กำเนิด ตู้คอนเทนเนอร์ ทางการค้า ปฏิวัติขนส่ง-พลิกเศรษฐกิจโลก จากนักธุรกิจอเมริกัน?

ตู้คอนเทนเนอร์ ใน ABIDJAN ประเทศ IVORY COAST
ภาพประกอบเนื้อหา - ตู้คอนเทนเนอร์ ใน ABIDJAN ประเทศ IVORY COAST เมื่อพฤษภาคม 2020 ภาพจาก ISSOUF SANOGO / AFP

ก่อนหน้าชาวโลกจะคุ้นเคยกับภาพกล่องเหล็กขนาดมหึมาหรือ “ตู้คอนเทนเนอร์” สำหรับใช้งานขนส่งสิ่งของทางไกลระหว่างประเทศหรือรูปแบบอื่น การเคลื่อนย้ายสินค้าไปมาระหว่างภูมิภาคปรากฏขึ้นมานานนับพันปีแล้ว บรรจุภัณฑ์ที่ใช้กันเสมอมาย่อมเป็นสิ่งของจำพวกถัง กระสอบ ไปจนถึงลังไม้ขนาดใหญ่ กระทั่งมีนักธุรกิจอเมริกันพัฒนาระบบการขนส่งด้วยตู้เหล็กหรือที่เรียกกันว่า Container ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า “กล่องเหล็ก” นี้ถือเป็นไอเดียที่ปฏิวัติการขนส่งไปโดยปริยาย

การขนส่งในสมัยโบราณที่มนุษย์นำสินค้าหรือข้าวของต่างๆ ขนถ่ายลงเรือเคลื่อนย้ายผ่านมหาสมุทรหนึ่งไปสู่แผ่นดินอีกแห่งหนึ่งมีมายาวนานมากแล้ว สิ่งที่ใช้บรรจุสิ่งของเหล่านั้นยังเป็นวัสดุจำพวกถัง กระสอบ และลังไม้ขนาดใหญ่ แต่กระบวนการขนส่งจากแผ่นดินไปขึ้นเรือ เมื่อมาถึงท่าเรือก็ต้องขนลงอีก กระบวนการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนยุคนั้นเลย กระบวนการเคลื่อนย้ายต้องใช้แรงงาน และใช้เวลา ระดับความเสี่ยงต่อการเสียหายก็ถือว่าสูง ยังไม่นับปัญหาเรื่องการสูญหายหรือขโมยข้าวของ

เมื่อมาถึงช่วงศตวรรษที่ 18 ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการเติบโตของอุตสาหกรรมนำมาซึ่งระบบขนส่งทางราง ในปีค.ศ. 1792 บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการขนส่งซึ่งมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมคล้ายกับ “ตู้คอนเทนเนอร์” ในยุคปัจจุบันก็ปรากฏขึ้นในอังกฤษ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้ตู้ขนาดเล็กแบบมาตรฐานระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้สะดวกในการขนส่งและกระจายทรัพยากรพื้นฐาน แม้ว่าบรรจุภัณฑ์แบบกล่องหลากหลายขนาดจะเริ่มปรากฏขึ้น แต่ข้อมูลจาก World Shipping Council (WSC) อธิบายว่า กระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้าที่บรรทุกมานั้นก็ยังต้องใช้แรงงานมากไม่ต่างจากสภาพในยุคก่อนหน้านั้น

ตู้เหล็กขนาดมหึมาที่คนยุคปัจจุบันคุ้นตากันเริ่มปรากฏขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ภายหลังจากมัลคอล์ม เพอร์เซลล์ แม็คลีน (Malcolm Purcell McLean) นักธุรกิจชาวอเมริกันเข้าซื้อบริษัทเดินเรือขนาดใหญ่ในยุค 50s พร้อมกับไอเดียเรื่องเคลื่อนย้ายรถบรรทุกขนส่งไปด้วยทั้งคันเลยโดยที่ยังมีสินค้าบรรจุอยู่ เขามองว่ากระบวนการนี้ง่ายและรวดเร็วกว่าหากตู้ขนส่งสินค้าจะสามารถยกเคลื่อนย้ายจากพาหนะหนึ่งไปสู่เรือขนาดใหญ่โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายสินค้านั้นลงมา (ไอเดียนี้ถูกปรับมาเป็นบรรทุกเฉพาะตู้บรรจุสินค้าในเวลาต่อมา)

เชื่อกันว่า การขนส่งด้วย “ตู้คอนเทนเนอร์” ผ่านทางเรือในทางการค้าในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นในวันที่ 26 เมษายน 1956 โดยหนังสือพิมพ์ New York Times ฉบับวันที่ 27 เมษายน 1956 รายงานว่า เรือ SS Ideal X ซึ่งเป็นเรือที่ดัดแปลงมาจากเรือบรรทุกน้ำมันหรือขนส่งสิ่งต่างๆ ที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นมัลคอล์ม ซื้อเรือลำนี้มาดัดแปลงเป็นเรือสำหรับขนส่งทางการค้า ออกเดินเรือจากท่าเรือในนิวยอร์ก ใช้เวลาเดินทาง 5 วันจึงเทียบท่าที่ท่าเรือฮุสตัน ในเท็กซัส เรือลำนี้บรรทุก “Trailer Vans” (ภายหลังเรียกว่า “คอนเทนเนอร์”) จำนวน 58 ตู้ไปด้วย

ไอเดียของเขาอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งแบบ intermodal (การขนส่งสินค้าหลายวิธีในเส้นทาง เช่น ทางรถไฟและทางเรือในเส้นทาง) โดยลดปัญหาติดขัดระหว่างการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการขนส่งระหว่างเส้นทาง หากตู้เก็บสินค้าสามารถเคลื่อนย้ายโดยลื่นไหลระหว่างเรือ, รถบรรทุก และรถไฟ กระบวนการขนส่งโดยรวมย่อมสะดวกขึ้น เมื่อนำไอเดียนี้มาปฏิบัติจริงจึงนำมาสู่การปฏิวัติลักษณะการเคลื่อนย้ายตู้บรรจุสินค้าและวงจรการค้าขายโดยรวมมาเป็นเวลาร่วม 50 ปีแล้ว

มาร์ก เลวินสัน ผู้เขียนหนังสือ The Box: How the Shipping Container Made the World Smaller and the World Economy Bigger แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ตู้คอนเทนเนอร์ส่งผลให้ค่าขนส่งถูก เมื่อเป็นเช่นนั้นระบบการขนส่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ส่งผลต่อรูปโฉมของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องจ้างแรงงานไม่เป็นธรรม จ่ายค่าจ้างและปฏิบัติต่อแรงงานที่ทำงานเคลื่อนย้ายตู้บรรจุสินค้าแบบไม่เป็นธรรมก็ลดน้อยลงด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“HISTORY OF CONTAINERIZATION”. World Shipping Council. Online. Access 25 NOV 2020. <https://www.worldshipping.org/about-the-industry/history-of-containerization>

Levinson, Marc. The Box: How the Shipping Container Made the World Smaller and the World Economy Bigger. New Jersey : Princeton University Press, 2006.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563