พระราชภารกิจ “คืนความสุข” ของ “พระเจ้าตาก” ฟื้น-สร้างธนบุรีเหมือนครั้งบ้านเมืองยังดี

ภาพกรุงศรีอยุธยาหลังสงครามเสียกรุง คือภาพบ้านเมืองแตกสลาย ผู้คนอดอยากหิวโซ ทิ้งบ้านฐานถิ่นหนีภัยสงคราม ซากศพเกลื่อนเมือง บ้าน วัด วัง พังพินาศ ภาพเช่นนี้มีบรรยายไว้ชัดเจนในพระราชพงศาวดารทุกฉบับ นับเป็นการสิ้นสลายของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่อย่างกรุงศรีอยุธยาอย่างแท้จริง

นอกเหนือไปจากความพินาศวอดวายของบ้านเมืองแล้ว สิ่งที่ซ้ำเติมความเสียหายคือ หัวเมืองเหนือ ใต้ อีสาน อาศัยช่วงเวลาการสิ้นอํานาจของกรุงศรีอยุธยา แยกตัวเป็นอิสระ ตั้งเจ้าปกครองกันเอง ไม่ขึ้นตรงต่ออํานาจส่วนกลางแบบเดิมอีกต่อไป

พระเจ้าตากที่แม้จะทรงตั้งพระราชหฤทัยแน่วแน่ที่จะ “กู้กรุง” ให้เหมือนเดิม แต่เมื่อเห็นสภาพบ้านเมืองที่พังพินาศไปแล้ว ถึงกับถอดพระราชหฤทัย ไม่คิดแม้กระทั่งจะเป็นผู้นํา “กู้กรุง” ดังพระราชประสงค์เดิม เพราะขณะนั้น กรุงศรีอยุธยาเกินจะเยียวยาแล้ว จึงคิดจะกลับไป “ครอง” เมืองจันทบุรีอันเป็นเมืองน้อยแทน

“ทอดพระเนตรเห็นอัฎฐิกเรวฬะคนทั้งปวงอันถึงพิบัติชีพตายด้วยทุพภิกขะ โจระ โรคะ สุมกองอยู่ดุจหนึ่งภูเขา แลเห็นประชาชนซึ่งลําบากอดอยากอาหาร มีรูปร่างดุจหนึ่งเปรตปีศาจพึงเกลียด ทรงพระสังเวชประดุจมีพระทัยเหนื่อยหน่ายในราชสมบัติจะเสด็จไปเมืองจันทบุรี”[1]

แต่เมื่อทรงรับที่จะเป็นผู้นํา “กู้กรุง” ก็จําเป็นต้องทํา “การบ้าน” อย่างหนักที่ท้าทายอยู่เบื้องหน้า

“บรรดาหัวเมืองทั้งปวงก็คิดกําเริบก่อเกิดอหังการ ตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้นเป็นหลายเมือง แผ่นดินแบ่งออกเป็นหลายส่วน เกิดจลาจลรบพุ่งกันเป็นหลายพวก และสมณพราหมณ์ไพร่ฟ้าประชากรได้ความเดือดร้อนหาที่พึ่งมิได้ ทรงพระดําริจะปราบยุคเข็ญซึ่งเป็นจลาจลให้สงบราบคาบ และจะก่อกู้กรุงเทพมหานครให้คืนคงเป็นราชธานี มีพระราชอาณาเขตปกแผ่ไปเป็นแผ่นดินเดียว ทั่วจังหวัดแว่นแคว้นแดนสยามประเทศเหมือนดังเก่า”[2]

พระราชภารกิจ “กู้กรุง” เริ่มขึ้นทันทีที่พระเจ้าตากทรงตัดสินพระราชหฤทัยทิ้งกรุงศรีอยุธยาในยามคับขันที่สุด

ภารกิจ “คืนความสุข” เยียวยาราษฎร

ระหว่างสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 ทหารพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้นานนับปีด้วยนโยบาย “ปักหลักพักค้าง” ยึดพื้นที่ไร่นาวัวควาย เพื่อให้กองทหารปลูกข้าวเป็นเสบียงกินข้ามปี ทําให้ราษฎรซึ่งอยู่หัวเมืองรายรอบกรุงศรีอยุธยา ไม่สามารถทําไร่ทํานาได้ตามปกติ เกิดสภาวะอดอยากและอดตายกันไปทั่วกรุงศรีอยุธยา ราษฎรบางส่วนถึงกับยอมมอบตัวหนีสภาพอดอยากต่อกองทัพพม่า สภาพเช่นนี้ยืดเยื้ออยู่นานเกือบ 2 ปี

หลังจากนั้น พระเจ้าตากก็สามารถยกพลจากหัวเมืองตะวันออก เข้าตีฐานที่มันสุดท้ายของกองทหารพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น จนสามารถขับไล่กองทหารพม่ากองสุดท้ายออกจากกรุงศรีอยุธยาได้เป็นผลสําเร็จ ก่อนจะสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่

เมื่อภาวะสงครามผ่านพ้นไป สิ่งที่เหลืออยู่คือความเสียหาย ความอดอยากราษฎรพลัดบ้านพลัดถิ่น ไม่สามารถทํามาหากินได้อย่างปกติ เหล่านี้คือปัญหาเร่งด่วนที่รอให้พระเจ้าตากจัดการทันทีหลังเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

พระราชภารกิจแรกคือการเยียวยาราษฎร ซึ่งอยู่ในสภาพ “หมดตัว” กันถ้วนทั่ว ด้วยการ “แจก” ข้าวปลาอาหารเพื่อเป็นการยังชีพในเบื้องต้น

“ทรงพระกรุณาให้แจกจ่ายอาหารแก่ราษฎรทั้งหลาย ซึ่งอดโซอนาถาทั่วสีมามณฑลเกลื่อนกล่นกันมารับพระราชทานมากกว่าหมื่น บรรดาข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือนไทยจีนทั้งปวงนั้น ได้รับพระราชทานข้าวสารเสมอคนละถังกินคนละยี่สิบวัน”[3]

“พระเจ้าตากทรงแจกจ่ายข้าวสารแก่ราษฎร” ภาพจิตรกรรมจัดแสดงภายในตำหนักเก๋งคู่ (เก๋งหลังใหญ่) พระราชวังเดิม

บางครั้งที่ข้าวสารไม่พอแจก รัฐบาลกรุงธนบุรีก็ทุ่มเงินซื้อข้าว “นําเข้า” จากต่างประเทศ เพื่อมาเยียวยาราษฎร ในราคาที่แพงกว่าปกติ ไม่เพียงแต่ข้าวสารเท่านั้น เสื้อผ้า “เงินสด” รัฐบาลกรุงธนบุรีก็แจกให้กับราษฎรและข้าราชการที่ทุกข์ยาก ซึ่งการแจกแต่ละครั้งก็ใช้งบประมาณไม่น้อย

นอกจากนี้ ในระยะก่อตั้งกรุงธนบุรี ครั้งใดที่กองทัพกรุงธนบุรียกออกไปตีเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพิษณุโลก เมืองฝาง เป็นต้น ก็จะมีรายการแจกข้าวสารเงินทองให้กับคนยากและพระภิกษุสงฆ์อยู่เสมอ

รวมไปถึงนโยบายสําคัญที่สั่งห้ามมิให้ทหารกรุงธนบุรีข่มเหงราษฎรหัวเมืองที่แพ้ศึก รวมทั้งไม่ให้ปล้นชิงเอาทรัพย์สิน วัวควาย อันเป็นปัจจัยการผลิตของราษฎรท้องถิ่นนั้นเด็ดขาด นโยบายเยียวยานี้ ดําเนินไปตลอดช่วงแรกของการสถาปนากรุงธนบุรีตั้งแต่ปี 2311 จนถึงปี 2314 ทําให้ราษฎรที่หลบหนีสงครามเข้าป่าดง กลับออกมาดําเนินชีวิตได้ตามปกติเหมือนอย่างเคย

ทั้งนี้ การที่ราษฎรเกิดความเชื่อมั่นในรัฐบาลใหม่ อาจไม่ใช่เพียงแค่นโยบาย “แจกข้าว” คืนความสุขเพียงอย่างเดียว เพราะฝันร้ายจากสงครามยังคงน่าจะหลอกหลอนราษฎรกรุงศรีอยุธยาอยู่ไม่น้อย การเรียกความเชื่อมั่น จึงน่าจะรวมไปถึงการแสดงความแข็งแกร่งของรัฐบาลใหม่ ที่สามารถปกป้องบ้านเมืองจากศัตรูเก่าได้ ซึ่งจะทําให้รัฐบาลกรุงธนบุรีให้ได้รับความไว้วางใจจากราษฎรมากยิ่งขึ้น

คืนความสุขใน “ศึกบางกุ้ง”
สงครามเรียกคืนความเชื่อมั่น

“ศึกบางกุ้ง” แม้จะไม่ใช่ศึกใหญ่นัก แต่ถือเป็นศึกที่สําคัญครั้งหนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี เพราะศึกนี้เป็นศึกแรกที่เกิดขึ้นหลังจากสถาปนากรุงธนบุรีไม่ถึงปี ขณะที่ราษฎรยังคงฝันร้ายในศึกกรุงแตกอยู่ และคงยังไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลกรุงธนบุรีมากนัก ว่าจะรับมือกับกองทัพพม่าได้อีกหรือไม่ หรือจะพ่ายแพ้หมดสภาพเหมือนอย่างกรุงศรีอยุธยาเคยประสบมาแล้ว

กองทัพพม่ายกทัพมาจากเมืองทวายเพื่อ “หยั่งเชิง” กองทัพกรุงธนบุรีที่ค่ายบางกุ้ง เขตเมืองสมุทรสงคราม ศึกนี้พระเจ้าตากจึงทรงนําทัพเอง เข้าตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไปอย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ผลของสงครามครั้งนี้ “ได้ใจ” ราษฎรเป็นอย่างมาก พระเกียรติยศในฐานะผู้นําคนใหม่ เป็นที่กล่าวขานไปทั่วแผ่นดิน

“พระเกียรติยศก็ลือชาปรากฏ ดุจพระยาไกรสรสีหราชอันเป็นที่กลัวแห่งหมู่สัตว์จัตุบาททั้งปวง”[4]

“ศึกบางกุ้ง” ไม่เพียงแต่จะคืนความเชื่อมั่นให้กับราษฎรทั่วไปเท่านั้น แต่ศึกครั้งนี้ยังส่งผลให้บรรดาหัวหน้าชุมชน มาเฟียท้องถิ่น ซ่องโจร ที่เคยออกอาละวาดปล้นชิงข้าวปลาอาหารวัวควายของชาวบ้านในยามที่บ้านเมืองติดศึกสงครามไร้กฎหมายควบคุม ก็เกิดอาการเกรงกลัวพระเดชานุภาพ สงบราบคาบลงทุก ๆ แห่ง ยุติ “อาชีพ” ปล้นชิงกันสิ้น บางส่วนก็เปลี่ยนอาชีพมารับราชการแทน

“ต่างเข้ามาถวายตัวเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท ได้รับพระราชทานเงินทองและเสื้อผ้า และโปรดชุบเลี้ยงให้เป็นขุนนางในกรุงและหัวเมืองบ้าง”[5]

นโยบาย “คืนความสุข” หลังบ้านเมืองพินาศวอดวาย นับจากวันที่พระเจ้าตากเสด็จขึ้นครองราชย์ ไม่ว่าจะเป็นการแจกข้าวสาร เสื้อผ้า เงินทอง รวมไปถึงการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนใน “ศึกบางกุ้ง” ได้ส่งผลดีต่อรัฐบาลกรุงธนบุรีเป็นอย่างมาก หัวเมืองต่าง ๆ ราษฎรทุกหมู่เหล่า รวมทั้งแกนนําชุมชน ต่างก็หันกลับไปทํามาหากินกันเหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี

“บ้านเมืองก็สงบปราศจากโจรผู้ร้าย และราษฎรก็ได้ตั้งทําไร่นา ลูกค้าวานิชก็ไปมาค้าขายทํามาหากินเป็นสุข ข้าวปลาอาหารก็ค่อยบริบูรณ์ขึ้น คนทั้งหลายก็ค่อยได้บําเพ็ญการกุศลต่าง ๆ ฝ่ายสมณสากยบุตรในพระพุทธ ศาสนาก็ได้รับบิณฑบาตจตุปัจจัย ค่อยได้รับความสุขบริบูรณ์ เป็นกําลังเล่าเรียนบําเพ็ญเพียรในสมณกิจ ฝ่ายคันถธุระ วิปัสสนาธุระทั้งปวงต่าง ๆ”[6]

ปีแรกแห่งกรุงธนบุรี แม้ว่าบ้านเมืองจะดูสงบขึ้น ราษฎรได้รับการเยียวยา โจรผู้ร้ายลดลง ความเชื่อมั่นเริ่มกลับคืนมา แต่ขณะนั้นราชธานีแห่งใหม่ยังขาดเอกภาพดุจเดียวกับกรุงศรีอยุธยา จึงถึงเวลาที่จะต้องจัดการกับกลุ่มก๊กต่าง ๆ ด้วยการสลายชุมนุมใหญ่ที่ตั้งตัวเป็นอิสระจากอํานาจส่วนกลางให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวบรวมบ้านเมืองให้เกิดเอกภาพในทันที

“พระเจ้าตากทรงรวบรวมไพร่พลจากหัวเมืองตะวันออก เข้าตีกองทหารพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น” จิตรกรรมฝาผนังภายในท้องพระโรงกรุงธนบุรี เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ

ปฏิบัติการสลายกลุ่มก๊ก
“คืนความสุข” คืนเอกภาพแห่งรัฐ

ปัญหาใหญ่หลังกรุงแตก คือบ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะสูญญากาศทางอํานาจ บรรดาหัวหน้าชุมนุมใหญ่ ในหัวเมืองสําคัญต่างตั้งตัวเป็นอิสระตัดขาดจากอํานาจของกรุงศรีอยุธยา เวลานั้นจึงมี “เจ้าแผ่นดิน” เกิดขึ้น อย่างน้อย 5 กลุ่มใหญ่ คือ เจ้ากรุงธนบุรี เจ้าพระพิษณุ โลก เจ้าพระฝาง เจ้าเมืองนครฯ เจ้าพิมาย กรุงธนบุรีก็เป็น 1 ใน 5 ชุมนุม ที่เกิดขึ้นในช่วงกรุงแตก 

ปฏิบัติการ “คืนความสุข” ครั้งนี้คือการรวบรวม ชุมนุมใหญ่ทั้ง 4 เมือง ที่แยกตัวเป็นอิสระนั้น เข้ามาไว้ ในราชอาณาจักรกรุงธนบุรี เพื่อความเป็นเอกภาพ เช่นเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี

กรุงธนบุรีสถาปนาขึ้นในปี 2311 ปีเดียวกันนี้ พระเจ้าตากทรงยกทัพขึ้นไปหมายจะจัดการกับเมืองพิษณุโลกเป็นแห่งแรก แต่ครั้งแรกนี้ทรงทําไม่สําเร็จ เพราะถูกปืนเข้าที่แข้งซ้ายจนบาดเจ็บ ต้องยกทัพกลับกรุงธนบุรีมาก่อน หลังจากหายประชวรแล้ว ก็ทรงยกทัพไปจัดการกับเจ้าพิมาย หรือกรมหมื่นเทพพิพิธ ศึกนี้ชนะได้ไม่ยากนัก สามารถจับตัวเจ้าพิมายประหารชีวิตสําเร็จ

ปีถัดมาคือปี 2312 ทรงให้จัดทัพเป็น 2 ทาง ทางหนึ่งยกไปตีกรุงกัมพูชาเมืองประเทศราชที่เคยอยู่ในอํานาจของกรุงศรีอยุธยา อีกทัพหนึ่งเสด็จนําทัพเองเพื่อยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ศึกในปีนี้ตีได้เพียงเมืองนครฯ ส่วนกรุงกัมพูชานั้น “พระยา 2 พี่น้อง” คือ พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) และพระยาอนุชิตราชา (บุญมา) ได้ข่าวลือว่าพระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ที่เมืองนครฯ จึงเลิกทัพกลับมาก่อน

ต่อมาในปี 2313 ความจริงควรเป็น “ศึกล้างตา” กับเมืองพิษณุโลก แต่ขณะนั้นเจ้าพระฝางได้ยึดเมือง พิษณุโลกไว้ได้แล้ว กองทัพกรุงธนบุรีจึงมุ่งหน้าจัดการกับเจ้าพระฝาง แม้จะไม่ได้ตัวเจ้าพระฝาง ซึ่งหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย แต่ศึกนี้ก็สามารถยึดเมืองพิษณุโลก เมืองสวางคบุรี เป็นผลสําเร็จ

เท่ากับว่าอํานาจของกรุงธนบุรีได้ขยายลงไปยังเมืองทางใต้ถึงเมืองนครฯ และเมืองบริวาร ทางตะวันออกเฉียงเหนือคือโคราช ทางเหนือคือเมืองพิษณุโลกและเขตหัวเมืองเหนือทั้งปวง ประชิดติดกับอํานาจของล้านนา

เป้าหมายต่อไปคือการยึดเมืองเชียงใหม่ แต่การตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกนั้นไม่ประสบความสําเร็จ เพราะ “คําปรัมปราเล่าสืบ ๆ กันมาว่า กษัตริย์พระองค์ใดยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่นี้ ครั้งเดียวมิได้”

การสลายกลุ่มก๊กชุมนุมต่าง ๆ ทั้ง 4 กลุ่ม คือ พิษณุโลก พิมาย พระฝาง และเมืองนครฯ ทําสําเร็จเสร็จ สิ้นใน 3 ปีแรกของกรุงธนบุรี เว้นแต่เมืองประเทศราชที่ยึดได้ในปีถัดมา (ตีได้กรุงกัมพูชาในปี 2314, เชียงใหม่ในปี 2317)

ความสําเร็จในการปราบศึกต่าง ๆ ปรากฏชัดในโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี ของนายสวน มหาดเล็ก แต่งไว้เมื่อปี 2314 หลังจากสลายกลุ่มก๊กต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว

ปางปาตลิบุตรทั้ง   เวียงสวางค์
นครราชสีมาหมาง   ปิ่นหล้า
ถ้าแต่หมู่ทหารกลาง   หมวดหนึ่ง ก็ดี
ก็จะมีชัยแก่ข้า   ศึกเสี้ยนสยบแสยงฯ[7]

คืนความสุข ศาสนจักร

หลังจากใช้ทั้งพระเดชและพระคุณในการสร้าง “อาณาจักร” สําเร็จไปแล้วส่วนหนึ่งยังเหลือ “ศาสนจักร” ซึ่งถือเป็นหลักแห่งความสงบของบ้านเมือง และถือว่าเป็น “งาน” สําคัญของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ที่จะต้องทํานุบํารุงการพระศาสนาให้รุ่งเรืองในรัชสมัยของพระองค์

พระเจ้าตากได้ทรงเคยตั้งพระราชปณิธานไว้แต่แรกเมื่อคิดจะกู้กรุงศรีอยุธยาว่า จะทํานุบํารุงพระบวรพุทธศาสนาซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากสงครามไม่น้อยไปกว่าใคร ให้กลับมารุ่งเรืองดังเดิม ดังนั้น หลังจากสถาปนากรุงธนบุรีได้ไม่นาน ก็ทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ขึ้น คือ พระอาจารย์ดี วัดประดู่ และทรงตั้งพระราชาคณะ พระอันดับต่าง ๆ ตามแบบอย่างโบราณ นอกจากนี้ยังทรงใช้พระราชทรัพย์เป็นอันมาก จ้างคนสร้างพระวิหารเสนาสนะถวายแก่พระพุทธศาสนาเป็นจํานวนมาก แล้วตรัสพระราชทานโอวาทขอให้พระสงฆ์อยู่ในศีลบริสุทธิ์

“อย่าให้พระศาสนาของพระองค์เศร้าหมองเลย แม้นพระผู้เป็นเจ้าจะขัดสนด้วยวัตถุจตุปัจจัยทั้ง 4 ประการนั้น เป็นธุระโยมจะอุปถัมภ์ ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงมีศีลคุณบริบูรณ์ในพระศาสนาแล้ว แม้นจะปรารถนามังสะรุธิระโยม ๆ ก็อาจสามารถจะเชือดเนื้อแลโลหิตออกบําเพ็ญทานได้”[8]

ครั้นเมื่อตีได้เมืองนครฯ ก็ทรงให้ “ยืม” พระไตรปิฎกมาคัดลอกจําลองไว้สําหรับกรุงธนบุรี ต่อมาเมื่อตีได้ชุมนุมเจ้าพระฝาง ก็ทรงจัดระเบียบพระสงฆ์เมืองเหนือใหม่ เช่น ถ้าภิกษุรูปใดปาราชิกก็จะพระราชทานให้สึกออกทําราชการ เป็นต้น

ปฏิบัติการคืนความสุขของพระเจ้าตากล้วนแต่เร่งรีบกระทําตั้งแต่ต้นรัชกาล และส่วนใหญ่ก็ประสบความสําเร็จได้ด้วยดีภายใน 3 ปีแรก ทําให้กรุงธนบุรีฟื้นกลับมาสงบสุขอีกครั้ง ทั้งทางโลกและทางธรรม

อย่างไรก็ดี “กิจการภายใน” ที่กลับฟื้นมาดีดังเดิมก็ยังไม่พอที่จะสร้างความมั่นคงให้กับกรุงธนบุรีได้อย่าง ยืนยาว ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่พระเจ้าตากทรงพยายามกระทําอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สถาปนากรุงธนบุรีขึ้น และก็ได้รับความสําเร็จในตอนปลายรัชกาล แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ทรงอยู่ในราชบัลลังก์จนได้เห็นความสําเร็จนั้น

“ตีเมืองสวางคบุรี” ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมนุมเจ้าพระฝาง ภาพจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร เชียนโดย หลวงฤทธิจักรกำจร ในสมัยรัชกาลที่ ๕

เรียกความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ

เพื่อฟื้นฟูพระราชอาณาจักรให้กลับมายิ่งใหญ่เช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา รัฐบาลกรุงธนบุรีจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้การรับรอง “อย่างเป็นทางการ” จาก “พี่ใหญ่” คือรัฐบาลจีน ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง

เหตุที่รัฐบาลกรุงธนบุรีต้องการเป็นมิตรกับรัฐบาลจีนในขณะนั้นก็เพราะเวลานั้นพม่าเองก็เปิดศึกรบกับเมืองจีนทางตอนใต้อยู่ด้วยเช่นกัน หากทั้งสองรัฐบาลเป็นมิตรต่อกันแล้วจะได้สนับสนุนซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ การขึ้นครองราชย์ด้วย “วิธีพิเศษ” ของพระเจ้าตาก ยังไม่เป็นที่ยอมรับของรัฐบาลจีน เพราะรัฐบาลจีนทราบว่ากรุงศรีอยุธยายังมีรัชทายาทอยู่อย่าง น้อย 2 พระองค์ คือ เจ้าจุ้ยและเจ้าศรีสังข์ ซึ่งลี้ภัยอยู่ในกรุงกัมพูชา และหากรัฐบาลจีนไม่ยอมรับรัฐบาลกรุงธนบุรีแล้ว อาจส่งผลเสียต่อการปกครองกรุงกัมพูชาและลาว ในฐานะ “ประเทศราชเดิม” ของกรุงศรีอยุธยาก็เป็นได้

ที่สําคัญการยอมรับ “อย่างเป็นทางการ” ของรัฐบาลจีน จะช่วยให้การค้าที่เคยติดต่อซื้อขายกันมาอย่างยาวนานจะได้ดําเนินต่อไปได้ ทั้งนี้รัฐบาลกรุงธนบุรีมีความต้องการ “สินค้าต้องห้าม” จําพวกยุทธปัจจัยจากเมืองจีนเป็นอย่าง ยิ่ง โดยเฉพาะ เหล็ก ทองแดง กํามะถัน9 ซึ่งการซื้อยุทธปัจจัยนั้นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีนก่อน

การดําเนินการเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนเริ่มขึ้นตั้งแต่ปีแรกของการสถาปนากรุงธนบุรี และกระทําอย่างต่อเนื่องอีกหลายปี แต่ก็ไม่ประสบความสําเร็จ จนกระทั่งรัฐบาลจีนเห็นว่าพระเจ้าตากได้ควบคุมการปกครองไว้โดยเด็ดขาดแล้ว และเป็นที่ยอมรับของราษฎร ดังนั้น ในปี 2314 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระเจ้าตากทรงปราบปรามกลุ่มก๊กต่าง ๆ ได้ทั้งหมดแล้ว รัฐบาลจีนเริ่มเปลี่ยนท่าทีมายอมรับพระเจ้าตากมากยิ่งขึ้น

“หลัง พ.ศ. 2315 เป็นต้นมา ในเอกสารราชการของราชสํานักชิงได้เปลี่ยนการกล่าวอ้างพระนามสมเด็จ พระเจ้ากรุงธนบุรี กล่าวคือ มิได้เรียกขานว่า ‘หัวหน้าเผ่าชนอาณาจักรสยาม’ หรือ ‘พระยาสิน’ หรือ ‘กันเอินซือ’ แต่เรียกขานว่า ‘เจิ้นเจา’ ซึ่งหมายถึง ‘กษัตริย์เจิ้ง’ หรือ ‘แต้อ๋อง’ นั่นเอง” [10]

หลังจากนั้น รัฐบาลจีนก็อนุญาตให้ขายสินค้าต้องห้ามของจีน จําพวกยุทธปัจจัยให้กับรัฐบาลกรุงธนบุรีได้ ตามที่ร้องขอ และต่อมาก็อนุญาตให้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ “อย่างเป็นทางการ” ได้

แต่คณะทูตคณะสุดท้ายของรัฐบาลกรุงธนบุรีที่ส่งออกไปเจริญทางพระราชไมตรีถึงกรุงปักกิ่ง “อย่างเป็น ทางการ” ในปี 2324 ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงต่าง ๆ เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายที่คณะทูตไม่สามารถนํา “ข่าวดี” กลับมากราบบังคมทูลได้ทัน เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแผ่นดินกรุงธนบุรีเป็นกรุงรัตนโกสินทร์เสียก่อน

หมดทุกข์

โมเดล “คืนความสุข” ยุคกรุงธนบุรี เกิดขึ้นในยุคที่พระมหากษัตริย์ไม่ใช่เชื้อสายราชตระกูลกรุงศรีอยุธยา แต่เป็นข้าราชการหัวเมืองธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีความมุ่งมั่นจะฟื้นคืนความสุขให้กับราษฎร

ดังนั้น สิ่งที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีจึงมีความ “พิเศษ” แตกต่างจากพระราชพงศาวดารในยุคอื่น คือได้สะท้อนภาพที่พระมหากษัตริย์ที่เป็น “คน” มากกว่า มีพระราชภารกิจแบบ “ถึงเนื้อถึงตัว” กับราษฎรมากกว่าในยุคสมัยก่อน ๆ

ในขณะที่การฟื้นคืนราชอาณาจักรก็ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแต่การสร้าง “สถาบัน” แต่ได้เริ่มต้นที่จุดต่ำสุดของ สังคม คือบรรดาคนอดโซ ไร้บ้านเรือนนอน ไร้ที่ทํากินเหล่านั้น และยังขยายครอบคลุมไปถึงพระศาสนาซึ่งก็ไม่ได้มุ่งเน้นในการสร้างวัดวาอารามให้ใหญ่โต แต่ลงลึกไปถึงการถวายสบงจีวร สร้างกุฏิศาลามากกว่า

แม้เราจะไม่มีโพลในสมัยนั้นที่จะวัดความนิยมในพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ว่าการ “คืนความสุข” ครั้งนั้น ได้ผลดีร้ายประการใด แต่ 15 ปีที่ทรงอยู่ในราชสมบัตินั้น มิใช่เวลาที่สยามประเทศเสียเปล่าเลย

คลิกอ่านเพิ่มเติม : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้เงิน 60,000 ตำลึง จากเมืองจีน จริงหรือไม่?

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ตามติดปฏิบัติการ พระเจ้าตาก “ตามล่า” รัชทายาทกรุงศรีอยุธยา


เชิงอรรถ :

[1] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน, (กรุงเทพฯ : พิมพ์ เป็นอนุสรณ์ในงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, 2535), น. 36.

[2] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 322.

[3] เรื่องเดียวกัน, น. 326.

[4] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 ฯ, น. 36.

[5] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 , น. 327.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 327.

[7] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 ฯ, น.10.

[8] เรื่องเดียวกัน, น. 37.

[9] “ต้วน ลี เซิง, พลิกต้นตระกูลไทย. (กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2529), น. 146.

[10] เรื่องเดียวกัน, น. 161.


หมายเหตุ : บทความในนิตยสารชื่อ โมเดล ฟื้นฟูประเทศ “คืนความสุข” ยุคพระเจ้าตาก

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2562