เผยแพร่ |
---|
ตำนานเรื่องแดร็กคิวล่า ในนิยายอมตะอ้างอิงบางส่วนมาจากข้อมูลของบุคคลที่มีตัวตนจริง เขาคนนั้นคือ วลาด ธีปส์ แดร็กคิวล่า (Vlad Tepes Dracula) ภาพที่นิยายคลาสสิกสร้างขึ้นนั้นมีบริบทเชิงพื้นที่ในปราสาท ซึ่งปราสาทที่รับรู้กันว่าเป็น “ปราสาทแดร็กคิวล่า” กลายเป็นปราสาทบราน ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของประเทศโรมาเนีย ทั้งที่หลักฐานอีกแง่มุมซึ่งปรากฏชัดเจนกว่าชี้ว่า ปราสาทของวลาด แดร็กคิวล่า คือปราสาทโพเอนารี่ (Poienari Castle)
ตามข้อมูลที่วารยา ผู้เขียนบทความ “เมื่อปราสาทแดร็กคิวล่าถูกขายทอดตลาด” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2550 สืบค้นนั้น บรรยายไว้ว่า ปราสาทบรานสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1212 โดยภาคีอัศวินชาวเยอรมัน นิกายคาทอลิก ปราสาทตั้งบนหน้าผาสูง มีอาคาร 3 หลัง ล้อมรอบด้วยพื้นที่ป่า 7 เอเคอร์ และยอดเขาที่มีหิมะปกคลุม ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทรานซิลเวเนีย
ปราสาทแห่งนี้กลายเป็นที่ประทับของพระนางมารีแห่งโรมาเนีย หรือ มารี อเล็กซานดร้า วิคตอเรีย (Queen Marie of Romania, Marie Alexandra Victoria) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 พระนางมารีแห่งโรมาเนีย มีศักดิ์เป็นหลานของพระราชินีวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร
ต่อมาปราสาทบรานตกทอดสู่เจ้าหญิงอิเลน่าแห่งโรมาเนีย พระธิดาของพระนางมารี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1948 พรรคคอมมิวนิสต์ยึดครองปราสาทหลังนี้และเนรเทศเชื้อพระวงศ์ออกนอกประเทศ ปราสาทมีสภาพทรุดโทรม ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นเวลาหลายสิบปี เวลาผ่านมาถึงปี ค.ศ. 1989 หลังการปฏิวัติในโรมาเนียและการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจึงปรับปรุงปราสาทหลังนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์
ปราสาทแห่งนี้เป็นที่รับรู้กันในนาม “ปราสาทแดร็กคิวล่า” แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้น ยังไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่า วลาด ธีปส์ แดร็กคิวล่า ผู้ปกครองอาณาจักรวัลลาเชีย (ในอดีต โรมาเนียแบ่งออกเป็น 3 รัฐ ได้แก่ วัลลาเชีย, มอลดาเวีย, ทรานซิลเวเนีย) เคยอยู่ที่ปราสาทบราน
บันทึกหลายฉบับบอกว่า แดร็กคิวล่าใช้คุกใต้ดินของปราสาทหลบภัยเป็นเวลา 2 วันระหว่างที่จักรวรรดิออตโตมันยึดครองดินแดนแถบนั้น ส่วนปราสาทของแดร็กคิวล่าที่แท้จริงคือปราสาทโพเอนารี่ (Poienari Castle) สร้างในศตวรรษที่ 13 ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครอง Arges ในโรมาเนีย
เมื่อพูดถึงแดร็กคิวล่า ที่มีตัวตนอยู่จริงนั้น จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ วารยา บรรยายไว้ว่า วลาด ธีปส์ แดร็กคิวล่า (Vlad Tepes Dracula) ผู้เป็นบุคคลอ้างอิงของ เคานต์แดร็กคิวล่า เป็นผู้ปกครองอาณาจักรวัลลาเชีย สมัยศตวรรษที่ 15 ในช่วงที่มีสงครามระหว่างจักรวรรดิโรมันและจักรวรรดิออตโตมัน (ชาวเติร์กมุสลิม)
มีตำนานเล่าขานถึงความเหี้ยมโหดของพระองค์ต่างๆ นานา เช่น ทรมานเชลยและนักโทษโดยใช้ไม้แหลมเสียบเหยื่อเหล่านั้นแล้วปักประจาน จนผู้คนเรียกขานกันว่า “วลาด เดอะ อิมพาเลอร์” (วลาดจอมเสียบ) แต่ในขณะเดียวกันพระองค์ได้รับยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรวัลลาเชีย เพราะปกป้องบ้านเมืองจากการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมัน และสละชีพระหว่างทำสงครามกับชาวเติร์ก ณ เมืองบูคาเรสต์ ในปี ค.ศ. 1476
ถึงแดร็กคิวล่า (ตัวจริง เสียงจริง) ไม่ได้เป็นเจ้าของปราสาท แต่ข้อมูลด้านนี้ไม่ได้ทำให้เสน่ห์ของปราสาทแห่งนี้ลดลง ตรงกันข้าม รัฐบาลโรมาเนียกลับได้ประโยชน์เต็มๆ จากผลงานของ บราม สโตคเกอร์ นักเขียนชาวไอริชซึ่งสร้างผลงานนวนิยายสยองขวัญเรื่อง Dracula (แดรกคิวล่า จอมผีดิบ-ฉบับภาษาไทยสำนวนแปลของ อ.สายสุวรรณ) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1897 เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลงใหลมนต์ขลังในนวนิยายเรื่องนี้ แวะมาเยี่ยมเยือนไม่ต่ำกว่า 450,000 คนต่อปี นอกจากนี้ภาพยนตร์สยองขวัญหลายเรื่องยังนิยมมาถ่ายทำที่ปราสาทแห่งนี้
แต่แล้วในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2006 รัฐบาลโรมาเนียคืนกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของปราสาทบรานให้กับโดมินิค ฟอน ฮับสบูร์ก (Dominic von Habsburg) สถาปนิกวัย 69 ปี บุตรของเจ้าหญิงอิเลน่าแห่งโรมาเนีย (Princess Ileana of Romania) ทายาทโดยชอบธรรมหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ถือครองปราสาทไว้หลายทศวรรษ
อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขว่า รัฐบาลมีสิทธิ์เช่าปราสาทแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ต่อไปจนถึงปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ไม่ว่าทายาทจะขายปราสาทหลังนี้ให้ใครในช่วง 3 ปีก็ตาม
แม้จะได้ครองโบราณสถานที่ขึ้นชื่อว่ามีประวัติความเป็นมายาวนาน แต่ ฟอน ฮับสบูร์ก ยังต้องการขายปราสาทหลังนี้ เขาให้สัมภาษณ์ในนิตยสารไทมส์ ว่าเคยอยู่ที่ปราสาทหลังนี้ตอนเป็นเด็ก และรู้สึกผูกพันกับบ้านเก่า แต่อย่างไรก็ตาม เขาอยากให้สมบัติล้ำค่านี้เป็นของชาวโรมาเนียและอยากให้คนในพื้นที่หรือไม่ก็ส่วนปกครองท้องถิ่นได้ปราสาทหลังนี้ไป
ปรากฏว่า ฟอน ฮับสบูร์ก ตั้งราคาขายไว้สูงลิ่วถึง 80 ล้านดอลลาร์ (2,672 ล้านบาท – ค่าเงินเมื่อ 2007) ทำให้ส่วนปกครองท้องถิ่นสู้ราคาไม่ไหว จนกระทั่งวันที่ 2 กรกฎาคม 2007 (พ.ศ. 2550) เขาจึงประกาศขายทอดตลาดปราสาทบราน แต่ข่าวจากสื่อต่างประเทศอย่างเว็บไซต์ yahoo.com เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2007 แจ้งว่าจนแล้วจนรอด เวลาผ่านมานานก็ยังไม่มีใครเสนอราคาเข้ามา แม้ว่าก่อนหน้านี้นายหน้าของเขามั่นใจว่าจะขายได้ไม่ต่ำกว่า 135 ล้านดอลลาร์ (4,509 ล้านบาท) ก็ตาม
ในช่วงปลายปี 2007 ยังมีการสอบสวนเรื่องกระบวนการคืนสิทธิ์ปราสาทเกิดขึ้น แต่สุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมนูญแห่งโรมาเนียปฏิเสธข้อโต้แย้ง จนในเดือนธันวาคมปี 2007 รัฐบาลโรมาเนียยืนยันว่ากระบวนการคืนสิทธิ์สอดคล้องต้องตามกฎหมายแล้ว นำมาสู่การมอบกรรมสิทธิ์ให้อาร์ชดุ๊ค โดมินิค กระทั่งปี 2009 ตระกูลฮับสบูร์ก เปิดปราสาทที่ผ่านการบูรณะใหม่ให้สาธารณะเข้าชม เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโรมาเนีย อันจะส่งผลสืบเนื่องไปถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
อ้างอิงที่ต้นฉบับอ้างถึง
แดรกคิวลาจอมผีดิบ แปลโดย อ.สายสุวรรณ จาก Dracula ของ บราม สโตคเกอร์ สำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ. 2510
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The New York Times
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ Associated Press
www.wikipedia.com
www.answers.com
www.yahoo.com
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความ “เมื่อปราสาทแดร็กคิวล่าถูกขายทอดตลาด” โดย วารยา เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2550