เมื่อ สุเทพ วงศ์กำแหง เยี่ยมไข้แฟนเพลงที่รพ. ขับร้องเพลงให้ฟังถึงข้างเตียง

สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ
สุเทพ วงศ์กำแหง (12 พฤษภาคม พ.ศ.2477 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563) (ภาพจากห้องสมุดกองบก.ศิลปวัฒนธรรม)

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตที่บ้านพักด้วยวัย 86 ปี กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง บทความ “เพลงและข้อเขียนของ สุเทพ วงศ์กำแหง” ของ บูรพา อารัมภีร ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2562 มีการนำข้อเขียนของสุเทพ วงศ์กำแหง ถึงแฟนเพลงท่านหนึ่งเมื่อไปเยี่ยมไข้ที่โรงพยาบาลและขับร้องเพลงให้ฟังถึงข้างเตียง ที่ใครๆ ได้อ่านก็สะเทือนใจรับรู้ได้ถึงสัมผัสอันลึกซึ้งของศิลปินท่านนี้กับแฟนเพลงของเขา ศิลปวัฒนธรรมขอนำบทความนี้มาเผยแพร่ในเว็บเพื่อเป็นการระลึกถึง สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติผู้จากไป


 

กลางเดือนมกราคม [2562] หลังปีใหม่ไม่กี่วัน สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ นักร้องลูกกรุงหมายเลข 1 ของเมืองไทยถูกหามส่งโรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่กลางดึก ถึงห้องฉุกเฉินราวตีสามตีสี่

เหตุเพราะคืนนั้นหลังจากไปกินเลี้ยงแล้วกลับถึงบ้านก็ไม่สบายเนื้อตัว ทำท่าจะอาเจียน แต่ไม่ออก ล้มตัวลงนอนเพียงครู่ก็ต้องลุก ไม่สบายเอามากๆ ผุสดีภรรยากับลูกจึงนำตัวส่งโรงพยาบาล

ผมไปเยี่ยมในช่วงบ่ายของวันแรกที่สุเทพเข้าห้องฉุกเฉิน หลังจากนั้นแพทย์นำตัวไปอยู่ห้องผู้ป่วยรวมที่ตึกอัษฎางค์ พบอาการน้ำท่วมปอดและมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด

อยู่ตึกอัษฎางค์ได้สามสี่วันก็ต้องย้ายมาตึก 72 ปี เพื่อเฝ้าดูอาการเพราะมีไข้สูงและพบนิ่วในท่อน้ำดี

แพทย์จึงให้ศิลปินนักร้องพักผ่อนให้แข็งแรง ต่อจากนั้นอีกไม่กี่วันจึงปฏิบัติการนำเอานิ่วออกมาได้ ทำให้สุเทพแข็งแรงขึ้น

ผมไปเยี่ยมครั้งหลังสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งก็ยังนอนพักรักษาตัวอยู่เป็นสัปดาห์ที่ 3 อาการดีขึ้น ยิ้มแย้มทักทายพูดคุยกับทุกคนที่ไปเยี่ยม

แต่บ่นว่า อยากกลับบ้าน

มีแฟนเพลงหลายคนไปเยี่ยมเฝ้าดูอาการด้วยความเป็นห่วง มีคอเพลงบางคนอยากร้องเพลงให้คนไข้นักร้องฟังนัยว่าจะได้รื่นรมย์

แต่จะมีใครรู้บ้างว่า เมื่อ พ.ศ. 2514 สุเทพก็เคยไปยืนร้องเพลงให้ผู้ป่วยฟังที่เตียงคนไข้ในโรงพยาบาลมาก่อนแล้ว

ผมได้เอกสารข้อเขียนของสุเทพจาก ธัชชัย ยอดพิชัย หรือโหน่งแห่งกอง บ.ก. ศิลปวัฒนธรรมส่งมา หลังจากที่เราคุยกันเรื่องป่วยไข้ของสุเทพ และผมเล่าว่ามีคอเพลงบางคนจะร้องเพลงให้ท่านฟัง

โหน่งบอกว่า หลายปีก่อนสุเทพก็เคยไปร้องเพลงให้ลุงของเขาคือ นายแพทย์เผชิญ แก้วตาทิพย์ ซึ่งป่วยหนักนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลฟังมาแล้ว

หลังจากนั้น แม่สมคิด ยอดพิชัย แม่ของโหน่งก็ค้นข้อเขียนของสุเทพจากหนังสือพิมพ์ที่ตัดเก็บไว้ส่งมาให้ ซึ่งตัวท่านเองก็อยู่ในเหตุการณ์ตอนที่สุเทพมาร้องเพลงให้นายแพทย์เผชิญฟังถึงเตียงคนไข้

ในคอลัมน์ 7 ชีวิต เพลงนั้น…ไม่มีดนตรี สุเทพเขียนว่า

“คุณสุเทพคะ ดิฉันต้องขอโทษที่รบกวนเวลาของคุณ แต่ก็หวังในความกรุณาของคุณ ให้คุณฟังดิฉันอธิบายจนจบเสียก่อน แล้วคุณจะตัดสินใจยังไง ก็แล้วแต่คุณค่ะ”

เสียงผู้พูดโทรศัพท์ที่ผมรับในโลลิต้าเมื่อกลางวันวันนั้น มีน้ำเสียงสุภาพและอ่อนโยน ชัดถ้อยชัดคำ ทำให้ผมสงบนิ่งฟังเธอพูดด้วยความเต็มใจ

“ดิฉันเป็นหัวหน้าพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลเทียนฟ้าแถวๆ สามแยกนี่แหละค่ะ คุณสุเทพคงจะพอรู้จักบ้างไหมคะ”

เมื่อผมรับคำ เธอจึงพูดขึ้นอีก

“ดิฉันมีคนไข้คนนึงซึ่งศรัทธาในตัวคุณสุเทพเหลือเกิน ไม่ว่าคุณสุเทพจะไปร้องเพลงที่ไหน เขาจะต้องตามไปฟังคุณสุเทพร้องทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโลลิต้า รึแม้กระทั่งห้องอาหารดีส์ที่หัวมุมถนนสาธรโน่น แต่ขณะนี้เขาป่วยหนักมาก และไม่แน่ใจว่าจะ… เอ้อ …จะรอดหรือเปล่า ดิฉันถึงอยากจะขอร้องให้คุณสุเทพสละเวลาไปเยี่ยมเป็นกำลังใจเขาบ้าง”

เธอหยุดไปสักครู่เหมือนกับจะรอฟังการตัดสินใจของผม แล้วก็พูดต่ออย่างวิงวอน

“นะคะ คุณสุเทพ ดิฉันรู้ว่าคุณเองก็เป็นคนมีงานมาก แต่ครั้งนี้อยากขอร้องเหลือเกิน โปรดคิดเสียว่า เป็นการทำบุญทางใจอีกสักครั้งเถิดนะคะๆ” เธออ้อนวอน

“ถ้าหากคุณสุเทพจะมา คุณสุเทพบอกวันเวลาให้แน่นอนแล้วดิฉันจะคอยรับที่หน้าตึก หรือไม่ก็ขึ้นมาบนชั้นสามเลยก็ได้ค่ะ นะคะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ”

ผมบอกวันและเวลาที่จะไป แล้วก็ยืนคิดไปถึงคนไข้ผู้นั้น เขาเป็นใครหนอ ช่างน่าสงสารเสียจริงๆ ผมจะละเลยไม่ได้อย่างเด็ดขาด แม้ว่าจะมีธุระมากมายสักปานใดก็ตาม

ถึงวันนัด ผมตื่นแต่เช้า รีบอาบน้ำอาบท่า แต่งตัวขับรถออกจากบ้าน แวะซื้อกระเช้าดอกไม้แล้วตรงดิ่งไปสามแยก

เป็นเพราะรถติดกันคับคั่งในย่านนั้น ทำให้ผมพลาดเวลานัดไปเกือบชั่วโมง แต่ผมก็ยังหวังว่า คงไม่เกินความสามารถที่จะหาคนไข้พบอย่างแน่นอน แม้ว่าจะคลาดกับพยาบาลผู้นั้น

อนิจจา…ผมเดินหาจนทั่วตึกชั้นสาม ถามพยาบาลคนไหนก็ไม่มีใครทราบเรื่องราวของชายผู้ป่วยหนักคนนั้นเลย ทั้งๆ ที่พยาบาลทุกคนช่วยโทรศัพท์ถามไปแทบทุกชั้น ผมเองก็สะเพร่าที่ไม่ได้ถามชื่อผู้ป่วย ผมจึงเล่าให้พยาบาลฟังตามความเป็นจริง

ผมเลยฝากกระเช้าดอกไม้ไว้กับหัวหน้าตึกชั้นสามนั้นแล้วลากลับด้วยความผิดหวัง ก่อนจะลงลิฟท์ยังได้ยินพยาบาลคุยกันเบาๆ “โถ…ไม่รู้จักคนไข้เลยก็ยังอุตส่าห์มาเยี่ยม ถ้าพบคนไข้คงจะดีใจมากนะเธอ”

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ผมก็ได้รับโทรศัพท์จากพยาบาลผู้นั้นอีก สังเกตดูเธอพูดก็ไม่มีวี่แววว่าจะโกรธเคืองผม เมื่อผมขอโทษเธอก็บอกว่า เธอทราบแล้วว่าผมไปจริงตามนัด เป็นแต่ว่าผมไปผิดโรงพยาบาลเท่านั้น โรงพยาบาลที่ผมไปวันนั้นชื่อกว๋องสิว แต่ที่เธออยู่คือเทียนฟ้า ที่เธอทราบเพราะพยาบาลที่กว๋องสิวโทร. มาเล่าให้ฟัง เธอจึงรีบโทร. มาเพื่อขอบคุณ แม้ว่าจะไม่พบคนไข้ก็ตาม ผมก็เลยบอกกับเธอว่าผมจะขอไปใหม่อีกครั้ง

วันรุ่งขึ้น ผมไปหาโรงพยาบาลเทียนฟ้าจนพบและพยาบาลผู้อารีคนนั้นคอยผมอยู่ด้วยความกระวนกระวาย แล้วก็พาผมไปเยี่ยมคนไข้ทันที

เพียงเห็นหน้าคนไข้ที่ซูบเซียวจนแก้มตอบด้วยความผอม ผมก็นึกได้ว่าคนไข้ของผมคนนี้เป็นแฟนเพลงที่ผมคุ้นหน้ามากทีเดียว และส่วนมากมักจะไปกับพยาบาลสองสามคน ดูเหมือนว่าจะเคยมีการแนะนำให้รู้จักกันเสียด้วยซ้ำไป และเท่าที่สังเกตผมไม่เคยเห็นดื่มเบียร์หรือเหล้าสักหน ไม่สูบแม้กระทั่งบุหรี่

เป็นนายแพทย์อยู่เทียนฟ้านี่เอง กำลังจะไปดูงานเมืองนอกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ก็พอดีมาล้มเจ็บลงเสียก่อนด้วยโรคที่ร้ายแรงยิ่ง

ผมใจหาย ความรู้สึกในอกตีบตันยากจะพรรณนา คุณหมอพยายามทรงกาย แต่ทุกคนขอร้องให้อยู่เฉยๆ แววตาของคุณหมอแช่มชื่นเมื่อได้พบกัน หลังจากที่ผมเป็นฝ่ายคุยให้หมอฟังแต่อย่างเดียว ผมก็ได้รับการขอร้องจากผู้ที่เป็นญาติและบรรดาพยาบาลให้ร้องเพลงให้คุณหมอฟัง ซึ่งเป็นเพลงที่คุณหมอเคยชอบฟังบ่อยๆ ผมร้องเพลงพี่ยังรักเธอไม่คลายและเพลงรักอย่ารู้คลาย ให้ฟังด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก เสียงมันคงจะสั่นและแกว่งไปบ้าง เพราะไม่สามารถบังคับเสียงที่เปล่งออกมาได้เหมือนเคย บางครั้งก็ต้องเบือนหน้าไปทางอื่นเพื่อแอบซับน้ำตาเช่นเดียวกับพยาบาลอีกหลายๆ คนในที่นั้น

ผมจากคุณหมอมาทำงานที่โลลิต้าด้วยความสับสน ทั้งหดหู่และเศร้าหมอง นึกภาวนาอยู่แต่ในใจขอให้คุณหมอหายวันหายคืนโดยเร็ว ทั้งๆ ที่มีความหวังอันเลือนราง ด้วยพยาบาลแอบมากระซิบบอกผมทั้งน้ำตาในตอนหลังเมื่อลงมาส่งผมที่รถว่า คุณหมอเป็นแคนเซอร์ที่ตับ…หมดทางจะเยียวยา

ซึ่งไม่มีใครกล้าบอกหมอเลยสักคนเดียว

ในหูของผมยังอึงอลอยู่ด้วยคำพูดแผ่วๆ ของหมอที่เอ่ยออกมาก่อนผมจะลากลับ

“หมอกลับจากนอกแล้ว จะไปฟังคุณสุเทพร้องอีก…”

จบข้อเขียนของสุเทพ ใครอ่านก็สะเทือนใจ พร้อมกับรับรู้ได้ถึงสัมผัสอันลึกซึ้งของศิลปินกับแฟนเพลงของเขา

โหน่งบอกว่า อันที่จริงลุงหมอเผชิญเป็นแพทย์ของกว๋องสิวไม่ใช่เทียนฟ้า แต่ไม่เป็นไรเพราะทั้งสองได้พบเจอเยี่ยมเยียนกันแล้ว หลังจากนั้นลุงหมอก็จากไปเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2514

ส่วนคุณแม่สมคิดบอกว่า ฟังเพลงคุณสุเทพครั้งไหนก็รู้สึกขอบคุณคุณสุเทพที่ทำให้ลุงเผชิญมีความสุข เหมือนเป็นความสุขครั้งสุดท้ายจากเสียงเพลงของคุณสุเทพ

ขอขอบคุณ คุณแม่สมคิดและโหน่งที่ส่งข้อเขียนของสุเทพมาให้ในครั้งนี้

ต้นฉบับที่คุณอ่านอยู่นี้ ผมเขียนส่งศิลปวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ซึ่งสุเทพยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2563