แยกกันนั่ง แยกกันกิน ชนชั้นนำยุคสามก๊ก เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ไม่มีใครกินโต๊ะเดียวกัน

ขุนนาง กิน
ภาพวาดงานเลี้ยงอาหารค่ำที่บ้านของห่านซีไฉ่ ขุนนางยุคราชวงศ์ถัง จะเห็นว่ามีการแยกอาหารเป็นสำรับเฉพาะบุคคล และมีการใช้เก้าอี้นั่งในวงอาหารแล้ว (ภาพจาก “ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ” สนพ.มติชน)

จีนเป็นชาติที่เคร่งครัดระเบียบ “ประเพณี” มาแต่โบราณ บางเรื่องก็เป็นเรื่องดีเกิดประโยชน์ บางเรื่องก็เป็นความเยอะเข้าขั้นหยุมหยิม แต่เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยน “ประเพณี” บางอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงตาม เช่น การกินอาหารแยกสำรับเฉพาะตัว ในสมัย สามก๊ก

ยุค สามก๊ก ชนชั้นสูงจะกินอาหารโดยจัดสำรับแยกเฉพาะแต่ละคน ในรัชกาลพระเจ้าเลนเต้ (ฮั่นหลิง) ตั่งของชาวหูแพร่เข้าจีน รูปร่างคล้ายตั่งเตี้ยๆ ในปัจจุบัน เป็นของใช้เฉพาะกษัตริย์ ขุนนางทั่วไปไม่มีสิทธิใช้ ดังนั้นในยุคราชวงศ์ฮั่นถึง สามก๊ก คนจีนจงหยวน (ภาคเหนือ) โดยทั่วไปยังนั่งกินอาหารบนพื้นเสื่อ ด้านหน้าวางสำรับอาหารไว้คนละสำรับทุกคน สำรับของชนชั้นสูงมักมีอาหาร 7 จาน ชาวบ้านมีอาหารไม่กี่จาน

ก่อนยุคสามก๊ก ราชวงศ์ฮั่นมีจารีตในเรื่องอาหารการกินยังเข้มงวด ดังเช่นในคัมภีร์หลุนอีว์ (วิจารณพจน์) บทเชียงต่าง บันทึกเรื่องขงจื๊อกำหนดเรื่องการกินไว้ตอนหนึ่งว่า

“ (อาหารที่) สีผิดปกติไม่กิน มีกลิ่นเหม็นไม่กิน ปรุงไม่ดีไม่กิน ไม่ใช่เวลาไม่กิน ปรุงผิดแบบแผนไม่กิน ตัดหั่นไม่ถูกต้องเรียบร้อยไม่กิน ไม่มีน้ำจิ้มที่เหมาะสมไม่กิน”

นั่นคือสุภาพชนไม่กินอาหารบูดเสีย ไม่กินอาหารนอกเวลา ฯลฯ

นอกจากนี้วัฒนธรรมขงจื้อยังเข้มงวดเรื่องลำดับสูงต่ำของตำแหน่งที่นั่ง ซึ่งไม่เป็นความสูงต่ำของที่นั่งจริงแบบตรงไปตรงมา หากเป็นความสูงต่ำที่กำหนดตามทิศที่นั่ง เช่น ใน “งานเลี้ยงที่หงเหมิน” เซี่ยงอีว์ (อู่ป่าหวางหรือฆ้อปาอ๋อง) นั่งหันหน้าไปทางตะวันออก เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูงสุด ฟ่านเจิงที่ปรึกษา ซึ่งเสี่ยงอีว์เคารพเรียกว่า “พ่อรอง” นั่งหันหน้าไปทางใต้ เป็นเกียรติ รองลงมา หลิวปัง (เล่าปัง) นั่งหันหน้าไปทางเหนือ มีเกียรติเป็นอันดับสาม จางเหลียง (เตียวเหลียง) นั่งหันหน้าไปทางตะวันตก เป็นที่นั่งสุดท้าย

ที่นั่งทั้งสี่นี้หันหน้าไปคนละทิศ ด้านหน้าของทุกคนมีสำรับคนละสำรับ แยกอาหารกัน ส่วนเหล้าใส่อ่างใหญ่ไว้ตรงกลาง มีคนรับใช้คอยตักให้แขก ดังนั้นในยุคราชวงศ์ฮั่นถึงสามก๊ก เมื่อนั่งกินข้าวด้วยกัน แต่ละคนนั่งห่างกันมาก

ถึงยุคราชวงศ์ถัง-ซ่ง ตั่งหรือเก้าอี้ของอนารยชนทางตะวันตกของประเทศจีนแพร่เข้ามามาก ผู้คนจึงค่อยๆ เลิกการนั่งกับพื้นมาเป็นนั่งตั่งหรือเก้าอี้กินอาหาร

การนั่งเก้าอี้สูงก็มีที่ว่างให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้มากขึ้น การปฏิสัมพันธ์ก็ยิ่งร่นระยะใกล้เข้ามา ความเสมอภาคลักษณะนี้ก็ปรากฏขึ้น คือคนเริ่มนั่งใกล้กัน และกินอาหารร่วมโต๊ะเดียวกัน

จึงกล่าวได้ว่า ระบบการแยกสำรับอาหารคือความเข้มงวดของจารีต เรื่องลำดับชั้น การร่วมสำรับอาหารเป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคทาง สังคมประการหนึ่ง

การแยกสำรับอาหาร แยกโต๊ะกันในการกินอาหารในอดีตเป็นเรื่องของเกียรติยศ ศักดินา ส่วนที่กำลังเกิดขึ้นเป็น New Normal ปัจจุบัน เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรค เห็นแล้วอดนึกถึงคำพูดของนักวิชาการท่านหนึ่งที่ว่า “The only thing new in the world is the history you do not know.”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลี่ฉวนจวินและคณะ (เขียน), ถาวร สิกขโกศล (แปล) . 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน กรกฎาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2563