พระเจ้าตาก กษัตริย์ผู้ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร “อิ่มก็อิ่มด้วยกัน อดก็อดด้วยกัน”

"พระเจ้าตากทรงแจกจ่ายข้าวสารแก่ราษฎร" ภาพจิตรกรรมจัดแสดงภายในตำหนักเก๋งคู่ (เก๋งหลังใหญ่) พระราชวังเดิม

รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายถึงสถานการณ์ในยุคต้นกรุงธนบุรีว่า

“…เหตุด้วยเวลานั้น เจ้ากรุงธนบุรีตั้งตัวเปนเหมือนอย่างเถ้าแก่ฤๅกงสี คนทั้งปวงเหมือนกุลี เถ้าแก่เปนผู้หาเข้าหาปลาจำหน่ายให้แก่พวกกุลีแจกเลี้ยงกันกิน เงินจะได้มาทางใดไม่ว่า เจ้ากรุงธนบุรีเปนผู้ซื้อเข้ามาแจกเฉลี่ยเลี้ยงชีวิตรกันในเวลาขัดสน อิ่มก็อิ่มด้วยกันอดก็อดด้วยกัน…”

ต่อมา เมื่อบ้านเมืองสงบสุขสามารถทำไร่ไถนาได้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องแจกข้าวอีกต่อไป ทว่ายังมีปัญหาเศรษฐกิจอยู่ การแก้ปัญหาทางหนึ่งคือการขุดทรัพย์สมบัติในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหากผู้ใดขุดทรัพย์สมบัติในกรุงศรีอยุธยาได้ ก็ต้องแบ่งมาส่วนหนึ่งนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อเป็นการช่วยราชการแผ่นดิน ในการซื้อข้าว ซื้อปลา ซื้อเกลือ สำหรับเป็นเสบียงของกองทัพ

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี

สำหรับการขุดทรัพย์สมบัตินั้น ย้อนไปเมื่อครั้งที่กรุงศรีอยุธยาใกล้แตก ชาวบ้านมีทรัพย์สมบัติหรือของมีค่าใดก็จะฝังดินไว้ เมื่อบ้านเมืองสงบลงแล้ว เจ้าของทรัพย์สมบัติเหล่านั้นบ้างก็ตาย บ้างก็หลงลืมที่ฝัง จึงมีทรัพย์สมบัติในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก

เมื่อชาวบ้านกลับไปขุดทรัพย์สมบัติของตน บางคนได้ของตนมาน้อยบ้าง บางคนหยิบฉวยได้ของคนอื่นไปบ้าง ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ดังนั้น ในสมัยกรุงธนบุรีจึงออกข้อกำหนดว่า หากใครจะไปขุดทรัพย์สมบัติต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะเป็นผู้ควบคุมการขุด ถ้าชี้จุดตรงไหนก็ให้ขุดเฉพาะตรงนั้น “ผู้ที่ไปขุดเช่นนี้เปนคนมีทรัพย์มาก ๆ แม่นยำก็ขุดได้จริง ๆ เมื่อได้ทรัพย์มามากก็แบ่งถวายช่วยราชการแผ่นดิน”

“พระเจ้าตากทรงแจกจ่ายข้าวสารแก่ราษฎร” ภาพจิตรกรรมจัดแสดงภายในตำหนักเก๋งคู่ (เก๋งหลังใหญ่) พระราชวังเดิม

ต่อมา ทรัพย์สมบัติที่มีเจ้าของถูกขุดไปหมดแล้ว จึงเหลือแต่ทรัพย์สมบัติที่ไร้เจ้าของ จึงต้องตกเป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน การขุดค้นทรัพย์สมบัติค่อย ๆ หมดไปในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเวลานั้นทรัพย์สมบัติก็เหลืออยู่น้อยมากแล้ว ทว่าก็ยังมีผู้โลภมากยังคงเข้าไปขุดทรัพย์สมบัติอยู่ ประกอบกับมีเรื่องเล่าและปริศนา การขุดทรัพย์สมบัติในกรุงศรีอยุธยาจึงยังมีอยู่เรื่อยมา เช่น มีผู้ไปร่อนพลอยบริเวณคลองเมืองหน้าพระราชวังจนได้พลอยแดง เรียกกันว่า “พลอยเมือง” มีให้เห็นจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ). พิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. 128. โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, จากเว็บไซต์ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2563