“หม่อมส้มจีน” นักร้องสตรีไทยคนแรกที่ได้รับเลือกให้อัดแผ่นเสียง

หม่อมส้มจีน สยามสังคีต
(ภาพจาก "สยามสังคีต")

หม่อมส้มจีน นับได้ว่าเป็นนักร้องหญิงของไทยคนแรกที่ได้รับการคัดเลือกให้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2449 โดยบริษัท แกรมโมโฟน คอนเสิร์ต เร็กคอร์ด สาขาบางกอก อัดเสียงลงบนแผ่นขี้ผึ้งในกรุงเทพฯ แล้วส่งไปทำแม่พิมพ์ อัดเป็นแผ่นครั่งสีดำที่เมืองแฮนโนเวอร์ เยอรมนี แผ่นเสียงชุดนี้อัดหน้าเดียว ส่วนด้านหลังพิมพ์เป็นตราของบริษัท เป็นรูปเทวดาฝรั่ง มีปีก ขีดร่องรูปวงกลมบนแผ่นเสียง ซึ่งเป็นตราของบริษัท แอนเจิ้ลแกรมโมโฟน (ภายหลังแปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท แอนเจิ้ลเร็กคอร์ด)

แล้วหม่อมส้มจีน “เสียงดี” ขนาดไหน?

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี พระราชธิดาองค์สุดท้องในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคยเล่าประทานนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ว่า หม่อมส้มจีนมีเสียงเล็กแหลมดัง ร้องเพลงหมดจด ชัดถ้อยชัดคำ ลีลาการเอื้อนละเอียดละออหมดจด นับว่าเป็นคนร้องเก่งมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดว่า ร้องเพลงดี และทรงคุ้นเคยจนถึงบันทึกชื่อหม่อมส้มจีนไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2450) ทรงบันทึกในพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 26 ใน ไกลบ้าน ว่า ขณะที่อยู่ในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ได้มีผู้ส่งแผ่นเสียงหม่อมส้มจีนร้องขึ้นไปถวายให้ทรงฟังชุดหนึ่ง คือ แผ่นเสียงชุดแรกที่กล่าวถึงนี้ ทรงบันทึกว่า “มีเพลงแสนเสนาะนั้น เพลงหนึ่ง ยายส้มจีนร้อง”

แผ่นเสียงของบริษัท กรามาโฟน คอนเสริ์ท เร็คคอร์ด ที่บันทึกเสียงหม่อมส้มจีน (ภาพจาก “สยามสังคีต”)

แผ่นเสียงชุดดังกล่าว หม่อมส้มจีนร้องอยู่ 2 เพลง คือเพลงแสนเสนาะ และเพลงบุหลัน แต่การพิมพ์ชื่อผิด โดยพิมพ์ชื่อหม่อมส้มจีนเป็น “ซ่มจีน” และเพลงบุหลันเป็น “บูหลัน”

ผลงานของหม่อมส้มจีนต่อมาได้บันทึกเป็นจานเสียงกับบริษัท International Talking Machine เป็นแผ่นเสียงโอเดี้ยน ตราตึก จำนวนมาก ปรากฏบนหน้าแผ่นเสียงว่า ใช้พิณพาทย์วงนายแปลก (พระยาประสานดุริยศัพท์-แปลก ประสานศัพท์) นายสอน (หลวงประดิษฐไพเราะ-ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งก็คือ วงของวังบูรพาภิรมย์นั่นเอง เพลงที่บันทึกไว้มี ตับนางลอย, เขมรใหญ่ 3 ชั้น, ลมหวน 3 ชั้น, มโหรีตับแขกมอญ, มาลีหวน 3 ชั้น, แสนเสนาะ 3 ชั้น, บุหลัน 3 ชั้น, ใบ้คลั่ง 3 ชั้น

ครั้นครูแปลกได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนประสานดุริยศัพท์ เมื่อ พ.ศ. 2452 หม่อมส้มจีนได้อัดแผ่นเสียงรุ่นหลังสุดกับบริษัท พาโลโฟน และแผ่นเสียงตรารามสูร-เมขลา (บนหน้าแผ่นเสียงพิมพ์ข้อความว่า “แผ่นเสียงสำหรับผู้มีบรรดาศักดิ์”) ชุดนี้มีมโหรี, ตับทะแย, ต่อยรูป 3 ชั้น, การเวก 3 ชั้น, ลมหวน 3 ชั้น, ชมดงนอก, แขกมอญ 3 ชั้น, ทยอยนอก 3 ชั้น, สี่บท 3 ชั้น, เชิดจีน, บุหลัน 3 ชั้น, จระเข้หางยาว ฯลฯ อีกมากมาย จึงได้ชื่อว่า เป็นต้นตำรับการขับร้องเพลงสามชั้นในสมัยรัชกาลที่ 5

เช่นนี้ หม่อมส้มจีน เป็นนักร้องที่โด่งดังมากในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏผลงานการขับร้องของท่านแพร่หลายเป็นแบบอย่างสําหรับนักร้องทั่วไปในยุคนั้น และยังคงมีอิทธิพลเป็นแบบอย่างต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 7 หรือแม้แต่ปัจจุบัน แนวการขับร้องของหม่อมส้มจีนยังคงมีอยู่ไม่น้อย เช่น ลีลาการขับร้องของครูท้วม ประสิทธิกุล และครูอุษา คันธมาลัย เป็นต้น

ส่วนหม่อมส้มจีนเป็นใคร มาจากไหน?

นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์, ครูท้วม ประสิทธิกุล, อาจารย์มนตรี ตราโมท, คุณลาวัณย์ โชตามระ และจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี สรุปความได้ว่า

หม่อมส้มจีน เป็นภรรยาคนหนึ่งของพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ) เป็นนักร้องเพลงไทยที่มีชื่อเสียงมากในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ทราบว่าเป็นบุตรีของท่านผู้ใด คาดว่าจะเกิดในปลายรัชกาลที่ 4 ระหว่าง พ.ศ. 2400-05 เมื่อเป็นเด็กได้เข้ามาอยู่ในบ้านพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ) ณ ตำบลคลองบางหลวง บริเวณคลองซอยทางเข้าคลองบางไส้ไก่ ฝั่งธนบุรี ฝึกหัดร้องละครแต่ครั้งนั้น เนื่องจากเป็นคนเสียงดี จึงมีชื่อเสียงมาตั้งแต่อายุยังน้อย และได้ต่อเพลงสามชั้นกับเจ้าคุณประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ได้ชื่อว่าเป็นคนร้องเพลงสามชั้นดีมากคนหนึ่ง เคยร้องเพลงอยู่ในวังบูรพาภิรมย์ด้วย

เมื่อเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ 5 โปรดให้หัดดนตรีแก่ข้าหลวง ณ พระตำหนักในวังหลวง ราว พ.ศ. 2440-46 นั้น ครูแปลก ได้เข้าไปสอนดนตรี หม่อมส้มจีนก็ได้เข้าไปสอนขับร้อง ครั้นถึง พ.ศ. 2447 พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ได้ตั้งวงมโหรีหญิงขึ้น โดยมีขุนเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นครูผู้ควบคุม

เนื่องจากไม่มีครูสอนขับร้องเพลงสามชั้น พระอัครชายาฯ จึงทรงขอตัวหม่อมส้มจีนเข้ามาเป็นครูสอนขับร้องที่พระราชวังดุสิต

หม่อมส้มจีนจึงเป็นครูของ เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ในรัชกาลที่ 5, นางสาวเยี่ยม ณ นคร (ต่อมาเป็นคุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี เยี่ยม สุวงศ์ นักร้องมีชื่อ), ครูท้วม ประสิทธิกุล และนายหยิน (ต่อมาเป็นที่ขุนลิขิตสุนทร) นักร้องประจำอยู่แตรวงกองทัพเรือในสมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต (พ.ศ. 2453) หม่อมส้มจีนได้กลับเข้าไปช่วยงานในวังหลวง พักอยู่ที่ตำหนักพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ เพื่อช่วยงานครัวและร้อยดอกไม้ ด้วยงานพระบรมศพยังมีติดต่อกันอยู่ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2454

หม่อมส้มจีนล้มป่วยด้วยโรคอหิวาต์ ท้องเสียอย่างแรง เพียงคืนเดียวอาการก็เพียบหนัก เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ได้ตามหม่อมเพื่อน (ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์, ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นเพื่อนรักของหม่อมส้มจีน มารับตัวออกจากวังไปอยู่กับหม่อมเพื่อน ได้วันเดียวก็ถึงแก่กรรม รวมอายุได้ประมาณ 50 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล. สยามสังคีต, สำนักพิมพ์เจ้าพระยา, สิงหาคม 2524

นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล หัวหน้าโครงการ. นามานุกรมศิลปินเพลงไทย ในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฉลิมฉลองสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2532


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2563