“โรฮีนจา” เป็นใคร? มาจากไหน? สืบหาต้นวงศ์ บรรพบุรุษชาวโรฮีนจา

ภาพถ่ายค่ายผู้ลี้ภัยของชาวโรฮีนจา เมื่อ ค.ศ. 2009 ที่เมือง Kutupalong บังคลาเทศ (Photo by MUNIR UZ ZAMAN / AFP FILES / AFP)

การสืบหาต้นวงศ์หรือบรรพบุรุษของชาวโรฮีนจายังเป็นที่ถกเถียงกันในวงวิชาการ และคงเป็นประเด็นคลุมเครือที่มีคำอธิบายด้วยศาสตร์หลายด้านแตกต่างกัน มีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นแตกต่างกันออกไป ในทางศาสนาและมานุษยวิทยาชาติพันธุ์ J.A. Berlie ได้วางกลุ่มชนโรฮีนจาให้เข้าไปอยู่ในบริบทของศาสนาอิสลาม โดยจำแนกกลุ่มมุสลิมในเมียนมาออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

1. ชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดียที่อพยพมาจากบังกลาเทศ อินเดีย และปากีสถาน ซึ่งถือเป็นชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ในเมียนมา 2. ชาวมุสลิมอาระกัน ซึ่ง J.A. Berlie เรียกว่าชาวโรฮีนจา พร้อมระบุว่า กลุ่มชนดังกล่าวเคยอพยพมาจากอินเดีย แต่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่พิเศษต่างไปจากมุสลิมกลุ่มแรก

Advertisement

3. ชาวปันทายหรือชาวหุย ซึ่งเป็นชาวจีนมุสลิมที่สืบเชื้อสายมาจากพวกอาหรับ เปอร์เซีย และเอเชียกลาง ซึ่งได้อพยพมาตั้งรกรากอยู่ตามเมืองการค้าสำคัญของเมียนมา และ 4. ชาวพม่ามุสลิม หรือที่เรียกกันว่า พวกเซอบาดี (Zerbadee) ซึ่งมีปรากฏเด่นชัดเป็นครั้งแรกในรายงานสำมะโนประชากรอาณานิคมเมียนมาที่ข้าราชการอังกฤษทำขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1891

อีกด้านหนึ่ง จากฐานข้อมูลประชากรของทางการเมียนมา ซึ่งจัดทำขึ้นในสมัยของรัฐบาลเนวินเมื่อ ค.ศ. 1973 ได้จัดประเภทมุสลิมในเมียนมาออกเป็น 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ ชาวมุสลิมเชื้อสายพม่า, ชาวมุสลิมอาระกันที่อพยพมาจากจิตตะกอง, ชาวมุสลิมมยู (เมยู), ชาวมุสลิมเชื้อสายคามาน, ชาวมุสลิมเชื้อสายจีน และชาวมุสลิมลูกครึ่งพม่า-อินเดีย

ที่น่าสังเกตคือ ชาวมุสลิมมยูมีถิ่นฐานอยู่ทางแถบลุ่มน้ำมยูที่มีพื้นที่ติดบังกลาเทศ ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับชาวโรฮีนจาปัจจุบัน ซึ่งพบเห็นอยู่หนาแน่นตามเมืองมองดอและบูตีต่อง ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐยะไข่

ภาพวาดเมืองมะเย่าก์อู หรือมรัคอู (Mrauk U) ตามสำเนียงยะไข่ ราว ค.ศ. 1663 โดย wouter schouten จิตรกรชาวดัตช์

ในอีกทางหนึ่ง Aye Chan ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อาระกัน (ยะไข่) ได้พยายามจัดแบ่งกลุ่มชนมุสลิมในยะไข่ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ชาวมุสลิมเบงกาลีและจิตตะกองในเขตมยู, ชาวมุสลิมที่สืบสายมาจากอาณาจักรมะเย่าก์อ (หรือมรัคยู-Mrauk U) ของยะไข่โบราณ (ค.ศ. 1430-1785), ชาวมุสลิมคามานบนเกาะรัมแบรที่สืบสายมาจากพวกทหารรับจ้างจากเอเชียใต้ โดยเดินทางเข้ามารับราชการในราชสำนักยะไข่ และพวกพม่ามุสลิมในเขตชายแดนมยู ที่เข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่เมื่อครั้งที่พม่าในรัชสมัยพระเจ้าปดุง แห่งราชวงศ์คองบอง พิชิตะยะไข่ เมื่อ ค.ศ. 1784-1785

ตามข้อสันนิษฐานของ Aye Chan ชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่หนาแน่นทางแถบมยู ทว่าบริเวณดังกล่าวกลับเต็มไปด้วยการตั้งถิ่นฐานของชนเชื้อสายอื่น ๆ เช่นกัน ทั้งพวกเบงกาลี จิตตะกอง และพวกมุสลิมพม่า นอกจากจะเป็นชาวมุสลิมที่ต่างเชื้อสายกันแล้ว ยังประกอบด้วยชาวพุทธพม่าและชาวพุทธยะไข่ ฯลฯ ที่ทยอยเดินทางเข้ามาตั้งรกรากอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแดนพหุวัฒนธรรม เต็มไปด้วยความซับซ้อนทางศาสนาและชาติพันธุ์

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า ชาวโรฮีนจาอาจไม่ใช่กลุ่มคนที่อพยพมาจากภายนอก หากแต่เป็นชนพื้นเมืองที่ตั้งรกรากอยู่บนแผ่นดินยะไข่มานานแล้ว ในขณะที่นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มกลับมองว่า ชาวโรฮีนจาคือชนอพยพต่างถิ่น แต่เนื่องจากความยาวนานทางประวัติศาสตร์ จึงทำให้ชาวโรฮีนจาแปลงสภาพเป็นคนพื้นเมืองของยะไข่ไปโดยปริยาย

Aye Kyaw นักประวัติศาสตร์อาระกันนิยมกล่าวว่า ชาวโรฮีนจาาถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินยะไข่เป็นปฐม ขณะที่ Abdul Karim ได้แสดงความเห็นว่า บรรพบุรุษของชาวโรฮีนจาเดินทางเข้ามาตั้งรกรากในดินแดนยะไข่เป็นเวลาช้านานจนจำไม่ได้ โดยถือเป็นกลุ่มภูมิบุตรหรือชนพื้นเมืองเก่าแก่ที่สุดของยะไข่ ส่วน Shwe Lu Maung ได้แสดงทรรศนะว่า ชาวโรฮีนจาคือกลุ่มชนมุสลิมที่สืบสายมาจากอาณาจักรยะไข่อันยิ่งใหญ่ ซึ่งได้เคยแผ่อํานาจจากบังกลาเทศไปจนถึงเมืองพะโค

ขณะเดียวกัน นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งเชื่อว่า ชาวโรฮีนจามีความผูกพันกับชาวอินเดีย โดย N.F. Singer ให้รายละเอียดว่า ดินแดนระหว่างเขตป่าเขาทางตอนใต้ของรัฐฉิ่นกับเขตภูเขายะไข่ที่กั้นกลางระหว่างแผ่นดินพม่าภาคกลางกับทะเลเบงกอลนั้น เต็มไปด้วยชนพื้นเมืองผิวคล้ำเชื้อสายอินเดียที่ตั้งถิ่นฐานอยู่หนาแน่นตลอดแนวแม่น้ำนัต มีรูปพรรณสัณฐานที่คล้ายคลึงกับชาวเบงกาลีและชาวจิตตะกองในบังกลาเทศ ทั้งสีผิว รูปทรงศีรษะ และสันจมูก ขณะที่ D.G.E. Hall สันนิษฐานว่า ชาวโรฮีนจาอาจอพยพเข้าสู่รัฐยะไข่ไม่ไกลเกินกว่าคริสต์ศตวรรษที่ 10 ซึ่งคาดว่า น่าจะมีบรรพบุรุษมาจากพวกอินเดียเพราะมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายคลึงกับแขกเบงกาลี

ส่วน M.S. Collis ผู้เชี่ยวชาญยะไข่โบราณอธิบายว่า บรรพบุรุษของชาวโรฮีนจาน่าจะมาจากอินเดียมากกว่าพวกมองโกลอยด์ในสายตระกูลทิเบต-พม่า จากการอพยพของชนกลุ่มหลังการล่มสลายของนครรัฐเวสาลีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 อย่างไรก็ตาม A.F.K. Jilani ได้อธิบายว่า พัฒนาการของชาวโรฮีนจามีความเชื่อมโยงกับรูปแบบการปกครองของยะไข่โบราณ ซึ่งในระยะต่อมาได้มีทั้งกลุ่มเจ้าผู้ครองนครเชื้อสายอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูและอิสลาม กับกลุ่มเจ้าชายเชื้อสายทิเบต-พม่าซึ่งนับถือศาสนาพุทธ ผลัดกันขึ้นมาครองอำนาจทางการเมือง จนทำให้ยะไข่กลายเป็นอาณาจักรลูกผสมระหว่างพุทธ ฮินดู และอิสลาม

สำหรับชาวโรฮีนจานั้นจัดอยู่ในสายอินเดียค่อนไปทางอินโด-อารยัน ซึ่งถือเป็นชนชาติเก่าแก่ในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของยะไข่ ขณะที่ชาวยะไข่พื้นเมืองถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มมองโกลอยด์ ซึ่งเป็นชนชาติใหม่ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภายหลัง

ในด้านศาสนศาสตร์ Moshe Yegar ได้เสนอแนวคิดว่า อิทธิพลของศาสนาอิสลามมีนัยสำคัญต่อวิวัฒนาการทางการเมืองและการก่อรูปของวัฒนธรรมยะไข่ โดยแผ่นดินยะไข่ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเผยแพร่อารยธรรมอิสลามเข้าไปในส่วนอื่น ๆ ของเมียนมา นับตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-8 ก่อให้เกิดการขยายตัวชาวมุสลิมตามชายฝั่งทะเลเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนทำให้รากฐานวัฒนธรรมโรฮีนจามีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับชาวมุสลิมโพ้นทะเล

Habib Siddiqui ได้กล่าวถึงสภาวะใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ระหว่างภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเบงกอลกับภาคตะวันตกเฉียงเหนือของยะไข่ เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้รัฐยะไข่ตามเขตลุ่มน้ำเต็มไปด้วยการตั้งถิ่นฐานของประชาคมมุสลิม จนมีผลให้ชุมชนโรฮีนจาดั้งเดิมกลายเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมอิสลาม เขายังเชื่อว่า การอพยพของชุมชนมุสลิมจากทั่วโลก ซึ่งมีทั้งชาวอาหรับ ชาวเปอร์เซีย ชาวเบงกาลี ชาวเติร์ก ชาวโมกุล และชาวปาทาน ได้ทำให้ยะไข่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ดังนั้น ชาวโรฮีนจาจึงมิใช่กลุ่มคนที่สืบสายมาจากชนชาติใดชนชาติหนึ่งเป็นการเฉพาะ หากแต่มีลักษณะเป็นลูกผสมที่มีบรรพบุรุษแตกหน่อมาจากชาวมุสลิมหลากหลายเผ่าพันธุ์

แม้จะมีความพยายามเชื่อมโยงชาวโรฮีนจาากับชาวอิสลามว่า เป็นชนชาติเก่าแก่มีอารยธรรมสูง แต่เหตุการณ์นับจากพม่าผนวกยะไข่ จนถึงยุคที่ยะไข่ตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ได้เกิดความพยายามของนักประวัติศาสตร์บางคนที่จะลบความเก่าแก่และความโดดเด่นของชาวโรฮีนจา โดยพยายามอธิบายว่า จุดเริ่มต้นของชาวโรฮีนจาพึ่งจะเริ่มขึ้นในช่วงที่ยะไข่ตกอยู่ใต้การปกครองพม่าและอังกฤษ

Khin Maung Saw มองว่า ชาวโรฮีนจาอาจมิใช่ชนชาติเก่าแก่ดั้งเดิมในยะไข่ หากแต่เป็นเพียงแค่กลุ่มชนอพยพจากแผ่นดินเบงกอลในยุคปกครองโดยอังกฤษ เขาอธิบายว่า การยึดยะไข่โดยพระเจ้าปดุงเป็นภารกิจสร้างความเจริญรุ่งเรืองและบำรุงพระพุทธศาสนาของพม่า ผู้อพยพที่หนีการไล่ล่าของกองทัพพม่า ซึ่งมีอยู่ราว 50,000 คน ส่วนใหญ่กลับเป็นชาวพุทธยะไข่ ไม่ใช่ชาวโรฮีนจา ดังนั้น ตามแนวคิดของ Khin Maung Saw ชาวโรฮีนจาจึงไม่มีตัวตนที่แน่ชัดเมื่อเทียบกับชาวพุทธยะไข่ และอาจเป็นเพียงแค่ชนต่างถิ่นที่ไม่มีต้นรากเหมือนชนกลุ่มอื่น

อย่างไรก็ตาม Habid Siddiqui เห็นต่างกับแนวคิดข้างต้น โดยยกข้อมูลด้านประชากรศาสตร์มาหักล้างและอ้างว่า ชาวโรฮีนจาและชนกลุ่มอื่น ๆ ในยะไข่ได้อพยพเข้าและออกเป็นธรรมดาของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ชาวโรฮีนจาจึงมีตัวตนแน่ชัดในยะไข่ตั้งแต่ก่อนการล่มสลายของยะไข่หรืออาณาจักรมะเย่าก์อู

แม้จะเป็นที่ถกเถียงกันว่า ชาวโรฮีนจาถือกำเนิดขึ้นจากไหนกันแน่ แต่จากข้อมูลด้านประชากรที่บึนทึกในช่วงก่อนและหลังจากอังกฤษเข้าปกครองยะไข่ ต่างก็ระบุถึงจำนวนชาวโรฮีนจา ซึ่งสะท้อนว่า พวกเขามีตัวตนมาเนิ่นนานแล้ว เช่น ข้อมูลบันทึกของนาย C. Paton เจ้าหน้าที่บริษัทอินเดียตะวันออก เมื่อ ค.ศ. 1826 ให้ข้อมูลว่า มีชาวโรฮีนจาในยะไข่ 30,000 คน จากประชากรทั้งของยะไข่ที่มีราว 100,000 คน, ข้อมูลของอัขรานุกรมภูมิศาสตร์พม่าในเขตอัคยับ เมื่อ ค.ศ. 1917 ระบุชัดว่า มีชาวโรฮีนจาในยะไข่ราว 58,000 คนเป็นอย่างต่ำ และข้อมูลของ Anil Chandra Benerjee ซึ่งระบุว่า สัดส่วนประชากรในยะไข่ระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมอยู่ที่ราว ๆ 2 : 1

กลุ่มสตรีชาวมุสลิมคามานในรัฐยะไข่ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากกองทหารนักแม่นธนูชาวเอเชียใต้ที่เดินทางเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์ยะไข่ โดยปัจจุบันกลุ่มชนดังกล่าวจัดว่ามีรูปพรรณสัณฐานและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่คล้ายคลึงกับคนยะไข่และคนพม่าแท้มากขึ้น

จากข้อถกเถียงว่าด้วยการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ทำให้ประเมินได้ว่า ชาวโรฮีนจาคือกลุ่มชนที่มีรกรากหนาแน่นอยู่ในยะไข่ โดยเฉพาะเขตมยูซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพรมแดนบังกลาเทศ เป็นดินแดนเก่าแก่ของบรรพชนของชาวโรฮีนจา ขณะเดียวกัน ชาวโรฮีนจาก็ได้รับอิทธิพลจากการเติบโตของการค้ารอบทะเลเบงกอล โดยเฉพาะรัฐอาระกันหรือยะไข่ ผสมผสานกับอิทธิพลการค้า ศาสนา และวัฒนธรรมจากชาวมุสลิม ซึ่งเหล่านี้สะท้อนภาพตัวตนของชาวโรฮีนจาบนหน้าประวัติศาสตร์ได้ชัดเจน

แม้จะมีความแตกต่างกันในเรื่องความคิดเห็นของนักวิชาการหลากหลายแขนง แต่ทั้งนี้ต่างก็ยอมรับถึงการมีตัวตนอยู่จริงของชาวโรฮีนจา หรือการมีอยู่ของกลุ่มชนที่เชื่อว่าอาจมีสายสัมพันธ์กับชาวโรฮีนจา บนดินแดนยะไข่ จึงทําให้ต้นรากโรฮีนจายังคงผูกพันอยู่กับประวัติศาสตร์รัฐอาระกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ส่วนที่มาของชื่อ “โรฮีนจา” และถิ่นฐานนั้น S.A. Phayre มองว่า ชาวโรฮีนจาอาจมีความสัมพันธ์กับนามเรียกขานเก่าแก่ของชนชาติยะไข่ หรือระไข่ (Rakhine) ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากภาษาบาลีโบราณว่า “รกขโส” (หรือภาษาสันสกฤตว่า “รากษส”) ที่แปลว่า ยักษ์ หรืออาจหมายถึง ผู้เฝ้าวิมานของพระอินทร์บนเขาพระสุเมรุ ขณะที่ F. Buchanan เชื่อว่า ชาวโรฮีนจาคือกลุ่มคนที่มีภาษาพูดต่างจากภาษาพม่า โดยคำว่า โรฮีนจา น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “โรฮัง” หรือ Rohang ซึ่งเขาสันนิษฐานว่า เป็นนามดั้งเดิมที่ใช้เรียกดินแดนยะไข่โบราณ


อ้างอิง : 

ดุลยภาค ปรีชารัชช. (2558). โรฮิงญา รัฐ ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์และความขัดแย้ง. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กันยายน 2563