ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2550 |
---|---|
ผู้เขียน | บูรพา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
นักร้องเพลงไทยสากลที่ผมชอบ มีหลายคน หนึ่งในนั้นก็คือ สุเทพ วงศ์กำแหง พ่อผม สง่า อารัมภีร บอกให้เรียกอาเทพ มาตั้งแต่เด็กๆ
อาเทพเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ลูกหาของพ่อ อันที่จริงอาเทพเป็นลูกศิษย์ของ ครูไสล ไกรเลิศ มาแต่แรก สมัยที่อยู่กับครูไสลก็จะมี ชรินทร์ นันทนาคร (นามสกุลเดิม งามเมือง) เป็นลูกศิษย์อยู่อีกคน ครูไสลก็แต่งเพลงให้นักร้องทั้งสองร้องมาด้วยกัน
เพลงของครูไสลที่แต่งสมัยโน้นดังแทบทุกเพลงอย่าง บุเรงนองรำลึก ซึ่งภายหลังมาเปลี่ยนชื่อเป็น ผู้ชนะสิบทิศ อันลือลั่น ดังเนื้อร้องขึ้นต้นว่า
“ฟ้าลุ่มอิรวดีคืนนี้มีแต่ดาว
แจ่มแสงแวววาว
เด่นอะคร้าวสว่างไสว…”
เพลงนี้แต่งที่ร้านอาหาร สมัยโน้นชื่อสโมสรเทศบาลนครกรุงเทพ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเลยจากโรงละครแห่งชาติมาไม่ไกลนัก
ตอนนั้นครูไสลนั่งจิบเบียร์อยู่ริมฝั่งเจ้าพระยาแต่บันดาลให้เป็นแม่น้ำอิรวดี พร้อมเกิดตัวละครเยอะแยะอย่าง มังตรา บุเรงนอง จันทรา กุสุมา เลยไปถึงเมืองแปรโน่น
ครูไสลแต่งเพลงให้อาเทพร้องก็เยอะแต่ไม่ค่อยดัง จนต้องเข้ามาเป็นลูกศิษย์ของ ครูเปรื่อง หรือ ครู ป. ชื่นประโยชน์ และอาเทพก็ต้องใช้ชื่อขณะร้องว่า ศุภชัย ชื่นประโยชน์ อยู่พักหนึ่ง
ต่อมาพ่อผมก็ชวนลุงหมาน หรือ ครูสมาน กาญจนะผลิน ว่าเรามาหาเพลงให้เทพร้องอัดแผ่นเสียงคนละ 2 เพลงท่าจะดี ลุงหมานก็โอเคตามพ่อ
สองเพลงแรกของพ่อคือ รำพึง รำพัน กับ ท้าลอยลม ส่วนของลุงหมาน คือ นาฎกรรมชีวิต กับเพลง แก้วกัญญา โดยทั้ง 4 เพลงนี้ใช้ชื่อจริงคือ สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นผู้ร้องบันทึกแผ่นเสียง
อาเทพเคยโด่งดังมากจากจินตลีลาประกอบเพลงเรื่อง มนต์รักนวลจันทร์ ของละครเวทีคณะชุมนุมศิลปิน ซึ่ง รพีพร หรือ สุวัฒน์ วรดิลก ลงทุนเข้าหุ้นกับเพื่อนศิลปินทำละครเวทีสู้กับภาพยนตร์ที่กำลังหวนคืนโรง
คราวนั้นอาเทพรับบทบนเวทีเป็นมาณพน้อยเข้าเกี้ยวพาราสีนางศรีประจัน ลูกสาวคนสวยของท้าวกกขนาก ยักษ์ที่ต้องคำสาป แสดงโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี คู่ชีวิตของสุวัฒน์
ครั้งนั้นเพลงมนต์รักนวลจันทร์ ส่งผลให้ 2 นักร้อง เพ็ญศรี-สุเทพ มีชื่อไปทั่วเมือง
ส่วนเพลงที่ส่งให้อาเทพดังสุดๆ ในยุคโน้นเห็นจะเป็น รักคุณเข้าแล้ว ของ ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ กับ ครูสมาน กาญจนะผลิน นั่นเอง
สมัยที่ภาพยนตร์ครองเมืองเบียดละครเวทีให้ลาโรงไป อาเทพก็เคยแสดงเป็นพระเอกหนังในเรื่อง สวรรค์มืด คู่กับนางงามจากนครลำปางที่ชื่อ สืบเนื่อง กันภัย ในหนังเรื่องนี้มีเพลงเพราะๆ อยู่หลายเพลงเหมือนกัน
ราวปี 2500 อาเทพได้ไปเมืองจีนแผ่นดินใหญ่กับคณะศิลปินของสุวัฒน์ วรดิลก เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของ 2 ประเทศ หลังจากนั้นก็ไป ร่ำเรียนด้านวาดเขียนรูปต่อที่ประเทศญี่ปุ่นหลายปี
หลังกลับจากญี่ปุ่นราวปี 2503 คราวนี้อาเทพก็โด่งดังเป็นพลุ ด้วยแฟนเพลงทั่วประเทศคิดถึงและรอฟังเสียงฟังเพลงที่จะกลับมาร้องใหม่
ครั้งนั้นมีนักแต่งทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่หลายคนในวงการอย่าง ชาลี อินทรวิจิตร, สุรพล โทณะวณิก, เนรัญชรา, มนัส ปิติสานต์, อ.กวี สัตตโกวิท, ประยูร เวชประสิทธิ์, กมล ทัพคัลไลย, ศักดิ์ เกิดศิริ เอาเพลงมาให้ร้องอัดเสียงแทบทุกวัน
เพลงดังๆ ในห้วงนั้นก็อย่าง บ้านเรา จะคอยขวัญใจ อาลัยโตเกียว ใจพี่เกิดมาอาภัพ อนิจจา กลิ่นรักโลมใจ และยังอีกมาก
ผมจำได้ว่า ตอนนั้นอาเทพมีบ้านอยู่ย่านทุ่งมหาเมฆแถวถนนสาทร น่าจะเป็นทางไปเทคนิคกรุงเทพ ไม่ไกลกับบ้านของ นพพร บุณยฤทธิ์ เท่าไหร่
ตอนที่พ่อแวะไปบ้านอาเทพก็จะเจอนักดนตรีนักร้องหนุ่มๆ อยู่ในบ้านด้วยหลายคนอย่าง ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา, อดิเรก จันทร์เรื่อง, ธานินทร์ อินทรเทพ, นริศ ทรัพยะประภา, อดุลย์ กรีน
ทุกครั้งเวลาที่พ่อแวะก็จะมีกับข้าวกับแกล้มติดไม้ติดมือไปเสมอ เมื่อไปถึง หนุ่มๆ เหล่านั้นก็จะออกมารับ มาสวัสดีแล้วที่เชียงกันอุตลุต (เชียงเป็นวิธีทักทายเฉพาะแบบของพ่อกับคนคุ้นเคย)
พ่อนั่งได้สักครู่ก็จะมีเหล้าใส่น้ำแข็งผสมโซดาออกมาเสิร์ฟเป็นแก้วแรกให้คลายร้อน แล้วอาปี๊ดทนงศักดิ์ก็ยกเก้าอี้มานั่งข้างๆ ครวญเพลงให้พ่อฟัง พอเพลงจบ พี่เล็กธานินทร์ก็เอาบ้าง
พ่ออยู่กับพรรคพวกตั้งแต่แดดร่มลมตกเรื่อยไปถึงสามสี่ทุ่มก็ควบรถม้าลายกลับบ้าน ส่วนผมไปนอนรอในรถเรียบร้อยแล้ว
สมัยที่อาเทพอยู่บ้านกับเพื่อนๆ ด้วยกันนั้น “สุเทพโชว์” ก็เกิดขึ้นโดยนำคณะไปร้องเพลงตามที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีหลายหนร้องออกทีวี
ราวปี 2506 เพลงของสุเทพโชว์ ในการร้องแบบประสานเสียงก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวงการเพลงบ้านเรา ซึ่งไม่ใช่ร้องพร้อมกันเหมือนคณะอื่นๆ
เพลงแรกของคณะประสานเสียงสุเทพโชว์ก็คือ คอยเธอ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแผ่นเสียงเพลง Greenfields ของวง The Brothers Four ที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้มา
คำร้องเพลงนี้ท่อนขึ้นต้นอาเทพแต่ง ส่วนที่เหลือ เนรัญชรา แต่ง นริศ ทรัพยะประภา เรียบเรียงเสียงประสาน
เพลงประสานเสียง คอยเธอ ออกมาในขณะโน้นที่โด่งดังเอามากๆ แฟนเพลงให้การต้อนรับกันท่วมท้น มีบางคนเรียกการร้องของคณะนี้ว่า สุเทพคอรัส
ต่อมาอาเทพได้ทำงานของครูเพลงและนักแต่งหลายคนมาทำในลักษณะเดียวกัน เท่าที่ผมจำได้อย่างเพลง ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ ธารสวาท ปาลั่น ผมน้อยใจ รักคุณเข้าแล้ว เท่านี้ก็ ตรม คุณจะงอนมากไปแล้ว กรุงเทพฯ หัวใจขายขวด รักคนที่เขารักเราดีกว่า ดวงใจ
เพลงประสานเสียงชุดนี้ฟังง่าย ฟังเพลินคุ้นหูและทุกเพลงก็
เพราะจริงๆ
อ่านเพิ่มเติม :
- เมื่อ สุเทพ วงศ์กำแหง เยี่ยมไข้แฟนเพลงที่รพ. ขับร้องเพลงให้ฟังถึงข้างเตียง
- แลหลัง-ฟังเพลง : เพลงขวัญของเรียม เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดนิยมแห่งยุค “แผลเก่า”
เผยแพร่ในออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2563