เจ้านายสตรี 5 พระองค์ ที่ถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์ กระทำผิดกฎมณเฑียรบาล-เสื่อมเสียเกียรติยศ

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา หรือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ เจ้านายสตรี ที่ ถูกถอดยศ ทำผิด กฎมณเฑียรบาล
พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา

“เจ้านายสตรี” ที่ถูกถอดออกจากฐานันดรศักดิ์ ที่ปรากฏหลักฐานมี 5 พระองค์ คือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, หม่อมเจ้าออน, หม่อมเจ้าแฝง, หม่อมเจ้าจันทร์เจริญ และหม่อมเจ้าอุบลพรรณี โดยถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์ เนื่องจากกระทำผิด “กฎมณเฑียรบาล” เป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ อันมีต้นเหตุมาจากปัญหาเรื่อง “ความรัก” และ “การเงิน” เป็นสำคัญ

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์

เจ้านายสตรีที่ถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์ที่เป็นเรื่องราวใหญ่โตมากที่สุด คงหนีไม่พ้น หม่อมยิ่ง หรือ พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา พระราชธิดาพระองค์แรกในรัชกาลที่ 4 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ

Advertisement

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2429 เมื่อพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทรงคลอดลูกที่พระตำหนักในวังหลวง ทำการสอบสวนจนได้ความว่า พระองค์ทรงลักลอบมีความสัมพันธ์กับชายสามัญชนชื่อว่า โต ซึ่งได้ลอบเข้ามาในวังหลวง โดยปีนกำแพงวังเข้ามาที่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทถึง 4 ครั้ง

ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์กับนายโตเกิดขึ้นก่อนหน้านี้หลายปี ทั้งสองรู้จักกันตั้งแต่เมื่อครั้งที่นายโตบวชเป็นภิกษุอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ โดยมีทาสของพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ชื่อว่า เผือก เป็นคนกลางให้การช่วยเหลือติดต่อกันเสมอ นายโตเป็นพระที่ช่างประจบผู้ใหญ่และมีกิริยาไม่สำรวม จึงถูกขับออกจากวัดราชประดิษฐ์ไปอยู่วัดบุญศิริมาตยาราม

ต่อมาเมื่อสึกแล้ว พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทรงอุปการะนายโต ทั้งเช่าตึกแถวที่ถนนเจริญกรุงให้อาศัย มอบแหวนเพชรและเงินทองให้ใช้ จนกรมหมื่นพรหมวรานุรักษ์ (พระอนุชาของพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์) ถึงกับทรงเตือนว่า การเลี้ยงดูนายโตเกินงามเช่นนี้จะมีข้อครหา

กระทั่งนายโตลอบเข้ามายังพระตำหนักของพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์

“ซึ่งค่ำนั้นไม่มีคนอยู่ อ้ายโตเข้ามาอยู่ในห้องนอนหม่อมยิ่งเมื่อใดไม่ทราบ อ้ายโตแต่งตัวคล้ายผู้หญิงห่มสไบเข้ามา หม่อมยิ่งจึงพูดกับอ้ายโตว่า ช่างกล้าหาญเหลือเกิน อ้ายโตตอบหม่อมยิ่งว่า หม่อมยิ่งไม่เลี้ยงดูอ้ายโตแล้วไม่ทำอย่างนี้จะมีที่ไหนกิน และความรักหม่อมยิ่งจึงอุตส่าห์เข้ามา หม่อมยิ่งให้อ้ายโตแอบอยู่หลังเตียง แล้วหม่อมยิ่งไปรับประทาน อาบน้ำ และเข้านอนบนเตียง หาได้ดับไฟไม่ อ้ายโตเข้าหาหม่อมยิ่งได้เสียกัน หม่อมยิ่งมีความเสียใจที่ประพฤติชั่ว อ้ายโตได้ปลอบหม่อมยิ่ง หม่อมยิ่งได้ให้สายสร้อยบั้นเอวทองคำ สายนาฬิกาทองคำสายหนึ่ง แหวนเพชรวงหนึ่ง กับเงินให้อ้ายโตคาดเอวไปด้วย…”

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์
พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์

เวลาผ่านไป พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทรงตั้งครรภ์และท้องโต แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะทรงตั้งครรภ์ คิดเพียงว่าประชวรโรคท้องมาน จนความแตกเมื่อทรงคลอดลูก

กฎมณเฑียรบาล ระบุโทษลักษณะนี้ถึงขั้นประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 5 พระราชทานอภัยโทษ มิให้เฆี่ยนและประหารชีวิตพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ แต่ให้ริบราชบาตร ให้ถอดจากฐานันดรศักดิ์ลงเป็นเพียงหม่อม และเรียกชื่ออย่างคนสามัญ ส่วนนายโตถูกประหารชีวิต

หม่อมเจ้าออน

เจ้านายสตรี ที่ถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์ อันมีต้นเหตุมาจากปัญหาเรื่อง “การเงิน” คือ หม่อมเจ้าออน และ หม่อมเจ้าแฝง ซึ่งได้ขายตัวเป็นทาส

หม่อมเจ้าออน พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเรณู (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2) เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ หม่อมเจ้าออนชันษาได้เพียง 9 ปี มีสภาพชีวิตแทบไม่แตกต่างจากคนรับใช้ทั่วไปในวังหลวง หม่อมเจ้าออนจึงเลือกหาชีวิตที่ดีกว่าภายนอกวัง โดยหนีไปแต่งงานกับชายสามัญชนชื่อ แสง แล้วปลอมตัวเป็นไพร่ใช้ชื่อว่า เอม มีบุตรด้วยกันคนหนึ่งชื่อ แพ

หม่อมเจ้าออนไม่สามารถดำรงชีวิตท่ามกลางสังคมและเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลง จึงต้องขายตัวเป็นทาสแก่นายเงินอยู่หลายคน จนตกเป็นทาสของเถ้าแก่ปริกเป็นเวลา 11 ปี กระทั่งหม่อมเจ้าออนพาบุตรหลบหนีไปอยู่กับหม่อมเจ้าเจริญจิตร ผู้ทรงเป็นพระขนิษฐา เถ้าแก่ปริกทราบเรื่องจึงทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์

เรื่องของหม่อมเจ้าออนไปถึงที่ประชุมเสนาบดีสภา เมื่อ พ.ศ. 2435 รัชกาลที่ 5 มีพระราชวินิจฉัยว่า “…หม่อมเจ้าออนมิได้ประพฤติตัวตามบันดาศักดิ์ บังอาจยอมเปนเมียอ้ายแสงซึ่งเปนไพร่ตํ่าศักดิ์ แล้วไปขายตัวเปนทาษผู้มีชื่อต่อ ๆ มา จนถึงเถ้าแก่ปริกนี้ หม่อมเจ้าออนมีความผิดให้ถอดหม่อมเจ้าออนจากยศบันดาศักดิ์หม่อมเจ้าออน แล้วเอาตัวมาจำไว้ในพระบรมมหาราชวัง…”

หม่อมเจ้าออนใช้ชีวิตนอกวังนานกว่า 35 ปี เมื่อถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์ก็รับราชการอย่างสามัญชนในวังหลวงเรื่อยมาจนมีอายุถึง 60 ปี แม้จะไร้อิสรภาพ แต่ก็แลกมากับชีวิตที่ไม่ต้องระหกระเหินเหมือนแต่ก่อน

หม่อมเจ้าแฝง

หม่อมเจ้าแฝง เป็นพระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายเริงคนอง (พระองค์เจ้าชายป๊อก) (พระโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 3) ได้ขายตัวเป็นทาสพระอภัยพลภักดิ์ ภายหลังพยายามหลบหนี แต่พลตระเวนจับตัวกลับมาได้ ระหว่างถูกจำตรวนนั้นคลอดบุตรคนหนึ่ง เกิดกับสามีที่เป็นชายสามัญชนชื่อ จัน

รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า หม่อมเจ้าแฝงมีบรรดาศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าได้รับเบี้ยหวัดตามเกียรติยศสืบมา หากแม้มีปัญหาสิ่งใดควรกราบทูลแก่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในราชสกุลให้ทรงทราบถึงความทุกข์ร้อน จึงจะสมควร มิใช่ขายตัวลงเป็นทาสสร้างความเสื่อมเสียแก่พระราชวงศ์ ดังนั้น จึงทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า

“หม่อมเจ้าหญิงแฝงมิได้ประพฤติตัวตามบรรดาศักดิ์ทําให้เสียเกียรติยศราชตระกูล บังอาจยอมเปนเมียนายจัน ซึ่งเปนไพร่ต่ำศักดิ์มีความผิดอยู่ชั้นหนึ่งแลไปขายตัวเป็นทาษพระอภัยพลภักดิ์มีความผิดอีกชั้นหนึ่ง ให้ถอดหม่อมเจ้าแฝงจากยศบรรดาศักดิ์หม่อมเจ้า แล้วเอาตัวมาจำไว้ในพระบรมมหาราชวัง” 

นอกจากกรณีของหม่อมเจ้าออนและหม่อมเจ้าแฝงแล้ว ยังมีกรณี หม่อมเจ้าหวาน ซึ่งได้ขายตัวเป็นทาสแก่พระองค์เจ้าบงกชและได้หลบหนีไป รัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินให้จำตัวหม่อมเจ้าหวานไว้ในวังหลวง แต่ไม่ได้ถอดจากฐานันดรศักดิ์ จำตัวไว้จนกว่าจะมีผู้มารับรองว่าจะไม่ให้หม่อมเจ้าหวานขายตัวเป็นทาสอีก

“เจ้านายสตรี” กับกฎมณเฑียรบาล

เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 6 สังคมทันสมัยและเปิดกว้างกว่ายุคก่อน ๆ จึงทำให้มีเจ้านายสมรสจำนวนมาก บ้างก็นำความกราบบังคมทูล บ้างก็สมรสโดยไม่ได้กราบบังคมทูล ดังนั้น รัชกาลที่ 6 จึงทรงตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นมาว่า หากเจ้านายจะทำการสมรสต้องนำความกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสียก่อน

ครั้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลคณะราษฎรได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลดังกล่าว อีก 3 มาตรา มาตรา 3 สรุปว่า เจ้านายชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปหากจะสมรสต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตเสียก่อน มาตรา 4 สรุปว่า หากเจ้านายสตรีจะสมรสกับสามัญชน อันไม่ต้องด้วยพระราชประเพณีนิยม ต้องกราบบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์เสียก่อน และหากเจ้านายพระองค์ใดฝ่าฝืนมาตรา 3 และ 4 ให้ถอดจากฐานันดรศักดิ์เสีย

เจ้านายสตรีหลายพระองค์ได้ปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาลดังกล่าว เพื่อสมรสกับชายสูงศักดิ์หรือชายสามัญชน ทว่ามีเจ้านายสตรีสองพระองค์ที่มิได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎ คือ หม่อมเจ้าจันทร์เจริญ รัชนี และ หม่อมเจ้าอุบลพรรณี วรวรรณ

หม่อมเจ้าจันทร์เจริญ

หม่อมเจ้าจันทร์เจริญ รัชนี พระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ “ทรงประพฤติไม่ต้องด้วยพระราชนิยม และละเมิดกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475 ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ลงมติให้ถอดหม่อมเจ้าจันทรเจริญ รัชนี ออกเสียจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์…”

หม่อมเจ้าอุบลพรรณี

หม่อมเจ้าอุบลพรรณี วรวรรณ
หม่อมเจ้าอุบลพรรณี วรวรรณ

หม่อมเจ้าอุบลพรรณี วรวรรณ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเป็นเจ้านายสตรีพระองค์แรกที่สมรสกับชาวต่างประเทศ หลังจากที่ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 7 เพื่อเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2472

หม่อมเจ้าอุบลพรรณีทรงพบรักกับนายแฮรี่ แครบบ์ พนักงานบริษัท Union Western Telegraph Ltd. ในระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ และได้สมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2477 โดยมิได้นำความกราบบังคมทูลเสียก่อน ถือว่าละเมิดกฎมณเฑียรบาล

แม้ทางรัฐบาลได้ขอให้หม่อมเจ้าอุบลพรรณีกลับประเทศ พระองค์ไม่ยอมเสด็จกลับ เพียงแต่ได้ให้สถานทูตนำลายพระหัตถ์ขอลาออกจากฐานันดรศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ กราบทูล พร้อมกับทรงตอบว่า “ไม่มีอะไรที่จะทำให้เปลี่ยนพระทัย และหวังอยู่แต่ว่าจะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อไป”

ที่สุด หม่อมเจ้าอุบลพรรณีถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์ เพราะ “ได้ทำการสมรสกับชาย โดยมิได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน อันเป็นการไม่ต้องด้วยพระราชประเพณีนิยม และละเมิดกฎมณเฑียรบาล”

เรื่องราวของเจ้านายสตรีทั้ง 5 พระองค์ ทำให้เห็นข้อแตกต่างของสังคม ประเพณี กฎหมาย ความคิดของเจ้านาย ฯลฯ ของสองช่วงเวลา คือสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสมัยประชาธิปไตย

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, หม่อมเจ้าออน และหม่อมเจ้าแฝง ทรงอยู่ในสังคมจารีต ต้องเคร่งครัดและปฏิบัติตามคติความเชื่อแบบโบราณ เมื่อเกิดเป็นเจ้านายสูงศักดิ์ ต้องประพฤติตนให้สมฐานะ การกระทำความผิดใดๆ ที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับในสมัยนั้น อันทำให้เสื่อมพระเกียรติยศ จึงถูกลงโทษอย่างหนัก ขณะที่ หม่อมเจ้าจันทร์เจริญ และหม่อมเจ้าอุบลพรรณี ทรงอยู่ในสังคมยุคใหม่ ความคิดของเจ้านายก้าวหน้าและมีโลกทัศน์กว้างไกล เกียรติยศบรรดาศักดิ์จึงแทบไม่มีความสำคัญเท่าใดนัก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วีระยุทธ ปีสาลี. (มิถุนายน, 2559). บันทึกรักท่านหญิง : ความรักและการแต่งงานของเจ้านายสตรีหลัง พ.ศ. 247. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 8.

ภาวิณี บุนนาค. (2554). ผู้หญิงในกระบวนการยุตธรรมในสังคมไทย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึง พ.ศ.2478 : ศึกษาจากคดีความและฎีกา. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ญาณินี ไพทยวัฒน์. (สิงหาคม 2562 – กรกฎาคม 2563). สอบคำให้การคดีหม่อมยิ่ง. วารสารประวัติศาสตร์. ปีที่ 44.

ราชกิจจานุเบกษา. (2477). ประกาศกระทรวงวัง เรื่อง ถอดออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์, วันที่ประกาศ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2477.

________. (2481). ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง ถอดหม่อมเจ้าจันทรเจริญ รัชนี ออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์. วันที่ประกาศ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2481.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กันยายน 2563