หลวงยงเยี่ยงครู ศิลปินโขนราชสำนักร.6 ต้องพระราชอาญา (เกือบ) ถูกประหารชีวิตบูชายัญ

ภาพประกอบเนื้อหา - นางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร และนายวง กาญจนวัจน กรมมหรสพ (ภาพจาก ละครฟ้อนรำ ประชุมเรื่องละครฟ้อนรำกับระบำเต้น)

ดังที่ทราบกันดีแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีคณะโขนหลวงอยู่ในกรมมหรสพ ศิลปินโขนที่มีฝีมือจะได้รับพระราชทานยศศักดิ์ตามบทบาทที่เล่นอยู่เป็นประจำ หรือตามลักษณะลีลาการร่ายรำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น หลวงถวายกร หลวงฟ้อนถูกแบบ หลวงแยบเยี่ยงคง หลวงยงเยี่ยงครู ฯลฯ

ศิลปินโขนที่น่ากล่าวถึงผู้หนึ่งคือ หลวงยงเยี่ยงครู (จิ๋ว รามนัฏ) เป็นตัวโขน ผู้มีฝีมือในการร่ายรำบทตัวพระและได้เล่นเป็นตัวพระรามประจำ ถึงขนาดพระราชทานนามสกุลให้ว่า รามนัฏ และเนื่องจากมีความสามารถรำได้เสมอกับครูผู้สอน จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นหลวงยงเยี่ยงครู นับว่าเป็นโขนตัวโปรดที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในระดับแถวหน้าเลยทีเดียว

เสวกโทจมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันท์) ได้เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่ง หลวงยงเยี่ยงครูกระทำความผิดใดไม่ ปรากฏหลักฐาน แต่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกริ้วถึงขนาดรับสั่งให้นำตัวไปจองจำขังสนม หมายถึง ความผิดที่ใช้เฉพาะคนใกล้ชิดและมีพระราชประสงค์จะทรงลงพระราชอาญาด้วยพระองค์เอง จึงกำหนดจะกระทำการในพิธีไหว้ครูโขนละครซึ่งเคยจัดเป็นประจำทุกปี

หมายกำหนดการเดือนกันยายน พ.ศ. 2456 จัดพิธีไหว้ครู ณ โรงละครพระตำหนักจิตรลดา พระราชวัง ดุสิต โดยตั้งกิจพิธีอย่างยิ่งใหญ่ มีการอัญเชิญศีรษะครูประทับเรียงลำดับบนอัฒจันทร์พร้อมเครื่องเซ่นสังเวย วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์อันศักดิ์สิทธิ์กระหึ่มไปทั้งโรงพิธี ศิลปินโขนและผู้เข้าร่วมพิธีแต่งกายด้วยเสื้อขาวนุ่งโจงกระเบนเหมือนกันหมด ทำให้งานในวันนั้นดูน่าศรัทธายิ่งนัก

หลวงยงเยี่ยงครู

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งให้เจ้าพนักงานสนมพลเรือนจับตัวหลวงยงเยี่ยงครูมามัดไว้ด้วยด้ายดิบผูกติดกับเสาทาสีแดงยอดเสา ทาสีทองที่ทำไว้กลางโรงละคร และมัดในลักษณะที่ เตรียมจะถูกประหารชีวิตตามแบบแผนโบราณ

พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) เจ้ากรมโขนหลวงได้รับมอบหมายให้เป็นพ่อครูฤาษี โดยแต่ง กายด้วยชุดขาวสวมศีรษะฤาษีงามสง่าน่าเกรงขาม โดยปกติเมื่อพ่อแก่เดินทางเข้าสู่โรงพิธี วงปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงพราหมณ์เข้า แต่ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งให้บรรเลงเพลงพระพิราพรอน ซึ่งเป็นเพลงที่ถือกันว่าขลังและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในกระบวนเพลงหน้าพาทย์

เมื่อพระยานัฏกานุรักษ์รำจบท่าแล้วก็นั่งลงบนก้นขันสาครใหญ่ ปี่พาทย์ยังคงบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ต่อไป ขณะนั้นเองพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จลุกขึ้นประทับยืนด้วยพระอิริยาบถกริ้วกราดเต็มพระกำลัง พระหัตถ์คว้าพระแสงดาบแล้วแสดงท่าร่ายรำเพลงดาบพร้อมทั้งพระราชดำเนินตรงมาที่หลวงยงเยี่ยงครูถูกมัดอยู่

ผู้ที่นั่งอยู่ในโรงพิธีต่างอกสั่นขวัญหายเมื่อพระองค์ท่านทรงประกาศด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า

“หลวงยงเยี่ยงครูมีความผิดต้องรับพระราชอาญา ถูกประหารชีวิตบูชายัญ ณ บัดนี้”

ทุกคนที่อยู่ในที่นั้นต่างตะลึงงันเงียบกริบ หลวงยงเยี่ยงครูก้มหน้าคอตกด้วยความหวาดหวั่นพรั่นพรึง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแกว่งพระแสงดาบฉวัดเฉวียนในท่าพรหมสี่หน้าอันเป็นท่าครูแล้วย่างสามขุมเข้าวงไม้ที่เรียกว่าท่าไม้หนึ่งไม้สอง ปี่พาทย์เริ่มบรรเลงเพลงรำดาบเพื่อให้เข้ากับท่ารำ พอเปลี่ยนเป็นเพลงแปลงก็ทรงย่างพระบาทเข้าไปจนถึงตัวหลวงยงเยี่ยงครู แล้วทรงเงื้อพระแสงดาบสุดพระพาหา ทุกคนที่อยู่ในที่นั้นหัวใจแทบหยุดเต้น

บัดเดี๋ยวนั้น พระยานัฏกานุรักษ์ก็ร้องขึ้นว่า “ช้า ช้า มหาบพิตร ทรงหยุดไว้ก่อน”

ทุกคนพากันถอนหายใจด้วยความโล่งอกเมื่อได้ยินเสียงร้องห้ามของพระครูฤาษี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับยืนนิ่งด้วยพระพักตร์และอิริยาบถดุษณี พระครูฤาษีออกท่ารำดำเนิน ไปเข้าเฝ้าแล้วถวายพระพรวิงวอนต่อไปว่า

“ดูกร มหาบพิตรผู้ทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐ มันผู้นี้ (ชี้มือไปที่หลวงยงเยี่ยงครู) มีความผิดชั้นอุกฤษฏ์โทษ แต่มันเป็นศิษย์อาตมาที่ทำไปก็ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา อาตมาขอพระราชทานอภัยเสียเถิด ขอพระราชทานชีวิตไว้เพื่อจักได้เป็นมิ่งขวัญอันศุภมงคลแก่พระราชพิธีต่อไป ขอถวายพระพร

ครั้นแล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำรัสตอบว่า “พระคุณเจ้าผู้บรมครู รูปขอถวายชีวิตมันผู้นี้แด่พระคุณเพื่อบูชาคุณ ณ กาลบัดนี้” ทรงผินพระพักตร์ไปทางหลวงยงเยี่ยงครู “มึงจงคิดถึงคุณครูตราบเท่าชีวิตของมึง ราชมัลปล่อยตัวเป็นอิสระไปได้ และให้มันรำเพลงถวายครู”

พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต)

จากนั้นก็พระราชทานพระบรมราโชวาทตามสมควร พนักงานสนมพลเรือนแก้มัดให้ หลวงยงเยี่ยงครูทรุดลงนั่งถวายบังคม แล้วร้องไห้ด้วยความตื่นตัน จากนั้นจึงคลานเข้าไปกราบที่เท้าพระครูฤาษี พ่อแก่พูดปลอบโยนให้โอวาทแล้วสั่งให้ลุกขึ้นรำเพลงช้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พนักงานเข้ามาประคบ ประหงมนวดทาแข้งขาด้วยน้ำมันพอสมควรแล้ว ปีพาทย์ทำเพลงหน้าพาทย์ หลวงยงเยี่ยงครูลุกขึ้นนั่งคุกเข่าประนมมือในท่าเทพนม กระทบจังหวะแล้วออกท่ารำก่อนที่จะค่อย ๆ ลุกขึ้นยืนรำเพลงช้าต่อไปอย่างสุดฝีมือ

ผู้ที่นั่งดูอยู่ในพิธีต่างรู้สึกโล่งใจเมื่อทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแอบนัดแนะกับพระยานัฏกานุรักษ์มาก่อนแล้วว่าจะแสดงท่าประหารลงโทษข้าราชบริพารผู้นี้และเป็นไปอย่างอกสั่นขวัญหายโดยไม่มีใครล่วงรู้มาก่อน

เมื่อทุกคนได้ดูลีลาท่ารำของหลวงยงเยี่ยงครูแล้วต่างชื่นชมว่ารำได้งามสมกับเป็นตัวพระราม และตรงกับที่ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า รามนัฏ จริง ๆ

ในกาลต่อมา หลวงยงเยี่ยงครูอยู่ถวายรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทด้วยความจงรักภักดีเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครและจัดแสดง มักจะทรงเลือกให้หลวงยงเยี่ยงครูรับบทตัวเอกเสมอ เช่น เป็นตัวพระอิศวร ในเรื่องพระคเณศร์เสียงา เป็นตัวท้าวทุษยันต์ ในเรื่องศกุนตลา เป็นตัวท้าวชินเสน ในเรื่องท้าวแสนปม เป็นตัวพระร่วง ในเรื่องพระร่วง เป็นตัวธรรมะเทวบุตร ในเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา ซึ่งเป็นเครื่องรับรองว่า เป็นศิลปินผู้มีฝีมือด้านนาฏศิลป์เยี่ยมยอด

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ข้าราชการศิลปินโขนก็หมดร่มโพธิ์ร่มไทรที่เคยอาศัยพำนักทันที พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีประกาศยุบกรมมหรสพและปลดศิลปินออกจากราชการทั้งหมด เหล่าตัวโขนต่างปรับทุกข์กันเตรียมเก็บข้าวของไปหาที่อยู่ใหม่ บางคนพอมีญาติพี่น้องในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดก็ไปขออาศัยพักพิงก่อนแล้วค่อยหาลู่ทางทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองต่อไป

หลวงยงเยี่ยงครูใช้ชีวิตอย่างสงบในบ้านหลังเล็ก ๆ และมีความสุขตามอัตภาพโดยไม่ขอพูดหรือเล่าเรื่องการแสดงนาฏศิลป์ในอดีตให้ใครฟัง แม้ภายหลังจะมีผู้มาชักชวนให้ท่านไปเป็นครู ท่านก็ปฏิเสธ และขอปิดฉากชีวิตการแสดงที่เคยรุ่งเรืองในบทของพระเอกประจำราชสำนักแต่เพียงเท่านั้น

เมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรมในเดือนกันยายน 2518 วิชาความรู้ด้านนาฏศิลป์ทั้งกลวิธี ลีลาท่ารำ อันเป็นแบบแผนของโขนตัวพระได้ตายไปกับตัวท่านโดยมิได้มีผู้ใดรับการถ่ายทอดไว้แม้แต่ผู้เดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หนังสืออ้างอิง :

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงยงเยี่ยงครู (จิ๋ว รามนัฎ), 2518.

อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์” เสวกโทจมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันท์), 2500.

ธนิต อยู่โพธิ์. โขน. 2511.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงลงพระราชอาญาแก่ศิลปินโขน” เขียนโดย ฉัตรชัย ว่องกสิกรณ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2544


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 สิงหาคม 2563