เผยแพร่ |
---|
สระหัวชิงตั้งอยู่ทางทิศเหนือของภูเขาหลีซาน อําเภอหลินถง ทางตะวันออกของเมืองซีอาน (เมืองหลวงของมณฑลส่านซี) ประมาณ 30 กิโลเมตร สระแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังของจีน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจวตะวันตกเมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว มีขุนนางระดับสูงและผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่มาอาบน้ำพุร้อนที่นี่ สมัยราชวงศ์ฮั่นเคยมีการสร้างพระราชวังสําหรับแปรพระราชฐาน ของพระบรมวงศานุวงศ์ ถึงราชวงศ์ถังก็สร้าง “พระราชวังหัวชิง” จึงเป็นที่มาของชื่อ “สระหัวชิง”
เรื่องราวเกี่ยวกับเจียงไคเชกเองก็ถูกจับที่ซีอาน ก็เป็นหนึ่งในตํานานของสระหัวชิงเช่นกัน
ค.ศ. 1936 หลังจากกองทัพญี่ปุ่นบุกประชิดภาคเหนือของจีนเข้ามาเรื่อย ๆ เสียงเรียกร้องภายในประเทศจีนให้ยุติสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน แล้วหันมาร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่นก็ดังมากขึ้นทุกวัน
แต่เจียงไคเชกกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม
เจียงไคเชก สั่งการเร่งรัดให้กองทัพตะวันออกเฉียงเหนือของจางเสวียเหลียง และกองทัพตะวันตกเฉียงเหนือของหยางหูเฉิง บุกโจมตีกองทัพแดงที่อยู่บริเวณตอนเหนือของมณฑลส่านซี จางเสวียเหลียงและหยางหูเฉิงในขณะนั้นก็รู้สึกไม่พอใจต่อนโยบายสงครามกลางเมืองของเจียงไคเชก พวกเขามักจะแสร้งแสดงความนอบน้อม แต่กลับปฏิบัติอย่างขอไปที
วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1936 เจียงไคเชกเดินทางมาถึงเมืองซีอานอีกครั้ง เขาเรียกร้องให้จางเสวียเหลียงและหยางหูเฉิงโจมตีกองทัพแดง มิฉะนั้นกองทักพของพวกเขาจะต้องถูกย้ายออกจากมณฑลส่านซี
วันที่ 7 ธันวาคม จางเสวียเหลียงยื่นคําทัดทานกับเจียงไคเชกต่อหน้าที่สระหัวชิงอีกครั้ง เพราะหวังว่าเจียงไคเชกจะเปลี่ยนใจทําตามเจตนารมณ์ของประชาชน ยุติสงครามกลางเมือง แล้วมาผนึกกําลังกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น แต่ถูกเจียงไคเชกปฏิเสธอย่างเด็ดขาด
จางเสวียเหลียงเล่าเหตุการณ์ที่ให้หยางหูเฉิงฟัง กล่าวว่า “เจียงไคเชกเป็นคนที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ จะไปพูดชักจูงให้เขาเปลี่ยนใจได้อย่างไร”
วันที่ 9 ธันวาคม เป็นวันครบรอบหนึ่งปีของเหตุการณ์ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1935 [นักศึกษาประชาชนรวมตัวกันชุมนุมขับไล่กองทัพญี่ปุ่น โดยการนำของพรคคอมมิวนิสต์จีน] ผู้ลี้ภัยและนักเรียนในเมืองซีอานได้จัดกิจกรรมรําลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตํารวจทหารปราบปราม มีนักเรียนคนหนึ่งถูกตีจนได้รับบาดเจ็บ มวลชนรู้สึกเดือดแค้นเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาตัดสินใจไปร้องทุกข์และแสดงพลังต่อเจียงไคเชกที่อําเภอหลินถงโดยตรง
เจียงไคเชกบังคับให้จางเสวียเหลียงหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของนักเรียน พร้อมทั้งกล่าวว่า “สําหรับเยาวชนพวกนั้น ไม่มีวิธีใดจัดการได้ ยกเว้นใช้ปืนยิง”
หลังจากจางเสวียเหลียงได้รับคําสั่ง ก็พยายามพูดจูงใจเยาวชนยุติการชุมนุมกลับบ้าน นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตะโกนร้องคําขวัญต่าง ๆ เช่น “คนจีนไม่ทุบตีคนจีนด้วยกันเอง” และ “กองทัพตะวันออกเฉียงเหนือกลับไปสู้รบที่บ้านเกิดตนเอง และยึดดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สูญเสียไปกลับคืนมา” เป็นต้น
จางเสวียเหลียงฟังจนรู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง เขาพูดกับนักเรียนเหล่านั้นว่า “ผมจะไม่ยอมเป็นทาสของประเทศที่สูญเสียเอกราช… ผมจะไม่เนรคุณต่อความปรารถนากู้ชาติของทุกคน ผมจะใช้การกระทํามาพิสูจน์คําพูดภายในหนึ่งสัปดาห์ ขอให้ทุกคนเชื่อใจผม” คืนวันนั้นจางเสวียเหลียงและหยางหูเฉิงพยายามพูดชักจูงเจียงไคเชกอีกครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธเช่นเคย
จึงเหลือหนทางเพียง “การทัดทานด้วยกําลังทหาร” เพียงวิธีเดียว
จางเสวียเหลียงและหยางหูเฉิงจึงร่วมกันวางแผน ขณะนั้นกองบัญชาการของเจียงไคเชกตั้งอยู่ในบริเวณสระหัวชิงซึ่งอยู่นอกประตูทิศใต้ของอําเภอหลินถง มีทหารองครักษ์ประจํากายเพียง 20-30 นาย ที่มาจากกองพันที่หนึ่งแห่งกองทัพพิทักษ์ของจางเสวียเหลียง หวังอวี้จ้านซึ่งเป็นหัวหน้ากองพันได้เฝ้าติดตามดูความเคลื่อนไหวเจียงไคเชกอย่างใกล้ชิด และส่งคนไปป้องกันอันตรายที่ทางออกทุกจุดอย่างเข้มงวด ตามคําสั่งของจางเสวียเหลียง
วันที่ 11 ธันวาคม เวลา 16.00 น. กว่า จางเสวียเหลียงล้มเหลวในการพูดทัดทานเจียงไคเชกต่อหน้าอีกครั้ง เขาก็ออกคําสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจับตัวเจียงไคเชก โดยมีหวังอวี้จ้านและซุนหมิงจิ่วซึ่งเป็นหัวหน้ากองพันทหารรักษาการณ์ของจางเสวียเหลียงร่วมกันลงมือ
เวลา 04.00 น. กว่า ก่อนฟ้าสางวันที่ 12 หวังอวี้จ้านและชุนหมิงจิ่วนํากําลังทหารร้อยกว่านายคลําทางไปถึงลานด้านนอกของสระหัวชิงในตอนกลางคืน ทั้งยังให้ทหารองครักษ์ของเจียงไคเชกเปิดประตู หลังจากถูกปฏิเสธ ก็สั่งให้ทหารยิงปืนโจมตี ไม่ทันไร พวกเขาจึงบุกเข้ายังที่พักของเจียงไคเชก ซึ่งเป็นเรือนแถวสุดท้ายของลานด้านในสระหัวชิง
แต่เจียงไคเชกหลบนีไปได้ ซุนหมิงจิ่วสั่งการให้ค้นทุกซอกทุกมุม จางเสวียเหลียงโทรศัพท์มาหาจากในเมือง กล่าวอย่างร้อนใจว่า “หากจับตัวเจียงไคเชกไม่ได้ ก็จะถูกลงโทษในข้อหาทรยศ”
ในระหว่างค้นหาตัวเจียงไคเชก ทหารนายหนึ่งวิ่งมารายงาน ว่า “พบรองเท้าข้างหนึ่งที่เจียงไคเชกสวมอยู่ตรงพื้นกําแพงด้านนอกของห้องหมายเลข 3” ซุนหมิงจิ่วและหวังอวี้จ้านฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า เจียงไคเชกคงปืนข้ามกําแพงหนีขึ้นไปบนภูเขาหลีซานซึ่งอยู่ด้านหลังแล้ว จึงรีบสั่งให้ทหารขึ้นภูเขาไปค้นหาตัวเจียงไคเชก
ขณะนั้นท้องฟ้าเริ่มสว่างแล้ว ในที่สุดก็พบเบาะแสและสามารถตามหาเจียงไคเชกหลบซ่อนอยู่ถ้ำแห่งหนึ่งพบ
จางเสวียเหลียงและหยางหูเฉิง ส่งโทรเลขเรื่องข้อเสนอ 8 ประการเกี่ยวกับการกู้ชาติไปทั่วประเทศ เจียงไคเชกยอมรับข้อเสนอยุติปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์จีนและร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น ด้วยความพยายามอย่างกระตือรือร้นจากพลังทุกฝ่าย เหตุการณ์ซีอานจึงจบลงอย่างสันติ
ปัจจุบันนี้ บริเวณจุดท่องเที่ยวหินตาเสือตรงไหล่เขาของภูเขาหลีซานซึ่งอยู่หลังสระหัวซิงนั้นมี “ศาลาทัดทานด้วยกําลังทหาร” อยู่ ศาลาแห่งนี้สูง 4 เมตร กว้าง 2.5 เมตร ก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ป้ายของศาลาทัดทานด้วยกําลังทหารทํามาจากหยกหลานเถียนอันล้ำค่า ศาลาแห่งนี้ก็คือประจักษ์พยานแห่งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้น
ข้อมูลจาก
เส้าหย่ง, หวังไห่เผิง (เขียน) กำพล ปิยะศิริกุล (แปล). หลังสิ้นบัลลังก์มังกร, สำนักพิมพ์มติชน 2560
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มิถุนายน 2563