ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2558 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร. สิทธิพล เครือรัฐติกาล |
เผยแพร่ |
“ฝูหลินขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์โดยมีรุ่ยชินหวังตัวเอ๋อร์กุ่นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระสนมเอกจวงเฟยได้รับการสถาปนาเป็นพระพันปีหลวง ลือกันว่าพระนางอภิเษกสมรสกับตัวเอ๋อร์กุ่น แต่ก็ยังไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริง” (Du Jiaxiang, 2010 : 207)
“ในบางกรณี บันทึกส่วนบุคคลก็มีความสมบูรณ์และเชื่อถือได้มากกว่าบันทึกของทางราชการ และเป็นแหล่งข้อมูลที่ปฐมภูมิมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องเผชิญกับการชำระหรือตัดออกเหมือนกับบันทึกของทางราชการ” (Kahn, 1971 : 47)
สุสานตะวันออกของราชวงศ์ชิง (清东陵) ตั้งอยู่ที่อำเภอจุนฮว่า มณฑลเหอเป่ย ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 125 กิโลเมตร สุสานดังกล่าวมีพื้นที่ 80 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ฝังพระศพของจักรพรรดิราชวงศ์ชิงรวม 5 พระองค์ ได้แก่ จักรพรรดิซุ่นจื้อ (顺治ครองราชย์ ค.ศ. 1643-61) จักรพรรดิคังซี (康熙ครองราชย์ ค.ศ. 1661-1722) จักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆ครองราชย์ ค.ศ. 1735-95) จักรพรรดิเสียนเฟิง (咸丰ครองราชย์ ค.ศ. 1850-61) และจักรพรรดิถงจื้อ (同治ครองราชย์ ค.ศ. 1861-75) และยังเป็นที่ฝังพระศพของบรรดาจักรพรรดินี พระสนม และพระบรมวงศานุวงศ์อีกราว 150 พระองค์
อย่างไรก็ตาม ด้านนอกกำแพงของสุสานดังกล่าวกลับมีอีกสุสานหนึ่งตั้งอยู่แยกออกมาต่างหาก สุสานดังกล่าวชื่อว่าสุสานจาวซี (昭西陵) เป็นที่ฝังพระศพของจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวิน (孝庄文皇后 ค.ศ. 1613-88) พระราชชนนีของจักรพรรดิซุ่นจื้อและพระอัยยิกาของจักรพรรดิคังซี
ภูมิหลังของจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวิน : จากเชื้อพระวงศ์มองโกลสู่พระพันปีหลวงแห่งราชสำนักแมนจูที่ปกครองแผ่นดินจีน
จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินประสูติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1613 พระนามเดิมว่า บุมบูไท่ (布木布泰Bumbutai) ทรงเป็นธิดาของไจ้ซาง (寨桑) เจ้าชายมองโกลตระกูลเบอร์จิจิต (博尔济吉特氏 Berjijit clan) แห่งเผ่าเคอร์ชิน (科尔沁部 Khorchin Mongols) ในเวลานั้นประเทศจีนภายใต้การปกครองของราชวงศ์หมิง (明朝) ที่สถาปนาโดยชาวจีนฮั่นมาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 กำลังเสื่อมอำนาจลง ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่เรียกกันในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ว่าแมนจูเรีย (Manchuria) เกิดการรวมตัวของชาวหนี่ว์เจิน (女真 Jurchens) ภายใต้การนำของหนูเอ่อร์ฮาชื่อ (努尔哈赤 ค.ศ. 1559-1626) ผู้ซึ่งใน ค.ศ. 1616 ได้สถาปนาตนเองเป็นข่านแห่งราชวงศ์โฮ่วจิน (后金) และสถาปนาเมืองเสิ่นหยาง (沈阳) เป็นเมืองหลวงในเวลาต่อมา
เผ่าเคอร์ชินซึ่งอาศัยอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำเหลียว (辽河) ถือเป็นชาวมองโกลกลุ่มแรก ๆ ที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับหนูเอ่อร์ฮาชื่อ ซึ่งการเป็นพันธมิตรดังกล่าวนอกจากจะหมายถึงการช่วยเหลือทางการทหารซึ่งกันและกันแล้ว ยังรวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์ฉันเครือญาติผ่านการแต่งงานอีกด้วย (Li, 2002 : 30) เรื่องดังกล่าวจึงส่งผลต่อชะตาชีวิตของเชื้อพระวงศ์ที่เป็นสตรีของเผ่าเคอร์ชินอย่างบุมบูไท่เป็นอย่างมาก โดยใน ค.ศ. 1614 เผ่าเคอร์ชินได้ส่งเจ๋อเจ๋อ (哲哲 ค.ศ. 1599-1649) อาหญิงของบุมบูไท่ไปอภิเษกสมรสเป็นอัครชายาของหวงไท่จี๋ (皇太极 ค.ศ. 1592-1643) พระโอรสองค์ที่ 8 ของหนูเอ่อร์ฮาชื่อ
และเมื่อถึง ค.ศ. 1625 ก็มีการส่งบุมบูไท่ในวัย 12 ปี ไปเป็นชายาอีกองค์หนึ่งของหวงไท่จี๋เช่นกัน และหลังจากที่หวงไท่จี๋ขึ้นครองตำแหน่งข่านต่อจากพระราชบิดาใน ค.ศ. 1626 การสร้างพันธมิตรผ่านการแต่งงานก็ยังคงมีอยู่ต่อไป โดยใน ค.ศ. 1634 หวงไท่จี๋ได้รับไห่หลานจู (海兰珠ค.ศ. 1609-41) พี่สาวของบุมบูไท่มาเป็นชายาอีกองค์หนึ่ง
ชีวิตของบุมบูไท่ในราชสำนักโฮ่วจิน ณ นครเสิ่นหยางดำเนินไปเหมือนนางในทั่วไป นั่นคือการทำหน้าที่ถวายปรนนิบัติแด่หวงไท่จี๋ผู้เป็นข่าน บุมบูไท่ให้กำเนิดพระธิดารวม 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงกู้หลุนยงมู่ (固伦雍穆长公主) เจ้าหญิงกู้หลุนซูฮุ่ย (固伦淑慧长公主) และเจ้าหญิงกู้หลุนตวนเสี้ยน (固伦端献长公主) เมื่อ ค.ศ. 1629, 1632 และ 1633 ตามลำดับ แต่เมื่อเข้าสู่ครึ่งหลังของทศวรรษ 1630 ก็มีเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อสถานะของบุมบูไท่
เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1635 เมื่อหวงไท่จี๋สามารถทำสงครามปราบปรามกลุ่มอำนาจใหญ่ของชาวมองโกลเผ่าชาฮาร์ (察哈尔部 Chahar Mongol) ที่นำโดยลิกดานข่าน (林丹汗Ligdan Khan ค.ศ. 1592-1634) ได้สำเร็จและครอบครองตราแผ่นดินโบราณสมัยราชวงศ์ฮั่นต่อจากข่านองค์ดังกล่าว ซึ่งเปรียบเสมือนนิมิตหมายว่าหวงไท่จี๋ได้รับอาณัติจากสวรรค์ให้มาปกครองโลกมนุษย์ (Yan Chongnian, 2005 : 27-28)
ดังนั้น ในปีถัดมาหวงไท่จี๋จึงเปลี่ยนชื่อชนชาติจากหนี่ว์เจินเป็น “หม่านโจว” (满洲) หรือแมนจู และเปลี่ยนชื่อราชวงศ์จากโฮ่วจินเป็น “ชิง” (清) รวมทั้งสถาปนาตนเองเป็น “หวงตี้” (皇帝) หรือจักรพรรดิตามแบบจีน เรื่องดังกล่าวส่งผลต่อบรรดาชายาของหวงไท่จี๋ กล่าวคือ เจ๋อเจ๋อผู้เป็นอัครชายาของหวงไท่จี๋ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดินี (皇后) ส่วนบุมบูไท่และไห่หลานจูก็ได้รับการสถาปนาให้เป็นพระสนมเอกจวงเฟย (庄妃) และพระสนมเอกเฉินเฟย (宸妃) ตามลำดับ ส่วนเหตุการณ์ที่ 2 เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1638 เมื่อพระสนมจวงเฟยให้กำเนิดโอรสนามว่า ฝูหลิน (福临) ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของหวงไท่จี๋ และจะเป็นผู้สืบราชสมบัติในเวลาต่อมา
เหตุการณ์หนึ่งในรัชสมัยของหวงไท่จี๋ที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นผลงานของพระสนมเอกจวงเฟยหรือไม่นั้นก็คือ การยอมสวามิภักดิ์ของหงเฉิงโฉว (洪承畴ค.ศ. 1593-1665) แม่ทัพคนสำคัญของราชวงศ์หมิงใน ค.ศ. 1642 กล่าวคือ หลังปราบลิกดานข่านได้สำเร็จ หวงไท่จี๋ทรงหันมาทุ่มเทกำลังทำสงครามทางทิศใต้กับราชวงศ์หมิงของจีนอย่างเต็มที่ โดยมีการยกทัพครั้งใหญ่รวม 3 ระลอกใน ค.ศ. 1636, 1638-39 และ 1642 ซึ่งในครั้งหลังสุดกองทัพแมนจูสามารถจับกุมตัวหงเฉิงโฉวเอาไว้ได้
มีเรื่องเล่ากันว่าในตอนแรกหวงไท่จี๋ทรงมอบหมายให้ฟ่านเหวินเฉิง (范文程ค.ศ. 1597-1666) ขุนนางชาวฮั่นที่สวามิภักดิ์ต่อแมนจูมาตั้งแต่สมัยหนูเอ่อร์ฮาชื่อเป็นผู้เกลี้ยกล่อมหงเฉิงโฉวให้สวามิภักดิ์ แต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดหวงไท่จี๋จึงต้องใช้ “อุบายนางงาม” (美人计) ด้วยการส่งพระสนมเอกจวงเฟยไปเกลี้ยกล่อมจนเขายอมสวามิภักดิ์ (Han Yongfu, 2004 : 4-5)
เรื่องดังกล่าวไม่ปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์ของทางราชการ แต่ก็เป็นเรื่องที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่การปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) และการล่มสลายของราชวงศ์ชิงนำไปสู่เสรีภาพด้านวรรณกรรม นักเขียนชาวฮั่นในยุคนั้นจึงมักนำเสนอภาพลักษณ์ของราชสำนักแมนจูในแง่ของการใช้ความรุนแรงและความหมกมุ่นเรื่องเพศ (Dong, 2007 : 287) ทั้งหมดนี้ทำให้ยังไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าเรื่องเล่าดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่
จุดพลิกผันในชีวิตของพระสนมเอกจวงเฟยเกิดขึ้นเมื่อจักรพรรดิหวงไท่จี๋สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1643 โดยมิได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทเอาไว้ นำไปสู่การแย่งชิงอำนาจกันในบรรดาเชื้อพระวงศ์ที่ควบคุมกองทัพแปดธง (八旗Eight Banners)[1] โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างตัวเอ๋อร์กุ่น (多尔衮 ค.ศ. 1612-50) พระอนุชาต่างพระชนนีของหวงไท่จี๋ ซึ่งควบคุมกองทัพธงขาว กับหาวเก๋อ (豪格 ค.ศ. 1609-48) พระราชโอรสองค์โตของหวงไท่จี๋ซึ่งควบคุมกองทัพธงน้ำเงิน
ในที่สุดเจ้านายแมนจูอาวุโสนามว่าไต้ส้าน (代善ค.ศ. 1583-1648) ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ของหนูเอ่อร์ฮาชื่อ ซึ่งควบคุมกองทัพธงแดงและธงแดงมีขอบได้เข้ามาไกล่เกลี่ยด้วยการทูลเชิญฝูหลิน พระราชโอรสซึ่งมีพระชนม์ 6 พรรษาของหวงไท่จี๋ที่ประสูติจากพระสนมเอกจวงเฟยขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิซุ่นจื้อ โดยให้ตัวเอ๋อร์กุ่นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกับจีร์ฮาลาง (济尔哈朗ค.ศ. 1599-1655) ผู้เป็นพระภาติยะ (หลานลุง) ของหนูเอ่อร์ฮาชื่อซึ่งควบคุมกองทัพธงน้ำเงินมีขอบ ส่วนจักรพรรดินีของหวงไท่จี๋และพระสนมเอกจวงเฟยต่างได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระพันปีหลวง (皇太后) โดยถวายพระนามเมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้วว่าจักรพรรดินีเสี้ยวตวนเหวิน (孝端文皇后) และจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวิน ตามลำดับ
ในปีถัดมาเมื่อราชวงศ์หมิงล่มสลายและกองทัพแมนจูบุกยึดกรุงปักกิ่งได้สำเร็จ จักรพรรดิซุ่นจื้อและจักรพรรดินีพันปีหลวงทั้งสองก็ได้เสด็จออกจากนครเสิ่นหยางไปประทับ ณ กรุงปักกิ่งเป็นการถาวร ต่อมาเมื่อจักรพรรดินีเสี้ยวตวนเหวินสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1649 จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินซึ่งมีพระชนมายุ 36 พรรษา ก็กลายเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในที่มีอิสริยยศสูงสุดของราชสำนักแมนจูไปโดยปริยาย
ปริศนาการอภิเษกสมรสระหว่าง
จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินกับตัวเอ๋อร์กุ่น
แม้จะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกับจีร์ฮาลาง แต่อำนาจของตัวเอ๋อร์กุ่นก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นผลมาจากการสร้างบารมีทางการทหารด้วยการเข้ายึดกรุงปักกิ่งได้สำเร็จใน ค.ศ. 1644 รวมทั้งการสนับสนุนจากตัวตั๋ว (多铎) น้องชายของเขาซึ่งควบคุมกองทัพธงขาวมีขอบ และจากแม่ทัพถานไท่ (谭泰) และเหอลั่วฮุ่ย (何洛会) ซึ่งสังกัดกองทัพธงเหลือง (Dennerline, 2002 : 78-79)
ต่อมาใน ค.ศ. 1648 หาวเก๋อถูกจำคุกด้วยข้อหาพยายามเคลื่อนไหวเพื่อท้าทายอำนาจของตัวเอ๋อร์กุ่นและเสียชีวิตลงไม่นานหลังจากนั้น ขณะที่จีร์ฮาลางก็ถูกปลดจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ารู้เห็นกับแผนการของหาวเก๋อ การสิ้นอำนาจของหาวเก๋อทำให้กองทัพธงน้ำเงินย้ายมาอยู่ภายใต้การควบคุมของตัวเอ๋อร์กุ่น เท่ากับว่าในปลายทศวรรษ 1640 ตัวเอ๋อร์กุ่นคือผู้กุมอำนาจสูงสุดในราชสำนักจนกระทั่งเสียชีวิตระหว่างออกไปล่าสัตว์เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1650
สถานะและอำนาจอันเปี่ยมล้นของตัวเอ๋อร์กุ่นในขณะที่จักรพรรดิซุ่นจื้อยังทรงพระเยาว์นำไปสู่เรื่องเล่าที่ว่าจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินทรงจำต้องรักษาความมั่นคงของราชบัลลังก์ของพระราชโอรสด้วยการยอมอภิเษกสมรสกับตัวเอ๋อร์กุ่น หรือที่เรียกกันว่า “ปริศนาการอภิเษกสมรสของพระพันปีหลวง” (太后下嫁之谜) เรื่องเล่าดังกล่าวมีที่มาจากบทกวีชื่อ พระตำหนักเจี้ยนอี้ (建夷宫词) แต่งโดยจางหวงเหยียน (张煌言ค.ศ. 1620-64) ความตอนหนึ่งว่า
จอกเหล้าวันเกิดกลายเป็นจอกเหล้ามงคล
พระตำหนักสือหนิงเต็มไปด้วยความคึกคัก
ขุนนางเข้าร่วมพิธีการ
มาพบกันเพื่อฉลองราชาภิเษกสมรสของพระพันปีหลวง
上寿觞为合卺尊,慈宁宫里灿盈门;
春官昨进新仪注,大礼恭逢太后婚。
(Yan Chongnian, 2005 : 46)
นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานในร่างประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิง (清史稿)[2] ด้วยว่ามีการเปลี่ยนแปลงการเรียกตำแหน่งของตัวเอ๋อร์กุ่นอยู่หลายครั้ง โดยใน ค.ศ. 1644 เรียกว่า “พระปิตุลาผู้สำเร็จราชการ” (叔父摄政王) แต่พอถึง ค.ศ. 1645 ก็เปลี่ยนเป็น “พระบรมราชปิตุลาผู้สำเร็จราชการ” (皇叔父摄政王) และเมื่อถึง ค.ศ. 1648 ก็เปลี่ยนเป็น “พระบรมราชชนกผู้สำเร็จราชการ” (皇父摄政王) ซึ่งการเรียกว่า “พระบรมราชชนก” หรือ “หวงฟู่” (皇父) นั้นยิ่งเป็นหลักฐานเสริมให้เรื่องเล่าเกี่ยวกับการอภิเษกสมรสของจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินดูมีน้ำหนักมากขึ้น (Han Yongfu, 2004 : 10)
เมิ่งเซิน (孟森ค.ศ. 1868-1937) เป็นนักประวัติศาสตร์คนสำคัญที่ออกมาวิเคราะห์ว่าเรื่องเล่าดังกล่าวไม่น่าจะเป็นความจริง โดยมีเหตุผลว่า ประการแรก บทกวีของจางหวงเหยียนนั้นเชื่อถือไม่ได้ เนื่องจากผู้แต่งเป็นชาวฮั่นที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้และต่อต้านการปกครองของราชวงศ์ชิง (Dong, 2007 : 285) ซึ่งนักประวัติศาสตร์อย่างเหยียนฉงเหนียน (阎崇年ค.ศ. 1934- ) ก็สนับสนุนเมิ่งเซิน โดยตั้งข้อสังเกตว่าบทกวีพระตำหนักเจี้ยนอี้ มีนัยแฝงการเหยียดเชื้อชาติ เพราะคำว่า “เจี้ยน” (建) หมายถึงเจี้ยนโจว (建州) ซึ่งเป็นชื่อถิ่นฐานเดิมของราชวงศ์ชิง (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลจี๋หลิน) ส่วน “อี้” (夷) หมายถึงอนารยชน (Yan Chongnian, 2005 : 46) สอดคล้องกับทัศนะของสวี่จัวหยุน (许倬云ค.ศ. 1930- ) ที่ได้สรุปเอาไว้ว่า
ความต้องการที่จะโค่นล้มราชวงศ์ชิงและฟื้นฟูราชวงศ์หมิงไม่เคยจางหายไป… อีกทั้งยังมีข่าวลือมากมายและหลากหลายแพร่สะพัดในหมู่ประชาชน เช่น เรื่องที่ว่าหลังการสิ้นพระชนม์ของหวงไท่จี๋ ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์ชิง [sic] จักรพรรดินีหม้ายเสี้ยวจวงเหวินได้อภิเษกสมรสกับตัวเอ๋อร์กุ่น เจ้าชายผู้สำเร็จราชการซึ่งเป็นพระอนุชาของพระสวามีของพระองค์… การแพร่สะพัดของเรื่องซุบซิบที่แปลกประหลาดและไม่มีมูลเหล่านี้เป็นเพียงภาพสะท้อนการที่ชาวฮั่นต้องการเยาะเย้ยการปกครองของชาวแมนจูเท่านั้นเอง (Hsu, 2006 : 440-441)
ประการที่ 2 เมิ่งเซินมองว่าการที่ตัวเอ๋อร์กุ่นมีสถานะเป็น “พระบรมราชชนก” หรือ “หวงฟู่” (皇父) นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากกษัตริย์หรือจักรพรรดิของจีนในอดีตก็เคยเรียกขุนนางว่า “ซ่างฟู” (尚父) หรือ “จ้งฟู่” (仲父) เพื่อแสดงความนับถือเสมือนเป็นบิดามาแล้ว สถานะดังกล่าวของตัวเอ๋อร์กุ่นจึงสะท้อนให้เห็นคุณูปการที่เขามีต่อราชวงศ์ชิง และหาใช่หลักฐานที่แสดงว่ามีการอภิเษกสมรสระหว่างเขากับจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินแต่อย่างใด (Dong, 2007 : 285-286)
ประการที่ 3 เมิ่งเซินมองว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีหลักฐานปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์ของทางราชการจีนเลย และเมื่อหันไปพิจารณาหลักฐานต่างชาติอย่างจดหมายเหตุรายวันราชวงศ์ลี (李朝实录) ของเกาหลีซึ่งติดต่อกับราชวงศ์ชิงในระบบบรรณาการอยู่เป็นประจำทุกปีก็ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกเรื่องดังกล่าวเอาไว้เช่นกัน เมิ่งเซินจึงสรุปว่าข้อมูลจากประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นทางการ (野史) โดยไม่มีบันทึกประวัติศาสตร์ของทางราชการ (正史) มารองรับย่อมเป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้ (Dong, 2007 : 286)
อย่างไรก็ตาม เหตุผลของเมิ่งเซินมิได้เป็นที่ยอมรับไปเสียทั้งหมด ดังที่ หูซื่อ (胡适 ค.ศ. 1893-1962) ปัญญาชนจีนร่วมสมัยกับเมิ่งเซินได้แสดงทัศนะว่า คำอธิบายของเมิ่งเซินเกี่ยวกับสถานะ “หวงฟู่” ของตัวเอ๋อร์กุ่นโดยยกตัวอย่างของ “ซ่างฟู่” และ “จ้งฟู่” ในอดีตนั้นยังฟังไม่ขึ้น (Dong, 2007 : 287-288) ขณะที่มีนักประวัติศาสตร์บางส่วนยังคงเชื่อว่าการอภิเษกสมรสระหว่างจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินกับตัวเอ๋อร์กุ่นเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้ เพราะการรับพี่สะใภ้หม้ายมาเป็นภรรยาเป็นเรื่องปกติในวัฒนธรรมแมนจูที่ต้องการป้องกันไม่ให้ทรัพย์สมบัติของหญิงหม้ายตกไปเป็นของครอบครัวอื่น (Rawski, 1998 : 129)
แต่เมื่อชาวแมนจูเข้ามาปกครองแผ่นดินจีนก็ค่อย ๆ ซึมซับวัฒนธรรมจีนซึ่งรวมไปถึงการยกย่องพรหมจรรย์ของสตรี ดังที่ทางการจีนสมัยราชวงศ์ชิงมีการประกาศเกียรติคุณหญิงหม้ายพรหมจรรย์อย่างต่อเนื่อง (นัยน์พัศ ประเสริฐเมฆากุล, 2555 : 116-121) ด้วยเหตุนี้การอภิเษกสมรสของจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินจึงเป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจให้แก่ชนชั้นปกครองของราชวงศ์ชิงในเวลาต่อมา จนมีการลบเรื่องดังกล่าวออกจากบันทึกของทางราชการ (Tao, 1991 : 103-104)
ขณะที่ซางหงขุย (商鸿逵 ค.ศ. 1907-83) นักประวัติศาสตร์ผู้เป็นศิษย์ของเมิ่งเซินก็ได้แสดงทัศนะว่า หากการอภิเษกสมรสระหว่างจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินกับตัวเอ๋อร์กุ่นเป็นเรื่องจริง เราก็ควรพิจารณาเรื่องดังกล่าวว่าเป็นเหตุผลทางการเมืองมากกว่าที่จะตัดสินพระนางด้วยมาตรฐานทางศีลธรรม (Dong, 2007 : 292)
จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินกับรัชสมัยซุ่นจื้อ
ไม่ว่าการอภิเษกสมรสระหว่างจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินกับตัวเอ๋อร์กุ่นจะเป็นเพียงเรื่องเล่าหรือไม่ แต่สิ่งที่เป็นความจริงก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างจักรพรรดิซุ่นจื้อกับบุคคลทั้งสองเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น การที่ตัวเอ๋อร์กุ่นขยายฐานอำนาจอย่างต่อเนื่องในครึ่งหลังของทศวรรษ 1640 สร้างความไม่พอพระทัยแก่จักรพรรดิผู้ทรงพระเยาว์เป็นอย่างมาก
และแม้ว่าในเดือนมกราคม ค.ศ. 1651 จะมีการถวายพระนามแด่ตัวเอ๋อร์กุ่นซึ่งเสียชีวิตไปแล้วว่า “จักรพรรดิอี้” (义皇帝) และ “เฉิงจง” (成宗) รวมทั้งยังนำป้ายวิญญาณของเขาไปประดิษฐานในพระอารามบรรพชน (太庙) ร่วมกับจักรพรรดิและจักรพรรดินีในรัชกาลก่อน ๆ (Han Yongfu, 2004 : 8)
แต่เมื่อจักรพรรดิซุ่นจื้อมีพระชนม์ 13 พรรษา ได้ขึ้นว่าราชการเองในเดือนถัดมาก็ทรงดำเนินการกวาดล้างบุคคลในเครือข่ายของตัวเอ๋อร์กุ่นครั้งใหญ่ แม่ทัพถานไท่และเหอลั่วฮุ่ยถูกประหารชีวิต และมีการเชิญป้ายวิญญาณของตัวเอ๋อร์กุ่นออกจากพระอารามบรรพชน[3]
นอกจากจะทรงสลัดพระองค์เองให้พ้นจากเครือข่ายอำนาจของตัวเอ๋อร์กุ่นแล้ว จักรพรรดิซุ่นจื้อยังทรงต่อต้านการควบคุมจากจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินผู้เป็นพระราชชนนีอีกด้วย โดยใน ค.ศ. 1651 จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินจัดการให้พระองค์อภิเษกสมรสกับพระภาติยะ (หลานอา) ของพระนางที่มาจากตระกูลเบอร์จิจิตและสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดินี ซึ่งจักรพรรดิซุ่นจื้อก็ทรงยอมอภิเษกสมรสอย่างไม่เต็มพระทัย ก่อนที่จะทรงปลดจักรพรรดินีองค์ดังกล่าวลงเป็นพระสนมจิ้งเฟย (静妃) ใน ค.ศ. 1653
แต่จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินก็มิได้ทรงลดละความพยายามโดยทรงนำพระราชนัดดาจากตระกูลของพระนางมาอภิเษกสมรสเป็นจักรพรรดินีอีก ใน ค.ศ. 1654 ซึ่งมีการถวายพระนามเมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้วว่า จักรพรรดินีเสี้ยวฮุ่ยจาง (孝惠章皇后ค.ศ. 1640-1717) แต่จักรพรรดิซุ่นจื้อก็มิได้โปรดปรานจักรพรรดินีองค์ใหม่ที่พระราชชนนีจัดหามาให้แต่อย่างใด
พระองค์กลับโปรดปรานพระสนมต่งเอ้อ (董鄂妃 ค.ศ. 1638-60) และมีพระราชประสงค์จะปลดจักรพรรดินีเสี้ยวฮุ่ยจางและให้พระสนมองค์ดังกล่าวขึ้นดำรงตำแหน่งแทน แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินไม่เห็นด้วย (Oxnam, 1975 : 60) เมื่อพระสนมองค์ดังกล่าวเสียชีวิตลง จักรพรรดิซุ่นจื้อซึ่งเสียพระทัยมากก็สถาปนาให้นางเป็นจักรพรรดินีเสี้ยวเสี้ยนตวนจิ้ง (孝献端敬皇后)
ขณะเดียวกันจักรพรรดิซุ่นจื้อก็ทรงปกครองประเทศโดยไม่พึ่งพาขุนนางแมนจูอาวุโส แต่ทรงสร้างบุคลากรขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นฐานอำนาจของพระองค์เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งหน่วยงานทั้งสิบสาม (十三衙门) เมื่อ ค.ศ. 1653 เพื่อให้ขันที ขุนนางชาวฮั่น พระสงฆ์ และบาทหลวงเยซูอิตที่ทรงไว้วางพระทัยดูแลการบริหารราชกิจ การคลัง และการแต่งตั้งข้าราชการ (Oxnam, 1975 : 52-54) ทั้งหมดนี้สร้างความไม่พอพระทัยให้แก่จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้เมื่อจักรพรรดิซุ่นจื้อซึ่งมีพระชนม์ 23 พรรษา ทรงพระประชวรด้วยพระโรคไข้ทรพิษจนสิ้นพระชนม์ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1661 จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินได้ร่วมมือกับขุนนางแมนจูอาวุโสออกพระราชโองการที่อ้างว่าเป็นคำสั่งเสียของจักรพรรดิซุ่นจื้อ อันมีเนื้อหากล่าวโทษพระองค์เองที่บริหารประเทศอย่างบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไว้วางพระทัยขันทีมากเกินไป การพึ่งพาข้าราชการชาวฮั่นมากเกินไป การละเลยประเพณีและวัฒนธรรมแมนจู และการหลงพระสนมจนลืมพระราชชนนี (Oxnam, 1975 : 52)
และในพระราชโองการก็กำหนดให้เสวียนเย่ (玄烨ประสูติ ค.ศ. 1654) พระราชโอรสองค์ที่ 3 พระชนม์ 8 พรรษา เป็นจักรพรรดิองค์ต่อไป โดยมีขุนนางแมนจูอาวุโสรวม 4 คน เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบไปด้วย สั่วหนี (索尼 ค.ศ. 1601-67) ซูเค่อซาฮา (苏克萨哈 ตาย ค.ศ. 1667) เอ้อปี้หลง (遏必隆 ตาย ค.ศ. 1674) และอ๋าวไป้ (鳌拜 ตาย ค.ศ. 1669) ซึ่งการขึ้นครองราชย์ของเสวียนเย่เป็นจักรพรรดิคังซี ก็ทำให้จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินพระชนมายุ 48 พรรษา ได้เลื่อนสถานะขึ้นเป็นพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (太皇太后) ซึ่งในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิงมีจักรพรรดินีเพียง 2 พระองค์เท่านั้นที่มีสถานะดังกล่าว[4]
จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินกับรัชสมัยคังซี
หลังการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิคังซีใน ค.ศ. 1661 จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินทรงปล่อยให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ดำเนินการบริหารประเทศโดยไม่ทรงเข้าไปก้าวก่าย และทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการอภิบาลจักรพรรดิคังซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่จักรพรรดินีเสี้ยวคังจาง (孝康章皇后) พระราชชนนีของจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ลงในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1663 ซึ่งในครั้งนั้นพระนางไม่อนุญาตให้จักรพรรดิพระชนม์ 9 พรรษา เดินทางไปส่งพระศพ โดยทรงให้เหตุผลว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นประสบการณ์ที่โหดร้ายเกินไปสำหรับเด็ก (Oxnam, 1975 : 167-168)
อย่างไรก็ตาม บทบาทในการอภิบาลจักรพรรดิคังซีของพระนางก็ส่งผลในทางการเมืองเช่นกัน โดยความเคลื่อนไหวสำคัญเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1665 เมื่อพระนางทรงเลือกหลานสาวของสั่วหนี หนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้มาอภิเษกสมรสกับจักรพรรดิคังซีและสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดินีโดยมีพระนามหลังจากสิ้นพระชนม์ไปแล้วว่า จักรพรรดินีเสี้ยวเฉิงเหริน (孝诚仁皇后 ค.ศ. 1652-74) ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างพันธมิตรทางการเมืองระหว่างจักรพรรดิกับกลุ่มของสั่วหนีจนทำให้จักรพรรดิคังซีสามารถว่าราชการได้ด้วยพระองค์เองในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1667 และทรงกำจัดซูเค่อซาฮาและอ๋าวไป้ได้สำเร็จในเดือนกันยายน ค.ศ. 1667 และเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1669 ตามลำดับ (Oxnam, 1975 : 166-198) เรื่องดังกล่าวสะท้อนบทบาทอันชาญฉลาดของจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินในการธำรงพระราชอำนาจของจักรพรรดิคังซีได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินยังทรงตระหนักอีกด้วยว่าการอุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายลามะของทิเบตมีส่วนสำคัญในการรักษาความมั่นคงทางทิศเหนือของราชวงศ์ชิง เนื่องจากพุทธศาสนานิกายดังกล่าวเผยแผ่ไปถึงชาวมองโกล จักรพรรดิราชวงศ์ชิงจึงอุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายลามะเพื่อให้ทะไลลามะใช้บารมีกล่อมเกลาไม่ให้ชาวมองโกลต่อต้านอำนาจของราชวงศ์ชิง (Smith, Jr., 1996 : 113)
ดังนั้น ใน ค.ศ. 1669 จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินจึงโปรดให้มีการจัดทำพระไตรปิฎกมังกรอักษรทิเบต (藏文龙藏经) จำนวน 108 เล่ม ความยาวเล่มละประมาณ 500 หน้า น้ำหนักเล่มละ 50 กิโลกรัม จารึกตัวอักษรด้วยทองคำรวม 5,000 ชั่ง (Cheng Hong, 2010) ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังกรุงไทเปบนเกาะไต้หวัน
การที่จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินทรงมีชาติกำเนิดเป็นชาวมองโกลก็มีส่วนสำคัญในการรักษาพระราชอำนาจของจักรพรรดิคังซีเช่นกัน โดยในระหว่างที่จักรพรรดิคังซีทรงทำสงครามปราบปรามสามเจ้าศักดินา (三藩)[5] ในภาคใต้เมื่อ ค.ศ. 1675 ผู้นำมองโกลเผ่าชาฮาร์นามว่าเบอร์นี (布尔尼 ตาย ค.ศ. 1675) ได้ถือโอกาสก่อกบฏและนำกำลังโจมตีนครเสิ่นหยาง จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินจึงได้ส่งราชองครักษ์ไปเชิญผู้นำชาวมองโกลเผ่าต่าง ๆ มาประชุม ณ กรุงปักกิ่งและนำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังพันธมิตรระหว่างแมนจูกับมองโกลจนปราบปรามเบอร์นีได้สำเร็จ (Spence, 2002 : 140-141)
มีข้อสังเกตด้วยว่าในเวลาที่จักรพรรดิคังซีเสด็จไปเข้าเฝ้าจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินนั้น พระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้เจ้าพนักงานผู้จดบันทึกพระราชกิจรายวันตามเสด็จไปด้วย โดยทรงให้เหตุผลว่าการเข้าเฝ้าดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความกตัญญูตามปกติเท่านั้น แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่า จักรพรรดิคังซีทรงต้องการปรึกษาหารือเรื่องราวต่าง ๆ กับพระอัยยิกาอย่างเป็นความลับ (Spence, 2002 : 141) และคำชี้แนะของจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินผู้ประสบพบเห็นเหตุการณ์ทางการเมืองมายาวนานถึง 4 รัชกาลก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อจักรพรรดิคังซีอยู่ไม่น้อย
การสิ้นพระชนม์และปริศนาของสุสานจาวซี
จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1688 ด้วยพระชนมายุ 75 พรรษา จักรพรรดิคังซีทรงแสดงความกตัญญูสูงสุดด้วยการตัดผมเปียของพระองค์เอง ซึ่งปกติแล้วจะทำในการถวายอาลัยแด่จักรพรรดิเท่านั้น โปรดให้กางเต๊นท์เพื่อที่พระองค์จะได้บรรทมเฝ้าพระศพของพระอัยยิกา รวมทั้งโปรดให้ยกเลิกงานฉลองตรุษจีนในปีนั้น และมีการเชิญป้ายพระวิญญาณของพระนางเข้าไปประดิษฐานในพระอารามบรรพชนด้วย ทั้ง ๆ ที่มีป้ายพระวิญญาณของจักรพรรดินีเสี้ยวตวนเหวินซึ่งเป็นพระอัครมเหสีของจักรพรรดิหวงไท่จี๋ประดิษฐานอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งขัดกับธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงที่อนุญาตให้มีป้ายพระวิญญาณของจักรพรรดินีได้เพียงพระองค์เดียวต่อจักรพรรดิ 1 รัชกาล (Rawski, 1998 : 277)
ก่อนสิ้นพระชนม์ จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินได้รับสั่งเรื่องการพระศพกับจักรพรรดิคังซีไว้ว่าจักรพรรดิหวงไท่จี๋สิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว พระนางจึงไม่มีพระราชประสงค์ที่จะไปรบกวนสุสานของพระราชสวามี ณ นครเสิ่นหยาง แต่มีพระราชประสงค์ให้ฝังพระศพไว้ที่สุสานตะวันออกราชวงศ์ชิงในมณฑลเหอเป่ยเพื่อที่จะได้ทรงอยู่ใกล้ ๆ จักรพรรดิซุ่นจื้อและจักรพรรดิคังซีผู้เป็นพระราชโอรสและพระราชนัดดา อย่างไรก็ตาม จักรพรรดิคังซีก็มิได้จัดการฝังพระศพของพระอัยยิกาในทันที แต่กลับประดิษฐานพระศพเอาไว้ในอาคารชั่วคราวตลอดรัชกาล ตราบจน ค.ศ. 1725 จักรพรรดิยงเจิ้ง (雍正ครองราชย์ ค.ศ. 1722-35) จึงจัดการฝังพระศพของจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินเอาไว้ที่สุสานจาวซี ซึ่งอยู่นอกกำแพงสุสานตะวันออกของราชวงศ์ชิง (Han Yongfu, 2004 : 6)
การที่พระศพของจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินได้รับการประดิษฐานไว้ในอาคารชั่วคราวเป็นเวลานานถึง 37 ปี นำมาสู่คำถามที่สำคัญว่า เหตุใดจักรพรรดิคังซีจึงไม่จัดการฝังพระศพตามพระราชประสงค์ของพระอัยยิกา เป็นไปได้หรือไม่ที่จักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินทรงเคยอภิเษกสมรสกับตัวเอ๋อร์กุ่นจริง และการที่พระนางมีพระราชสวามี 2 พระองค์อาจทำให้จักรพรรดิคังซีตัดสินพระทัยไม่ได้ว่าควรฝังพระศพของพระอัยยิการวมกับพระศพของจักรพรรดิ จักรพรรดินี พระสนม และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ ในสุสานตะวันออกของราชวงศ์ชิงหรือไม่
พระองค์จึงยกหน้าที่การตัดสินพระทัยเรื่องนี้ให้แก่จักรพรรดิรัชกาลต่อไป ซึ่งในที่สุดการตัดสินพระทัยของจักรพรรดิยงเจิ้งที่ให้ฝังพระศพเอาไว้นอกกำแพงสุสานก็ยิ่งยืนยันความเป็นไปได้ว่าจักรพรรดินีเสี้ยวจวงเหวินทรงอาจมีปมบางอย่างในพระชนมชีพที่ทำให้ไม่อาจฝังพระศพในเขตกำแพงสุสานได้ และปมดังกล่าวก็อาจหมายถึงการอภิเษกสมรสระหว่างพระนางกับตัวเอ๋อร์กุ่นนั่นเอง
เชิงอรรถ :
[1] ระบบกองทัพแปดธงเริ่มใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1601 ประกอบไปด้วย กองทัพธงเหลือง ธงขาว ธงแดง ธงน้ำเงิน ธงเหลืองมีขอบ ธงขาวมีขอบ ธงแดงมีขอบ และธงน้ำเงินมีขอบ โดยกองทัพธงเหลืองและธงเหลืองมีขอบจะขึ้นตรงต่อจักรพรรดิ
[2] ร่างประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิง เป็นความพยายามของรัฐบาลขุนศึกยุคต้นสาธารณรัฐจีนที่จะเขียนประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการของราชวงศ์ชิง โดยเริ่มเขียนใน ค.ศ. 1914 แล้วเสร็จใน ค.ศ. 1927 แต่เมื่อพรรคกั๋วหมินตั่ง (国民党) ของเจียงไคเช็ค (蒋介石) สามารถปราบปรามขุนศึกและรวมประเทศได้สำเร็จใน ค.ศ. 1928 ร่างประวัติศาสตร์ดังกล่าวก็ถูกสั่งห้ามเผยแพร่เนื่องจากรัฐบาลกั๋วหมินตั่งมองว่าเป็นมรดกจากรัฐบาลขุนศึกและเนื้อหาข้างในไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิวัติของ ดร. ซุนยัตเซ็น (孙逸仙) ผู้ก่อตั้งพรรคกั๋วหมินตั่งเท่าที่ควร
[3] ต่อมาใน ค.ศ. 1778 จักรพรรดิเฉียนหลงทรงประกาศฟื้นฟูเกียรติภูมิของตัวเอ๋อร์กุ่นในฐานะที่เป็นผู้วางรากฐานการปกครองของราชวงศ์ชิง
[4] อีกพระองค์หนึ่งก็คือจักรพรรดินีเสี้ยวชินเสี่ยน (孝钦显皇后 ค.ศ. 1835-1908) หรือพระนางซูสีไทเฮา (慈禧太后) พระราชชนนีของจักรพรรดิถงจื้อ พระนางมีสถานะเป็นพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในวันสุดท้ายของพระชนมชีพหลังการสถาปนาผู่อี๋ (溥仪) ขึ้นเป็นจักรพรรดิเซวียนถ่ง (宣统ครองราชย์ ค.ศ. 1908-12) โดยมีสถานะเป็นพระราชโอรสบุญธรรมของจักรพรรดิถงจื้อ
[5] เจ้าศักดินาทั้งสามประกอบไปด้วย อู่ซานกุ้ย (吴三桂ค.ศ. 1612-78) เกิ่งจิงจง (耿精忠 ตาย ค.ศ. 1682) และซ่างเขอสี่ (尚可喜 ค.ศ. 1604-76) พวกเขาเป็นอดีตนายทหารของราชวงศ์หมิงที่สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ชิงและได้รับอัตตาณัติ (autonomy) ในการปกครองดินแดนตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียงในต้นราชวงศ์ชิง
เอกสารอ้างอิง :
ภาษาไทย
นัยน์พัศ ประเสริฐเมฆากุล. 2555. “พรหมจรรย์ : กรงเกียรติยศสตรีในสมัยราชวงศ์ชิง,” ใน ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์. (บ.ก.). เหตุเกิดในราชวงศ์ชิง. กรุงเทพฯ : ชวนอ่าน.
ภาษาจีน
Cheng Hong 程红(编)。(2010/06/22)。《藏文龙藏经》台北故宫。http://www.mzb.com.cn/html/node/132443-1.htm。
Du Jiaxiang 杜家骧 (编)。 (2010)。 《皇太极事典》 。 北京: 紫禁城出版社。
Han Yongfu 韩永福。(2004)。《清初第一疑案 — 太后下嫁》,李国荣主编《清宫档案揭秘》第1 – 12 页。北京:中国青年出版社。
Yan Chongnian 阎崇年。(2005)。《正说清朝十二帝》。 北京:中华书局。
ภาษาอังกฤษ
Dennerline, J. 2002. The Shun-chih Reign. In W. J. Peterson, ed. The Cambridge History of China, Volume 9, Part One : the Ch’ing Empire to 1800. New York, NY : Cambridge University Press.
Dong, M. Y. 2007. How to Remember the Qing Dynasty : the Case of Meng Sen. In Tze-ki Hon and R. J. Culp, eds. The Politics of Historical Production in Late Qing and Republican China. Leiden : Brill.
Hsu, Cho-yun. 2006. China : A New Cultural History. New York, NY : Columbia University Press.
Kahn, H. L. 1971. Monarchy in the Emperor’s Eyes : Image and Reality in the Ch’ien-lung Reign. Cambridge, MA : Harvard University Press.
Li, G. R. 2002. State Building before 1644. In W. J. Peterson, ed. The Cambridge History of China, Volume 9, Part One : the Ch’ing Empire to 1800. New York, NY : Cambridge University Press.
Oxnam, R. B. 1975. Ruling from Horseback : Manchu Politics in the Oboi Regency, 1661-1669. Chicago, IL : The University of Chicago Press.
Rawski, E. S. 1998. The Last Emperors : A Social History of Qing Imperial Institutions. Berkeley, CA : University of California Press.
Smith, Jr., W. W. 1996. Tibetan Nation : A History of Tibetan Nationalism and Sino-Tibetan Relations. Boulder, CO : Westview Press.
Spence, J. D. 2002. The K’ang-hsi Reign. In W. J. Peterson, ed. The Cambridge History of China, Volume 9, Part One : the Ch’ing Empire to 1800. New York, NY : Cambridge University Press.
Tao, Chia-lin Pao. 1991. “Chaste Widows and Institutions to Support Them in Late-Ch’ing China,” in Asia Major. Third Series 4 (1), pp. 101-119.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2562