ปริศนาคนรักของ “แดร็กคิวล่า” ข้อมูลอันเลือนรางเรื่องคู่สมรสของ “วลาดที่ 3 จอมเสียบ”

ภาพเขียนที่เชื่อว่าเป็น วลาดที่ 3 หรือ วลาด แดร็กคิวล่า ไม่ปรากฏชื่อผู้วาด (Public Domain) / ฉากหลังคือภายนอกของปราสาทบราน ในโรมาเนีย เมื่อปี 2016 ก่อนหน้าเปิดให้ผู้กล้า 2 รายแรกในรอบ 70 ปี เข้าพักค้างคืนในปราสาทช่วงฮัลโลวีน ภาพจาก (DANIEL MIHAILESCU / AFP)

วลาดที่ 3 หรือวลาด แดร็กคิวล่า (Vlad Tepes Dracula) ผู้ปกครองอาณาจักรอาณาจักรวัลลาเชีย (ในอดีต โรมาเนียแบ่งออกเป็น 3 รัฐ ได้แก่ วัลลาเชีย, มอลดาเวีย, ทรานซิลเวเนีย) สมัยศตวรรษที่ 15 เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์และเป็นต้นแบบสำคัญอันนำมาสู่ตัวละครในนิยายสยองขวัญเรื่อง “แดร็กคิวล่า” อันลือลั่นของบราม สโตคเกอร์

ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ปกครองอาณาจักรซึ่งได้รับฉายานามว่า “วลาดที่ 3 จอมเสียบ” (Vlad the Impaler – วลาด จอมเสียบ) มีบางส่วนที่ยังคงไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลาย ส่วนหนึ่งคือเรื่องคนรักและคู่สมรส

นอกเหนือจากการรับรู้ในแง่เป็นบุคคลต้นทางที่นักเขียนนิยายนำไปใช้อ้างอิงกลายเป็นตัวละครในเรื่องไป ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของผู้ปกครองอาณาจักรโบราณยังขึ้นชื่อเรื่อง “ความโหดเหี้ยม” ของพระองค์ มีตำนานเล่าขานตกทอดกันมาถึงความเหี้ยมโหดต่างๆ นานา เช่น ทรมานเชลยและนักโทษโดยใช้ไม้แหลมเสียบเหยื่อเหล่านั้นแล้วปักประจาน จนผู้คนเรียกขานกันว่า “วลาด ดิ อิมพาเลอร์”

ผู้ศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์บางรายบอกว่า ในช่วงเวลานั้น พระองค์ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนภายในอาณาจักรเอง หมู่ขุนนางดูมีแนวโน้มสนับสนุนราดู (Radu) น้องชายของวลาด มากกว่า (Trow, M. J, 2004)

ในอีกด้าน วลาด ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรวัลลาเชีย เพราะปกป้องบ้านเมืองจากการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมัน ลดอัตราอาชญากรรมและการคอร์รัปชั่น แม้ว่าจะด้วยกรรมวิธีแบบสุดโต่งก็ตาม ขณะที่การค้าของดินแดนก็เป็นไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม วลาดที่ 3 สิ้นชีพระหว่างต่อสู้กับชาวเติร์ก ณ เมืองบูคาเรสต์ ในปี ค.ศ. 1476

ข้อมูลโดยทั่วไปแล้ว วลาด แดร็กคิวล่า (ค.ศ. 1428/1431 – 1476/1477) เป็นโอรสองค์ที่สองของวลาดที่ 2 ซึ่งมีฉายาว่า “วลาด ดรากุล” (Vlad Dracul) คำว่า Dracul ในภาษาโรมาเนียหมายถึง “ปีศาจ” (Devil) และยังเป็นสมาชิกของกลุ่มที่เรียกว่า “ภาคีแห่งมังกร” (Order of the Dragon) เป็นการรวมตัวของขุนนาง-อัศวิน ก่อตั้งขึ้นโดยผู้ปกครองแห่งฮังการีอันเป็นบุคคลผู้ที่วลาดที่ 2 ใช้ชีวิตในวัยเด็กร่วมด้วย ซึ่งภายหลังผู้ปกครองแห่งฮังการีรายนี้ก็กลายเป็นจักรพรรดิแห่งโรมัน

วัยเยาว์ของวลาดที่ 3 พระองค์และราดู ถูกส่งไปเป็นองค์ประกันในดินแดนของจักรวรรดิออตโตมัน เพื่อเป็นการรับประกันความจงรักภักดีของวลาด ดรากุล ต่ออาณาจักรออตโตมัน ภายหลังบิดาของวลาดที่ 3 ถูกลอบสังหารในค.ศ. 1447 วลาดที่ 3 จึงถูกปล่อยตัว

เวลาต่อมา สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 แห่งจักรวรรดิออตโตมันทำสงครามกับอาณาจักรวัลลาเชีย เพื่อล้มวลาดที่ 3 และสนับสนุนราดู ขึ้นเป็นผู้ปกครองแทน ขณะที่เหล่าขุนนางและชาววัลลาเชีย เริ่มสนับสนุนราดู มากขึ้น วลาดที่ 3 จึงเดินทางไปที่ทรานซิลเวเนีย เพื่อขอให้แมทเธียส คอร์วินัส (Matthias Corvinus) กษัตริย์แห่งฮังการีสนับสนุนเขา แต่วลาดที่ 3 กลับถูกควบคุมตัวเอาไว้

ระหว่างที่วลาดที่ 3 ถูกกักตัว ราดู ยึดครองปราสาทโพเอนารี่ (Poienari Castle) ซึ่งเคยเป็นของวลาดที่ 3 ไว้ในครอบครอง ผู้ศึกษาเรื่องราวในช่วงเวลานั้นบางรายบอกเล่าว่า แม้ภรรยาคนแรกของวลาด จะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของเธออย่างแน่ชัด แต่บางส่วนเล่าว่า เมื่อเธอทราบความต้องการของราดู เธอตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยกระโดดจากหอคอย ตำนานกล่าวกันว่า เธอขอตายดีกว่าจะอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกเติร์ก (Trow, M. J, 2004)

ทำไม “ปราสาทแดร็กคิวล่า” ถูกขายทอดตลาด ปราสาทบรานเชื่อมตำนานผีดูดเลือดจริงหรือ?

เมื่อเอ่ยถึงข้อมูลเกี่ยวกับภรรยาคนแรกของวลาด โดยคร่าวไปแล้ว คราวนี้ข้ามมาเอ่ยถึงเส้นทางของภรรยารายที่ 2 ของเขาบ้าง ในช่วงที่ถูกกักตัว กษัตริย์แมทเธียสพยายามทำข้อตกลงกับวลาด เพื่อแลกกับการปล่อยตัว เงื่อนไขมีอยู่ว่า เขาต้องเปลี่ยนมานับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และสมรสกับสตรีในราชวงศ์ฮังกาเรียน ซึ่งวลาด ตอบตกลง

วลาด สมรสกับ Ilona Szilágyi สตรีชั้นสูงชาวฮังกาเรียน และเป็นญาติของกษัตริย์แมทเธียส ภายหลังการสมรส วลาดถูกปล่อยตัวเป็นอิสระในปี 1474 และหันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในปี 1475

ช่วงเวลานั้น ผู้ปกครองวัลลาเซียคือ Basarab Laiota จากฝั่งออตโตมัน ขณะที่ราดู สิ้นชีพไปแล้ว วลาด สามารถขับไล่ผู้ปกครองวัลลาเซียซึ่งมาจากออตโตมันได้ นั่นทำให้ Ilona Szilágyi กลายเป็นเจ้าหญิงแห่งวัลลาเซียไปด้วย

ในปี 1476 วลาด ทำสงครามกับชาวเติร์ก พฤติกรรมของเขาในสงครามครั้งนี้ขึ้นชื่อเรื่องความโหดเหี้ยม ไม่เว้นว่าเขาได้แต่งงานแล้ว แต่ตำแหน่งของเจ้าหญิงแห่งวัลลาเซียไม่ยั่งยืน เธออยู่ในสถานะนี้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เมื่อวลาด เสียชีวิตจากการต่อสู้กับชาวเติร์กในเดือนธันวาคม 1476 ขณะอายุได้ 45 ปี ชะตากรรมของ Ilona Szilágyi ไม่ปรากฏแน่ชัด บางรายเชื่อว่า Ilona Szilágyi ยังพำนักในบ้านของเธอใน Pest บางแห่งระบุเรื่องการแต่งงานครั้งที่ 3 และ 4 ของเธอ (ก่อนหน้าแต่งงานกับวลาดที่ 3 Ilona Szilágyi สมรสครั้งแรกกับ Wenceslas Pongrác สมาชิกในตระกูลชนชั้นสูงกลุ่มหนึ่ง พวกเขาครอบครองที่ดินทางตอนเหนือของฮังการี (ปัจจุบันคือสโลวาเกีย)

นักประวัติศาสตร์มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องลูกของเธอกับวลาด แตกต่างกัน บางรายบอกว่า ลูกชายคนแรกของเธอกับวลาดที่ 3 ซึ่งชื่อว่า “วลาด” (Vlad) เช่นกัน มีตำแหน่งรับหน้าที่การงานกับกษัตริย์แมทเธียส ขณะที่บุตรชายอีกรายที่ไม่ปรากฏชื่อไปทำงานกับบิชอปแห่ง Oradea แต่โชคร้ายที่เขาล้มป่วยจึงถูกส่งตัวกลับไปหา Ilona หลังจากนั้นไม่นานก็เสียชีวิตลง แต่บางรายก็บอกว่า พวกเขามีลูก 3 คน หรือผู้ศึกษาข้อมูลบางรายก็บอกว่า พวกเขาไม่มีทายาท

Ilona เสียชีวิตเมื่อปีใดก็ยังไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัด และแน่นอนว่า เธอเป็นอีกบุคคลที่ถูกลืมเลือนไปจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ แม้แต่สถานที่และช่วงเวลาที่เสียชีวิตก็ไม่ปรากฏชัดเจน

 


อ้างอิง:

“ทำไม ‘ปราสาทแดร็กคิวล่า’ ถูกขายทอดตลาด ปราสาทบรานเชื่อมตำนานผีดูดเลือดจริงหรือ?”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่ 24 เมษายน 2563. เข้าถึง 19 มิถุนายน 2563. <https://www.silpa-mag.com/history/article_49029>

Trow, M. J. Vlad the Impaler: In Search of the Real Dracula. Sutton Publishing, 2004.

“Ilona Szilágyi – Dracula’s wife”. History of Royal Women. Online. Published 14 OCT 2017. Access 19 JUN 2020. <https://www.historyofroyalwomen.com/the-royal-women/ilona-szilagyi-draculas-wife/>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มิถุนายน 2563