“พ่อข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม” นวนิยายสะท้อนภาพขบวนการนักศึกษา ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

นวนิยายที่สะท้อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ “พ่อข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม” ประพันธ์โดย “สันติ ชูธรรม” นามปากกาของ สุวัฒน์ วรดิลก พิมพ์ครั้งแรกในวารสาร “ศูนย์” เมื่อปี 2517 พิมพ์ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2541 ซึ่งสะท้อนภาพของขบวนการนักศึกษาในสมัยนั้นเป็นอย่างดี ผ่านตัวละครหลักที่แต่เดิมไม่เคยสนใจการเมือง จนกระทั่งเปลี่ยนความคิดและได้เข้าร่วมการชุมนุมกับนักศึกษา

“พ่อข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม” มีเรื่องย่อดังนี้ กึ่ง เป็นลูกชายคนที่สองของครอบครัว เกิดเมื่อปี 2500 มีพี่ชายชื่อ หวัง พ่อของเขาเป็นคนยิ้มยาก มีอาชีพทนายความ เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยติดคุกในคดีกบฏสันติภาพ กึ่งเรียนไม่เก่งจึงเรียนต่ออาชีวะ ขณะที่หวังเรียนเก่งได้เรียนต่อธรรมศาสตร์ จึงดูเหมือนว่า พ่อรักหวังมากกว่า ในตอนแรก กึ่งเป็นเพียงนักเรียนที่ชอบมีเรื่องมีราวตีกันกับพวกนักเรียนอาชีวะต่างสถาบัน จึงทำให้พ่อเอือมระอา จนวันหนึ่งพ่อเรียกกึ่งมาสั่งสอนว่า ศัตรูที่แท้จริงของกึ่งและทุกคนคือ ทรราช ไม่ใช่คนไทยด้วยกัน กึ่งจึงหันมาสนใจการเมือง ขณะที่หวังเข้าเรียนในธรรมศาสตร์ แต่กลับไม่สนใจเรื่องการบ้านการเมือง ทั้งยังเชื่อพนักงานในมหาวิทยาลัยว่า พ่อตัวเองไม่มีความสำคัญ เรียนหนังสือช้าเพราะมัวทำกิจกรรม

ช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 เพื่อนของหวัง ชื่อ สุดาทิพย์ มาสัมภาษณ์พ่อของกึ่ง ทำให้กึ่งได้ฟังเรื่องราวของนักศึกษาสมัยก่อนและนักศึกษาสมัยนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กึ่งจึงได้เข้าร่วมต่อสู้ด้วย ซึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองดังกล่าวเป็นจุดพลิกผันของเรื่อง ทำให้หวังที่โดนพ่อด่าและตบหน้า เพราะไม่เข้าร่วมต่อสู้ต้องออกจากบ้านไป หลังเหตุการณ์ กึ่งเป็นวีรชนที่ชาวบ้านนิยมยินดี ส่วนหวังเปลี่ยนทัศนคติและหันมาสนใจการเมือง จึงออกเดินทางสู่ชนบทเพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตย ต่อมา กึ่งเข้าทำงานในบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่น ช่วงเวลานั้นภาพลักษณ์ของนักศึกษาในสายตาประชาชนเริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะต่อกลุ่มนักเรียนอาชีวะ ที่มีผู้อยู่เบื้องหลังยุยงให้คอยขัดขวางและต่อด้านการทำงานของขบวนการนักศึกษา กึ่งถูกให้ออกจากงานเพราะไม่เข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว หลังการเลือกตั้งเดือนเมษายนปี 2519 พ่อของกึ่งเริ่มไม่ยิ้มอีกครั้ง กึ่งจึงได้แต่หวังว่าพ่อจะได้กลับมายิ้มอีกในอนาคต

สุวัฒน์ วรดิลก ผู้ประพันธ์ “พ่อข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม”
สุวัฒน์ วรดิลก หรือในนามปากกาว่า สันติ ชูธรรม ผู้ประพันธ์ “พ่อข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม”

นวนิยาย “พ่อข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม” ได้สะท้อนภาพขบวนการนักศึกษาในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในหลากหลายแง่มุม ทั้งสะท้อนภาพนักศึกษาเป็นผู้รักชาติอย่างบริสุทธิ์ เคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองเพราะยึดมั่นในอุดมการณ์ และเสียสละเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน, สะท้อนภาพนักศึกษาเป็นปัญญาชน ต้องเป็นผู้นำทางปัญญา เป็นที่พึ่งแก่ประชาชน และนักศึกษาเป็นวีรชนหรือวีรบุรุษ

“พ่อข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม” สะท้อนภาพนักศึกษาเป็นผู้รักชาติ เห็นได้จากตอนที่กึ่งคุยกับลุงคง ตัวละครผู้ใหญ่ที่ห้ามตุ๊ก ผู้เป็นลูก ไม่ให้เข้าร่วมการชุมนุมกับนักศึกษาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ความว่า

“…‘มันจะไปไหนของมันก็อยู่บ้าน ลุงสั่งไม่ให้ออกไปไหน ทำอย่างหลานชายไม่ได้หรอก… ลูก ๆ ลุงยังมีพ่อเป็นข้าราชการ พอดีพอร้ายพ่อมันอาจเคราะห์ร้ายก็ได้…’ ข้าฯ งง ไม่เข้าใจว่า ทำไมลูกข้าราชการจะเคลื่อนไหวแสดงความรักชาติไม่ได้… ข้าฯ มองหน้าพ่อ ๆ ลอบขยิบตาให้ข้าฯ ข้าฯ ก็เลยนิ่งงันไป…”

และเมื่อลูกของลุงคงเข้าร่วมการชุมนุมกับนักศึกษา กึ่งได้ถามลุงคงว่า “…ลุงถือว่าตุ๊กทำผิดหรือฮะ… การแสดงความรักชาติเรียกร้องประชาธิปไตย โดยขับไล่ผู้เผด็จการออกไป เป็นการกระทำผิดหรือครับลุง…” ข้อความทั้งสองข้างต้นสะท้อนว่า การมีบทบาทในการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาเป็นการแสดงความรักชาติ โดยไม่คิดว่าเรื่องผิด และทำให้เห็นถึงแนวคิดของผู้ใหญ่ที่ไม่ต้องการให้ลูกเข้าร่วมการชุมนุมกับนักศึกษา ซึ่งอาจส่งผลต่อหน้าที่การงานของตน นัยยะหนึ่งสะท้อนถึงความกล้าหาญของนักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองด้วย

ในตอนที่กึ่งชักชวนพ่อเข้าร่วมการชุมนุมกับนักศึกษา แม้พ่อจะปฏิเสธแต่ก็ได้ให้คำแนะนำไปว่า “…ขอให้เด็ก ๆ ทำกันอย่างบริสุทธิ์ใจเถิด จะเป็นข้ออ้างที่คุ้มครองตัวเองได้ ถ้าพ่อหรือนักการเมืองเก่า ๆ คนใดเข้าไปร่วมด้วย ความบริสุทธิ์จะหมดสิ้นไป ฝ่ายรัฐบาลจะยกมาเป็นข้ออ้างได้ว่า พ่อหรือพวกอดีตนักการเมืองเป็นมือที่สามคอยยุยงนักศึกษา… ให้คอยระวังนักการเมืองห่วย ๆ ที่ชอบฉวยโอกาสเข้าสมทบกับนิสิต นักศึกษา พวกนี้กลิ่นแรงเหมือนตัว ‘สกั๊งค์’ เข้าที่ไหน เหม็นที่นั่น จะพลอยให้เด็ก ๆ เหม็นไปด้วย…”

สะท้อนให้เห็นว่า นักศึกษาเป็นผู้รักชาติอย่างบริสุทธิ์ ด้วยการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ปราศจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอยู่เบื้องหลัง ทั้งการที่พ่อของกึ่งไม่เข้าร่วมการชุมนุมกับนักศึกษา นัยยะหนึ่งสะท้อนถึงผู้ใหญ่เองไม่ควรเข้าไปทำให้การชุมนุมกับนักศึกษามัวหมอง

นอกจากนี้ ในตอนที่พ่อของกึ่งสนทนากับสุดาทิพย์ ได้สะท้อนว่า การจัดตั้งขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาไม่ต้องอาศัยทุนมาเป็นแรงขับเคลื่อนในการชุมนุมกับนักศึกษา อุดมการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่มาก่อนเสมอ และการขับเคลื่อนอื่น ๆ จะตามมา อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ขบวนการของนักศึกษาเดินหน้าต่อไปได้เอง

พ่อของกึ่งกล่าวว่า “ทำได้ยาก การจัดตั้งในลักษณะนั้นต้องมีทุนรอน พวกเราไม่มีทุน” สุดาทิพย์ตอบว่า “มีค่ะ ทุนของประชาธิปไตยเงินมาทีหลัง ทุนก้อนแรก คือ ความเสียสละ ความอดทน ความกล้าหาญ และความสามัคคี เราต้องมีอุดมการณ์ร่วมกัน และมีความยึดมั่นอยู่ว่า เราจะสู้โดยไม่หวังที่จะได้เหรียญตราหรืออนุสาวรีย์ การเข้าหาประชาชนก็ต้องมีกลวิธีที่ถูกต้องให้มีเอกภาพระหว่างเหตุผล และถ้อยคำปลุกใจ แม้ไม่ประสบความสำเร็จในขั้นความร่วมมือ เราก็สามารถประสบความสำเร็จในความร่วมใจ กล่าวคือ ประชาชนเอาใจช่วย ไม่ใช่สาปแช่ง สมน้ำหน้า เมื่อเราพลาดพลั้งถูกจับกุม คุมขัง ความร่วมใจของประชาชนซึ่งระยะนั้นยังอยู่ช่วงของการลังเล เพราะยังไม่ตื่นตัวในปัญหาต่าง ๆ ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งได้รับการข่มขู่จากฝ่ายปกครองจนฝังหัวว่า การเมืองเป็นของน่าสะพรึงกลัว ใครเข้าไปแตะต้องมันเข้าจะได้รับเคราะห์ติดคุกติดตะราง หรือไม่ก็ตาย ฉะนั้น ในด้านประชาชน เราขอเพียงความร่วมใจเท่านั้นเพียงพอแล้ว”

(ภาพประกอบเนื้อหา) นักศึกษาชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตอนที่การชุมนุมกับนักศึกษากำลังเข้าสู่ช่วงสำคัญ ก็เป็นเวลาเดียวกับที่นักศึกษาจะต้องสอบด้วยนั้น หวัง พี่ชายของกึ่งกำลังจะสอบพอดี ก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ซึ่งทำให้เห็นถึงแนวคิดของพ่อแม่ของกึ่ง ในฐานะผู้ปกครองของนักศึกษา เกี่ยวกับกรณีนี้

“นักศึกษาเขาเปิดไฮด์ปาร์คตั้งแต่ตอนบ่าย ล่อกันที่หน้าหอประชุมใหญ่ แล้วแห่กันขึ้นรถบัสสองคัน ส่งผู้แทนไปเยี่ยมพวกที่ถูกจับที่ศูนย์นครบาลบางเขน รถไปเสียคนหนึ่ง ไปถึงคันเดียวคณะอาจารย์ก็ส่งผู้แทนไปเยี่ยมอีกกลุ่ม… ตอนเย็นมีการประชุมลับ องค์การนักศึกษาประชุมลงมติให้งดการสอบไปภาคหนึ่งก่อนจนกว่าการต่อสู้เรียกร้องจะได้ผล แต่ทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาร่วมมือไม่ได้ เพราะทางจุฬาฯ กำลังสอบและสอบใกล้จะเสร็จแล้ว ทางเกษตรฯ ก็มาร่วมไม่ได้ องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์เลยตัดสินใจเอาเอง ก่อนถึงกลับเขาล่ามประตูห้องสอบ เอาปูนปลาสเตอร์ยัดรู กุญแจ ตัดสายไฟลิฟท์ทั้งหมดแล้ว กึ่งยังไปช่วยเขาถึง 2 ตึก..แล้ว หวังมันจะไปสอบได้ยังไง…”

“พ่อข้าฯ ถอนหายใจแรง ๆ ใบหน้าไม่ยิ้มก็จริง แต่ข้าฯ พบรอยยิ้มในดวงตาของพ่อ พ่อขุดบุหรี่สูบมือสั่น ๆ แน่ละพ่อคงตื่นเต้นยินดีอย่างบอกไม่ถูก แม่สิ กลับหน้าเผือดลงอุทานสงสาร หวัง” ที่ไม่มีโอกาสเข้าสอบ บ่นว่านักศึกษาไปตามความคิดอันจำกัดของแม่ จนพ่อเกิดความรำคาญ โพล่งขึ้นเสียงหนัก ๆ

หยุดทีเถอะ… ไม่ได้สอบเพียงภาคเดียว ไม่ทำให้มันถอยหลังไปมากหรอก… ผลประโยชน์ของส่วนรวมย่อมสำคัญกว่าส่วนตัว ถ้าไอ้หวังมันไม่อายใจมุ่งจะเอาผลประโยชน์ส่วนตัว ตั้งหน้าสอบไม่เหลียวแลความเดือดร้อนของเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน มันก็หมา ไม่ใช่คน… ฉันว่า นักศึกษาเขาทำถูกแล้ว ถ้าเขาไม่ตัดสินใจทำอย่างนี้ในวันนี้ ในวันหน้า ไอ้พวกครองเมืองมันก็รังแกเอาอีกได้ง่าย ๆ ทำอย่างนี้ที่หลังมันก็จะเข็ด’…”

“พ่อข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม” สะท้อนภาพนักศึกษาเป็นปัญญาชน เห็นได้จากตอนที่พ่อกับกึ่งสนทนากัน ความว่า

“การศึกษาของนิสิตนักศึกษา ไม่ควรอยู่เฉพาะในห้องเรียนหรือเฉพาะในตำรา นิสิตนักศึกษากว้างกว่านั้น ต้องรับรู้และรับภาระสังคมเอาไว้ด้วย หาไม่ก็ไม่ควรจะเรียกตัวเองว่า ปัญญาชน ซึ่งไม่ได้หมายเพียงเป็นชนที่มีปัญญาเท่านั้น แต่มันหมายถึง ผู้นำทางปัญญาให้แก่ประชาชนอีกด้วย…”

การนิยามว่านักศึกษาเป็นผู้นําทางปัญญาของประชาชนสอดคล้องกับความคิดเรื่องการเสียสละเพื่อส่วนรวมของนักศึกษา เพราะการเสียสละเพื่อส่วนรวมนั้น ในแง่หนึ่งเป็นการออกไปเรียนรู้ปัญหาของบ้านเมือง ทำให้นักศึกษามีปัญญาอันกว้างขวาง เปรียบกับการออกจากกะลาครอบ ดังตอนที่กึ่งยังไม่สนใจการเมือง และมักชกต่อยกับนักเรียนอาชีวะต่างสถาบัน พ่อจึงเรียกกึ่งมาสั่งสอน

กึ่งกล่าวว่า “พ่อจะให้ต่อสู้ศัตรู เลือกศัตรูของประชาชนเสียด้วย กึ่งจะไปรู้หรือว่าพวกไหนมันเป็นศัตรูของประชาชน กึ่งมองไม่เห็นจริงๆ” พ่อตอบว่า “ใช่ คนอย่างเอ็งหรือไอ้หวัง มันจะไปมองเห็นได้ยังไง ในเมื่อโลกของเอ็งมันกว้างแค่กะลาครอบเท่านั้น… มา… พ่อจะพลิกกะลาครอบให้ พ่อจะบอกเอ็งให้ ศัตรูของประชาชนก็คือ พวกทรราชที่ครองเมือง พวกที่มันข่มขู่ไม่ให้ประชาชนสนใจการเมือง เพื่อมันจะเอาเมืองไปเป็นของมันเสียพวกเดียว พวกที่มันยึดครองเอาการเมือง การทหาร การเศรษฐกิจ ไปเป็นของพวกมันกลุ่มเดียว… คนพวกนี้แหละลูกเอ๋ย คือศัตรูของประชาชน คือเป้าหมายที่พวกเอ็งจะโรมรันเอากับมัน ไม่ใช่เพื่อนนักเรียนด้วยกัน… เอ็งเข้าใจหรือยัง…”

“พ่อข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม” สะท้อนภาพเป็นวีรชนหรือวีรบุรุษ มีความกล้าหาญและเสียสละ เห็นได้จากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กึ่งและหวังได้สนทนากัน ความว่า

“หวังยิ้ม เอามือบีบไหล่ข้าฯ เบา ๆ ทำให้ข้าฯ รู้สึกอบอุ่นอย่างประหลาด เอ็งเป็นวีรชน ไอ้กึ่ง…’ หวังพึมพำ ข้าฯ ก็ยิ้ม เอานิ้วชี้หน้ามัน เอ็งก็เป็นวีรบุรุษหน้าที่ที่เอ็งออกไปทำมาเดือนเศษ ไม่ใช่เล็กน้อย… ข้าทำไม่ได้หรอก เพราะไม่มีความรู้ แต่เอ็งทำได้และได้ทำมาแล้ว… นอกจากเป็นการล้างความคิดเก่า ๆ ของเอ็งจนหมดแล้ว เอ็งยังกล้าต่อความเสียสละ สมเป็นวีรบุรุษเหมือนกัน’…”

ข้อความข้างต้นสะท้อนว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมการชุมนุมกับนักศึกษา ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อย่างกึ่งนั้น เป็นวีรชนผู้เสียสละในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และนักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง ช่วยรณรงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องประชาธิปไตยในภายหลัง อย่างหวังนั้น ก็ถือเป็นวีรบุรุษเช่นเดียวกัน แม้บทสนทนาข้างต้นจะเป็นการกล่าวชมกันของตัวละคร ที่เป็นนักศึกษาด้วยกัน แต่ว่าถือเป็นการเสนอความหมายของนักศึกษาในฐานะวีรชนหรือวีรบุรุษของผู้ประพันธ์ การเสนอในลักษณะนี้จึงเป็นการเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่นักศึกษาทําในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และการเผยแพร่ประชาธิปไตย คือการกระทำของวีรชนหรือวีรบุรุษ

ในขณะที่พ่อของกึ่ง ได้กล่าวถึงนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่า “หัวใจของเขาเหล่านี้ สร้างจากอะไรกันหนอ… หัวใจที่กล้าต่อความตาย กล้าต่อความเสียสละ เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ หลอมตัวของมันขึ้นมาได้อย่างไรกัน… พ่อไม่เข้าใจ แทบไม่น่าเชื่อว่า เป็นหัวใจของพวกเอ็ง นักเรียนอาชีวะช่างน่าสรรเสริญอะไรเช่นนั้นปลอบตายอย่างวีรชนที่แท้จริง…”

ซึ่งข้อความดังกล่าวสะท้อนถึง ความกล้าหาญและการเสียสละเพื่อประชาชนของนักศึกษาและนักเรียนอาชีวะที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถือว่า เป็นความกล้าหาญและการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ สมควรเรียกผู้เสียสละว่าเป็น “วีรชน”

สำหรับ สุวัฒน์ วรดิลก ผู้ประพันธ์ “พ่อข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม” เกิดเมื่อปี 2466 ที่บ้านริมคลองข้างวัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นบุตรของอำมาตย์โทพระทวีปธุรประศาสน์ (วร วรดิลก) ศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ที่โรงเรียนมัธยมวัดโสมนัสฯ มัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญฯ ต่อเตรียมปริญญาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รุ่นที่ 3 และเรียนปริญญาด้านกฎหมายในมหาวิทยาลัยนี้ แต่ส่วนตัวสนใจเรียนอักษรศาสตร์มากกว่า

ปี 2485 ทำงานเป็นข้าราชการ ตำแหน่งผู้คุมตรี ที่กรมราชทัณฑ์ ก่อนออกมาสอบได้งานเป็นเสมียนการเงินที่กรมบัญชีกลางทหารเรือ ปีถัดมาก็กลับมาสอบได้งานเป็นเสมียนกรมราชทัณฑ์ และในช่วงนั้นเองเริ่มทำงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์ “เอกราช” ของอิศรา อมันตกุล ก่อนจะลาออกมาทำงานนี้เต็มตัว เขียนเรื่องสั้นเช่น “ท่องไปในแดนรัฐประหาร” และ “สัญญารักของจอมพล”

หลังหนังสือพิมพ์เอกราชถูกสั่งปิด สุวัฒน์ วรดิลก ได้เขียนเรื่องสั้นเกือบ 10 เรื่อง ส่งให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พิจารณา แต่ได้รับการตีพิมพ์เรื่องเดียวคือ “เขาและหล่อนอยู่คนละซีกโลก” หลังจากนั้นมีผลงานเขียนเรื่องสั้นทยอยออกมา เช่น “ทุ่งทานตะวัน” และผลงานสร้างชื่ออย่าง “เปลวสุริยา” ที่ทำให้ชื่อของ สุวัฒน์ วรดิลก เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ในสมัยที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กวาดล้างจับกุมนักคิดนักเขียนขนานใหญ่เมื่อปี 2501 สุวัฒน์ วรดิลก และภรรยาถูกจับกุมและตั้งข้อหาร้ายแรง คือ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ต่อมา เมื่อได้รับอิสรภาพในปี 2505 จึงไปอุปสมบทที่ชุมพร เมื่อลาสิกขาบทแล้วกลับมาเขียนงานอีกครั้งหนึ่ง

สุวัฒน์ วรดิลก ใช้นามปากกา “รพีพร” เขียนนวนิยายเรื่อง “ภูติพิสวาส” เมื่อปี 2505 และ “ลูกทาส” เมื่อปี 2506 ทำให้ “รพีพร” โด่งดังติดตลาด ต่อมาใช้นามปากกา “ไพร วิษณุ” เขียนนวนิยายท่องผจญป่าเขา นามปากกา “ศิวะ รณชิต” เขียนนวนิยายการเมือง และนามปากกา “สันติ ชูธรรม” ใช้เขียนนวนิยายการเมืองเพียงเรื่องเดียวคือ “ข้าฯ เพิ่งจะยิ้ม” ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “พ่อข้าไม่ผิด”

สุวัฒน์ วรดิลก เป็นผู้ก่อตั้งชมรมนักเขียน 5 พฤษภา เมื่อปี 2511 เพื่อหาเงินช่วยเหลือ เลียว ศรีเสวก เจ้าของนามปากกา “อรวรรณ” ต่อมาชมรมนี้พัฒนาเป็นสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สุวัฒน์ วรดิลก หันมาสนใจงานเขียนที่มีเนื้อหารับผิดชอบต่อสังคมและแนวการเมือง จึงนำเรื่อง “พิราบแดง” ที่เขียนค้างไว้มาเขียนต่อจนจบ และเขียนเรื่องใหม่คือ “แผ่นดินเดียวกัน” เขียนนวนิยายสะท้อนสังคมอย่าง “นกขมิ้นบินถึงหิมาลัย” “คามาล” และ “พิราบเมิน” เป็นต้น

สุวัฒน์ วรดิลก มีผลงานมากมายทั้ง เรื่องสั้น นวนิยาย บทละครโทรทัศน์ บทละครวิทยุ บทภาพยนตร์ สารคดี ที่มากที่สุดคือ นวนิยาย มี 88 เรื่อง สุวัฒน์ วรดิลก ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี 2534 กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 เมษายน ปี 2550

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สิริวิทย์ สุขกันต์. ขบวนการนักศึกษาระหว่าง พ.ศ. 2511-2519 : ภาพตัวแทนที่ปรากฏในนวนิยายไทย. วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2563