จัดงานฌาปนกิจศพ หลัง “ตาย” ไป 80 กว่าปี

ขุนหลวงพระยาไกรสี หรือ เปล่ง เวภาระ
ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) ผู้มรณกรรมไป 82 ปี แล้วจึงฌาปนกิจศพ

ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2444 ญาติๆ จึงได้จัด งานฌาปนกิจศพ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2526 ซึ่งขอยืนยันว่าเขียนไม่ผิด อ่านไม่ผิด และไม่ใช่ข่าวขายพาดหัวแต่ประการใด

ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) คนไทยคนแรกที่สอบได้เนติบัณทิตอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2431 และได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่เป็นเงิน 50 ปอนด์ หลังจากกลับมาเมืองไทย รับราชการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในกรมท่าหลวง (กระทรวงการต่างประเทศ)

ลูกหลาน ขุนหลวงพระยาไกรสี (แถวหน้า) หลานตา (แถวหลัง) หลานปู่
ลูกหลานขุนหลวงพระยาไกรสี (แถวหน้า) หลานตา (แถวหลัง) หลานปู่

ต่อมามื่อ พ.ศ. 2434 ตั้งกระทรวงยุติธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาเป็นเจ้ากรมสารบบ แต่หลังจากนั้นอีก 2 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้ากรมอัยการ หรืออธิบดีกรมอัยการคนแรกของไทย

ตำแหน่งสุดท้ายของท่านคือ อธิบดีผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา ทั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และเป็นองคมนตรีในสภาองคมนตรีอีกด้วย

แล้วเหตุใดศพของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เช่นนี้ จึงสูญหายไปถึง 82 ปี

นายมารุต บุนนาค ซึ่งเป็นหลานตาของ ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) กล่าวว่า “เรื่องนี้ไม่มีทางทราบได้ เพราะตามหลักฐานที่ค้นพบ ขุนหลวงพระยาไกรสีถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2444 หรือ ร.ศ. 120 สมัยนั้น คุณแม่ผม (นางผ่องศรี) อายุเพียง 4 ขวบเท่านั้น ส่วนคุณยาย (คุณหญิงทองคำภรรยาของขุนหลวงพระยาไกรสี) ก็ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2498 ดังนั้นในหมู่พี่น้องญาติมิตรของครอบครัวจึงไม่มีใครทราบเลยว่ายังมีของขุนหลวงพระยาไกรสีหลงเก็บไว้ที่วัดไหน…”

การพบศพ ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) ก็เป็นเหตุบังเอิญ

เมื่อกระทรวงยุติธรรมจัดงานนิทรรศการศาล 200 ปี เพื่อร่วมสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี (พ.ศ. 2525) มีการนำรูปภาพนักกฎหมายคนสำคัญของไทยในอดีตมาจัดแสดง นายมงคล วงศ์สมศักดิ์ อายุ 65 ปี ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตวัดกัลยาณมิตร ฝั่นธนบุรี ได้มาชมนิทรรศการ และพบว่าชื่อของนักกฎหมายท่านหนึ่งตรงกับชื่อของศพที่วัดกัลยาณมิตรเก็บไว้เป็นเวลานาน นั่นก็คือ ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)

นายมงคล วงศ์สมศักดิ์ จึงนำความไปปรึกษากับพระครูประสาธน์ธรรมวิทย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร และนายสมพงษ์ เถาประถม นายป่าช้า แล้วพากันมาเข้าพบนายมารุต บุนนาค ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อพาไปดูศพที่วัด

พระครูประสาธน์ธรรมวิทย์ เล่าว่า “ศพของขุนหลวงพระยาไกรสีนี้จะนำมาไว้ที่วัดตั้งแต่เมื่อไรยังไม่มีใครทราบ เท่าที่สืบประวัติได้ก็มีผู้พบศพนี้ครั้งแรกที่กุฏิพระเก่าๆ หลังหนึ่ง เมื่อรื้อกุฏินั้นแล้ว ก็ย้ายศพไปไว้ที่คณะ 5 จนทางวัดได้ล้างป่าช้านำศพไม่มีญาติมาฌาปนกิจ แต่ทางวัดก็ไม่กล้านำศพของขุนหลวงพระยาไกรสีมาเผาด้วย เพราะเห็นว่าเป็นศพที่มียศศักดิ์ และกลัวทางญาติจะมาฟ้องร้องเอาภายหลัง…”

สภาพโลงศพของขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) เป็นโลงไม้สักอย่างดี อยู่ในสภาพเรียบร้อย สีทองที่ทาไว้นั้นหลุดออกไปเล็กน้อย แต่มีชื่อจารึกอยู่ที่ข้างโลงว่า “ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)”  นายมารุต ตรวจดูสภาพศพพบว่า เหลือเพียงแต่กระดูกของบุคคลที่มีรูปร่างสูงใหญ่นอนตะแคง

ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ในงาน พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2526
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2526

ส่วนศพนี่คือขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) หรือไม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ จึงมีการพิสูจน์ขึ้น

1. พิสูจน์ด้วยการถ่ายภาพเซิงซ้อน ซึ่งนายแพทย์สุนทร ศรมยุรา แผนกนิติเวช โรงพยาบาลศิริราช แจ้งว่าสามารถทำได้ เพราะกะโหลกศีรษะของศพยังอยู่ และมีภาพของขุนหลวงพระยาไกรสี

2. เอกสารสำคัญแสดงว่าศพขุนหลวงพระยาไกรสี ถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดกัลยาณมิตรจริง ปรากฏลายมือชื่อของพระปลัดเส่ง ผู้มอบศพซึ่งอยู่ในความปกครอง ให้จางวางทั่ว พาทยโกศล นายป่าช้าวัดกัลยาณมิตร ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2479 เอกสารดังกล่าวระบุว่าคุณหญิงทองคำ เป็นเจ้าของศพ ซึ่งนำศพมาจากวัดบวรนิเวศ แต่ไม่ปรากฏวันที่ว่านำมาฝากไว้ที่วัดกัลยาณมิตรตั้งแต่เมื่อใด

เมื่อทุกอย่างกระจ่างชัด ศพขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) ญาติๆ ก็จัด งานฌาปนกิจศพ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2526

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ทรงวิทย์ ดลประสิทธิ์. “ขุนหลวงพระยาไกรสี เนติบัณฑิตอังกฤษคนแรก และอธิบดีกรมอัยการคนแรกของประเทศไทย”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2526


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2561