ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เหตุการณ์ “กบฏรัฐธรรมนูญ” ในเดือนตุลาคม ปี 2516 เป็นชนวนเหตุการณ์สำคัญที่นำมาสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยและการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการในวันที่ 14 ตุลาคม ปี 2516
ธัญญา ชุนชฎาธาร 1 ใน 13 “กบฏรัฐธรรมนูญ” เขียนบันทึกบอกเล่าเหตุการณ์ไว้ในหนังสือ “ธัญญา ชุนชฎาธาร บันทึก 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ เรื่องบอกเล่าก่อนถึงวัน 14 ตุลา 16” ซึ่งได้ฉายให้เห็นภาพของการต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ก่อนที่เขาและพรรคพวกจะถูกจับ ถูกตั้งข้อหาที่ไม่เป็นธรรม ในหนังสือยังเผยสภาพชีวิตในห้องขังในระยะเวลาเกือบสิบวัน จนถึงวันแห่งอิสรภาพของประเทศไทยที่ถูกปลดปล่อยจากระบอบเผด็จการ
5 ตุลาคม
ธัญญา ชุนชฎาธาร อธิบายว่า ในวันที่ 5 ตุลาคม ปี 2516 พรรคพวกของเขาประกอบด้วย ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร, ประสาร มฤคพิทักษ์, ธีรยุทธ บุญมี, ชัยวัฒน์ สุรวิชัย, บุญส่ง ชเลธร, บัณฑิต เอ็งนิลรัตน์, วีระศักดิ์ สุนทรศรี, สมบัติ ธำรงธัญญาวงศ์ และคนอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง รวมตัวกันเปิดตัว “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ”
ธีรยุทธ บุญมี ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มนี้ โดยสรุปว่า เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งร่างรัฐธรรมนูญ และการประกาศใช้โดยเร็ว เพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศ ทางกลุ่มจะดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ด้านรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน และรณรงค์ให้ประชาชนลงชื่อสนับสนุน เพื่อส่งให้รัฐบาลนำไปพิจารณาต่อไป โดยจะเริ่มกิจกรรมขอรายชื่อสนับสนุนในวันที่ 6 ตุลาคม
ธัญญา ชุนชฎาธาร เล่าว่า ในคืนนั้น นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาช่วยกันคิดคำขวัญและเขียนโปสเตอร์ลงบนกระดาษแข็งแผ่นใหญ่ บ้างก็ตอกกระดาษลงบนไม้ มีข้อความเช่นว่า “ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญ” “น้ำตาเราตกใน เมื่อไร้รัฐธรรมนูญ” “เอาอำนาจของเราคืนมา” “ชาติใดไร้รัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องสูญเสียเสรีภาพ” “อำนาจต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่ปืน”
นอกจากนี้ พวกเขายังได้ทำหนังสือเล่มหนึ่ง หน้าปกสีแดงดำ มีพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 7 เรื่องการสละพระราชอำนาจ โดยพระบรมราโชวาทนี้คัดด้วยลายมือของ นิวัติ กองเพียร และยังมี ปรีดี บุญชื่อ ช่วยกันออกแบบศิลป์และออกแบบปก ส่วนเนื้อหาในหนังสือมีคำประกาศเรียกร้องรัฐธรรมนูญพร้อมรายชื่อผู้ร่วมสนับสนุนแนบท้าย 100 คน, บทสัมภาษณ์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย, บทความของสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ และเรื่องอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้เองทำให้รัฐบาลไม่พอใจและเริ่มเคลื่อนไหว ธัญญา ชุนชฎาธาร เล่าว่า “มีการพูดคุยถึงสถานการณ์ภายหลังเราแถลงข่าว… ว่าฝ่ายรัฐบาลเริ่มปรามการเคลื่อนไหว รองอธิบดีกรมตำรวจให้สัมภาษณ์สวนพวกเรามาว่า ‘หากมีการเดินขบวนจะจับกุม เพราะผิดกฎหมายคำสั่งคณะปฏิวัติที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน’ พ.อ.คนดังที่บอกว่า ‘จะให้ทหารออกมาเดินขบวนบ้าง’ บุคคลสำคัญของรัฐบาลเริ่มส่งสัญญาณเอาจริงออกมา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราตัดสินใจเดินหน้ากันแล้ว จะเป็นอะไรก็คงต้องเป็นกัน!”
6 ตุลาคม
เมื่อถึงวันเดินขบวน ในช่วงแรกการเดินขบวนก็เป็นไปได้ด้วยความสงบ มีการแจกใบปลิว ปราศรัยรณรงค์ให้แก่ประชาชน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับด้วยดี แต่เมื่อเดินขบวนมาถึงบริเวณสี่แยกประตูน้ำ ขณะกำลังเลี้ยวไปทางถนนราชปรารถ ก็เกิดเหตุชุลมุน ตำรวจได้จับกุมแกนนำ 11 คน ได้แก่ ธีรยุทธ บุญมี, ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร, ทวี หมื่นนิกร, ชัยวัฒน์ สุรวิชัย, นพพร สุวรรณพานิช, บุญส่ง ชเลธร, วิสา คัญทัพ, บัณฑิต เอ็งนิลรัตน์, ปรีดี บุญซื่อ, มนตรี จึงศิริอารักษ์ และธัญญา ชุนชฎาธาร (ต่อมาตำรวจจับ ก้องเกียรติ คงคา และไขแสง สุกใส เพิ่มอีก รวมเป็น 13 กบฏรัฐธรรมนูญ)
ตำรวจนำตัวพวกเขาไปที่กรมตำรวจ ปทุมวัน แจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะปฏิวัติ เนื่องจากชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน รวมถึงข้อหาการกระทำเป็นกบฏภายในราชอาณาจักร หนึ่งในผู้ต้องหาถึงกับถามด้วยความสงสัยว่า “กบฏได้อย่างไร เดินแจกใบปลิวแค่นี้”
จากนั้นตำรวจย้ายผู้ต้องหาไปยังโรงเรียนตำรวจ บางเขน ธัญญา ชุนชฎาธาร อธิบายสภาพห้องขังว่า “…กว้างราว 3 เมตร ยาว 4 เมตร ด้านซ้ายติดผนัง มีแคร่นอน 1 ตัว มุมขวาห้องมีคอกปูนสูงราวเอวปิดกั้นหัวส้วมเอาไว้ มีก๊อกน้ำขึ้นสนิม 1 ตัว คงใช้เป็นที่อาบน้ำ ด้านหลังห้องมุมบนมีช่องลมซี่กรงเหล็กที่สูงเกินกว่าที่จะปีนดูอะไรภายนอกได้…”
7 ตุลาคม
ตำรวจเข้าตรวจค้นสำนักงาน “ธรรมรังสี” ย่านวิสุทธิ์กษัตริย์ ซึ่งสร้างความวิตกให้ ธัญญา ชุนชฎาธารอย่างมาก เขาอธิบายว่า ที่นั่นมีเอกสาร ใบปลิว ป้ายข้อความที่มีข้อความรุนแรง (แต่ไม่ได้เอาออกไปใช้ในการเดินขบวน) รวมถึงเอกสาร หนังสือทฤษฎีการเมืองต่าง ๆ ซึ่งพวกเขาใช้เพื่อประกอบการเรียน การศึกษา และค้นคว้า แต่นั่นอาจเป็นช่องให้ตำรวจโยงข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เพิ่มเติมได้
8 ตุลาคม
ธัญญา ชุนชฎาธาร เริ่มปรับตัวให้คุ้นเคยกับสภาพชีวิตในห้องขัง เขาอธิบายว่า หากอยากกินอาหารที่ดีกว่า แตกต่างจากอาหารธรรมดาที่นำมาแจก จะต้องจ่ายส่วยให้ผู้คุม ให้คอยจัดหาอาหารจากแม่ค้าหรือห้องครัว ต่อมา ผู้คุมก็นำมุ้งมาให้ หลังจากที่ผู้ต้องหาต้องนอนบริจาคเลือดให้ยุงมาแล้ว 2 คืน
คืนนั้น ผู้ต้องหาเปิดวิทยุฟังข่าวได้ความว่า รัฐบาลเริ่มออกชี้แจงเหตุผลในการจับกุมว่า เพราะพวกเขาถูกยุยงปลุกปั่นจากนักการเมือง พบหลักฐานมีแผนการล้มล้างรัฐบาล ธัญญา ชุนชฎาธาร คิดว่า “…รัฐบาลเริ่มปฏิบัติการละเลงสีแล้ว เป็นไปตามคาดไม่มีผิด พยายามสร้างความชอบธรรมในการจับกุม โยงเอาเรื่องการเมืองเข้ามาเพื่อโดดเดี่ยวพวกเรา และสร้างความเข้าใจผิด ๆ ให้เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนหวาดเกรง และจะได้ทำร้ายทุบตีพวกเราตามอำเภอใจได้ง่ายขึ้น…”
9 ตุลาคม
ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์สนับสนุนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ โจมตีรัฐบาลว่า ได้ใช้ความรุนแรงในการจับกุม และประกาศจะยืนหยัดต่อสู้กับประชาชนจนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญ ธัญญา ชุนชฎาธาร เล่าว่า รัฐบาลเริ่มออกข่าวหนักมากขึ้นว่า ผู้ต้องหามีแผนการล้มล้างรัฐบาล เพราะพบเอกสารเอกสารเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจึงกำลังพิจารณาตั้งข้อหา “การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” เพิ่มเติม ทว่า มีการโต้แย้งจากคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยว่า หลักฐานต่าง ๆ ที่ตำรวจตรวจค้นมาได้เหล่านั้นเป็นหนังสือตำราเรียนของห้องสมุด ซึ่งมีตราประทับของห้องสมุดมหาวิทยาลัยชัดเจนอยู่แล้ว
เย็นวันนั้นมีข่าวว่า รัฐบาลจะใช้ “มาตรา 17” โดยนายกรัฐมนตรีจะออกคำสั่งเด็ดขาด มอบอำนาจให้ตำรวจสอบสวนผู้ต้องหาอย่างไม่มีเวลากำหนด และสั่งห้ามเยี่ยมห้ามประกันเด็ดขาด ธัญญา ชุนชฎาธาร เล่าว่า “มีข่าวจากการประชุมข้าราชการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีได้พูดในที่ประชุมว่า พร้อมกำจัดนิสิตนักศึกษาออกไป 2% ของนักศึกษาแสนคน เป็นการ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ โดยอ้างว่า คนเหล่านี้เป็นเพียงคนจำนวนน้อยที่ก่อความวุ่นวาย” ขณะเดียวกัน วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ก็ออกข่าวชี้แจงว่า การที่รัฐบาลจับบุคคลทั้ง 13 คนนั้น เป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพราะก่อความไม่สงบในบ้านเมือง และมีหลักฐานกระทำความผิดชัดเจน
10 ตุลาคม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์งดการสอบ นักศึกษาเริ่มชุมนุม เรียกร้องปล่อยตัว 13 กบฏรัฐธรรมนูญ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ปราศรัยที่ลานโพธิ์ มีนักศึกษาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ขณะที่บางเขนนั้น ตำรวจได้นำผู้ต้องหามาถ่ายรูป และพิมพ์ลายนิ้วมือทำประวัติ ธัญญา ชุนชฎาธาร คิดว่า ตนเองกำลังจะถูกกำจัด เล่าว่า “…เสร็จแล้วกูคราวนี้ ลักษณะแบบนี้เขามาทำประวัติอาชญากรรมนี่หว่า เขาจะเก็บรูปพรรณสัณฐานทั้งลายมือลายนิ้วมือไว้ทั้งหมด เก็บไว้เฉย ๆ ก็คงไม่เป็นไร แต่ขั้นตอนต่อไปจะเอาไปทำอะไรนั้น พอนึกขึ้นแล้วก็เสียวอยู่ในใจ เคยเห็นภาพข่าวที่เขาประหารชีวิตพวกวางเพลิงสมัยเด็ก ก็เป็นแบบนี้แหละ! ผ่านกระบวนการถ่ายรูป พิมพ์นิ้วมือ ก่อนที่จะเอาไปสู้หลักประหาร…”
ค่ำวันนั้น วิทยุออกข่าวว่า รัฐบาลได้แจ้งข้อกล่าวหา “คอมมิวนิสต์” อีกหนึ่งข้อหา ทำให้ ธัญญา ชุนชฎาธาร รู้สึกว่า “…มันกะเอาให้ถึงตายจริง ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย อากาศห้องขังที่ทั้งร้อนทั้งอ้าว ทั้งอึดอัดอยู่แล้ว ยามนี้กลับยิ่งบีบรัดหนักหน่วงยิ่งขึ้น…”
11 ตุลาคม
นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ได้รวมพลังชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างหนัก ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จนถึงช่วงค่ำรัฐบาลจึงได้พยายามเจรจากับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย โดยยืนยันว่า การจับ 13 กบฏรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง การเจรจาไม่เป็นผล รัฐบาลปฏิเสธข้อเรียกร้องของนักศึกษา และต่อมา รัฐบาลประกาศตั้งกองบัญชาการปราบจราจล โดยมี จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นผู้อำนวยการ นั่นทำให้เหตุการณ์ส่อแววเลวร้ายลง
12 ตุลาคม
การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ชุมนุมมากขึ้นทุกขณะ รัฐบาลมีท่าทีผ่อนคลายลง และยอมให้มีการ “ประกันตัว” แต่ไม่ใช่การ “ปล่อยตัว” นั่นทำให้ ธัญญา ชุนชฎาธาร เกิดความสงสัย คิดว่า “ลากคอเข้าคุกจะเอาให้ถึงตาย แล้วจู่ ๆ วันนี้ก็ปล่อยตัว มันเกิดอะไรขึ้น?” ขณะที่ตำรวจได้ชี้แจงว่า “มีคนมายื่นขอประกันตัวพวกคุณ ทางรัฐบาลพิจารณาแล้ว อนุญาตให้คุณได้รับประกันตัว พวกคุณออกไปได้แล้ว เราเปิดห้องขังและประตูทุกแห่ง พวกคุณออกไปได้แล้ว พวกคุณสามารถออกไปจากที่นี่ได้ตลอดเวลานับแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
ทั้งหมดปรึกษากันเห็นว่า เรื่องนี้ผิดปกติ เพราะรัฐบาลมีทีท่าแข็งกร้าวมาตลอด แต่ตอนนี้กลับยอมให้ประกันตัว ซึ่งหากทั้งหมดยอมรับการประกันตัว ก็หมายความว่ายอมรับข้อกล่าวหาทั้งหมด เท่ากับยอมรับความชอบธรรมในการจับกุม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้แต่แรก พวกเขาวิเคราะห์ว่า การประกันตัวนี้เป็นกลยุทธ์ของรัฐบาล และการที่อยู่ในคุกต่อไปก็เป็นเงื่อนไขสำคัญของการต่อสู้ของนิสิต นักศึกษา ประชาชน เพราะนอกจากเป้าหมายการปล่อยตัวทั้ง 13 คนแล้ว เรื่องรัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลยังไม่มีคำตอบแน่ชัด
ธัญญา ชุนชฎาธาร เสนอว่า “ถึงเวลาแล้วที่ต้องใช้การต่อสู้ครั้งนี้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พลังของประชาชนครั้งนี้ยิ่งใหญ่ เรื่องของเราที่อยู่ในคุกเป็นเรื่องเล็กเสียแล้ว พลังมหาศาลครั้งนี้สามารถเปลี่ยนแปลงให้รัฐบาลเผด็จการพ้นจากอำนาจได้ เราจะถ่วงเวลาออกไปจนกว่าเที่ยงวันพรุ่งนี้”
13 กบฏรัฐธรรมนูญ จึงเห็นพ้องกันไม่ยอมรับการประกันตัว และจะอยู่ที่นี่จนกว่ารัฐบาลจะมีคำตอบแน่ชัดเรื่องรัฐธรรมนูญ พวกเขาทั้งหมดยังอยู่ในห้องขัง ที่ประตูลูกกรงทุกชั้นถูกเปิดทิ้งไว้ แต่พวกเขาไม่ก้าวออกไปไหนทั้งสิ้น คืนนั้นพวกเขาระมัดระวังตัวกันมาก เพราะเกรงว่าจะถูกนำไปยิงทิ้งเหมือนกรณี “4 รัฐมนตรี” ที่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมเมื่อปี 2492 ธัญญา ชุนชฎาธาร อธิบายว่า พวกเขาอยู่ในภาวะตึงเครียดและผลัดกันงีบพักผ่อน คอยช่วยกันดูแลสอดส่อง แทบไม่มีใครหลับตาลง และนับถอยหลังเวลา “ดีเดย์” เที่ยงตรงวันพรุ่งนี้
13 ตุลาคม
ตำรวจบังคับให้พวกเขาออกจากที่นี่ อ้างว่ามีคนมาประกันตัวแล้ว ตอนแรกพวกเขายืนยันที่จะอยู่ต่อ ไม่ยอมไปไหน แต่ตำรวจ “…ปรี่เข้ามาอย่างขึงขัง ตรงรี่เข้าคว้าตัว พร้อมข้าวของสัมภาระมุ้งหมอน ฉุดกระชากลากถูเราออกไป…” ทั้งหมดจึงยอมออกจากห้องขัง และเมื่อพ้นประตูโรงเรียนตำรวจมาแล้ว พวกเขายังคงปักหลักอยู่ที่นั่น ได้ทราบข่าวการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนในการชุมนุมประท้วงรัฐบาล
เวลาประมาณบ่ายโมง สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตฯ มาถึง แจ้งว่า รัฐบาลยอมปล่อยตัวพวกเขาโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญนั้นรัฐบาลจะดำเนินการโดยเร็ว และจะพาทั้งหมดไปที่ชุมนุมเพื่อแสดงตัวและจะได้สลายการชุมนุม
ธัญญา ชุนชฎาธาร เล่าว่า “สมบัติรับพวกเราขึ้นรถจนเต็ม… นัดพบกันที่ร้านศรแดง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ราวทุ่มหนึ่ง เรามาถึงร้านอาหารศรแดงตามเวลา แม้จะเสียเวลาช่วงฝ่าฝูงชนที่ถนนราชดำเนิน กว่ารถเข้าถนนได้… อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขณะนี้ ผู้คนไม่หนาแน่นนัก แต่เศษกระดาษ ขวดน้ำพลาสติก เต็มเกลื่อนพื้นถนนไปหมด จนบดบังสภาพพื้นถนนเดิม บ่งบอกว่าก่อนหน้านี้ คงเป็นที่ชุมนุมของคนจำนวนมาก…”
การติดต่อสื่อสารทำได้ยากลำบากมาก การสื่อสารทางโทรศัพย์ยังจำกัด ไม่ทั่วถึง ต้องส่งคนส่งข่าวกันทางเดียวเท่านั้น ต่อมา ได้เดินทางต่อไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งผู้ชุมนุมและกองบัญชาการของผู้ชุมนุมอยู่ที่นั่น
ธัญญา ชุนชฎาธาร เล่าว่า “…บรรยากาศที่สัมผัสได้ในเวลานั้นคือ ความตึงเครียดภายในกองบัญชาการ รวมทั้งความอิดโรยอ่อนล้าของเหล่าแกนนำการชุมนุมทุกคน สภาพช่วงนี้ยิ่งกว่าหน้าสิ่วหน้าขวาน… ชีวิตคนนับแสนบนลานพระบรมรูปทรงม้า และตามท้องถนนรอบ ๆ บริเวณนั้น กำลังรอคำสั่งขั้นต่อไป ข่าวมาที่รถบัญชาการค่อนข้างสับสน มีการเตรียมใช้กำลังสลายฝูงชนของรัฐบาล บางข่าวแจ้งว่ามีกรรมการศูนย์ฯ จำนวนหนึ่งหายไปและอาจถูกเก็บ
แต่ข่าวร้ายที่สุดก็คือ มีเสียงประกาศอยู่ทางด้านเขาดิน บริเวณสี่แยกวังสวนจิตรลดา เสียงประกาศกำลังโจมตีแกนนำผู้ชุมนุมโดยเฉพาะ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ว่า ไม่ยอมสลายการชุมนุม ทั้งที่เรื่องนี้จบลงแล้ว แกนนำผู้ชุมนุมกำลังมีแผนการร้าย ขอให้ผู้ร่วมชุมนุมอย่าเชื่อฟัง และสลายตัวกลับไป ทุกอย่างขณะนี้กำลังสับสนอลหม่าน เราเองรู้สึกตามสถานการณ์ไม่ทัน และเป็นส่วนเกิดในรถกองบัญชาการ ไม่สามารถจะเข้าใจสถานการณ์ งุนงงและไม่รู้จะมีส่วนช่วยทำอะไรได้บ้าง”
เมื่อเหตุการณ์ดูมีทีท่าคลี่คลายลง และ ธัญญา ชุนชฎาธาร ก็มีอาการอ่อนเพลียและเครียดสะสมจากการที่ต้องอยู่ในห้องขังมาหลายวัน เขาจึงบอก สุรพงษ์ นันทมงคล นักข่าวหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยว่า “ไม่สบายแล้วโว้ย คงไม่มีอะไรแล้ว จะกลับไปพัก ช่วยไปส่งที” สุรพงษ์ นันทมงคล ก็ยินดีพาไปส่งยังสำนักงานธรรมรังสี เมื่อถึงที่พัก ธัญญา ชุนชฎาธาร ก็ล้มตัวลงนอนบนโซฟารับแขก หลับสนิทเป็นตายทันที
14 ตุลาคม
“มันถล่มพวกเราแล้ว ยินกันเละเลย ตายไปเยอะ” น้ำเสียงเคร่งเครียดจากเสียงโทรศัพท์ปลายสายปลุก ธัญญา ชุนชฎาธาร ในเวลา 7 โมงเช้า “เอ็งรีบออกมาจากที่นั่น อันตรายห่า เดี๋ยวกูไปรับ” ไม่นาน พรชัย วีระณรงค์ ก็รีบมารับ ธัญญา ชุนชฎาธาร แล้วมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อติดตามสถานการณ์ พรชัย วีระณรงค์ เล่าให้ฟังคร่าว ๆ ว่า ระหว่างที่ผู้ชุมนุมกำลังสลายตัว เกิดการปะทะกัน ตำรวจระดมยิงแก๊สน้ำตา กำหน่ำฟาดประชาชนด้วยกระบอง ส่งผลให้เกิดจลาจลขนาดย่อม ๆ ในหลายจุด ทำให้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย
เมื่อถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธัญญา ชุนชฎาธาร ได้ยินเสียงผู้คนที่พลุกพล่านว่า “ตำรวจมันถล่มพวกเรา ทั้งแก๊สน้ำตา ทั้งระเบิด” “เด็กผู้หญิงมันยังตีและถีบตกน้ำ” “มันฆ่าพวกเรา ยิงทิ้งกลางถนน” “นักเรียนอาชีวะยึดรถดับเพลิงได้แล้ว กำลังไปสูบน้ำมันที่ปั๊ม” “มีคนยึดรถเมล์ขับเข้าชนรถถัง ถูกยิงตายเรียบ” ฯลฯ และเสียงเซ็งแซ่ส่งข่าวดังเป็นระยะ สลับเสียงรถฉุกเฉินเสียงรถพยาบาล ขณะที่เหตุการณ์ในกรุงเทพฯ กำลังเข้าสู่ “มิคสัญญี”
ไม่นานผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รีบสลายตัว เพราะกลัวว่ารัฐบาลจะส่งเจ้าหน้าที่มาล้อมปราบ ธัญญา ชุนชฎาธาร รีบข้ามไปฝั่งศิริราช โทรศัพท์หา วีระ โอสถานนท์ ก็ได้ทราบข่าวลือว่า 13 กบฏรัฐธรรมนูญ ถูกฆ่าตายหมดแล้ว วีระ โอสถานนท์จึงสั่งให้ไปหลบที่บ้านสวนของเขาที่ฝั่งธนบุรี
เวลาประมาณหกโมงเย็น วิทยุออกข่าว จอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ธัญญา ชุนชฎาธาร รู้สึกว่า “เริ่มใจชื้นขึ้นมานิดนึง” แต่ วีระ โอสถานนท์ กล่าวว่า เพียงแค่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจยังอยู่ในมือ ยังดีใจไม่ได้ อาจเกิดเหตุอะไรขึ้นได้ตลอดเวลา
ราวหนึ่งทุ่มมีประกาศพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ธัญญา ชุนชฎาธาร รู้สึกสงบใจมากขึ้น เขามีความคิดเห็นว่า สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นบุคคลที่เหมาะสมจะมาคลี่คลายสถานการณ์
15 ตุลาคม
ธัญญา ชุนชฎาธาร เดินทางมาสังเกตการณ์ที่สนามหลวง“…เห็นร่องรอยของไฟไหม้นับตั้งแต่กรมสรรพากร กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานสลากกินแบ่ง ซากรถเมล์ คราบเลือดที่ยังแปดเปื้อนถนน รวมทั้งเศษกระดาษ เศษไม้ ซากแผงกั้นจราจร ร่องรอยการปะทะกันเมื่อวาน ยังหลงเหลือดารดาษเกลื่อนเต็มไปหมด…”
เวลาบ่าย ธัญญา ชุนชฎาธาร กับพรรคพวกเดินทางมายังร้านอาหารริมแพ ริมสะพานซังฮี้ นั่งสนทนาถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่นาน โทรทัศน์ประกาศข่าวว่า จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ลาออกจากราชการทุกตำแหน่งและเดินทางออกนอกประเทศแล้ว สิ้นเสียงประกาศ เสียงไชโยโห่ร้องก็ดังขึ้นทั่วทั้งร้าน
“ผมสะกัดกั้นน้ำตาแห่งความปีติเอาไว้ อยากเปล่งเสียตะโกนดัง ๆ ออกมา ‘3 ทรราชไปแล้ว ประชาชนชนะแล้ว!’”
ธัญญา ชุนชฎาธาร กล่าวถึงเหตุการณ์ “14 ตุลา” ว่า “การตื่นตัวของประชาชนทั้วประเทศครั้งนี้ ตื่นขึ้นมาเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เรียกร้องประชาธิปไตย กระทั่งต้องเอาชีวิตและเลือดเนื้อเข้าต่อสู้ เป็นวีรภาพและวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนบนผืนแผ่นดินไทยหรือที่ไหน ๆ ในโลก เป็นการประกาศก้องไปทั่วฟ้าดินว่า
‘ที่ใดมีการกดขี่ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน ที่ใดมีเผด็จการที่นั่นย่อมมีการต่อสู้’ ขอให้ ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ’ ขอให้ประชาธิปไตยไทยสถิตย์สถาพรไปตราบนิรันดร์!”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2563