เผยแพร่ |
---|
๒๓๙๘ สมเด็จพระนางวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ ถวายรถไฟจำลอง โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นเครื่องดลพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องการสถาปนากิจการรถไฟขึ้นในสยาม
๒๔๐๐ ราชทูตสยามเยี่ยมชมกิจการรถไฟในสหราชอาณาจักรอังกฤษ
๒๔๐๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทรถไฟสยาม (Siam Railway Company) สร้างทางรถไฟข้ามคอคอดกระสำหรับการพาณิชย์ได้ภายใต้เงื่อนไขของรัฐบาลสยาม แต่บริษัทรถไฟสยามประสบอุปสรรค์บางอย่าง สุดท้ายเรื่องนี้ก็เงียบหายไป
๒๔๑๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา ทรงทอดพระเนตรการสร้างทางรถไฟในชวา
๒๔๑๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสอินเดีย ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยทางรถไฟไปตามเมืองต่างๆ หลังจากนั้นได้เกิดข่าวลือว่ารัฐบาลสยามกำลังจะสร้างทางรถไฟขึ้นภายในประเทศ จนมีชาวยุโรปหลายชาติเสนอเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทางรถไฟให้แก่รัฐบาลสยาม แต่ทรงปฏิเสธเนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่อำนวย
๒๔๒๘ อังกฤษเจรจาขอสร้างทางรถไฟระหว่างพม่ากับจีน ผ่านทางสยามที่ตาก (ระแหง) แต่รัฐบาลสยามปฏิเสธ อย่างไรก็ดีรัฐบาลสยามมีแผนที่จะสร้างทางรถไฟ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ – เชียงแสน โดยยินดีที่จะให้อังกฤษสร้างทางรถไฟจากมะละแหม่งมาที่ชายแดนสยาม แล้วรัฐบาลสยามยินดีที่จะให้มีทางแยกไปเชื่อมต่อกันที่ตาก (ระแหง)
๒๔๒๙ รัฐบาลสยามอนุมัติสัมปทานแก่บริษัทชาวเดนมาร์คสร้างทางรถไฟ กรุงเทพฯ – สมุทรปราการ
๒๔๓๐ รัฐบาลสยามอนุมัติให้บริษัทอังกฤษสำรวจเส้นทาง กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ และทางแยก สระบุรี – นครราชสีมา, อุตรดิตถ์ – ท่าเดื่อ, เชียงใหม่ – เชียงราย – เชียงแสน (สำรวจเสร็จพร้อมเสนอแผนผัง ในปี ๒๔๓๓ สิ้นค่าสำรวจเป็นเงิน ๖๓๐,๐๐๐ บาท)
๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จคอคอดกระ โดยมีพระราชประสงค์จะสำรวจแนวทางที่อังกฤษ ฝรั่งเศส ขอขุดคลองลัดสร้างทางรถไฟข้ามคอคอดกระ จากนั้นเสด็จต่อไปยังปีนัง ประพาสแหลมมลายู หลังจากเสด็จกลับจากแหลมมลายูแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อนุมัติสัมปทานสร้างทางรถไฟ สงขลา – ไทรบุรี (ภายหลังผู้รับสัมปทานทำผิดสัญญา จึงเลิกสัมปทานนี้ในปี ๒๔๔๗)
๒๔๓๔ กรมรถไฟ (ตั้งขึ้นในปี ๒๔๓๓ สังกัดกระทรวงโยธาธิการ) เปิดซองประมูลสร้างทางรถไฟ กรุงเทพฯ – นครราชสีมา เป็นทางกว้างขนาด ๑.๔๓๕ เมตร และได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์เริ่มสร้างทางรถไฟ ณ บริเวณย่านสถานีกรุงเทพฯ ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๓๔ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ปีเดียวกันนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินแซะดินเป็นปฐมฤกษ์สำหรับทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – สมุทรปราการ
๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟ ณ สถานีสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน
๒๔๓๙ ๒๖ มีนาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถ กรุงเทพฯ – อยุธยา (คือเส้นทางสาย กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะแรก)
๒๔๔๐ เส้นทางสาย กรุงเทพฯ – นครราชสีมา เปิดเดินขบวนรถรับส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่าง แก่งคอย – หินลับ และต่อเปิดเดินขบวนสินค้า กรุงเทพฯ – แก่งคอย
๒๔๔๑ กรมรถไฟวางแผนสร้างทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ – เพชรบุรี โดยใช้รางกว้าง ๑.๐๐ เมตร
๒๔๔๒ โปรดเกล้าให้สร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – เพชรบุรี โดยเริ่มต้นที่ปากคลองบางกอกน้อย (แล้วเสร็จเปิดเดินรถได้เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๔๖)
๒๔๔๓ เปิดเดินรถสายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ – นครราชสีมา (เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ – อุบลราชธานี เปิดเดินรถในปี ๒๔๗๓)
๒๔๔๔ ขยายเส้นทางสายเหนือ จากชุมทางบ้านภาชี – ลพบุรี
๒๔๔๖ เปิดเดินรถไฟสายใต้ กรุงเทพฯ – เพชรบุรี
๒๔๔๘ ขยายเส้นทางสายเหนือ จากลพบุรี – ปากน้ำโพ
๒๔๕๐ ขยายเส้นทางสายเหนือ จากปากน้ำโพ – พิษณุโลก
๒๔๕๒ เริ่มสร้างทางรถไฟสายใต้ เพชรบุรี – ชะอำ (เปิดใช้ ๙ มิถุนายน ๒๔๕๔ ในรัชกาลที่ ๖)
๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟหลวงสายเหนือและกรมรถไฟหลวงสายใต้ เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมรถไฟหลวง”
๒๔๖๔ เปิดเดินรถไฟสายเหนือ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ และ รถไฟสายใต้ ธนบุรี – สุไหงโกลก โดยสมบูรณ์ โดยตลอดทุกเส้นทางเปลี่ยนมาใช้รางขนาด ๑.๐๐ เมตร เท่ากัน
สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา ขอเชิญร่วมฟังเสวนา “หัวลำโพง” สเตชั่น โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์-สถาปัตยกรรม ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ และ รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ดำเนินการเสวนาโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร นอกจากรับฟังเสวนาแล้ว ผู้เข้าร่วมสามารถชมนิทรรศการภาพถ่ายจากอดีต และภาพปัจจุบันโดย พิชัย แก้ววิชิต งานเสวนาจัดในวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องโถงมติชนอคาเดมี เวลา 13.30-16.30 น. โปรดสำรองที่นั่งล่วงหน้า **รับเพียง 50 ท่านเท่านั้น** (งานนี้เข้าร่วมฟังโดยไม่มีค่าใช้จ่าย) แจ้งลงทะเบียนที่ inbox เฟซบุ๊กเพจ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม และทางโทรศัพท์หมายเลข 0 2580 0021-40 ต่อ 1206, 1220 บริการตรวจ ATK หน้างานสำหรับผู้เข้าร่วม
เผยแพร่เนื้อหาครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 1 พฤษภาคม 2560