ้นลง และหลังจากที่ทางราชสำนักยุโรปล่วงรู้จุดประสงค์ในการเชื้อเชิญชาติตะวันตกของผู้นำเอเชียแล้ว ผู้แทนจากฝรั่งเศสและอังกฤษก็เริ่มแผลงฤทธิ์ เพราะถือตัวว่าเป็น “มือบน” ที่เหนือชั้นกว่า ต่างพากันแสดงอำนาจบาตรใหญ่ เพราะความได้เปรียบของตนเหนือพม่าและสยามที่ด้อยกว่าพวกตน โดยเปิดเผยธาตุแท้แบบได้ทีขี่แพะไล่ด้วยการพูดเกลี้ยกล่อมผู้นำเอเชียให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของชาติตะวันตกที่ตนเชื้อเชิญเข้ามา[2]

ขบวนเสด็จของควีนวิกตอเรียบนรถไฟในอังกฤษ เมื่อเสด็จไปทรงทดลองนั่งบนเส้นทางรถไฟสายแรกของโลกในปี ค.ศ. ๑๘๔๔

ในพม่า : ช่วงรัชสมัยพระเจ้าธีบอ (บางทีเรียกพระเจ้าสีป่อ) ผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงมัณฑะเลย์ก็เริ่มจะกราบทูลแนะนำพระเจ้าธีบอให้ทรงผูกมิตรกับฝรั่งเศส โดยชักเหตุผลว่าญวนและเขมรได้ทำสัญญากับฝรั่งเศส มาบัดนี้ก็มีพรมแดนใกล้ชิดเหมือนเป็นเพื่อนบ้านกันแล้ว  ฝรั่งเศสก็จะปกป้องคุ้มครองทั้ง 2 ประเทศนั้นให้พ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง ไม่มีใครมากระทำย่ำยีหรือดูถูกดูหมิ่นได้ พระเจ้าธีบอทรงได้ฟังก็เลื่อมใส ประกอบกับที่ทรงแค้นเคืองอังกฤษอยู่แล้วจึงทรงเห็นคล้อยตามคำแนะนำของผู้แทนการค้าจากฝรั่งเศสทุกอย่าง

ควีนวิกตอเรียเสด็จไปเปิดสะพานรถไฟอัลเบิร์ต (Albert Viaduct) ท่ามกลางความตื่นเต้นของประชาชนที่จะได้เดินทางติดต่อกันโดยสะดวกและรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน (ภาพจาก HISTORY AS HOT NEWS)

ต่อมาผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสก็แนะนำให้พม่าส่งคณะทูตไปกรุงปารีสอีก ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1883 พระเจ้าธีบอก็ทรงทำตามคำแนะนำนั้นอย่างว่านอนสอนง่าย ทางพม่าอ้างว่าราชทูตคณะใหม่ไปฝรั่งเศสเพื่อศึกษาหาความรู้ในทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม แต่ก็ดูเหมือนจะรู้กันทั่วไปว่าพระเจ้าธีบอมีพระราชประสงค์ที่จะผูกมิตรกับฝรั่งเศสเอาไว้ขู่อังกฤษ เอกอัครราชทูตนั้นเป็นขุนนางตำแหน่งอัตวินหวุ่นเทียบชั้นพระยาในเมืองไทย ตัวท่านเอกอัครราชทูตนั้นพูดภาษาอะไรไม่เป็นนอกจากภาษาพม่า แต่ก็มีขุนนางพม่าซึ่งเคยไปเรียนนอกในรัชกาลพระเจ้ามินดงพูดฝรั่งได้เป็นอุปทูตตรีร่วมไปด้วย และมีฝรั่งเศสอีกคนหนึ่ง
ติดตามไปในคณะทูตเพื่อคอยเป็นล่ามและช่วยเหลือต่างๆ เที่ยวนี้อยู่เสียนานเพื่อให้ดูแนบเนียนว่าไปดูงานจริงๆ

รถไฟอังกฤษถูกนำไปใช้ในอาณานิคมของอังกฤษ ในภาพเป็นสถานีรถไฟบนฝั่งเกาลูน (ฮ่องกง) ซึ่งอังกฤษได้ครอบครองตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ (บน) และ (ล่าง) เรือสินค้าอังกฤษสามารถขนถ่ายสินค้าจากเรือพาณิชย์ขึ้นรถไฟบนฝั่งเกาลูนส่งไปขายยังเมืองต่างๆ บนแผ่นดินใหญ่ของจีนอย่างสะดวกรวดเร็ว

แต่พอคณะทูตอยู่ปารีสนานเข้า ลอร์ดไลออนส์ (Lord Lions) เอกอัครราชทูตอังกฤษที่ปารีสก็ชักจะเดือดร้อน เอกอัครราชทูตอังกฤษได้ไปหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบ่อยๆ เพื่อถามว่าพม่าจะทำสัญญาทางไมตรีกับฝรั่งเศสจริงหรือไม่ เพราะอังกฤษได้ครอบครองพม่าบางส่วนแล้ว ก็จำต้องสนใจในเรื่องเช่นนี้ แต่รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสก็ตอบบ่ายเบี่ยงไปว่าพม่ามาขอตกลงทางการค้าเพียงบางเรื่องเท่านั้น แต่เมื่อทูตพม่าไม่มีอำนาจเต็มที่จะตกลงอะไรได้ ฝรั่งเศสก็ไม่มีทางที่จะทำความตกลงอย่างไร

เมื่อฝรั่งเศสตอบมาอย่างนี้ อังกฤษก็ได้แต่นิ่งอยู่ แต่พอขึ้นปีใหม่ (ค.ศ. 1884) อังกฤษก็ขอให้ฝรั่งเศสตกลงว่าจะไม่ส่งอาวุธให้แก่พม่าจากตังเกี๋ย และต่อมาก็บอกกับฝรั่งเศสว่าอังกฤษหวังว่าประเทศต่างๆ ที่เป็นมิตรกับอังกฤษจะไม่ทำสัญญาทางไมตรีเข้าเป็นพันธมิตรข้ามหัวอังกฤษ[11]

ในปีถัดมา คือปี ค.ศ. 1885 ก็มีข่าวเล็ดลอดออกไปว่าฝรั่งเศสได้ลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับพม่าแล้ว แต่ก็เป็นเพื่อการค้าพาณิชย์จริงๆ ไม่มีอย่างอื่นเคลือบแฝง ต่อมาราชทูตพม่าก็แจ้งเอกอัครราชทูตอังกฤษว่าเปลี่ยนใจไม่ไปอังกฤษตามแผนเดิมแล้ว แต่จะผ่านเลยไปอิตาลีแทน การแก้ตัวเช่นนี้ก็เท่ากับบอกให้อังกฤษรับรู้ทางอ้อมว่าพม่ากำลังแสวงหาพันธมิตรไว้สู้กับอังกฤษ

การทำข้อตกลงฉบับใหม่ในปี ค.ศ. 1885 เป็นเหตุผลให้กรุงปารีสจัดตั้งสถานกงสุลฝรั่งเศสขึ้นที่กรุงมัณฑะเลย์ พม่าก็เลยได้ใจใหญ่ แล้วเหมาเอาว่าบัดนี้ตนมีฝรั่งเศสหนุนหลังอยู่ ไม่ต้องเกรงกลัวอังกฤษอีกต่อไป พระเจ้าธีบอก็ยิ่งทรงชะล่าพระราชหฤทัยขึ้นไปอีก แล้วหันมาโปรฝรั่งเศสอย่างออกนอกหน้า ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นการสร้างเงื่อนไขการเผชิญหน้าอย่างแท้จริง[6]

ถ้าหากว่าราชสำนักพม่ามิได้แสดงออกจนเกินเหตุว่ากำลังใกล้ชิดกับฝรั่งเศส บางทีเหตุร้าวฉานที่เกิดขึ้นระหว่างพม่ากับอังกฤษในเวลาต่อมาอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะกรุงรัตนะบุระอังวะที่ไม่มีประเทศมหาอำนาจเป็นมิตรนั้น อังกฤษถือว่าไม่เป็นภัยต่ออังกฤษ แต่กรุงอังวะที่มีฝรั่งเศสอันเป็นคู่แข่งกับอังกฤษเป็นมิตรนั้น อังกฤษเห็นว่าเป็นภัยอันตรายต่อระบบการปกครองเมืองขึ้นของอังกฤษทีเดียว แต่เหตุที่พระเจ้าธีบอทรงกระตือรือร้นที่จะคบกับฝรั่งเศส ก็เพราะทรงทราบว่าฝรั่งเศสเป็นคู่แข่งกับอังกฤษนั้นเอง อาจทรงคิดไปว่ากรุงอังวะที่มีฝรั่งเศสหนุนหลังอยู่นั้นคงจะเป็นที่เกรงขามแก่อังกฤษต่อไป

สิ่งที่ไม่ทรงทราบก็คือ ในขณะนั้นรัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศสผูกพันเป็นพันธมิตรกันอยู่ด้วยสนธิสัญญากรุงปารีส (Treaty of Paris) สนธิสัญญาฉบับนี้ค้ำคอมิให้รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นปฏิปักษ์ลับหลังอังกฤษ ฝรั่งเศสจึงมิได้เอาใจพม่าอย่างจริงจัง นอกจากหาเศษหาเลยด้านขอสัมปทานการค้าและคมนาคมแบบฉาบฉวยเท่านั้น[9]

การเดินหน้าของฝรั่งเศสเข้มข้นขึ้นเมื่อทางปารีสจัดส่งคนของตนเข้ามายังกรุงมัณฑะเลย์ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1885 กงสุลคนนี้มีชื่อว่า เมอร์สิเออร์ฮาส (M. Hass) บุคคลผู้นี้ออกจะเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการอยู่มาก ซึ่งก็ดูจะเหมาะสมกับหน้าที่ของเขา พอมาถึงพม่าก็ต้อนรับเป็นการใหญ่ โดยเข้าใจว่าจะมาเป็นพวกกับพม่าต่อต้านอังกฤษ แต่นายฮาสซึ่งมีพฤติกรรมอำพรางกลับมีภารกิจหลักที่จะแสวงหาผลประโยชน์สัมปทานขนาดใหญ่ โดยใช้ความศรัทธาของพระเจ้าธีบอเป็นเครื่องมือหาเงินไปชำระหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามที่ฝรั่งเศสติดหนี้มหาศาลกับทางเยอรมนีภายหลังสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย

สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย (ค.ศ. 1870-71) ทำให้ฝรั่งเศสพ่ายแพ้เยอรมนีอย่างยับเยิน ต้องสูญเสียแคว้นอัลซาซ-ลอร์เรน และเงินค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนหลายสิบล้านฟรังก์ นายจูลส์ แฟร์รี่ (M. Jules Ferry) นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส (ระหว่างปี ค.ศ. 1880-85) ได้ตั้งเป็นนโยบายให้ฝรั่งเศสขวนขวายหาอาณานิคมในแอฟริกาและเอเชียโดยเร่งด่วน เพื่อหาเงินมาใช้หนี้ค่าปฏิกรรมสงครามและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมทุกวิถีทาง[4]

เพราะฉะนั้น ภารกิจของนายฮาสก็ยังดูคลุมเครือและไม่ขาวสะอาดนักในสายตาคนอังกฤษ ทว่า ฉากหน้าของเขาต้องทำให้พม่าเห็นว่าอังกฤษเป็นศัตรูร่วมกันของฝรั่งเศสและพม่า และแม้นว่านายฮาสจะไม่ถูกสั่งจากทางปารีสให้ทำอะไรบุ่มบ่ามก็ตาม  แต่ภารกิจซ่อนเร้นของเขาก็มีแนวโน้มกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นของอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้[11]

ไม่นานเกินรอข่าวลือเรื่องการสนับสนุนทางการเมืองของฝรั่งเศสต่อพม่าก็ดูจะมีความจริงขึ้นเรื่อยๆ

ความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ของพวกฝรั่งเศสซึ่งแทงใจดำฝ่ายอังกฤษอย่างใหญ่หลวงก็คือ การที่ฝรั่งเศสได้รับสัมปทานให้สร้างทางรถไฟตั้งแต่กรุงมัณฑะเลย์ไปถึงเมืองตองอู ซึ่งตั้งอยู่บนชายแดนระหว่างพม่าเหนือและพม่าใต้ที่อังกฤษครอบครองอยู่ ทางรถไฟและการรถไฟนี้รัฐบาลฝรั่งเศสจะลงทุนร่วมกับบริษัทที่จะได้ตั้งขึ้นเป็นเงินถึง 2 ล้าน 5 แสนปอนด์สเตอร์ลิง แต่รัฐบาลพม่าจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ฝรั่งเศส สำหรับเงินจำนวนนี้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หลังจากได้เดินรถไฟไปแล้วเป็นเวลา 70 ปี บริษัทรถไฟฝรั่งเศสก็จะยกการรถไฟทั้งหมดให้แก่พม่า

ดูเพียงแค่นี้ก็จะเห็นได้ว่าฝรั่งเศสได้เปรียบทุกประตู แต่พม่าก็ยอมตกลงตามเงื่อนไขนี้ เพราะนายฮาสแนะให้ว่าเงินที่พม่าจะเอามาเสียดอกเบี้ยให้แก่ฝรั่งเศสนั้น พม่าไม่ต้องไปหาทุนให้เสียเวลา  เพียงแต่ขึ้นอัตราค่าภาษีการเดินเรือในแม่น้ำอิรวดีกับอังกฤษและขึ้นค่าภาคหลวงน้ำมันดิน ซึ่งอังกฤษเข้ามาทำอยู่ก็ได้เงินเหลือพอ

แต่ที่พม่าคิดไม่ถึงหรือคิดถึงแล้วก็คงยอมตาม ก็คือต่อไปอังกฤษจะหมดทางติดต่อกับพม่า เพราะภาษีการเดินเรือที่เพิ่มขึ้นนั้น จะทำให้อังกฤษเดินเรือตามลำแม่น้ำได้ยาก แต่ฝรั่งเศสจะติดต่อค้าขายกับพม่าได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะฝรั่งเศสจะมีทางรถไฟและสินค้าของฝรั่งเศส ซึ่งขนเข้าพม่าด้วยทางรถไฟนั้นจะต้องไม่เสียภาษีอะไรทั้งสิ้น ทางรถไฟนี้จะทำให้ฝรั่งเศสผูกขาดเส้นทางการค้ากับเมืองจีนผ่านพม่าแต่เพียงผู้เดียว

และเพื่อเป็นการตอบแทน พม่ามีข้อแลกเปลี่ยนให้ฝรั่งเศสได้รับสัมปทานจัดตั้งธนาคารขึ้นในพม่าตอนเหนือ ธนาคารฝรั่งเศสจะกลายเป็นแหล่งเงินกู้ชั้นดีให้พม่านำไปสร้างระบบสาธารณูปโภคที่ทันสมัย มีอาทิ รถไฟ รถราง และเรือตามลำแม่น้ำ โดยเสียดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารของอังกฤษที่สิงคโปร์ สัมปทานสำคัญอื่นๆ ที่พ่อค้าฝรั่งเศสพึงได้รับมีสิทธิ์ทำบ่อทับทิมที่เมืองโหม่กกและสัมปทานป่าไม้ทางภาคเหนือทั้งหมด ซึ่งจะทำให้อิทธิพลของอังกฤษลดน้อยถอยลงจนสูญสลายไปในที่สุด[1]

ข้อแลกเปลี่ยนดังกล่าวก็จะประสานผลประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่ายตามคำพังเพยว่า “อัฐยายซื้อขนมยาย” สำหรับฝรั่งเศส และ “เรือล่มในหนองทองจะไปไหน” สำหรับพม่า

ข่าวลือเรื่องฝรั่งเศสจะเป็นโต้โผทำทางรถไฟและตั้งธนาคารในพม่าเป็นเรื่องที่ทำให้อังกฤษอึดอัดมาก เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องทุบหม้อข้าวกัน แต่ที่กำลังเป็นข่าวลือโหมสะพัดมากขึ้นไปอีกคือข่าวที่ว่าฝรั่งเศสกำลังหาทางแย่งชิงรัฐอิสระในสิบสองปันนาซึ่งเป็นพื้นที่ล่อแหลม ย่อมกระทบความมั่นคงของอาณานิคมพม่าของอังกฤษ[6]

ลอร์ดซอลส์เบอรี (Lord Salisbury) นายกรัฐมนตรีอังกฤษถึงกับนั่งไม่ติด จึงได้เรียกตัวนายแวดดิงตัน (Mr. Waddington) ทูตฝรั่งเศสประจำกรุงลอนดอนไปพบเพื่อต่อว่าต่อขานในการกระทำต่างๆ ของฝรั่งเศสในพม่าและตอกกลับว่าอังกฤษจะไม่ยอมให้ชาติใดๆ เข้าไปแสวงหาสัมปทานดำเนินกิจการใดๆ ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานและยุทธศาสตร์ความมั่นคงของพม่า เช่น การทำรถไฟ การตั้งธนาคาร และการทำป่าไม้ และอังกฤษก็พร้อมที่จะใช้มาตรการรุนแรงตอบโต้การกระทำเช่นนั้นอย่างไม่เกรงใจกันอีกต่อไป

กล่าวฝ่ายพระเจ้าธีบอเมื่อทรงเห็นว่าฝรั่งเศสมาขอทำสัญญาสร้างทางรถไฟและตั้งธนาคารก็ให้ดีพระทัยนัก เฝ้าแต่ทรงใฝ่ฝันว่าจะได้รับทรัพย์สินเงินทองจากฝรั่งเศสมากมายก่ายกอง เพราะพระเจ้าธีบอนั้นทรงเห็นว่าพระราชอาณาเขตและอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงเป็นแต่เพียงบ่อเกิดแห่งพระราชทรัพย์ที่จะทรงนำเอามาจับจ่ายใช้สอยตามพระราชหฤทัยเท่านั้น หาได้ทรงเห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งพระองค์มีความรับผิดชอบที่จะทำนุบำรุงให้มีอิสรภาพและยั่งยืนตลอดไป แต่ในขณะนั้นพระราชทรัพย์ที่ทรงหวังว่าจะได้จากฝรั่งเศสก็ยังคงเป็นวิมานในอากาศ เพราะฝรั่งเศสยังมิได้เข้ามาสำรวจทางรถไฟ หรือก่อตั้งธนาคารดังที่สัญญา
ไว้ เหมือนกับมีบางสิ่งบางอย่างขัดขวางอยู่ ซึ่งทำให้พระองค์ทรงร้อนพระทัยมาก ทรงเกรงว่านโยบายกับฝรั่งเศสจะเป็นหมัน[11]

แต่แล้วก็มีกระแสข่าวใหม่ๆ แพร่ออกมาว่า รัฐบาลกรุงปารีสกลับลำเปลี่ยนใจเพื่อมิให้ปัญหาเกี่ยวกับพม่าลุกลามต่อไปทำให้อังกฤษกับฝรั่งเศสต้องผิดใจกันโดยไม่จำเป็น และอาจบานปลายไปเป็นสงครามระหว่างประเทศมหาอำนาจเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนในพม่า อันเป็นการผิดวัตถุประสงค์หลัก

ปัจจัยด้านการเมืองถึงจะดำเนินอยู่ต่อไปแต่ก็ลดอุณหภูมิลงมากหลังจากที่รัฐบาลอังกฤษประท้วงฝรั่งเศสอย่างรุนแรง ต่อมาก็เกิดกระแสใหม่ของกงสุลฝรั่งเศสอีกคนที่ชื่อ ม. ปาวี (Auguste Pavie) ประจำอยู่ ณ เมืองหลวงพระบาง รายงานว่าการสร้างทางรถไฟผ่านรัฐอิสระในสิบสองปันนาหรือสิบสองจุไททางภาคเหนือของสยาม (แทนพม่า) จะทำให้ข้อพิพาทกับอังกฤษสิ้นสุดลง[2]

ภาพไปรษณียบัตรเก่าหาชมยาก : รูปขบวนรถไฟสายแรกในสยาม
วิ่งผ่านป่าเขาอันรกชัฏเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ดุร้าย (คุณไกรฤกษ์ นานา ค้นพบภาพที่อังกฤษ)

ในสยาม : ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ การเมืองระหว่างประเทศ
มีความเข้มข้นมากกว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 หลายเท่านัก

“การเรียกแขก” ในรัชกาลนี้เป็นเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสสามารถ “ขโมยซีน” ภาพพจน์ของอังกฤษไปได้หน้าตาเฉย และถึงแม้จะเปลี่ยนเวทีจากพม่ามาสยามประเทศ แต่ก็ยังตามกระแสที่อังกฤษคาดหวังอะไรบางอย่างมากกว่าการได้ครอบครองพม่าเท่านั้น โดยในสงครามครั้งที่ 2 นั้นแคว้นๆ หนึ่งซึ่งพม่าเสียให้อังกฤษมีแคว้นตะนาวศรี (Tenasserim) รวมอยู่ด้วย

แคว้นตะนาวศรีนี้บังเอิญเป็นพื้นที่ที่มีพรมแดนประชิดติดกับเขตแดนของสยามด้านตะวันตกใกล้เมืองระนองของไทยโดยมีแม่น้ำปากจั่นขวางอยู่เท่านั้น อังกฤษจึงมีความคิดที่จะทาบทามรัฐบาลไทยให้ร่วมมือกับอังกฤษสำรวจแล้วขุดช่วงที่แคบที่สุดของแผ่นดินไทยในพื้นที่แถบนี้ที่แม่น้ำปากจั่นไหลไปถึงเป็นคลองสั้นๆ ทะลุแผ่นดินไปออกทะเล (อ่าวไทย) ซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่ง และถ้าสำเร็จคลองนี้ก็จะเชื่อมต่ออ่าวเบงกอล (มหาสมุทรอินเดีย) และอ่าวไทย (ทะเลจีนใต้) เข้าด้วยกัน ช่วยย่นย่อระยะเวลาเดินทาง
ของพ่อค้าอังกฤษไปค้าขายกับตะวันออกไกลได้หลายวัน แต่ที่เป็นเหตุผลซ่อนเร้น ก็คืออังกฤษจะเป็นเจ้าของและผูกขาดการเก็บผลประโยชน์จากคลองลัด (คลองกระ) นี้ แต่ผู้เดียว[4]

ขณะที่สยามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมเปิดโอกาสให้อังกฤษสำรวจดินแดนในอาณัติของตนอยู่นั้น ในปี ค.ศ. 1881 ฝรั่งเศสก็เป็นม้ามืดแทรกเข้ามาขออนุญาตรัฐบาลไทยสำรวจความเป็นไปได้ในการขุดคอคอดกระนี้แทน และก็ได้สำรวจจริงพร้อมกับได้เขียนแผนที่การสำรวจพื้นที่ครั้งนี้อย่างละเอียด แต่ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง แผนงานของฝรั่งเศสกลับถูกยกเลิกไปในที่สุด แต่การเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสได้เข้ามาหาข้อมูลในครั้งนี้ก็เป็นการเรียกแขกอีกครั้งหนึ่ง ให้ต่างชาติเห็นและได้ศึกษาจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญของประเทศสยาม[5]

ทว่า การเรียกแขกครั้งสำคัญที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไทยกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะขาดการกรองสถานการณ์อย่างถ่องแท้ โดยในปี ค.ศ. 1885 หลังจากที่ฝรั่งเศสทำสงครามรบชนะจีนและสามารถยึดครองแคว้นตังเกี๋ยของเวียดนาม (แต่เป็นรัฐบรรณาการของจีน) มาเป็นเมืองขึ้นได้แล้วก็เสนอหน้ามาช่วยไทยปราบฮ่อซึ่งซ่อนตัวอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทของไทยซึ่งมีเขตแดนติดกับตังเกี๋ย ภายหลังปราบฮ่อสำเร็จฝรั่งเศสกลับดื้อดึงไม่ถอนกองกำลังออกไปจากสิบสองจุไท โดยโมเมว่าเป็นพื้นที่ดั้งเดิมขึ้นอยู่กับตังเกี๋ย ทั้งยังบีบคั้นให้สยามสละสิบสองจุไทไปโดยไม่ได้รับสิ่งตอบแทนจากฝรั่งเศส[7]

รูปล้อสมัย ร.ศ. ๑๑๒ ทหารฝรั่งเศสใช้ดาบปลายปืนแทงทหารไทยโดยมีทหารอังกฤษผลักดันอยู่ ล้อเลียนไปถึงการวิวาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศสว่ามีอังกฤษอยู่เบื้องหลัง หรือที่สื่อของอังกฤษเหน็บแนมรัฐบาลของตนว่า “อังกฤษจัดให้” (Made in England) (ภาพจาก THE SKETCH, 9 August 1893)

การเชื้อเชิญฝรั่งเศสให้เข้ามาในสิบสองจุไทโดยหลงกลว่าจะเข้ามาช่วยปราบฮ่อ แต่กลับต้องสูญเสียแคว้นนี้ไปเฉยๆ เป็นพฤติกรรมอำพรางของทางฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับประเทศที่อ่อนแอและด้อยประสบการณ์เช่นสยามและพม่า เปิดช่องทางให้ต่างชาติเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็เก็บข้อมูลเกี่ยวกับดินแดนของเราโดยที่เราไม่สามารถขัดขืนต้านทานได้เลย ทุกครั้งที่เรื่องเกิดขึ้นก็เหมือนการนับหนึ่งใหม่อยู่เสมอ และเป็นอุทาหรณ์ที่น่าจดจำ

รูป ม. ปาวี ทูตฝรั่งเศส ผู้อยู่เบื้องหลังการผนวกดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ใน ร.ศ. ๑๑๒ ช่วยให้ฝรั่งเศสมีพรมแดนประชิดจีนทางภาคเหนือ
ดังแผนที่ที่ปรากฏในรูปด้านซ้ายมือ (ภาพจาก LA FRANCE ILLUSTRÉE, 12 Aug. 1893)

กงสุลฝรั่งเศส 2 คน มีนายฮาสที่มัณฑะเลย์และนายปาวีที่หลวงพระบาง เป็นตัวอย่างของตัวละครที่อยู่เบื้องหลังความต้องการที่จะผนวกดินแดนทางภาคเหนือของพม่าและสยามซึ่งเป็นพื้นที่ล่อแหลมประชิดติดชายแดนจีนตลอดแนว บางทีจะเป็นนโยบายที่กงสุลได้รับมอบหมายมาเพื่อกำหนดเส้นทางบางอย่างปูทางไปสู่การสร้างทางรถไฟเข้าเมืองจีนในที่สุด?

โครงการช้างทางรถไฟสยาม-จีน มีจริงหรือ?

สูจิบัตรฉบับพิเศษพิมพ์ขึ้นเฉพาะกิจในปี ค.ศ. 1886 จัดพิมพ์โดยราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร (Royal Geographical Society of Great Britain) เสนอรายงานผลการสำรวจของทีมสำรวจจากประเทศอังกฤษเกี่ยวกับโครงการเมกะโปรเจ็คต์ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐของรัฐบาลอังกฤษเป็นหัวหอก จัดทำขึ้นเพื่อสนองนโยบายต่างประเทศของอังกฤษ

สูจิบัตรฉบับนี้พิมพ์ด้วยจำนวนจำกัดสำหรับเผยแพร่ต่อคณะกรรมาธิการของสมาชิกวุฒิสภา ที่มีองค์ประชุมจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอาณานิคม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐสภาในการลงมติขอความเห็นชอบเพื่อดำเนินการต่อไป เอกสารฉบับนี้นอกจากจะพิมพ์แผนภูมิในลักษณะพิมพ์เขียวของเส้นทางที่ถูกสำรวจแล้วยังบรรจุข้อมูลที่สาบสูญไปจากประวัติการรถไฟไทยที่เราคุ้นเคยกัน

หลักฐานจากทางการอังกฤษอ้างถึงกลุ่มนักสำรวจชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งได้รับมอบหมายให้ติดต่อกับรัฐบาลสยามภายหลังการค้นพบว่าแผนงานเดิมในการสร้างทางรถไฟจากเมืองท่าสำคัญทางตอนใต้ของพม่าได้แก่เมืองมะละแหม่ง (Moulmein) เลียบแม่น้ำสาละวินขึ้นไปทางภาคเหนือของพม่า ผ่านรัฐอิสระในดินแดนสิบสองปันนา (Independent Shan States) นั้นทำได้ค่อนข้างยากเพราะลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อนอยู่หนาแน่น แต่อาจทำได้สะดวกกว่าถ้าตัดผ่านเข้าไปทางสยามมุ่งต่อไปยังจีน[16]

ความคิดที่จะสร้างทางรถไฟจากอาณานิคมของอังกฤษคือพม่าตรงไปยังจีนมีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1880 เพื่อขยายอิทธิพลของอังกฤษเข้าไปยังศูนย์กลางและแหล่งทรัพยากรอันมั่งคั่งของจีนที่เรียกว่ามณฑลยูนนานและมณฑลกวางสี โครงการรถไฟไปจีนถูกร่างขึ้นเพื่อสนองนโยบายต่างประเทศและแผนพัฒนาเศรษฐกิจในอาณานิคมโพ้นทะเล ซึ่งแข่งขันกันในเชิงระหว่างคู่แข่งอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศสและรัสเซีย ซึ่งต้องการจัดสรรดินแดนแหล่งทรัพยากรและเมืองท่าที่เต็มไปด้วยศักยภาพของจีนเพื่อผูกขาดการค้าและพัฒนาฐานเศรษฐกิจในอาณานิคมของตนโดยแข่งกันแบบใครมาก่อนได้ก่อน[15]

ผู้เขียนที่หน้าร้านขายแผนที่เก่าหายาก ณ กรุงลอนดอน ก่อนเข้าร่วมการประมูลแผนที่โครงการรถไฟสายแรกของสยามสมัยรัชกาลที่ ๕ (ภาพถ่ายเมื่อกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗)

ทีมงานสำรวจของอังกฤษนำโดยอดีตเจ้าหน้าที่สำนักข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำพม่า ชื่อนายคอลคุฮอน
(A. R. Colquhoun) และหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมของสำนักข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดีย ชื่อนายฮาเล็ต (H. Hallett) เริ่มดำเนินการออกสำรวจพื้นที่ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1882 จากเมืองกวางตุ้งลงมาถึงกรุงย่างกุ้ง นายคอลคุฮอน หัวหน้าคณะเดินทางกลับไปอังกฤษ และรวบรวมข้อมูลที่ได้เสนอต่อสมาพันธ์หอการค้าอังกฤษเพื่อขอความเห็น

โดยในครั้งแรก คณะสำรวจได้เสนอให้วางเส้นทางเดินรถไฟพาดผ่านรัฐอิสระทางภาคเหนือของพม่า ได้แก่ รัฐฉานและแคว้นสิบสองปันนาซึ่งคั่นกลางอยู่ระหว่างพม่ากับจีนด้วยงบประมาณคร่าวๆ เป็นเงิน 7 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง เงินทุนจากงบประมาณนี้ครึ่งหนึ่งมาจากเงินสนับสนุนของหอการค้าอังกฤษ และอีกครึ่งหนึ่งมาจากงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลกลางที่ลอนดอน

ผลสำรวจและการคาดการณ์ผลกำไรสำหรับอนาคตได้รับการยอมรับและลงมติเห็นชอบอย่างท่วมท้นโดยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอังกฤษในเบื้องต้น ถึงขนาดที่หอการค้าอังกฤษยินดีสำรองจ่ายเงินล่วงหน้าให้ครึ่งหนึ่งก่อนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้เชิงรายละเอียดเพื่อจะได้เห็นสภาพรอบด้าน

ข้อมูลเชิงลึกรายงานอุปสรรคมากมาย ที่ผู้รับเหมาต้องประสบจากภูมิประเทศซึ่งเป็นเทือกเขาสูงชันหนาทึบเป็นแนวยาวตลอดพรมแดนพม่า-จีน แต่ทางคณะสำรวจก็ยังค้นพบทางเลือกเส้นทางสำรองจากมะละแหม่งลัดผ่านเข้าไปในเขตแดนสยามแล้วพุ่งตรงขึ้นไปทางเมืองเชียงแสนผ่านเชียงแขง สิบสองปันนาเข้าสู่ยูนนาน ย่อมจะทำได้ง่ายกว่า และรวดเร็วกว่าเส้นทางเดิมผ่านรัฐฉานของพม่าซึ่งเต็มไปด้วยความทุรกันดาร

เส้นทางสำรองได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลสยามซึ่งตื่นเต้นที่จะได้ลืมตาอ้าปาก และยกระดับความสำคัญของสยามรัฐขึ้นไปเป็นภาพลักษณ์ชั้นแนวหน้าของประชาคมเอเชีย แต่สยามก็ตั้งเงื่อนไขว่าเส้นทางนี้จะมีศักยภาพเพิ่มขึ้นหากได้ผนวกลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลองอันมั่งคั่งของสยามเข้าไว้ด้วย โดยมีกรุงเทพฯ เป็นเมืองท่าใหญ่รองรับสินค้าที่จะบรรทุกลงมา และยังมีศักยภาพเกินความคาดหมายในวันหนึ่งข้างหน้า จะได้เชื่อมต่อทางรถไฟลงไปจนถึงอาณานิคมอันยิ่งใหญ่ของอังกฤษที่สิงคโปร์และมลายู[16]

สูตรสำเร็จของแผนงานระยะสุดท้ายลงเอยที่เส้นทางรถไฟสาย Pan Asia สายแรก เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ พาดผ่านสยาม พม่า จีน ความยาวนับพันกิโลเมตร ด้วยความเห็นชอบของทุกฝ่ายเป็นเอกฉันท์ ในปี ค.ศ. 1886 เส้นทางรถไฟแห่งความหวังนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะได้นำเสนอในตอนหน้า


เอกสารประกอบการค้นคว้า

[1] กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา, ม.ร.ว. จดหมายเหตุและนิราศลอนดอน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทย, 2461.

[2] ไกรฤกษ์ นานา. ค้นหารัตนโกสินทร์ 3. สมุทรปราการ : ออฟเซ็ทพลัส, 2555.

[3] ______. ค้นหารัตนโกสินทร์ 4. นนทบุรี : ส.เอเซียเพรส, 2556.

[4]  ______. “ตะลึง! Blueprint คอคอดกระ สมัยรัชกาลที่ 5 มีจริง ตอนที่ 1 ทำไมรัชกาลที่ 5 ทรงยอมให้ฝรั่งเศสสำรวจเมืองไทย,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 33 ฉบับที่ 6 (เมษายน 2555).

[5] ______. “ตะลึง! Blueprint คอคอดกระ สมัยรัชกาลที่ 5 มีจริง ตอนจบ ระทึกเหตุที่โครงการถูกยุบ,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 33 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2555).

[6] ______. “ตีความใหม่จากข้อมูลดิบ ‘ชนวนอำพราง’ เหตุการณ์ ร.ศ. 112 ศึกชิงพื้นที่ทับซ้อน ‘สิบสองปันนา’,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 35 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2557).

[7] ______. “ผงะ! ข้อมูลใหม่ คำสารภาพ ม. ปาวี ป่วนกรณี ร.ศ. 112 ‘ไม่ใช่จะรบ ไปทูลในหลวงเถิด’,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 33 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2555).

[8]  ______. “ศึกเชียงตุงในรัชกาลที่ 5 การตีความใหม่ชี้ ‘กันท่า’ มากกว่า ‘ยึดครอง’,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 35 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2557.

[9]  ______. สมุดภาพรัชกาลที่ 4 วิกฤติและโอกาสของรัตนโกสินทร์ ในรอบ 150 ปี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550.

[10] ______. หน้าหนึ่งในสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.

[11] คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. พม่าเสียเมือง. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2545.

[12] ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. 2477.

[13] สงวน อั้นคง. สิ่งแรกในเมืองไทย ชุด 2. พระนคร : แพร่พิทยา, 2502.

[14] สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 2 อักษร ข-จ, ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2545.

[15] Norman, Henry. The Peoples and Politics of The Far East. London : T. Fisher Unwin, 1895.

[16] Royal Geographical Society (Monthly Record of Geography), London, January 1889.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 20 เมษายน พ.ศ. 2560 เน้นคำและจัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ