กำเนิด “เครื่องจับเท็จ” ยุคมนุษย์ยังพยายามหาวิธีจับโกหก และช่วยสอบสวนคดีความ

เครื่องจับเท็จ จับ คน โกหก

กำเนิด “เครื่องจับเท็จ” ยุคมนุษย์ยังพยายามหาวิธีจับ “โกหก” และช่วยสอบสวนคดีความ

“การโกหก” เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นถึงนิสัยของมนุษย์อย่างหนึ่ง คือ ช่างเรียนรู้และช่างปรับตัว เมื่อใดก็ตามที่โกหก เราสามารถสังเกตโดยวิธีง่าย ๆ ด้วยการสังเกตสีหน้าและกิริยาท่าทาง หากพยายามจะปกปิดความจริง จะมีอาการหัวใจเต้นแรงหรือเลือดลมสูบฉีด อาการเหล่านี้เกิดจากความกลัวที่อาจถูกจับเท็จได้

หากแม้โกหกสำเร็จไปแล้วโดยเข้าใจว่าไม่มีผู้ใดทราบว่าตนพูดเท็จ ก็อาจจะหายใจแรงอย่างโล่งอก แต่ถ้าถูกจับเท็จได้ก็อาจรู้สึกร้อนหน้า กัดริมฝีปาก หลบสายตา พูดเสียงอ่อย หรือฝืนหัวเราะ ตลอดจนเคลื่อนไหวมือหรือเท้าที่มีลักษณะแสดงความไม่สบายใจ

มนุษย์ (ที่ชอบโกหก) เมื่อทราบว่ากิริยาอาการเหล่านั้น เป็นอาการ “เลิ่กลั่ก” จนทำให้ “โป๊ะแตก” เขาก็เรียนรู้และปรับตัว พยายามควบคุมสติ ควบคุมร่างกาย เพื่อปิดบังอาการเหล่านั้น และเมื่อไม่สามารถจับเท็จด้วยวิธีการดังนี้ได้แล้ว มนุษย์ก็เรียนรู้ได้ว่าจะต้องหากลวิธีใหม่มาจับเท็จ นั่นจึงนำไปสู่การสร้าง “เครื่องจับเท็จ” (Lie-Detector)

ตั้งแต่โบราณกาล มนุษย์ได้ใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อพิสูจนผู้ต้องสงสัยว่าใคร “โกหก” ใครเป็นผู้กระทําความผิด หรือเป็นผู้บริสุทธิ์

ตุลาการจีนเคยใช้ “สรีรวิทยา” เป็นเครื่องมือช่วยในการพิสูจน์ โดยให้ผู้ต้องสงสัยเคี้ยวข้าวสารในระหว่างซักถามให้การ จากนั้นจะให้คายข้าวสารออกมาตรวจดู ถ้าข้าวยังแห้งอยู่แสดงว่าเป็นผู้กล่าวเท็จ ทั้งนี้ถือหลักการว่าต่อมน้ำลายของผู้กล่าวเท็จจะไม่ทำงานตามปกติในระหว่างที่ซักถาม

เจ้าชายฮินดูองค์หนึ่งก็เคยใช้ “จิตวิทยา” เป็นเครื่องมือช่วยในการพิสูจน์หาตัวผู้กระทําผิด โดยให้ผู้ต้องสงสัยเข้าไปในห้องมืดห้องหนึ่ง ให้เข้าไปครั้งละคน ทุกคนจะต้องจับหางลาที่อยู่ในห้องนั้น โดยอ้างว่าลาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าผู้กระทำผิดจับหางลา ลาจะร้อง ถ้าผู้บริสุทธิ์จับ ลาจะไม่ร้อง อย่างไรก็ตาม หางลามีเขม่าทาเอาไว้ แต่ผู้ต้องสงสัยไม่ทราบ ครั้นพอเสร็จพิธีก็สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ เพราะผู้กระทำผิดตัวจริงนั้นมือจะไม่เปื้อนเขม่าเลย

ในนิทาน Decameron หรือนิทาน 100 เรื่อง เล่าจบใน 10 คืน Giovanni Boccaccio เป็นผู้แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 14 เนื้อเรื่องหนึ่งมีอยู่ว่า คืนหนึ่งกษัตริย์ Agilulf แห่งแควัน Lombardy กลับเข้าพระตำหนัก แล้วเสด็จไปหาพระนาง Theodelinda ผู้เป็นพระมเหสี พระนางเกิดความสงสัยเพราะเข้าใจว่าพระสวามีเพิ่งเสด็จออกไปเพียง 5 นาทีเท่านั้น จึงทูลถามว่าเหตุใดจึงเสด็จกลับมาอีก

กษัตริย์ Agilulf เข้าใจทันทีว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดปลอมตัวเป็นพระองค์ ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดเรื่องอื้อฉาว พระองค์จึงไม่ได้ตรัสอะไร แล้วเสด็จไปยังสถานที่หลับนอนของพวกข้าราชบริพาร พระองค์พยายามฟังการเต้นของหัวใจของพวกข้าราชบริพารที่นอนอยู่ ปรากฎว่าคนหนึ่งมีหัวใจเต้นแรงดั่งตีกลอง พระองค์ทรงยับยั้งความโกรธ ไม่ลงพระราชอาชญาในทันที เพียงแต่ตัดผมข้าราชบริพารผู้นั้นออกเสียปอยหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องหมายเมื่อจะลงพระราชอาชญาในภายหลัง

ข้าราชบริพารผู้นั้นทราบดีว่าสิ่งที่ตนกระทำนั้นต้องพระราชอาชญา เมื่อกษัตริย์เสด็จไปแล้ว จึงตัดผมบรรดาเพื่อนข้าราชบริพารทั้งหลายซึ่งหลับนอนอยู่ ณ ที่นั้น ในลักษณะเดียวกันกับที่ผมของตนเป็น รุ่งขึ้น กษัตริย์ Agilulf ไม่อาจลงพระราชอาชญาข้าราชบริพารคนใดได้ เพราะไม่แน่ใจว่าคนไหนเป็นผู้กระทำความผิด

เรื่องเล่าทั้งสามเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า มนุษย์พยายามนำศาสตร์แห่ง “สรีรวิทยา” และ “จิตวิทยา” มาใช้เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงและจับเท็จหาตัวผู้กระทำความผิดกันมานานแล้ว และเมื่อ “วิทยาศาสตร์” ได้พัฒนาเจริญก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ นักวิทยาศาสตร์ นักสรีรวิทยา หรือนักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรม ก็คิดค้น “เครื่องจับเท็จ” ขึ้นมาใช้

เครื่องจับเท็จมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า เครื่องโพลีกราฟ (Polygraph) มันเป็นอุปกรณ์ที่ต่อยอดมาจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งมีไว้สำหรับบันทึกชีพจรของผู้ป่วย ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยวินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจและเพื่อตรวจวัดสภาพผู้ป่วยในระหว่างการผ่าตัด ทั้งตรวจวัดชีพจร, ความดันโลหิต, อุณหภูมิ รวมถึงอัตราการหายใจ

หากลองย้อนกลับไป แนวคิดการสร้างเครื่องจับเท็จมีขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1858 โดย Étienne-Jules Marey นักสรีรวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้ทำการบันทึกการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่ตอบสนองต่อความเครียด รวมถึงอาการคลื่นไส้และน้ำเสียงผิดปกติ ต่อมา ในช่วงทศวรรษ 1890 Cesare Lombroso นักอาชญวิทยาชาวอิตาลีใช้ถุงมือพิเศษเพื่อวัดความดันโลหิตของผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาระหว่างการสอบสวน

ค.ศ. 1904 Hugo Munsterberg แห่งมหาวิทยาลัย Harvard เขาเป็นนักจิตวิทยา ได้พยายามคิดค้นเครื่องมือหลายประเภทสำหรับบันทึกและวิเคราะห์ ได้แก่ เครื่องมือแสดงการเต้นของชีพจร, ความดันโลหิต, การหายใจ และสภาพเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง

ค.ศ. 1914 Vittorio Benussi นักสรีรวิทยาแสดงผลการค้นคว้าเรื่องอาการหายใจของผู้กล่าวเท็จ ซึ่ง Cyril Burt ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยา ก็ยืนยันเรื่องนี้เช่นกันใน ค.ศ. 1921 ว่าการเปลี่ยนแปลงมีส่วนสัมพันธ์ระหว่างระยะหายใจเข้าและระยะหายใจออก ซึ่งสามารถนำมาใช้พิจารณาในการจับเท็จได้

Cyril Burt วัดความเร็วของความคิดของเด็กด้วยเครื่อง Chronoscope

ค.ศ. 1915 เริ่มมีการนำยาหรือสารเคมีต่าง ๆ เช่น Gas, Ether, Chloroform, Sodium Amytal, Scopolamine มาทดลองใช้ ปรากฏว่า เมื่อใช้ยาแล้วจะทำให้ไม่เห็น ไม่รู้สึก ไม่รับรสหรือได้กลิ่น และในที่สุดจะไม่ได้ยิน กระทั่ง เมื่อฤทธิ์ยาจางลง การบังคับสมองก็คลายลง ผู้ถูกทดลองจะคืนประสาทการได้ยินเป็นอันดับแรก ขณะที่ยังไม่คืนสตินี้เองจึงจะเริ่มซักถามหาความจริง

ค.ศ. 1915 William Marston ลูกศิษย์ของ Hugo Munsterberg ทําการค้นคว้าเรื่องความดันโลหิต ทำให้เขาทราบว่าความดันขั้นสูง คือ Systolic Pressure นั้นสามารถนำมาใช้พิจารณาในการจับเท็จได้ เขาจึงประดิษฐ์เครื่องวัดความดันโลหิตขึ้นมา อุปกรณ์ดังกล่าวใช้ตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างชีพจรและอารมณ์ ในการทดสอบกับผู้ทดลองครั้งหนึ่ง เขาเขียนรายงานอัตราความสำเร็จในการจับเท็จของเครื่องมือนี้ในอัตราร้อยละ 96 เลยทีเดียว

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เป็นตัวเร่งให้เครื่องจับเท็จถูกนำไปพัฒนาอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในกิจการทหารและการสงคราม โดย Robert Mearns Yerkes ดอกเตอร์สาขาจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Harvard ร่วมงานกับกองทัพสหรัฐฯ ในการวิจัย สนับสนุน และต่อยอดการทดลองการวิจัยของ William Marston โดยอยู่ภายใต้การดูแลของ National Research Council

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตการทดลองครั้งหนึ่งลอง William Marston ซึ่งเขาทำการทดลองกับผู้ถูกคุมขัง 20 คน ของศาลเทศบาลเมือง Boston เขาอ้างความสำเร็จในการจับเท็จอัตราร้อย 100 เลยทีเดียว หลายคนมองว่าการทดลองนี้อาจเป็นสิ่งที่ผิดพลาด เนื่องจากพบว่าหลายคนมีอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตสูงขึ้น เมื่อรู้สึกกังวลหรือเครียดจากการทดสอบเครื่องจับเท็จ ซึ่งบางทีพวกเขาอาจจะโกหกจริง แต่บางทีพวกเขาก็ไม่ชอบถูกซักถาม หัวใจที่เต้นแรง ความดันโลหิตที่พุ่งสูง อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากความพยายามในการโกหกให้แนบเนียน แต่อาจเกิดจากความเครียดหรือความไม่สบายใจจากเครื่องจับเท็จหรือการที่ถูกซักถาม

ค.ศ. 1921 John Larson ตำรวจภายใต้บังคับบัญชาของ August Vollmer หัวหน้าตำรวจ Berkeley มลรัฐ California ได้ศึกษาและปรับปรุงเทคนิคของ William Marston เขาได้ประดิษฐ์เครื่องมือวัดความดันโลหิตและการหายใจ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของเครื่องจับเท็จ โดยทำการทดลอง ณ สถานีตำรวจและเรือนจำต่าง ๆ จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แม้ว่าตำรวจ Berkeley จะให้การสนับสนุนเครื่องจับเท็จ และหวังให้มีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ศาลของสหรัฐฯ ยังไม่ยอมรับผลจากเครื่องจับเท็จเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดี

ค.ศ. 1925 Leonarde Keeler ออกแบบและประดิษฐ์เครื่องบันทึกการชีพจรและการหายใจ อาจเรียกว่าเป็นเครื่องจับเท็จแบบทำมือรุ่นแรก ๆ ก็ว่าได้ เขาเรียกมันว่า “the Emotograph” เขาใช้เครื่องจับเท็จกับอาชญากรสองคนที่ก่อคดีในเมือง Portage มลรัฐ Wisconsin ผลการทดสอบด้วยเครื่องจับเท็จถูกนำไปเป็นหลักฐานในชั้นศาล กระทั่ง ผู้ต้องหาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย

ค.ศ. 1932 บาทหลวง Walter Summers ประดิษฐ์เครื่องจับเท็จขึ้น โดยพัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องจับเท็จของ Leonarde Keeler เครื่องมือนี้สามารถใช้ตรวจบันทึกอาการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในลักษณะที่เป็นสื่อไฟฟ้า ซึ่งได้ผลดีและแม่นยำว่าเครื่องจับเท็จของ Leonarde Keeler

ค.ศ. 1938 Leonarde Keeler ได้มอบให้บริษัท Associated Research ทำการผลิตและจำหน่ายเครื่องจับเท็ตตามแบบใหม่ที่เขาปรับปรุงให้ดีขึ้น โดย Leonarde Keeler นั้นสนใจผลงานของบาทหลวง Walter Summers อยู่แล้ว จึงให้บริษัทสร้างเครื่องจับเท็จให้มีส่วนประกอบเพิ่มเติม โดยเพิ่มเครื่องมือที่บันทึกอาการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังเข้าไปด้วย

Leonarde Keeler (ยืน) กำลังทดสอบเครื่องจับเท็จ

เครื่องจับเท็จเป็นเครื่องมือใช้กระแสไฟฟ้า ใช้ในการตรวจบันทึกความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของบุคคล อันเนื่องมาจากการแสดงความรู้สึกหลังจากถูกซักถาม อาการหรือปฏิกิริยานี้ส่วนมากไม่ได้อยู่ในอำนาจของจิตใจของบุคคลนั้น ๆ ความเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต, ความเร็วกับขนาดช่วงของชีพจร, ลักษณะผันแปรของการหายใจ และอาการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังในลักษณะเป็นสื่อไฟฟ้า ทั้งหมดนนี้จะสัมพันธ์กัน และปรากฏให้เห็นในลักษณะของเส้นกราฟจากเครื่องจับเท็จ

อย่างไรก็ตาม เครื่องจับเท็จยังเป็นที่ครหาว่ายังขาดความแม่นยำและขาดความหนักแน่นในการนำมาพิจารณาคดีในชั้นศาล แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เครื่องจับเท็จเสื่อมความนิยมลงแต่อย่างใด ยังคงมีการใช้เครื่องจับเท็จเพื่อการสืบสวนคดีอาชญากรรมอยู่ในหลายประเทศ ขณะที่กองทัพ รัฐบาลกลาง และหน่วยงานอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องจับเท็จในการพิจารณาความเหมาะสมและคุณสมบัติของบุคคลที่จะสมัครทำงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย

ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีการจับเท็จได้พัฒนาไปถึงขั้นใช้คลื่นสมอง โดย J. Peter Rosenfeld นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Northwestern University ในช่วงทศวรรษที่ 1980 และก็มีการนำคลื่นสนามแม่เหล็กมาใช้ร่วมเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งพบว่าโดยทั่วไปแล้วสมองจะทำงานมากขึ้นเมื่อ โกหก

และในยุคนี้ที่ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI พัฒนาไปอย่างก้าวหน้า อาจทำให้เครื่องจับเท็จก้าวข้ามขีดจำกัดบางประการไปได้ นั่นทำให้เราอาจได้เห็นเครื่องจับเท็จที่แม่นยำมากขึ้นในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ศรีศักดิ์ ธรรมรักษ์. (ธันวาคม, 2497). เครื่องจับเท็จ (LIE DETECTOR). ดุลพาห. ปีที่ 1 : เล่มที่ 9.

Allison Marsh. (2019). A Brief History of the Lie Detector. Access 8 January 2021, from https://spectrum.ieee.org/tech-history/heroic-failures/a-brief-history-of-the-lie-detector


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มกราคม 2564