ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
“พระจักรพรรดิราช” ตามมติในพุทธศาสนา หมายถึง พระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เหนือมวลมหากษัตริย์ทั้งหลายในสากลจักรวาล ซึ่งปรัมปราคติ (mythology) ในศาสนาพุทธยังได้อ้างไว้อีกด้วยว่า พระชาติสุดท้ายของผู้ที่สั่งสมบุญญาธิการมามากพอสำหรับการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จะสามารถเลือกได้ว่าจะเป็น พระบรมศาสดาเอกของโลกผู้เป็นเลิศในทางธรรม หรือพระจักรพรรดิราชผู้เป็นใหญ่ในทางโลก
นั่นหมายความว่า ถึงแม้โดยอุดมการณ์แล้ว พระพุทธศาสนาจะเน้นย้ำใน “ทางธรรม” มากกว่า “ทางโลก” ก็ตาม แต่ก็เป็นอุดมคติในศาสนาพุทธอีกเช่นกันที่ระบุให้ผู้เป็นใหญ่ในทางโลกอย่าง “พระจักรพรรดิราช” ก็มีความสูงส่งของสถานภาพไม่ต่างอะไรนักจากผู้เป็นใหญ่ในทางธรรมอย่าง “พระพุทธเจ้า”
“พระพุทธเจ้า” ก็คือ “พระจักรพรรดิราช”
นิทานในพระพุทธศาสนาเรื่องหนึ่งคือ ชมพูบดีวัตถุ (หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหาชมพูบดีสูตร) เล่าถึงท้าวมหาชมพู ผู้ครองมหานครใหญ่ที่ชื่อ นครปัญจาละ พรั่งพร้อมไปด้วยอิสริยยศและบริวารยศ หาผู้ใดในชมพูทวีปเสมอเหมือนไม่ได้ จึงสำคัญพระองค์ผิดว่าไม่มีใครสามารถสู้รบกับพระองค์ อยู่มาวันหนึ่งพระองค์ทอดพระเนตรเห็นกรุงราชคฤห์เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ก็หมายจะสำแดงอิทธิฤทธิ์บังคับให้พระเจ้าพิมพิสารตกอยู่ใต้อำนาจของพระองค์ แต่ก็ไม่สำเร็จด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าคุ้มครองไว้
พระพุทธเจ้าทรงเห็นเหตุดังนั้นก็หมายจะทรมานท้าวชมพูบดีให้สิ้นฤทธิ์ จึงเนรมิตพระองค์เป็น “พระจักรพรรดิราช” คือราชาเหนือราชาทั้งปวง เนรมิตวัดเวฬุวันวิหารให้เป็นพระนครหลวง ให้พระอินทร์จำแลงกายเป็นราชทูตไปทูลเชิญ “แกมบังคับ” ให้ท้าวชมพูบดีมาเข้าเฝ้าเมื่อท้าวชมพูบดีได้ทอดพระเนตรเห็นนครของพระจักรพรรดิราชมั่งคั่งสมบูรณ์กว่าพระองค์ได้เข้าเฝ้าและทรงสดับพระราชบริหารต่างๆก็ละมิจฉาทิฐิยอมแพ้แก่ฤทธิ์ของพระจักรพรรดิราชพระพุทธองค์จึงคลายฤทธิ์ให้ท้าวชมพูบดีเห็นพระสรีระที่แท้จริงและแสดงธรรมเทศนาจนท้าวชมพูบดีบรรลุเป็นพระอรหันต์
พระพุทธรูปทรงเครื่องที่สร้างขึ้นในยุคอยุธยา ก็สร้างขึ้นในคติเรื่องท้าวมหาชมพู เพราะเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๘ ราชทูตลังกาได้นำพระภิกษุไทยที่ได้นำพระพุทธศาสนาแบบ “สยามวงศ์” ไปสืบไว้ที่ลังกาทวีปกลับเข้าสู่อยุธยา ได้มีโอกาสเห็น “พระพุทธรูปทรงเครื่อง” ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ก็เกิดสงสัยใจขึ้น จึงถามต่อเจ้าพนักงานที่ต้อนรับขับสู้ว่าเหตุไฉนสยามจึงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง คล้ายเทวรูป?
ความตรงนี้ทราบไปถึงพระกรรณของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกฐ จึงรับสั่งให้เสนาบดีชี้แจงไปใน จดหมายของอัครเสนาบดีไทยมีไปถึงอัครเสนาบดีลังกา ปี พ.ศ. ๒๒๙๙ โดยมีใจความระบุว่า พระพุทธรูปทรงเครื่อง มีความปรากฏใน “มหาชมพูบดีวัตถุ”
สำหรับชาวอยุธยาแล้ว พระพุทธรูปจึงมีสถานะเป็นพระจักรพรรดิราชได้โดยไม่ใช่เรื่องแปลก และในทางกลับกันถ้าพระมหากษัตริย์ของพวกเขา จะมีสถานภาพไม่ต่างไปจากพระบรมโพธิสัตว์บ้างก็ไม่เห็นจะแปลกด้วยเช่นกัน
สัญลักษณ์แห่งพระจักรพรรดิราช
และก็เป็นปรัมปราคติในพระพุทธศาสนาอีกเช่นกันที่ระบุเอาไว้ว่า “พระจักรพรรดิราช” มีแก้ววิเศษทั้ง ๗ ประการ อันได้แก่ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว รัตนะ (หรือที่ในอุษาคเนย์เรียกอย่างจำเพาะเจาะจงลงไปว่า แก้วมณีโชติ) นางแก้ว ขุนคลังแก้ว และขุนพลแก้ว โดยแก้วแต่ละประการก็มีคุณลักษณะวิเศษแตกต่างกันไป๑ คือ
จักรแก้ว ช้างแก้ว และม้าแก้ว เป็นสัญลักษณ์ของพระราชพาหนะ ที่จะนำเสด็จองค์พระจักรพรรดิไปยังสถานที่ต่างๆ โดยรวดเร็วตามพระทัยปรารถนา
แก้วมณีโชติ เป็นสัญลักษณ์แห่งการทำมาหากินของราษฎร
นางแก้ว เป็นที่จำเริญพระทัย
ขุนคลังแก้ว ทำให้เจริญพระราชทรัพย์
ส่วนขุนพลแก้วนั้น ทำให้สำเร็จซึ่งสรรพกิจทั้งปวง และก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่ต้องเป็น “ราชบุตรผู้ใหญ่แห่งสมเด็จบรมจักรพรรดิราช” นั่นเอง
และก็ด้วยคุณลักษณะของแก้ววิเศษทั้ง ๗ ประการนี้เอง ที่ทำให้พระจักรพรรดิราชบรรลุถึงชัยชนะในสกลแผ่นดินทั่วทั้งสิ้น๒
พิธีกรรมกับการสร้าง “จักรพรรดิราช”
คติเรื่องพระจักรพรรดิราช ในพระพุทธศาสนา แรกปรากฏขึ้นในช่วงรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๗๕–๓๑๑) แห่งราชวงศ์เมาริยะเป็นอย่างน้อยรูปสลักพระจักรพรรดิราชที่พบอยู่มากในศิลปะอินเดียโบราณโดยเฉพาะที่จำหลักขึ้นในรัชสมัยของพระองค์นั้นก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะหมายถึงองค์พระเจ้าอโศกเองด้วย
ดังนั้น “พระจักรพรรดิราช” จึงไม่ได้ล่องลอยอยู่เฉพาะในโลกของปรัมปราคติเท่านั้น แต่ถูกนำมาสวมทับเข้ากับบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง เพื่อผลประโยชน์การใดการหนึ่ง
และการที่ “กษัตริย์” จะมีสถานะเป็น “พระจักรพรรดิราช” ได้นั้น จำเป็นต้องมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อให้กษัตริย์มีฐานะประดุจดั่งพระเป็นเจ้า ซึ่งตามความหมายอย่างเก่า หมายถึง พระอินทร์ ผู้เป็นราชาเหนือหมู่เทพทั้งหลาย แล้วค่อยเกลื่อนกลายมาเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในยุคหลังพระเวทอย่างพระศิวะและพระวิษณุ อย่างที่คุ้นเคยกันมากกว่า โดยเฉพาะในกรณีของพระวิษณุนั้น คัมภีร์ปุราณะบางฉบับถึงกับถือว่า พระจักรพรรดิราชนั้นเป็นอวตารหนึ่งของพระองค์เลยทีเดียว๓
พิธีกรรมดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกและรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละตำรา แต่อนุโลมเรียกรวมๆ กันว่า “พิธีราชสูยะ” ซึ่งได้แพร่หลายเข้าไปในหมู่ชนที่ยอมรับนับถือพระศาสนาจากชมพูทวีป ไม่ว่าจะพุทธ หรือว่าพราหมณ์ก็ดี อาจกล่าวได้ด้วยว่า พิธีดังกล่าวเป็นต้นเค้าที่มาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปัจจุบันนั่นเอง
กลวิธีในการสร้างความชอบธรรมอีกประการหนึ่งที่มักปรากฏอยู่เสมอ คือการสร้างรูปเคารพของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆเพื่อหลอมรวมกษัตริย์ผู้สร้างเข้ากับเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระองค์นั้น
ในกรณีของจักรวรรดิเมืองพระนคร กษัตริย์ของพวกขอมโบราณจะสร้างเทวาลัยขึ้น เพื่อประดิษฐานรูปเคารพที่พระองค์จะกลับเข้าไปรวมกับเทพเจ้าพระองค์นั้นเมื่อสวรรคตไปแล้ว โดยมักจะตั้งชื่อรูปเคารพนั้นโดยการผสมพระนามของพระมหากษัตริย์เข้ากับพระนามของเทพเจ้านั่นเอง
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดตัวอย่างหนึ่งก็คือ ปราสาทพนมบาแค็ง ซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของเมืองพระนคร ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นโดยพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๔๓๒–๔๓) ผู้ทรงสร้างเมืองพระนคร โดยตัวปราสาทนอกจากจะสร้างอยู่บนยอดเขาที่กลางเมืองแล้ว ยังมีฐานปิระมิดอันเป็นสัญลักษณ์ของภูเขา มีนัยสะท้อนถึงเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาลตามคติความเชื่อในปรัมปราคติจากชมพูทวีป จึงอาจกล่าวได้ว่า เมืองพระนครเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ที่มีปราสาทพนมบาแค็งเป็นเขาพระสุเมรุจำลอง
คติดังกล่าวยังซ้อนทับอยู่กับเขาไกรลาส ที่ประทับของพระอิศวร (หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระศิวะ) ซึ่งจำลองแทนด้วย “ศิวลึงค์” อันเป็นรูปเคารพประธานของปราสาทแห่งนี้
และก็เป็นรูปศิวลึงค์นี้เองที่ทำหน้าที่หลอมรวมกษัตริย์ผู้สร้าง คือพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ เข้ากับพระอิศวร หลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว พระนามของศิวลึงค์องค์นี้คือ “ยโศธเรศวร” ตามพระนามของพระมหากษัตริย์ผู้สถาปนาศิวลึงค์กับพระอิศวร
ศิวลึงค์องค์นี้ยังถูกสถาปนาเป็น “เทวราชา” หรือ “กมรเตง ชคต ราชะ” ตามศัพท์เขมรโบราณ ซึ่งหมายถึง “ราชาของหมู่เทพเจ้าทั้งหลาย” ซึ่งหมายความว่า เมื่อพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ สวรรคตแล้ว จะไปรวมเข้ากับพระอิศวร ในฐานะที่เป็นราชาของหมู่เทพเจ้าอีกด้วย๔
อนึ่งการหลอมรวมตัวเองเข้ากับเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่อย่างนี้ ไม่ใช่สิ่งที่มีมาก่อนในวัฒนธรรมแม่แบบของพราหมณ์ในชมพูทวีป๕ แต่เป็นคติพื้นเมืองอุษาคเนย์ ที่พบได้ทั้งในอารยธรรมขอม จาม ชวา และแม้กระทั่งในไทย
“จักรพรรดิราช” กับเครื่อง “ราชกกุธภัณฑ์”
การสร้างความชอบธรรมของกษัตริย์ให้มีฐานะประดุจเทพเจ้านี้ แม้จะเริ่มต้นและสร้างเสริมด้วยพิธีพราหมณ์แต่ก็จำเป็นต้องใช้สัญลักษณ์บางอย่างในการสร้างสิทธิธรรมนั้นด้วยลักษณะอย่างนี้อาจเห็นได้ชัดจากเครื่องราชูปโภคต่างๆโดยเฉพาะเครื่องราชกกุธภัณฑ์
แนวคิดเกี่ยวกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์นั้นมีปรากฏมาตั้งแต่โบราณแล้ว ดังปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุของจิวตากวน ชาวจีนที่เดินทางเข้าไปในเมืองพระนครหลวง (นครธม) ประเทศกัมพูชา เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๓๙ ได้กล่าวถึง “พระแสงขรรค์ชัยศรี” ซึ่งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระมหากษัตริย์ที่สืบเนื่องมาเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของสยาม มาตั้งแต่ยุคอยุธยาและสืบเนื่องจนมาถึงยุครัตนโกสินทร์
จารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ซึ่งได้มาจากวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย มีข้อความระบุว่า ผีฟ้าแห่งเมืองยโสธรปุระ (หมายถึงกษัตริย์แห่งนครธม หรือเมืองพระนครหลวง) ได้พระราชทานพระแสงขรรค์ชัยศรีพร้อมกับพระราชธิดาของพระองค์ ให้กับพ่อขุนผาเมือง พระแสงขรรค์ชัยศรีจึงเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงเข้ากับอำนาจของผีฟ้าแห่งเมืองยโศธรปุระ พร้อมๆ กับที่เชื่อมโยงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองพระแสงขรรค์องค์นั้น เข้าอำนาจของอารยธรรมอันเรืองรองของเมืองพระนครหลวงนั่นเอง
ในส่วนของราชสำนักไทยสมัยรัตนโกสินทร์นั้น เครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ประกอบไปด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี พัดโบกวาลวิชนี ธารพระกร และฉลองพระบาทเชิงงอน นับรวม ๕ ประการ จึงเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “เบญจราชกกุธภัณฑ์” ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์และใช้ประกอบในพระราชพิธีบรมราชาธิเษก
เครื่องราชกกุธภัณฑ์นั้นจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนองค์พระจักรพรรดิราช ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ซึ่งแม้ว่าจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ก็เชื่อได้ว่ามีต้นเค้าที่มาอยู่ไม่มากก็น้อย
เชิงอรรถ
๑ อ้างใน สายชล สัตยานุรักษ์. “จักรพรรดิราช ธรรมิกราชาธิราช กรุงรัตนโกสินทร์,” ใน จักรพรรดิราช ที่พึ่งของมหาชนชาวสยาม. เอกสารวิชาการ กรุงเทพฯ ศึกษา วันอังคารที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๐, น. ๒๖.
๒ อ้างใน เรื่องเดียวกัน, น. ๒๕.
๓ อ้างใน Jan Gonda. Ancient Indian Kingship from the Religious Point of View. (Leiden : E. J. Brill, 1969), p. 123.
๔ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. พระพิราพ : พ่อแก่นาฏศิลป์และดนตรีการ ไม่ใช่ยักษ์เฝ้าสวน แต่เป็นพระอิศวร. (นครปฐม : วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๕๓).
๕ Jan Gonda. Ancient Indian Kingship from the Religious Point of View. p. 24.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2560
บทความเดิมชื่อ “จักรพรรดิราช : พิธีกรรม และสัญลักษณ์”