ตำนาน “ปี้โรงบ่อน” ชิพสำหรับการพนันในอดีต

ปี้โรงบ่อน
(ในวงกลม) ปี้ดินที่ใช้ในโรงบ่อน, (ภาพหลัง) บรรยากาศเล่นการพนันสมัยรัชกาลที่ 4 จัดฉากถ่ายภาพโดยชาวต่างชาติ

เปิดตำนาน “ปี้โรงบ่อน” ชิพสำหรับการพนันในอดีต

“โรงบ่อน” เป็นสถานที่เล่น “การพนัน” นานาชนิด โดยเฉพาะถั่วโป ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากชาวจีน โดยนำเข้ามาแพร่หลายในสมัยอยุธยา ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับโรงบ่อนสมัยอยุธยามีอยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือ 1. กฎหมายลักษณะพยาน สมัยพระเจ้าอู่ทอง ความว่า ห้ามมิให้ฟังคำคนเล่นเบี้ยบ่อนเป็นพยาน เว้นแต่คู่ความยินยอม 2. พระธรรมนูญ สมัยพระเจ้าทรงธรรม กล่าวว่า พระยาราชภักดีมีหน้าที่ออกตราปักษาวายุพักตร์กำกับเจ้าจำนวนตั้งนายอากรบ่อนเบี้ย

หลักฐานทั้ง 2 อย่างนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงเชื่อว่าเป็นของเพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง นอกจากนั้น ทรงสังเกตเห็นหนังสือเรื่องเมืองไทย ซึ่งเดอ ลาลูแบร์แต่งไว้ในตอนที่พรรณนาว่าด้วยการเล่นของไทย กล่าวถึงการพนัน คือ ชนไก่ สะกา และหมากรุก เป็นต้น ส่วนการเล่นถั่วโปและบ่อนเบี้ยหาได้กล่าวถึงไม่ ถ้าบ่อนเบี้ยมีอยู่ในสมัยนั้นจริงก็คงจะกล่าวถึงบ้าง

Advertisement

หลักฐานอีกแห่งหนึ่งอยู่ในหมวดพระราชกำหนดเก่า สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ว่า มีผู้ยื่นเรื่องราวกราบบังคมทูลขอตั้งบ่อนเบี้ยที่เมืองราชบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ จะยอมประมูลเงินอากรปีละ 371 ชั่ง พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระพิโรธ ดำรัสว่า เมืองเหล่านั้นใกล้สวนบางช้าง ได้อากรสวนเข้าพระคลังเป็นอันมาก และมีกฎรับสั่งห้ามอยู่ก่อนแล้วมิให้ตั้งบ่อนเบี้ย การตั้งบ่อนเบี้ยจึงผิดอย่างผิดธรรมเนียมแต่โบราณ จะทำให้ราษฎรเดือดร้อน จึงให้เอาตัวผู้ถวายเรื่องลงพระราชอาญา และห้ามมิให้รับเรื่องเช่นนี้ขึ้นทูลเกล้าถวายอีกต่อไป ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า โรงบ่อนคงจะมีขึ้นระหว่างหลังแผ่นดินพระนารายณ์ถึงก่อนแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

โรงบ่อน แหล่งการพนันยุคต้นกรุงฯ

โรงบ่อนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นของชาวจีน นิยมในหมู่ชาวจีน จะมีชาวไทยที่ติดการพนันลอบเข้าไปเล่นบ้างเช่นกัน ในสมัยรัชกาลที่ 1 ชาวจีนตั้งบ่อนเบี้ยในย่านสำเพ็ง ชื่อ “กงสีล้ง” ในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีการตั้งบ่อนเบี้ยไทยขึ้น บ่อนเบี้ยจีนเล่นเป็นคะแนน ใช้กันด้วยทรัพย์ ส่วนบ่อนเบี้ยไทยเล่นกันด้วยเงินสด ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ร่วมบ่อยเบี้ยไทยและจีนอยู่ด้วยกัน

แม้การพนันจะไม่เป็นที่ประสงค์ของรัฐ เพราะทำให้ราษฎรติดพนัน แต่รายได้จากอากรบ่อนเบี้ยก็เป็นแหล่งเงินสำคัญที่นำมาใช้จ่ายราชการแผ่นดิน รัฐจึงยอมให้มีการตั้งโรงบ่อนเรื่อยมา กลวิธีที่นายบ่อนดึงคนเข้าโรงบ่อนคือ นายบ่อนจะให้เงินแก่นักพนันที่เล่นเสียไปทดรองเล่นต่อไป วิธีการนี้ดึงดูดราษฎรให้ไปเล่นการพนันกันมาก จนรัชกาลที่ 4 ทรงออกประกาศห้ามการทดรองเงิน อีกกลวิธีหนึ่งคือ การเล่น “ซูเอี๋ย” คือนักพนันผู้เล่นได้และเสียตกลงกันว่าจะไม่เอาเงินของกันและกัน เป็นวิธีดึงดูดให้ราษฎรไปเล่นกันมาก แต่ก่อให้เกิดคดีฟ้องร้องกันมาก จนกระทั่งมีประกาศห้าม

ความนิยมการพนันและโรงบ่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากอากรบ่อนเบี้ยที่เก็บได้เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในสมัยรัชกาลที่ 2 มีรายได้จากอากรบ่อนเบี้ยปีละ 255 ชั่ง 5 ตำลึง หรือราว 204,000 บาท สมัยรัชกาลที่ 3 มีรายได้จากอากรบ่อนเบี้ย 400,000 บาท สมัยรัชกาลที่ 4 รายได้จากการผูกขาดสินค้าลดลง จึงต้องหารายได้จากการพนันมาทดแทน มีการเพิ่มอากรการพนันประเภทต่าง ๆ เช่น บ่อนชนไก่ ชนนก ปลากัด หมากรุก ไพ่จีน ไพ่ไทย แข่งเรือ ฯลฯ ทำให้มีรายได้จากอากรบ่อนเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 บาท

การพนัน สมัย รัชกาลที่ 5
ภาพบรรยากาศเล่นการพนันสมัยรัชกาลที่ 5 จัดฉากถ่ายภาพโดยชาวต่างชาติ (ภาพจาก “หนังสือสังคมไทยสมัยรัชกาลที่ ๕” กรมศิลปากร)

ปี้โรงบ่อน

สำหรับการพนันในโรงบ่อนที่เป็นที่นิยมคือถั่วโป จะใช้เบี้ยหรือเงินพดด้วง แต่เนื่องจากมีลักษณะกลมกลิ้งหายได้ง่าย ไม่สะดวกแก่การรับกินรับใช้ นายบ่อนจึงคิดทำเบี้ยในโรงบ่อนมาใช้ เรียกว่า “ปี้”

สำหรับปี้โรงบ่อนคาดว่าน่าจะเริ่มใช้ปี้กันในช่วงรัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชกาลที่ 4 ปี้นี้มีหลายรูปแบบ หลายลักษณะ หลายราคา และมีเครื่องหมายต่างกันไป เป็นทองเหลืองหล่อก็มี ตะกั่วก็มี แก้วสีต่าง ๆ ก็มี ครั้นต่อมานายบ่อนชาวจีนสั่งทำปี้จากเมืองจีน ทำด้วยดินเผาหรือดินกระเบื้องเคลือบ

คำว่า “ปี้” มีที่มาจากภาษาจีน แต่ไม่แน่ชัดว่ามีที่มาจากคำใด มีข้อสันนิษฐานหลากหลายแนวทาง ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ คำว่า ปี้ อ่านเป็นภาษาฮกเกี้ยนว่า เป่ อ่านเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า ปี๋ แปลว่า เงินตรา

แหล่งผลิตปี้ โดยเฉพาะปี้กระเบื้อง ได้แก่ ยี่ห้อเฮงฮะ ตำบลปังโคย อำเภอเตี้ยอัน จังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง และยี่ห้อเง็กฮะ ตำบลโกวปี อำเภอเตี้ยอัน ห่างจากตำบลปังโคยไปทางเหนือ 35 กิโลเมตร แต่ปี้บางชนิดมีเนื้อละเอียด อาจทำขึ้นที่ตำบลเจียะอวง อำเภอเหล็กฮง มณฑลกวางตุ้ง หรือที่เก็งเต๊กติ้น ใกล้ทะเลสาปโปยาง ในมณฑลกังไส (เจียงซี) ก็เป็นได้

ปี้กระเบื้องที่ทำให้ขึ้นตำบลปังโคยและตำบลโกวปี แบ่งเป็น 4 ประเภท ราคาถูกที่สุดได้แก่ ปี้ดินธรรมดาเผาไฟ สูงขึ้นมาหน่อยเป็นปี้ดินธรรมดาเคลือบ สูงขึ้นมาอีกเป็นปี้ดินธรรมดาปนดินกระเบื้องเคลือบ ส่วนปี้ราคาสูงที่สุดเป็นปี้ดินกระเบื้องล้วนเคลือบ

วิธีการใช้ปี้ก็ไม่สลับซับซ้อนอันใด นักพนันจะนำเงินสดไปแทง หากแทงถูกก็ได้ปี้มาแล้วนำไปขึ้นเงินภายหลัง หรือนักพนันจะแลกปี้ก่อนแล้วนำไปแทงก็ได้ แต่เดิมปี้นิยมใช้กันเฉพาะในโรงบ่อนเท่านั้น ภายหลังกลับเริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้น เริ่มนำมาใช้ซื้อของหากินตามห้างร้านหน้าโรงบ่อน ก่อนขยายเป็นวงกว้าง นำมาใช้ซื้อขายสินค้าหรือชำระหนี้กันทั่วไป ทำให้ปี้กลายเป็นเงินตราขึ้นมาทันที เมื่อนักพนันนิยมเอาปี้มาใช้แทนเงินตรา จึงเกิดการซื้อขายปี้ในโรงบ่อน ผลประโยชน์ก็ตกอยู่ที่นายบ่อน

สำเพ็ง เมื่อพ.ศ. 2452 เป็นย่านการค้า และแหล่งเที่ยวกลางคืน มีแหล่งรื่นรมณ์เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งโรงโสเภณี โรงบ่อน และโรงสูบฝิ่น
สำเพ็ง เมื่อพ.ศ. 2452 เป็นย่านการค้า และแหล่งเที่ยวกลางคืน มีแหล่งรื่นรมณ์เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งโรงโสเภณี โรงบ่อน และโรงสูบฝิ่น

ด้วยลักษณะของอากรบ่อนเบี้ยนั้นต้องมีการประมูลทุกปี นายบ่อนหัวใสจึงคิดหากำไรจากปี้ โดยเมื่อนายบ่อนคนใดประมูลอากรบ่อนเบี้ยไม่ได้ มีการเปลี่ยนตัวนายบ่อนใหม่ หรือมีผู้สั่งปี้ปลอมเข้ามา นายบ่อนต้องการจะเลิกปี้เก่าเสีย ก็ประกาศให้เอาปี้บ่อนของตนมาแลกเอาเงินคืนภายใน 15 วัน หลังจากนั้นใครนำปี้เก่ามาแลกเงินก็ไม่รับ ราษฎรที่ไม่ทันรู้ตัวก็ขาดทุนกันถ้วนหน้า

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ราคาทองแดงและดีบุกพุ่งสูงขึ้น มีผู้ลักลอบเอาเหรียญทั้งสองประเภทไปหลอมใหม่ ทำเป็นแท่งส่งออกขายต่างประเทศ ทำให้เงินตราขาดแคลนไม่พอใช้ ราษฎรจึงหันไปใช้ปี้กระเบื้องแทน นายบ่อนก็จำต้องสั่งทำปี้เพิ่มเข้ามา และหาช่องทำกำไรจากปี้อีกทางหนึ่งด้วย ความนิยมปี้เพิ่มสูงมากทำให้มีปี้รูปแบบต่าง ๆ มากถึง 5,000 ปี้ รัฐจึงพยายามแก้ไขปัญหานี้ เพราะราษฎรเดือดร้อนกันมาก จึงพยายามผลิตเหรียญทองแดงขึ้นมาใช้เพิ่มเติม แต่ติดขัดปัญหาบางประการจึงผลิตตั๋วกระดาษราคาหนึ่งอัฐขึ้นมาใช้ไปพลางก่อน

ครั้นเมื่อนำเหรียญทองแดงมาใช้แล้วนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า ถ้าให้เลิกใช้ปี้ทั้งในและนอกโรงบ่อน นายบ่อนก็จะนำเงินมาแลกเหรียญทองแดงไปใช้ในโรงบ่อยเบี้ย อาจทำให้เหรียญทองแดงขาดแคลนอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2418 ว่า ให้ราษฎรที่มีปี้อยู่มากน้อยเท่าใด ให้รีบนำปี้ไปขึ้นต่อนายบ่อนเสียโดยเร็ว อย่าให้มีปี้ค้างอยู่ ถ้าถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2418 ห้ามมิให้ราษฎรไทยหรือจีนผู้หนึ่งผู้ใดใช้ปี้ซื้อขายแก่กันต่อไป ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษ

ต่อมา ปี้เริ่มเสื่อมความนิยมลง ไม่ได้นำมาใช้ซื้อขายหรือใช้หนี้กันอย่างที่เคยนิยมทำ เมื่อนั้นนายบ่อยมองไม่เห็นประโยชน์ในการสั่งปี้เข้ามาใช้ จึงนำเอาเหรียญเงินและทองแดงมาใช้ในโรงบ่อน และเลิกใช้ปี้ไปในที่สุด

ปี้กระเบื้องชิ้นเล็ก ๆ เหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมแก่ราษฎรมากมายในอดีต บ้างก็ขายทรัพย์สินและลูกเมียลงเป็นทาสเพื่อเอาไปแลกปี้เล่นบ่อนเบี้ย บ้างก็เศร้าโศกเสียใจที่เอาปี้ไปแลกเงินไม่ทันตามกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรผู้ค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ และยากจน ต้องตกเป็นเหยื่อของนายบ่อนหัวใสใจเล่ห์เหลี่ยม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มัลลิกา เรืองระพี. (2518). บทบาทของชาวจีนในด้านเศรษฐกิจ สังคมและศิลปกรรมไทย สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เฉลิม ยงบุญเกิด. (2514). ปี้โรงบ่อน. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสันต์ รัศมิทัต 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514. พระนคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2500). ตำนานการเลิกอากรบ่อนเบี้ยและหวย. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นางหุ่น ประไพลักษณ์ 16 มีนาคม พ.ศ. 2500. พระนคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ธันวาคม 2563