รู้จัก “เงินพดด้วง” เงินตราสะท้อนความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจและการค้าสมัยสุโขทัย

เงินพดด้วง
เงินพดด้วงขาบาก ประทับตรา "สร" และตรา "พ" ตามแบบอักษรขามของแคว้นล้านนา

เงินพดด้วง เป็นเงินตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายในอดีต ด้วยมีลักษณะเป็นก้อนกลม จึงเรียกว่า “เงินกลม” แต่ด้วยลักษณะปลายขาเงินที่งอและสั้น ขดกลมคล้ายตัวด้วง จึงนิยมเรียกว่า “เงินขดด้วง” หรือ “เงินคดด้วง” ภายหลังเรียกเพี้ยนเป็น “เงินพดด้วง”

เงินพดด้วง เริ่มมีใช้ในรัชสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด สันนิษฐานว่า อาจมีใช้มาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง เงินพดด้วงในสมัยสุโขทัยจะมีลักษณะแตกต่างกัน ตามแต่ยุคการผลิต โดยแบ่งเป็น 4 แบบ ดังนี้

แบบที่ 1 เงินพดด้วง ทรงกำไลขากลม

มีขนาดน้ำหนัก 1 ตำลึง (4 บาท) หลอมจากเนื้อเงินเทลงในแบบพิมพ์แท่งรูปร่างกลมยาวปลายเรียวเล็ก ทำให้ไม่มีรอยค้อน ระหว่างขาจะมีช่องว่างเป็นรูปวงกลมและไม่มีรอยบาก ตีตราประทับลวดลายคล้ายลายดาวไว้บริเวณตรงกลางของด้านหน้าเป็นลายประธาน และประทับตรารูปหม้อน้ำ เรียกว่า “ปูรณฆฏะ” (ปูรณกรด) เต็มไปด้วยน้ำและต้นไม้เจริญงอกงาม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ ไว้ทั้ง 2 ด้าน ปลายขาด้านซ้ายประทับตรารูปหอยสังข์ ปลายขาด้านขวาประทับตราตัวอักษร “ส” อยู่ภายในวงกลม อาจหมายถึง “สุโขทัย” ก็เป็นได้

เงินพดด้วงชนิดนี้ พวกพ่อค้าเป็นผู้ผลิตขึ้นใช้ สันนิษฐานว่า อาจดัดแปลงมาจากเงินฮ้อย หรือเงินลาดขนาดเล็กของแคว้นล้านช้าง บ้างว่าอาจดัดแปลงมาจากเงินกำไลมือหรือเงินเจียงของแคว้นล้านนา

เงินพดด้วง
เงินพดด้วงทรงวงแหวน น้ำหนัก 20.5 กรัม

แบบที่ 2 เงินพดด้วง ทรงวงแหวน (เงินพดด้วงขายาว)

มีขนาดขาสั้นลง แต่ปลายขาทั้ง 2 ข้างโค้งมากขึ้นจนเกือบจรดกันในลักษณะของวงแหวน โดยจะประทับตราตัวอักษรไทยสุโขทัยขนาดใหญ่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วยตัวอักษร “สร” ซึ่งหมายความว่าเป็นเงินพดด้วงของเมืองสรลวงสองแคว (พิษณุโลก) และตีประทับตรารูปราชสีห์ (สิงโต) ยืนอยู่ด้านบนระหว่างตัวอักษร “สร” ปลายขาทั้ง 2 ข้างประทับตราหอยสังข์ เงินพดนี้มีขนาดน้ำหนัก 194 เกรน (ตามมาตราน้ำหนัก 1 บาท เท่ากับ 236 เกรน)

เงินพดด้วงทรงวงแหวน จะมีรอยบากที่ขาและประทับตราสัญลักษณ์มงคล เช่น ตราราชวัติ ตราธรรมจักร อาจตีความได้ว่า พระเจ้าแผ่นดิน เจ้าเมือง หรือพ่อค้า เป็นผู้ผลิตเงินพดด้วงทรงวงแหวนขึ้นใช้ ซึ่งมีขนาดน้ำหนักประมาณ 224-234 เกรน (ขนาด 1 บาท) ส่วนท้องของเงินพดด้วงที่มีลักษณะกลมนั้น อาจทำเพื่อร้อยเชือกแขวนพกติดตัว ให้ความสะดวกในการค้าขาย

เงินพดด้วง
เงินพดด้วงขาบาก ประทับตรา “สร” และตรา “พ” ตามแบบอักษรขามของแคว้นล้านนา

แบบที่ 3 เงินพดด้วง ขาบาก (เงินพดด้วงขาสั้นกลม)

ลักษณะค่อนข้างกลม ระหว่างขามีรูและมีรอยบากลึกบนขาทั้ง 2 ข้าง ปลายขามีลักษณะสั้นและแหลมเล็ก โดยช่างจะใช้ค้อนทุบงอขาหัวท้ายให้กอดชิดกันเข้าเป็นเม็ดกลมมากขึ้นเหมือนตัวด้วงที่ขดกลม เงิดพดด้วงชนิดนี้มีขนาดน้ำหนัก 1 บาท และต่ำกว่า 1 บาท คือ น้ำหนักประมาณ 194 เกรน เพื่อให้มีขนาดกะทัดรัดและสะดวกต่อการพกพาติดตัว

เงินพดด้วงขาบาก มักประทับตราราชวัติ ตราช้าง และตราหอยสังข์ เป็นประธาน บ้างก็ประทับตราเป็นตัวอักษรไทยสุโขทัยไว้ที่ด้านหน้าและด้านบนโดด ๆ ตัวอักษร “สร” ที่ตีประทับแสดงออกถึงความสำคัญด้วยขนาดที่ใหญ่โตและเป็นตราเพียงหนึ่งเดียว ไม่มีกรอบหรือตราสัญลักษณ์ประกอบตัวอักษร โดยปลายขาทั้ง 2 ข้างยังคงประทับตรารูปหอยสังข์ไว้เช่นเดิม จึงสันนิษฐานว่า เงินพดด้วงเหล่านี้อาจผลิตขึ้นใช้โดยราชสำนักสุโขทัย

เงินพดด้วง
เงินพดด้วงขาบาก ประทับตราม้า หนัก 2 สลึง (น้ำหนัก 7.35 กรัม)

แบบที่ 4 เงินพดด้วงชิน (เงินคุบ)

มีลักษณะคล้ายคลึงกับเงินพดด้วง แต่มีขนาดใหญ่กว่า ผลิตจากแร่ดีบุกหรือแร่โลหะชนิดอื่นที่มีราคาถูกหลายชนิดหลอมรวมกัน เช่น ตะกั่ว ดีบุก สังกะสี ทองแดง และนิกเกิล เป็นต้น ทำให้มีความแข็งและคงทนไม่สึกหรอง่ายเหมือนเงินพดด้วง

ก.ศ.ร.กุหลาบ ปัญญาชนสยาม กล่าวถึงเงินพดด้วงชินไว้ว่า พระเจ้ารังษีสุริยพันธุพงศ์ (หมายถึงพระญาลือไทยราช) โปรดเกล้าฯ ให้ทำเงินตรามีลักษณะเป็นก้อนกลมน้ำหนักบาทหนึ่งขึ้นใช้ เรียกว่า “เงินคุบ” หรือ “เงินขุบ” แต่นิยมเรียกว่า “เงินคุก” หรือ “เงินคุด” แปลว่า “เงินขางอ” เนื่องจากขาเงินหรือเท้าเงินงอคุดคู้

นอกจากเงินคุบจะถูกใช้เป็นเงินตราแล้ว ก็ยังถูกนำไปใช้เป็นลูกชั่งสำหรับใช้เป็นน้ำหนักชั่งสิ่งของเช่นเดียวกับทางฝ่ายล้านนา เช่น ลูกชั่งรูปสิงห์ นก และงู เป็นต้น บ้างทำจากทองแดง บ้างทำจากเงินผสม

เงินคุบก้อนหนึ่งมีน้ำหนัก 10 สลึง เทียบเท่ากับ 1 ตำลึงจีน ถ้าเงินคุบ 16 ก้อน เรียกว่า “ช้างลากหนึ่ง” เท่ากับ 160 สลึง (40 บาท) โดยการนำเงินคุบมาใช้เป็นลูกชั่งนั้น ย่อมแสดงว่า คนไทยสมัยนั้นรู้จักใช้มาตราชั่งก่อนมาตราเงินเช่นเดียวกับจีน ซึ่งเอาแบบอย่างมาจากมาตราชั่งของขอม ดังเห็นได้จากการเรียกหน่วยมาตราชั่งเป็นภาษาขอม คือ ตุล ชยัง (ชั่ง) ลิง (ตำลึง) บาท และสะเลง (สลึง) 

เงินคุบแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามรูปร่าง คือ แบบขาตู้ และแบบรากฟัน โดยมีน้ำหนักแตกต่างกันไป

เงินพดด้วงชินมีลักษณะแตกต่างจากเงินพดด้วงที่ทำด้วยเงิน ซึ่งมีตราประทับปรากฏอยู่หลายตราด้วยกัน เช่น ตราราชวัติ ตราธรรมจักร ตรายันต์ ตราจักร และตราช้าง อันเนื่องมาจากพ่อค้าและชาวบ้านต่างก็ทำเงินพดด้วงชินขึ้นมาใช้เอง สำหรับใช้เป็นน้ำหนักชั่งสิ่งของ เมื่อการชั่งตวงเปลี่ยนจากตาชูหรือตาชั่งมาเป็นตาเต็ง ความจำเป็นในการใช้เงินคุบเป็นลูกชั่งสำหรับชั่งสิ่งของก็หมดความนิยมลงไปในที่สุด

เงินพดด้วงยุคสุโขทัยชนิดราคาสูงที่พบมีน้ำหนักมากถึง 1,013 กรัม ส่วนเงินพดด้วงทองคำชนิดราคาสูงที่พบมีขนาดหนักถึง 8 บาท (น้ำหนัก 120 กรัม) ซึ่งแสดงถึงความเฟื่องฟูทางด้านเศรษฐกิจและการค้าของแคว้นสุโขทัยได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อ.ท.ต. นิยม. (สิงหาคม, 2558). รากเหง้าต้นกำเนิดเงินพดด้วงสมัยสุโขทัย. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 36 ฉบับที่ 10.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2564