“ราชสำนักชิง” ปรับตัว ส่งขุนนางศึกษาระบอบการปกครองรัฐธรรมนูญในตปท.

ซูสีไทเฮา และราชสำนักฝ่ายใน รวมถึงขันที

“ราชสำนักชิง” เมื่อได้ยินข่าวคราวของสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียที่จบสิ้นลงใน ค.ศ. 1905 ว่าประเทศเล็ก ๆ อย่างญี่ปุ่นสามารถเอาชนะประเทศใหญ่อย่างรัสเซีย ก็ต่างตื่นตัว ราชสำนักชิง, ขุนนาง และราษฎษร์ทั่วไปหลายฝ่ายเริ่มพิจารณาผลของสงครามครั้งนี้เชื่อมโยงกับระบอบการปกครองประเทศจีน และเห็นว่าโดยทั่วกันว่า ญี่ปุ่นที่ปกครองระบอบรัฐธรรมนูญอันมีจักรพรรดิทรงเป็นประมุขเป็นฝ่ายชนะ ส่วนรัสเซียปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นฝ่ายแพ้

ขุนนางคนสําคัญในราชสํานักอย่างหยวนซื่อข่าย โจวฟู และจางจือต้ง ได้ร่วมลงนามถวายฎีกาถึงจักรพรรดิ ทูลขอให้รัฐบาลราชวงศ์ชิงปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญอันมีจักรพรรดิทรงเป็นประมุข อีกทั้งเสนอให้ส่งขุนนางไปสํารวจการปกครองระบอบนี้ที่ประเทศอื่น

วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1905 ราชสํานักชิง ประกาศ “พระราชโองการว่าด้วยการสํารวจศึกษาระบอบการปกครอง” กําหนดให้ส่งขุนนาง “แยกย้ายกันไปสํารวจศึกษาระบอบการปกทุกรูปแบบในประเทศต่างๆ ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก เพื่อจะได้เลือกใช้ส่วนที่ดีต่อไป”

วันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1905 สถานีรถไฟประตูเจิ้งหยางในกรุงปักกิ่ง มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำนวนมาก เนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางในราชสํานักต่างทยอยเดินทางมาส่งขุนนางใหญ่ทั้งห้าได้แก่ เจ้าชายไจ่เจ๋อ ไต้หงฉือ สวีซื่อชาง ตวนฟาง และซ่าวอิง ที่จะเดินทางออกนอกประเทศไปสํารวจศึกษาการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ

แต่กระนั้นก็ยังเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารขึ้น จากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

อู๋เยวี่ยที่อยู่ฝ่ายปฏิวัติเห็นว่า การจะใช้ระบอบรัฐธรรมนูญอันมีจักรพรรดิทรงเป็นประมุข เป็นการแสดงละครหลอกลวงเพื่อกู้วิกฤตการปกครองของราชสํานักชิง เขาตัดสินใจลอบสังหารขุนนางใหญ่ทั้งห้า โดยอาศัยช่วงวุ่นวาย ขึ้นไปบนรถไฟ พร้อมซุกซ่อนลูกระเบิดทําเองไปด้วย แต่ลูกระเบิดที่ไม่ได้คุณภาพ เกิดระเบิดขึ้นก่อนเวลาอันควร อู่เยวี่ยถูกระเบิดเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ขณะที่ขุนนางใหญ่ทั้งห้ามีซ่าวอิงที่ได้รับบาดเจ็บค่อนข้างสาหัส

การสํารวจศึกษารูปแบบปกครองระบอบรัฐธรรมนูญในต่างประเทศต้องเลื่อนออกไป

เพื่อที่จะป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นอีก การส่งคณะดูงานศึกษาการปกครองจึงจัดวางกําลังคนกันอย่างลับๆ แบ่งออกเป็น 2 เส้นทางและออกเดินทางคนละเวลากัน เส้นทางที่ 1 ประกอบด้วยเจ้าชายไจ่เจ๋อ หลี่เซิ่งตั๋ว และซ่างฉีเฮิง เดินทางไปประเทศอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม และญี่ปุ่น  เส้นทางที่ 2 ประกอบด้วยไต้หงฉือและตวนฟาง พวกเขาเดินทางไป ประเทศสหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, อิตาลี และออสเตรีย

ขุนนางและคณะที่เดินทางไปสำรวจระบบการปกครองและรัฐธรรมนูญในทวีปยุโรป ถ่ายภาพร่วมกันที่กรุงโรม

วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1905 ไต้หงฉือ ตวนฟางและคณะกว่า 40 คน ทยอยกันมาถึงสถานีรถไฟประตูเจิ้งหยาง กรุงปักกิ่ง พวกเขาโดยสารรถไฟผ่านเมืองเทียนจิน เมืองฉินหวงเต่า แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นโดยสารเรือกลไฟไปเมืองเซี่ยงไฮ้ จากนั้นก็โดยสารเรือไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปและอเมริกา ถือเป็นการเริ่มต้นการเดินทางไปยังตะวันตก

วันที่ 11 ธันวาคมปีเดียวกัน เจ้าชายไจ่เจ๋อ หลี่เซิ่งตั๋ว ซ่างฉีเฮิงและคณะก็ออกเดินทางจากกรุงปักกิ่ง พวกเขามุ่งหน้าไปเมืองเซี่ยงไฮ้ เดือนมกราคมในปีถัดไป สมาชิกของคณะสํารวจศึกษาระบอบการปกครองกลุ่มนี้โดยสารเรือกลไฟ ของบริษัทฝรั่งเศส ไปประเทศญี่ปุ่น จากนั้นค่อยไปประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปต่อ

ภายในระยะเวลาสั้นที่สุด สิ่งที่พวกเขาไปสํารวจศึกษานั้นเกี่ยวข้อง กับด้านต่างๆ ของประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา เช่น ระบอบการปกครอง รัฐธรรมนูญ การคลัง และระบบทหาร เป็นต้น กิจกรรมหลักๆ ของพวกเขามีดังนี้

1. สํารวจศึกษาระบบรัฐสภา โดยหลักแล้วพวกเขาไปเยือนรัฐสภา คณะสํารวจศึกษาได้เยือนรัฐสภา 17 แห่ง โดยเน้นรัฐสภาของประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และ อิตาลี เป็นต้น

2. เยี่ยมคารวะบุคคลสําคัญในระบอบการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เช่น ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขาเชิญสมาชิกรัฐสภา กล่าวสุนทรพจน์เรื่องระเบียบข้อบังคับการปกครองตนเองระดับท้องถิ่นของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ณ ที่พักของพวกเขา, ที่ประเทศเยอรมนี ไต้หงฉือได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิแห่งเยอรมนีและรับฟังพระราชดํารัสของพระองค์, ที่ประเทศรัสเซียได้เข้าพบเซอร์เกย์ ยุลเยวิชวิตเตอ อดีตนายกรัฐมนตรีรัสเซีย

3. เก็บรวบรวมหนังสือและข้อมูลด้านการเมืองการปกครอง คณะสํารวจศึกษายังนําข้อมูลด้านต่างๆ อย่างรัฐธรรมนูญ การคลัง และการทหารกลับไปด้วย หลังกลับถึงกรุงปักกิ่ง พวกเขาแบ่งข้อมูลเหล่านั้นเป็นหมวดหมู่และเรียบเรียงเป็นหนังสือออกมาจํานวนมาก

นอกจากนี้หลังจากสํารวจศึกษาในแต่ละประเทศเสร็จแล้ว ไต้หงฉือและคณะก็จะรายงานเรื่องราวและความรู้สึก รวมถึงข้อสรุป ที่ได้จากการสํารวจศึกษาแก่ราชสํานักชิงโดยทันทีทุกครั้ง

เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ค.ศ. 1906 ไต้หงฉือ ตวนฟางและคณะเดินทางกลับประเทศจีน จากนั้นพวกเขาเสนอแผนกลยุทธ์ สําคัญในการปฏิรูปการเมืองการปกครองแก่ราชสํานักชิง เนื้อหาหลัก ได้แก่ 1.ใช้ระบอบรัฐธรรมนูญอันมีจักรพรรดิทรงเป็นประมุข 2. ปฏิรูประบบขุนนาง 3. พัฒนาความรู้ของประชาชน

1 กันยายน ค.ศ. 1906 พระนางซูสีไทเฮารับสั่งให้รัฐบาลราชวงศ์ชิงออกประกาศ พระราชโองการว่าด้วยการเตรียมใช้ระบอบรัฐธรรมนูญอันมีจักรพรรดิทรงเป็นประมุข ถึงแม้ผู้คนในชนชั้นและระดับต่างๆ จะมีท่าทีต่อเรื่องนี้แตกต่างกัน แต่ถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่เหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่

20 กันยายน ค.ศ. 1907 รัฐบาลราชวงศ์ชิงออกคำสั่งจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

27 สิงหาคม ค.ศ. 1908 รัฐบาลราชวงศ์ชิงประกาศเอกสารชื่อว่า “โครงร่างรัฐธรรมนูญแห่งจักรพรรดิ” มีเนื้อหาทั้งหมด 23 มาตรา กําหนดว่าจักรพรรดิทรงมีพระราชอํานาจสูงสุด ขณะเดียวกันก็กําหนดว่าการเตรียมใช้ระบอบรัฐธรรมนูญอันมีจักรพรรดิทรงเป็นประมุขนั้น ใช้ระยะเวลา 9 ปี

ค.ศ. 1910 จากการเรียกร้องอันแรงกล้าของฝ่ายสนับสนุนให้มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญอันมีจักรพรรดิทรงเป็นประมุข รัฐบาลราชวงศ์ชิงถูกบีบบังคับให้ปรับระยะเวลาการเตรียมใช้ระบอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวเร็วขึ้น 3 ปี

เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1911 รัฐบาลราชวงศ์ชิงซึ่งจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มำจวน 13 คน แต่กลับมีพระบรมวงศานุวงศ์มากถึง 5 คน คณะรัฐมนตรีชุดนี้จึงถูกเรียกว่า “คณะรัฐมนตรีราชนิกุล” การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีราชนิกุล ทําให้ฝ่ายสนับสนุนให้มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญอันมีจักรพรรดิทรงเป็นประมุข หันไปสู่แนวทางการปฏิวัติกันทีละคน

เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1911 หลังจากการปฏิวัติอู่ชางเกิดขึ้น รัฐบาลราชวงศ์ชิงประกาศ “ข้อบัญญัติสําคัญ 19 ประการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ” ออกมา แต่มิอาจกอบกู้สถานการณ์ได้ สุดท้ายจึงล้มเหลวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เส่าหย่ง, หวังไห่เผิง-เขียน, กำพล ปิยะศิริกุล-แปล. หลังสิ้นบัลลังก์มังกร ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน, สำนักพิมพ์มติชน ตุลาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2563