“กรณีราชประสงค์” เมื่อทหารเรือ สู้กับทหารบก ในการเรียกร้องประชาธิปไตยปี 2492

ภาพประกอบเนื้อหา - (ซ้าย) จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ขวา) นายปรีดี พนมยงค์

หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นบริหารประเทศเมื่อเดือนเมษายน 2491 จากการรัฐประหาร เกิดการต่อต้านทั้งจากฝ่ายกองทัพและพลเรือน ในส่วนของกองทัพ การต่อต้านนำไปสู่กบฏเสนาธิการ หรือกบฏนายพล ส่วนพลเรือนนำไปสู่ “กบฏวังหลวง” หรือ “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492” (ชื่อที่นายปรีดี พนมยงค์เรียก)

ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะการต่อสู้ของพลเรือน

Advertisement

ที่ผ่านมา นายปรีดี ถือว่ารัฐบาลจอมพล ป. ที่มาจากการการรัฐประหารมีสถานะ “ชั่วคราว” เท่านั้น และมีการเตรียมการต่อต้านรัฐบาลอย่างลับ ๆ เพื่อรอเวลาที่เหมาะสม

10 กุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดี พนมยงค์, ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์, รอ. วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ฯลฯ เดินทางมาถึงประเทศไทย โดยนายปรีดีต้องการเข้ามาเพื่อเจรจากับจอมพล ป. และคณะรัฐประหาร ยอมรับเงื่อนไขโดยสันติวิธี

16 กุมภาพันธ์ 2492 จอมพล ป.ที่รู้ข่าวการเคลื่อนไหวของนายปรีดี จึงมีประกาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ชื่อว่า “ประเทศไทยจะมีจลาจลหรือไม่” โดยยกตัวอย่างเพื่อนบ้านเปรียบเทียบและเตือนฝ่ายตรงข้าม

23 กุมภาพันธ์ 2492 รัฐบาลเตรียมการรับมือ โดยการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งความตอนหนึ่งของประกาศดังกล่าวว่า “ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า สถานการณ์ทางการเมืองต่างประเทศใกล้เคียงประเทศไทยได้มีการจลาจลขึ้นทั่วกัน และเหตุการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ได้ลุกลามมายังประเทศไทยจนถึงบางแห่ง รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องใช้กําลังปราบปรามไปบ้างแล้ว จึงประกาศให้ทราบทั่วกันว่า สถานการณ์ฉุกเฉินมีอยู่ในพระราชอาณาจักร”

26 กุมภาพันธ์ 2492 ฝ่ายปฏิวัติและนายปรีดี ก็ได้เริ่มปฏิบัติการ โดยหลักการของแผนที่วางไว้คือ การยึดอํานาจแบบใต้ดิน, วิธีปฏิบัติการแบบสายฟ้าแลบ ยึดสถานที่สําคัญ-บุคคล-กองทัพ และยึดอาวุธ, ล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วตั้งรัฐบาลใหม่, ยกเลิกรัฐธรรนูญฉบับร่าง พ.ศ. 2492 และนำรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2475 มาใช้แทน

ส่วนบริเวณแนวรบกําหนดให้แบ่งเป็น 3 แนวทางด้วยกันคือ 1. เสรีไทยเข้ายึดที่พื้นที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และในพระบรมมหาราชวัง กำหนดเป็นกองบัญชาการกองทัพสูงสุด 2. กองสัญญาณทหารเรือยึดถนนสายสีลม ประตูน้ำ และปทุมวัน 3. นาวิกโยธินจากหัวหินเป็นกําลังหนุนและต่อต้าน ตั้งแต่ที่ท่าข้ามแม่น้ำนครชัยศรีขึ้นมา และกองทัพนาวิกโยธินจากสัตหีบ เป็นกําลังหนุนและโจมตีทางน้ำเพื่อช่วยในการควบคุมพระนคร

เวลา 20.00 นายปรีดีและเสรีไทยขึ้นฝั่งที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เวลา 21.05 น. กำลังส่วนหนึ่งนําโดย ไกร สติฐต และแหลม ปาณัฐเสถียร เข้ายึดสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ พญาไท และเริ่มประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่มี ดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งแต่งตั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย มี พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน เป็นแม่ทัพใหญ่

จากนั้นก็ได้ออกคําสั่งปลดออกจากราชการ 5 คน คือ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบก, พล.ท.กาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการ, พ.ต.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ ผู้บังคับการตํารวจสันติบาล, พล.ต.ท.หลวงชาติ ตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ) อธิบดีกรมตํารวจ และ พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ ห้ามเคลื่อนย้ายกําลังไม่ว่ากรณีใด ๆ นอกจากจะได้รับคําสั่งโดยตรงจากแม่ทัพใหญ่ จากนั้นหน่วนอื่นก็ลงปฏิบัติการ

ขณะที่บริเวณพระบรมมหาราชวัง ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ได้นําทหารเรือและเสรีไทยส่วนหนึ่งเข้ายึดไว้เมื่อเวลา 21.00 น. และจากนั้น ปรีดี พนมยงค์, ทวี ตะเวทิกุล พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และกําลังส่วนอื่น ๆ ก็ได้เคลื่อนย้ายจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เข้ามาที่พระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์บัญชาการ

บริเวณถนนวิทยุจนถึงสี่แยกราชประสงค์ กองสัญญาณทหารเรือลุมพินีก็เข้ายึดไว้ตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00 น. (26 กุมภาพันธ์) เริ่มปะทะกับทหารบกเมื่อเวลา 02.00 น. (27 กุมภาพันธ์) ทหารทั้งสองฝ่ายใช้อาวุธร้ายแรง ในระยะแรกทหารเรือเป็นฝ่ายได้เปรียบสามารถยึดประตูน้ำ, มักกะสัน และสะพานราชเทวีได้ ส่วนทหารบกถอยไปยึดแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สนามเป้า และพญาไท การสู้รบของ 2 กองทัพ เรียกกันต่อมาว่า “กรณีราชประสงค์”

ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ที่ฝ่ายปฏิวัติเข้ายึดก็ที่ทําการโทรศัพท์กลางที่วัดเลียบ เพื่อให้ยุติการใช้โทรศัพท์ทั่วพระนครและบริเวณใกล้เคียง, สถานีตํารวจปากน้ำ เพื่อป้องกันมิให้มีการขัดขวางการเคลื่อนย้ายกําลังจากสัตหีบของฝ่ายทหารเรือ

เหตุการณ์ครั้งนี้ ในช่วงแรกมีแนวโน้มว่าฝ่ายปฏิวัติจะได้รับชัยชนะ เพราะบุคคลสําคัญทั้งของฝ่ายคณะรัฐประหารและฝ่ายรัฐบาลรวมตัวกันไม่ติด ทั้งจอมพล ป.พิบูลสงคราม, พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ, พล.ท.กาจ กาจสงคราม พล.ต.หลวง สถิตยุทธการ, พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพล.ต.ไสว ไสวแสนยากร ต่างก็อยู่กันคนละแห่งและติดต่อกันไม่ได้เลย

แต่เมื่อกําลังนาวิกโยธินจากสัตหีบ ซึ่งจะต้องเป็นกําลังหลักเข้ายึดและควบคุมตามสถานที่สําคัญมาไม่ทันตามนัด เพราะมาติดอยู่ที่ท่าแพขนานยนต์ข้ามแม่น้ำบางปะกง (พ.ศ. 2492 ถนนสุขุวิทยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง) สถานการณ์จึงพลิกกลับ เมื่อฝ่ายรัฐบาลตั้งตัวได้ และได้ออกประกาศยืนยันว่า รัฐบาลเดิมยังคงบริหารประเทศอยู่ และหลังจากที่เจรจากันระยะหนึ่ง พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้อํานวยการในการปราบปรามก็สั่งให้ล้อมพระบรมมหาราชวังและโจมตี จนเป็นฝ่ายได้ชัยไปในที่สุด

 


ข้อมูลจาก

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทยว่ารัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500) พิมพ์ครั้งที่ 3, สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก. สิงหาคม 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ตุลาคม 2563