กำเนิดทนายหลวงว่าความแผ่นดิน จาก “กรมอัยการ” สู่ “อัยการสูงสุด”

ภาพศาลยุติธรรมไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีผู้พิพากษาชาวต่างชาติ

คําว่า “อัยการ” มาจากคําว่า “อัย” ย่อมาจาก “อริย” แปลว่า เป็นผู้ใหญ่ กับคําว่า “การ” คือ งานหรือหน้าที่ แปลตามความหมายคือ “งานของผู้เป็นใหญ่” โดยคำว่า “อัยการ” มีปรากฏในกฎมณเฑียรบาล ตราเมื่อ จ.ศ. 720 ว่า “อนึ่งผู้ถืออัยการและอาญาทั้งปวง มีผู้ทำผิดอัยการซึ่งมิชอบ และผู้ถืออัยการมิได้ว่าตามอัยการชอบไซร์ อันจะลงโทษแก่ผู้กระทำผิดอัยการนั้นฉันท์ใด ให้ลงโทษแก่ผู้ถืออัยการอันมิได้ว่ากล่าวนั้นด้วย”

จึงสันนิษฐานว่า การที่เรียกผู้รักษากฎหมายของรัฐในอดีตว่า “อัยการ” นั้น อาจสืบเนื่องมาจากกฎมณเฑียรบาล ซึ่งแต่เดิมคําว่า “ผู้ถืออัยการ” หมายถึงเพียงผู้รักษากฎมณเฑียรบาลเท่านั้น ต่อมาจึงตัดคำว่า “ผู้ถือ” ออก คงเหลือคำว่า “อัยการ” ให้มีความหมายกว้างอออกไปถึงผู้รักษากฎหมายทั้งหมดของรัฐ

Advertisement

นอกจากนี้ ยังปรากฏคําว่า “พระอัยการ” ซึ่งหมายถึงตัวบทกฎหมายโดยทั่วไป ดังจะเห็นได้จากกฎหมายตราสามดวง ในสมัยรัชกาลที่ 1 ในบานแผนกว่า “แลฝ่ายข้างอาณาจักรนี้ กษัตริย์ผู้ดำรงแผ่นดินนั้นอาศัยซึ่งโบราณราชนิติ กฎหมาย พระอัยการอันกษัตริย์แต่ก่อนบัญญัติไว้เป็นบรรทัดฐาน จึงพิพากษาตราสินเนื้อความราษฎรทั้งปวงได้โดยยุติธรรม และพระราชกําหนดบทพระอัยการนั้นก็ฟั่นเฟือนวิปริตผิดเพี้ยนต่างกันไปเป็นอันมาก

ด้วยคนอนโลภหลงหาความละอายแก่บาปมิได้ดัดแปลงแต่งตามชอบใจไว้พิพากษาให้เสียความยุติธรรมสำหรับแผ่นดินไปก็มีบ้าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจัดข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่มีสติปัญญาชำระพระราชกำหนดบทพระอัยการอันมีอยู่ในหอหลวง ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์ไปให้ถูกถ้วนตามบาลี”

การฟ้องร้องกันในอดีต ยังไม่มีพนักงานอัยการอย่างทุกวันนี้ เป็นหน้าที่ของราษฎรผู้เป็นโจทก์จะต้องฟ้องด้วยตนเอง ตลอดจนจัดการสืบสวนหาพยานเองทั้งสิ้น เว้นแต่คดีความโจร หรือคดีอาญาโจรกรรมบางราย ซึ่งศาลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะชําระคดีเสียเอง โดยไม่ต้องมีโจทก์และไม่มีทนายจำเลยแก้ต่าง เท่ากับว่าศาลนั้น ๆ เป็นทั้งโจทก์และเป็นผู้ชําระคดีเอง แต่ถือว่าเป็นการปราบปรามโจรผู้ร้ายไปในตัว

หากเป็นกรณีราษฎรฟ้องร้องกล่าวโทษกันเอง จะต้องไปฟ้องร้องต่อ “กรมรับฟ้อง” เมื่อกรมรับฟ้องแล้ว จึงนําฟ้องเสนอไปยัง “ลูกขุน” ซึ่งเป็นอีกกรมหนึ่งต่างหาก เมื่อลูกขุนตรวจให้ฟ้องแล้ว กรมรับฟ้องจึงจัดการแจกจ่ายไปยัง “ศาล” ต่าง ๆ ตามลักษณะหรือขอบเขตอำนาจของคดี ซึ่งมีหลายศาล เช่น ศาลนครบาล ศาลแพ่งกลาง ศาลแพ่งเกษม ศาลมหาดไทย ศาลกลาโหมแลกรมท่า โดยมี “ตระลาการ” เป็นผู้ชำระคดี เมื่อศาลนั้น ๆ ชำระความเสร็จ จึงนำส่งสํานวนไปยังลูกขุนให้ตัดสินชี้ขาด และเมื่อลูกขุนได้ชี้ขาดแล้วว่า ผู้ใดผิด ผู้ใดถูก ก็จะต้องส่งสํานวนไปให้ “ผู้ปรับ” ให้วางบทต่อไป

การฟ้องร้องคดีเป็นมาเช่นนี้จนถึง พ.ศ. 2435 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น ให้รวมศาลยุติธรรมที่แยกย้ายสังกัดอยู่ตามกรมและกระทรวงต่าง ๆ  เข้ามารวมอยู่สังกัดเดียวกันในกระทรวงยุติธรรม ปีต่อมาจึงได้จัดให้มีเจ้าพนักงานเป็นผู้ดําเนินคดีอาญาในนามของแผ่นดิน 

การปฏิรูปครั้งนี้ นำมาสู่การตั้ง “ศาลโปริสภา” เป็นศาลกองตระเวนสําหรับกรุงเทพฯ ได้แบ่งการดําเนินคดีออกเป็นสองประเภท หากเป็นคดีที่ฟ้องร้องกันด้วยเรื่องเล็กน้อย เป็นหน้าที่ของตำรวจหรือโจทก์เป็นผู้ฟ้องได้เอง แต่ถ้าเป็นคดีที่มีข้อหาฉกรรจ์ เป็นหน้าที่ของ “อัยการ” 

ไทยจึงมีพนักงานอัยการมานับแต่นั้น

มูลเหตุที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีพนักงานอัยการขึ้นเนื่องมาจาก “เมื่อก่อน ร.ศ. 112 และเมื่อภายหลัง ร.ศ. 112 ไทยกับฝรั่งเศสมีข้อวิวาทกันมา ฝรั่งเศสมีสัปเยก (คนในบังคับฝรั่งเศส) ในเมืองไทยมาก สัปเยกพวกนี้มีข้อวิวาทกับคนไทยเมื่อใด ราชการก็รู้สึกติดขัด เป็นต้น เช่นใครทำร้ายสัปเยกถึงตาย ฝรั่งเศสก็ตั้งข้อวิวาทกับราชการ ไทยจับจำเลยได้ก็จับมาชำระทำโทษให้ ถ้าเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด ฝรั่งเศสสงสัยในวิธีชำระประการใดแล้ว ก็พูดในกระทรวงต่างประเทศให้เป็นเรื่องวิวาทกันในราชการไป

จึงได้สร้างวิธีขึ้นเอาอย่างฝรั่ง ให้มีอัยการไทยฟ้องร้องจำเลยในศาล อัยการนี้แทนแผ่นดินถ่อมยศแผ่นดินลงไปเป็นโจทก์เหมือนหนึ่งราษฎรถ่อมตัวเป็นราษฎรไปเป็นโจทก์ในศาลเขา ทั้งนี้ แปลว่า รัฐบาลสมมุติตัวเองว่าเป็นราษฎรผู้หนึ่ง ให้ศาลไทยและศาลกงสุลเป็นกลางชำระ”

จึงได้ตั้ง “กรมอัยการ” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2436 ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมอัยการคนแรก คือ หลวงรัตนาญัปติ (เปล่ง เวภาระ) ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น ขุนหลวงพระยาไกรสี และมีพระภิรมย์โกษา เป็นปลัดกรม

ขุนหลวงไกรสี (เปล่ง เวภาระ) ผู้มรณกรรมไป 82 ปี แล้วจึงฌาปนกิจศพ

กรมอัยการทำหน้าที่เป็นทนายหลวงว่าความแผ่นดินในศาลทั้งปวง (จํากัดอยู่แต่ในกรุงเทพฯ) จึงมีความจำเป็นต้องมีพนักงานอัยการ สำหรับเป็นทนายหลวงหรือทนายแผ่นดินหลายคนไว้ในกรม ดังนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิ์โสภณ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม จึงทรงออกประกาศแต่งตั้ง นายมี, นายเกษม, นายจัน, นายโหมด, นายสอน, นายแสง, นายเขียว, เป็นเนติบัณฑิตให้เป็นทนายหลวง นับได้ว่าบุคคลทั้ง 7 คนนี้ เป็นอัยการรุ่นแรก ๆ ของไทย

ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2440 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตราข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมืองขึ้น จึงมีการตั้งตำแหน่งอัยการในหัวเมืองและมณฑล เรียกว่า “ยกกระบัตร” สำหรับเมืองก็เรียกว่า “ยกกระบัตรเมือง” สำหรับมณฑลก็เรียกว่า “ยกกระบัตรมณฑล” มีตำแหน่งผู้ช่วย เรียกว่า “แพ่ง”

นับแต่นั้นจึงมีอัยการทั่วทั้งประเทศ โดยอัยการหัวเมืองไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะแค่เป็นทนายหลวง แต่ยังมีหน้าที่ในการสืบสวนหาพยานหลักฐาน ปราบปรามจับกุมโจรผู้ร้าย และมีอํานาจไต่สวน ซึ่งในสมัยนี้เรียกว่าการสอบสวนอีกด้วย

จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2458 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมอัยการหัวเมืองกับอัยการกรุงเทพฯ เข้าอยู่ในกรมอัยการเดียวกัน สังกัดกระทรวงยุติธรรม ต่อมา พ.ศ. 2465 ได้มีประกาศให้โอนกรมอัยการจากเดิมสังกัดกระทรวงยุติธรรม ย้ายมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้พนักงานฝ่ายปกครองได้ปฏิบัติงานสะดวกมากยิ่งขึ้น

จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ได้แยกกรมอัยการออกจากกระทรวงมหาดไทย จัดให้เป็นหน่วยงานราชการอิสระ ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงใด ๆ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง และได้เปลี่ยนชื่อจาก “กรมอัยการ” เป็น “สำนักงานอัยการสูงสุด” 

พ.ศ. 2550 รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ จึงมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ในบังคับบัญชา และกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร โดยตรงรับผิดชอบต่อรัฐสภา ถึง พ.ศ. 2560 รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นองค์กรอัยการตามรัฐธรรมนูญ

อ่านเพิ่มเติม :

 


อ้างอิง :

สำนักงานอัยการสูงสุด. (2563). เกี่ยวกับสำนักงานอัยการสูงสุด. จาก www2.ago.go.th/index.php/about/agohistory.

กรมอัยการ. (2513). พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงอรรปรีชาชนูปการ. กรุงเทพฯ : แสงทองการพิมพ์.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2563