กามิกาเซ่-หน่วยรบพลีชีพ ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร? จากยุทธวิธีบนฟ้าสู่ใต้น้ำ

กามิกาเซ่ โจมตี เรือ USS Columbia สงครามโลกครั้งที่ 2
เครื่องบินรุ่น Mitsubishi Ki-51 โดยนักบินกามิกาเซ่ เข้าโจมตีเรือ USS Columbia เมื่อวันที่ 6 มกราคม 1945

ก่อนฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1944 กองกำลังญี่ปุ่นมีแนวโน้มสูงว่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นไม่อยู่ในฐานะที่จะสู้รบตามแบบฉบับได้ เพราะกำลังขาดแคลนนักบินซึ่งมีประสบการณ์ และเวลาเพียงแค่ 25 วัน ที่จะฝึกนักบินฝึกหัดก่อนออกจากสนามรบ นั้นทำให้ญี่ปุ่นคิดยุทธวิธีรบใหม่ที่รู้จักกันทั่วไปว่า “กามิกาเซ่”

พลเรือโททากิจิโร โอนิชิ เป็นคนแรกที่เสนอแนวคิดเรื่อง “หน่วยรบพลีชีพ” ที่มีชื่อเป็นทางการว่า “ต็อกโกไต” หรือ “หน่วยจู่โจมพิเศษ” แต่ชื่อที่รู้จักกันไปทั่วไปคือ กามิกาเซ่ (kamikaze-สายลมแห่งสวรรค์) มีที่มาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เมื่อครั้งที่มองโกลยกทัพมารุกรานใน ค.ศ. 1281 แต่ก็ต้องแตกพ่ายไปเพราะพายุไต้ฝุ่น ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของญี่ปุ่นหวังว่าหน่วยกามิกาเซ่จะเป็นดังสายลมที่พัดพาชัยชนะมาเช่นในอดีต

พลเรือโททากิจิโร โอนิชิ

หลักของหน่วยกามิกาเซ่จะเน้นย้ำถึงอิทธิพลของจารีตประเพณีการเป็นซามูไร นักรบในยุคกลางที่ผูกพันกับเจ้านายของตน เคร่งครัดในกฎที่เรียกว่า “บูชิโด” ความจงรักภักดีอย่างสูงสุดและกฎเกณฑ์ของบูชิโดถูกใช้กลบเกลื่อนหลักการของนโยบายการทหารที่ยึดสถานการณ์ตามความเป็นจริง ปฏิบัติการพลีชีพไม่ใช่วิธีตอบโต้ตามประเพณีของญี่ปุ่น การสู้รบจนตัวตายต่างหากที่ถือว่ามีเกียรติ มีเพียงการถูกหมิ่นศักดิ์ศรีจึงต้องฆ่าตัวตายตามพิธีกรรม

การบินเพื่อไปตายเป็นการเบี่ยงเบนจากกฎเกณฑ์โบราณ ตามความปรารถนาของพลเรือโทโอนิซิที่ไม่ต้องการให้ความตายของนักบินเป็นเรื่องสูญเปล่า เขามองว่าถ้าพวกเขาอยู่บนบกก็คงต้องถูกระเบิดถล่ม ถ้าอยู่บนฟ้าคงจะถูกยิงร่วง เขาเห็นว่านั่นเป็นเรื่องเศร้าเกินไป คนหนุ่มควรตายอย่างงดงามเป็นหน้าที่ของหน่วยรบพลีชีพ ที่จะมอบความตายอันงดงาม ดังนักรบซามูไรคนหนึ่งพึงจะมี

ก่อนทำการบิน นักบินกามิกาเซ่จะเขียนจดหมายฉบับสุดท้ายถึงครอบครัว ด้วยรูปแบบมาตรฐานที่ปฏิเสธอารมณ์ถวิลหา โดยเชื่อว่าภารกิจที่ทํานี้จะช่วยให้ชื่อของพวกตนได้รับการจารึกไว้ในหอศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้ายาสุคูนิ ในกรุงโตเกียว ซึ่งสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ชาวญี่ปุ่นผู้เสียชีวิตในสงคราม

ภาพของนักบินกามิกาเซ่ในสายตาของคนในชาติและครอบครัว จึงเป็นซามูไรสมัยใหม่ที่ยอมพลีชีพของตนเพื่อปกป้องเจ้านายหรือองค์จักรพรรดิ

พลเรือโทโอนิชิ เป็นผู้คัดตัวกามิกาเซ่หน่วยแรก จากหน่วยรบทางอากาศที่ 201 ในฟิลิปปินส์ได้ร้อยโท ยูกิโอะ เซกิ วัย 23 ปี เป็นผู้นำการโจมตีครั้งแรก จากคำบอกเล่า เซกิค้อมศีรษะลงขณะรับคำสั่งและพูดว่า “กระผมขอให้ท่านมอบความไว้วางใจให้แก่กระผมในปฏิบัติการครั้งนี้”

ร้อยโท ยูกิโอะ เซกิ

อย่างไรก็ตามกองทัพแจ้งกับนักบินเสมอว่า การโจมตีทุกครั้งต้องได้ผล หากไม่สามารถหาองศาบินเข้าใกล้เป้าหมายเพื่อจะโจมตีเรือรบก็ไม่ให้พุ่งชนอย่างไร้ผล แต่ให้บินกลับฐาน เพราะการพลีชีพอันสูงส่งจะเปล่าประโยชน์ ถ้าไม่สามารถสกัดกั้นการรุกคืบของฝ่ายอเมริกันได้สำเร็จ หากในความเป็นจริงเครื่องบินพลีชีพประมาณ  4 จากทั้งหมด 5 ลำถูกยิงตกก่อนจะบินถึงเป้าหมาย

แต่แล้วปฏิบัติการรบพลีชีพครั้งแรกก็ประสบความสำเร็จ

25 ตุลาคม 1944 เรือรบอเมริกัน ถูกโจมตีโดยนักบินทิ้งระเบิดพลีชีพเป็นครั้งแรก บริเวณนอกเกาะซามาร์ ของฟิลิปปินส์ เซกิได้รับการยกย่องที่จมเรือบรรทุกเครื่องบินคุ้มกันชื่อ เซนต์โล ของอเมริกาลงได้

กามิกาเซ่ โจมตี เรือบรรทุกเครื่องบิน
เรือบรรทุกเครื่องบินคุ้มกัน “เซนต์โล” กำลังจะจม

เมื่อยุทธวิธีดังกล่าวได้ผล ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของญี่ปุ่นก็นำหลักการกามิกาเซ่ไปประยุกต์กับการรบทางทะเล

ตอร์ปิโดซึ่งใช้คนบังคับ หรือ ไคเตน (kaiten-ทางเชื่อมสู่สวรรค์) ที่จะพุ่งตรงเข้าใส่เรือดำน้ำและเรือรบของฝ่ายตรงข้าม มีการสรุปผลของยุทธวิธีดังกล่าวว่า ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรเสียชีวิตราว 3,000 นาย และเรือที่ถูกจม 120 ลำ ส่วนทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต 7,000 นาย

นี่จึงเป็นปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาอย่างรุนแรงต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

เจ้าหน้าที่อเมริกาที่กลับจากการรบในแปซิฟิก ไม่ได้รับอนุญาตให้แม้แต่เอ่ยชื่อกามิกาเซ่จนถึงฤดูร้อนปี 1945 เพราะเกรงว่าจะทำให้กองกำลังอื่นเสียขวัญ แต่สำหรับผู้ที่เห็นภาพความจริงอันสยดอสยองของการโจมตีแบบกามิกาเซ่แล้ว มันได้ทิ้งบาดแผลลึกไว้ในความทรงจำของพวกเขา ทหารเรือนายหนึ่งบนเรือเอสเสกซ์เล่าให้ว่า

“ดูเหมือนเครื่องบินเข้ามาช้ามาก มีควันไฟลุกอยู่ แต่ไม่มีใครยิงมันตก ผมกระโดดถอยกลับเข้าไปอยู่ในห้องเตรียมพร้อมขณะที่มันพุ่งเข้าชน หลังเกิดระเบิดผมเสี่ยงกลับขึ้นบนดาดฟ้า นึกอยากให้ตัวเองไม่ได้ขึ้นไป ผู้คนบนนั้นเสียชีวิตกันหมด ส่วนใหญ่ตายเพราะถูกไฟคลอก”

กองทัพญี่ปุ่นเองก็พบร่องรอยของความเจ็บปวดเช่นกัน นักบินกามิกาเซ่ที่ต้องเผชิญกับความตายอย่างไม่อาจหลีกหนี ก็ไม่ได้มั่นใจตัวเองเสมอไป นักบินระดับแถวหน้าชื่อ ซาบุโร ซาไก ไม่เชื่อว่านักบินทุกนายจะสมัครใจไปตายจริงๆ เขากล่าวภายหลังสงครามยุติว่า

“พวกคนที่ออกคําสั่งและคะยั้นคะยอพวกนักบินเป็นพวกที่พูดโกหก นักบินทุกนายสมัครใจเข้ามาอยู่หน่วยกามิกาเซ่อย่างนั้นหรือ ทุกคนต่างพูดว่า ผมไป ผมไป! ผมไป! หรือเปล่า โกหก! ไม่มีใครหรอกที่อยากตาย แต่หากเป็นคําสั่ง พวกเราล้วนเป็นชายชาติทหาร เราจะไป ผมก็จะไปด้วยเช่นกัน”

ซาบุโร ซาไก

นโยบายกามิกาเซ่ยังเป็นที่สงสัยของนักบิน แต่ก็ต้องเก็บความสงสัยไว้กับตัว ขณะที่ระดับผู้บังคับบัญชาก็ไม่มีการคุยอย่างเปิดเผยเช่นกัน สื่อมวลชนถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด ไม่มีการอนุญาตให้รายงานถึงผู้บาดเจ็บและคนตายจากสงคราม หรือความพ่ายแพ้ รวมถึงไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกลยุทธ์ทางทหาร

แต่สุดท้ายญี่ปุ่นก็แพ้สงคราม หลังจากที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิถูกทิ้งระเบิด จักรพรรดิฮิโรฮิโตก็ทรงประกาศยอมแพ้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 1945 พลเรือโทโอนิชิ บิดาหน่วยกามิกาเซ่ ปลิดชีวิตด้วยดาบของเขา พร้อมเขียนจดหมายลาตายที่กล่าวขอบคุณกามิกาเซ่ หน่วยจู่โจมพิเศษที่กล้าหาญ และหวังว่าการตายของเขาคงชดเชยความผิดที่ไม่อาจรบชนะได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เรื่องจริงนอกบันทึกประวัติศาสตร์. บริษัท รีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทย) จำกัด, กรกฎาคม 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2563