นํ้าท่วมทุ่งในสมัยก่อน คนยังไปเที่ยวทุ่งกันอย่างสนุกสนาน ปัจจุบัน…

นํ้าท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ บนถนนราชดำเนิน

ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เป็นต้นมา ผู้ที่แวะเวียนมาเยี่ยมผู้เขียนชอบถามแต่เรื่องนํ้าท่วมเมื่อครั้งเป็นเด็กว่าเป็นอย่างไร คือเขาอยากรู้ว่ามีความลำบากมากน้อยเพียงไร การกินการอยู่มีอดอยากบ้างไหม ผู้ถาม อยู่ในวัย 30-40 ปี ไม่เคยพบนํ้าท่วมใหญ่มาก่อน ว่ากันตามจริงคนอายุ 60 ปี ก็ไม่เคยเห็นนํ้าท่วมใหญ่ที่กล่าวถึง ผู้เขียนหมายถึงปี พ.ศ. 2485

ปีดังกล่าวนั้นผู้เขียนยังเป็นเด็กนักเรียน นับถอยหลังจากปีนี้ (2554) ไป 70 ปี อายุก็อยู่ในราว 12-13 ปี ในครั้งนั้นธรรมชาติยังอยู่ในระเบียบวินัยเคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น จะผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป บ้างก็เป็นบางปี แต่ไม่หนักหนาอะไร เช่น เพียงแต่ช้าไปบ้าง ด้วยเหตุนี้ หนังสือเรียนของกระทรวงธรรมการจึงกำหนดระยะเวลาของฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาวไว้ชัดเจน ในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการจะมีแบบเรียนกำหนดฤดูเหมือนอย่างแต่ก่อนหรือไม่ ไม่ทราบ เพราะฤดูกาลปรวนแปรไม่มี วินัยเหมือนอย่างแต่ก่อน ฤดูหนาว เกือบไม่ต้องพูดถึง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะกำลังทรงกล้อง ณ ชายทุ่งแห่งหนึ่งเมื่อ เสด็จประพาสทุ่งหน้านํ้า (ภาพจากสำนักหอ จดหมายเหตุแห่งชาติ ในหนังสือ “เที่ยวทุ่งเมื่อ หน้านํ้า” โดย เอนก นาวิกมูล, ๒๕๓๖)

ผู้ที่รู้กำหนดการมาของนํ้าก็คือ พวกชาวบ้านที่อยู่ริมแม่นํ้าและพวกชาวนา การที่รู้ก็รู้จากธรรมชาติ พอถึงเดือน 9 เดือน 10 นํ้าเหนือก็จะไหลหลากลงมาทางใต้ คนที่อยู่ริมแม่นํ้าใหญ่จะสังเกตเห็นนํ้าเป็นสีนํ้าตาล (สี กาแฟใส่นม) หรือที่คนโบราณเรียกว่านํ้าอาบโค เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เพราะกระแสน้ำพัดพังดินริมแม่นํ้าลำคลองทำให้นํ้าขุ่น ครั้งเป็นเด็กอ่านหนังสือพิมพ์คอลัมน์ความรู้รอบตัว มีคนถามว่า เมื่อถึงฤดูนํ้าทำไมแม่นํ้าเจ้าพระยาจึงเป็นสีแดง มีคนตอบว่าเป็นเพราะมีเรือบรรทุกปูนแดงไปล่มที่ปากนํ้าโพ เด็กอ่านก็เชื่อไม่มีใครสงสัยว่าทำไมเรือปูนแดงต้องไปล่มที่ปากนํ้าโพทุกปี

นํ้าท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ที่ตลาดพลู

นํ้าที่ขุ่นเป็นสีนํ้าตาลนี้ขุ่นอยู่ไม่นาน พอถึงเดือน 11 นํ้าก็ไหลเข้าทุ่งนา นํ้าก็เริ่มใส พอถึงเดือน 12 นํ้าจะ ทรงตัวไหลอ่อนลง คนโบราณเชื่อกันว่าในคืนวันเพ็ญเดือน 12 ตอนเที่ยง คืนนํ้าในแม่นํ้าจะหยุดนิ่ง จึงนิยมตักไว้อาบและกิน เชื่อกันว่าเป็นสิริมงคล นํ้าเดือน 12 ใสสะอาดตามธรรมชาติ พอถึงเดือนอ้ายนํ้าก็เริ่มลด พอดีข้าวในนาแก่เตรียมเกี่ยวได้ ธรรมชาติของนํ้าเป็นอย่างนี้ จึงมีคำพูดติดปากคน แต่ก่อนว่า เดือน 11 นํ้านอง เดือน 12 นํ้าทรง เดือนอ้าย เดือนยี่ นํ้าก็รี่ไหลลง

ภาพถ่ายเก่า นํ้าท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ หน้าสถานีหัวลำโพง

เมื่อครั้งเป็นเด็ก นํ้าท่วมทุ่งใน เดือน 11 เดือน 12 ปีละครั้ง นํ้าท่วม มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่นํ้าฝน นํ้าท่วมมากขนาดที่เรียกว่า “นาล่ม” มีไม่บ่อยนัก ที่พูดกันว่า น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง นั้นแสดงว่าท่วมมาก จนผักบุ้งที่เป็นพืชน้ำก็ไม่เหลือ เขาเอาไปเปรียบกับคนพูดมากไร้สาระ นํ้าท่วมทุ่ง ปี พ.ศ. 2485 นั้น ท่วมมากก็จริง แต่พืชผักยังพอหากินได้ อย่างไรก็ตาม นํ้าท่วมทุ่งในสมัยก่อน คนยังไปเที่ยว ทุ่งกันอย่างสนุกสนาน ผิดกับปัจจุบันที่คนไม่อยากเที่ยวทุ่ง เพราะนํ้าในทุ่งเป็นนํ้าเน่า

ต่อไปในอนาคต คนจะไม่รู้ว่า นํ้าท่วมทุ่งตามธรรมชาติเป็นอย่างไร นํ้าที่ใสตามธรรมชาติเป็นอย่างไร เพราะไม่มีธรรมชาติหลงเหลืออยู่ ธรรมชาติถูกทำลายไปจนหมดสิ้น

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ตุลาคม 2560