พระอุปนิสัย-พระจริยวัตรของ “กรมหลวงชุมพรฯ” ที่คนเคารพนับถือ และแง่ความศักดิ์สิทธิ์

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จเตี่ย หมอพร
กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เจ้านายที่ผู้คนนับถือในพระจริยวัตร และในแง่ความศักดิ์สิทธิ์

“—คนนับถือกรมหลวงชุมพรฯ เยอะ แต่คนไม่สนใจท่านในฐานะปุถุชน คนไม่สนใจว่าท่านเคยทำอะไรมา หรือทรงมีพระปรีชาอย่างไร คนสนใจท่านแต่ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์—”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในคำบอกเล่าของ ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร ซึ่งมีศักดิ์เป็น “หลานปู่” ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กล่าวถึงเสด็จปู่ เมื่อครั้งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรฯ เพื่อเขียนหนังสือเรื่อง “หลวงปู่ศุขกับกรมหลวงชุมพรฯ” ครั้งนั้นพบว่าหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่นั้นล้วนจดจำและมักจะเล่าถึงแต่เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระองค์ มากกว่าที่จะเล่าเกี่ยวกับพระประวัติความเป็นมา พระปรีชาสามารถ ตลอดจนผลงานการทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ แต่เมื่อได้ศึกษาพระประวัติของพระองค์ก็อาจคาดเดาถึงสาเหตุดังกล่าวได้โดยไม่ยากนัก

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผู้ทรงวางรากฐานกองทัพเรือไทย

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด สายสกุลบุนนาค เป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่เสด็จไปทรงศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ในทวีปยุโรป

ทรงเลือกศึกษาวิชาการทหารเรือที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีกองทัพเรือที่เก่งฉกาจเกรียงไกรที่สุดในสมัยนั้น ทั้งนี้น่าจะสืบเนื่องมาจากการที่ไทยเคยถูกกองทัพเรือฝรั่งเศสคุกคามในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ทำให้ไทยต้องยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส นำความเจ็บช้ำพระทัยมาสู่องค์พระประมุขซึ่งไม่มีหนทางหลีกเลี่ยงเพราะเป็นประเทศเล็ก ไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้ ไม่มีอำนาจที่จะต่อรองกับมหาอำนาจที่ไม่รู้ถูกรู้ผิด

ความวิปโยคโศกเศร้าของพระบรมราชชนกชนนีและประชาชนชาวสยามในเหตุการณ์ครั้งนั้น ฝังอยู่ในพระทัยของเจ้าชายเล็กๆ ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 13 พรรษา แต่น้ำพระทัยแข็งแกร่ง ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่และมั่นคงในการที่จะนำความรู้ด้านการทหารเรือสมัยใหม่มาพัฒนากองทัพเรือของไทยให้เกรียงไกรสามารถต่อสู้ป้องกันตนเองให้พ้นจากภัยคุกคามจากประเทศมหาอำนาจที่มักรุกล้ำอธิปไตยของสยามเนืองๆ

การเข้าศึกษาวิชาการทหารเรือของเจ้าชายไทยในประเทศอังกฤษต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ นับแต่ข้อกำหนดซึ่งห้ามนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาในโรงเรียนนายเรือของราชนาวีอังกฤษด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง แต่ก็มิได้ทำให้พระองค์ทรงย่อท้อ ทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารเรือในโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการทหารเรือที่แข็งแกร่ง เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เข้ารับการฝึกเป็นนักเรียนทำการนายเรือ (Midshipman) ในเรือรบอังกฤษ

เสด็จกลับประเทศไทยมีพระชนมายุเพียง 20 พรรษา ทรงมีทั้งกำลังพระทัย กำลังพระวรกาย และประการสำคัญทรงมีความตั้งพระทัยแน่วแน่มั่นคงในอันที่จะพัฒนากองทัพเรือไทยให้สามารถเกรียงไกรเทียบเท่าอารยประเทศ เพราะขณะนั้นกิจการทหารเรือไทยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝรั่งต่างชาติ ซึ่งโปรดว่าจ้างให้มาเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารเรือสมัยใหม่

แต่ทรงพบว่าฝรั่งผู้ปฏิบัติงานขาดความตั้งใจจริงในการพัฒนากองทัพเรือให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ กองทัพเรือจึงยังมิได้รับการวางรากฐานอย่างมั่นคง หลักสูตรการสอนนักเรียนนายเรือต่ำ เมื่อเรียนจบหลักสูตรก็ยังไม่สามารถที่จะนำเรือออกสู่ทะเลลึกโดยลำพังตนเองได้ ไม่สามารถใช้อาวุธสมัยใหม่ได้ โดยเฉพาะทหารเรือในขณะนั้นเป็นหน่วยทหารที่มีศักดิ์ศรีต่ำกว่าทหารหน่วยอื่น จึงมักถูกนำไปใช้ในงานโยธา ไม่ใคร่มีโอกาสที่จะเรียนรู้วิชาการ

เมื่อทรงมีโอกาสได้เข้าบริหารงาน จึงโปรดปรับปรุงกองทัพเรือใหม่ในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การวางหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ โดยเพิ่มวิชาที่จำเป็นสำหรับทหารเรือที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้อย่างเข้มข้น ยกระดับทหารเรือให้สูงขึ้นโดยเน้นหนักด้านวิทยาการสมัยใหม่ และการฝึกเพื่อการเป็นนายทหารเรือที่เก่งกาจเกรียงไกร

“เสด็จเตี่ย” ของผู้ที่เคารพนับถือ

แต่ถึงกระนั้นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทรงพบคือ การที่ไม่มีผู้นิยมสมัครเข้าเป็นทหารเรือ อันเป็นธรรมชาติของผู้ที่มิได้อยู่ใกล้ทะเล โปรดแก้ปัญหาด้วยการให้เงินเดือนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนและเพิ่มเงินให้ตามชั้นที่สูงขึ้น ทำให้เริ่มมีผู้สมัครเรียนเพิ่มขึ้น แต่นักเรียนส่วนใหญ่มักเป็นคนยากจนและนักเลงที่หวังเงินเดือน แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนแล้วทรงมีวิธีการผูกใจนักเรียนให้ตั้งใจเรียน รักและภาคภูมิใจในสถาบันที่เรียน โดยใช้ความจริงพระทัยจริงจังในการถ่ายทอดวิชาความรู้ ปลูกฝังความรู้สึกรักและภาคภูมิใจในกองทัพเรือ

พระจริยวัตรที่ผูกใจผู้คน

พระอุปนิสัยของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประการสำคัญ คือ ทรงมีพระเมตตาต่อผู้คนทั่วไปโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ทรงสามารถผูกใจนักเรียนที่มีนิสัยนักเลงได้ด้วยความเป็นนักเลงที่เหนือกว่า

กล่าวคือ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงมีฐานันดรศักดิ์และความรู้ที่สูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อประกอบเข้ากับการดำเนินพระจริยวัตรในทางที่นักเลงสมัยนั้นนิยมกัน เช่น เก่งฉกาจในวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวทุกรูปแบบ มีคาถาวิทยาคมเพราะทรงมอบพระองค์เป็นศิษย์หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่ผู้คนสมัยนั้นเชื่อและนับถือว่าเป็นพระอาจารย์ด้านเวทมนตร์คาถา จนเป็นที่ร่ำลือว่า ทรงอยู่ยงคงกระพัน สามารถหายตัวได้ จนทรงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เหล่าลูกศิษย์รู้สึกว่าพระองค์ทรงสามารถเป็นที่พึ่งได้ คือทรงมีทั้งพระบารมี มีทั้งความเป็นนักสู้และนักเลงที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง

พระจริยวัตรสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความไม่ถือพระองค์ ทรงแสดงให้ทุกคนประจักษ์และซาบซึ้งในพระคุณสมบัติส่วนนี้ตลอดพระชนมชีพ ดังที่มีเรื่องเล่าลือสืบมาว่า ทรงรักและเอาพระทัยใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกศิษย์และผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งในเวลาและนอกเวลางาน

เล่ากันว่าครั้งหนึ่งเวลาค่ำขณะประทับพักผ่อนที่วังนางเลิ้ง มีผู้วิ่งมาทูลว่า ทหารเรือชั้นผู้น้อยคนหนึ่งถูกรุมต่อยตีจากคู่ต่อสู้ที่ตลาดนางเลิ้ง เมื่อทรงรู้ข่าวก็เร่งเสด็จไปสถานที่เกิดเหตุทันที ทรงช่วยทหารเรือผู้นั้นให้รอดจากการถูกคู่วิวาทฟันด้วยการเอาพระองค์เข้ารับคมดาบโดยไม่เป็นอันตราย หรือโปรดเสด็จไปสู่ขอผู้หญิงให้ลูกศิษย์ด้วยพระองค์เองในฐานะพระอาจารย์ มิใช่ในฐานะเจ้า หรือโปรดให้ตั้งฌาปนกิจสถานสำหรับทหารเรือขึ้นเพื่อช่วยในการฌาปนกิจศพทหารเรือทุกระดับชั้นอย่างสมเกียรติยศ เป็นต้น

พระจริยวัตรดังที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนเป็นเครื่องน้อมนำจิตใจของผู้ใกล้ชิดให้ถวายความจงรักภักดีด้วยชีวิต ยิ่งเมื่อประทานความเป็นกันเองโดยทรงเรียกขานพระองค์เองว่า “พ่อ” หรือ “เตี่ย” ก็ยิ่งทำให้สามัญชนทั่วไปรู้สึกว่าสามารถปวารณาตนเป็นลูกของพระองค์ได้อย่างเท่าเทียมกัน

ความนิยมนับถือและบูชาในพระองค์ยิ่งกว้างขวางและยิ่งใหญ่ทวีคูณขึ้นอีก เมื่อครั้งโชคชาตาฟ้าลิขิตให้ต้องทรงรับบทบาท “หมอพร” ครั้งนั้นก็ทรงจริงจังกับการเป็นหมอพร ด้วยการทรงศึกษาวิชาแพทย์ทั้งของไทยและฝรั่ง ทรงนำความรู้ทั้ง 2 แบบมาผสมผสานและทดลองจนทรงมั่นพระทัยในความเป็นหมอพร จึงทรงรับรักษาผู้เจ็บป่วยทั่วไปโดยไม่คิดเงิน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ด้วยพระเมตตาอันเป็นพื้นพระอุปนิสัยที่แท้จริงของพระองค์ ทั้งความรู้พระปรีชาสามารถและน้ำพระทัย ทำให้ผู้คนที่มีโอกาสได้สัมผัสพระองค์ นึกไปถึงเทพเจ้าที่ทรงลงมาโปรดมนุษย์ในโลกมากกว่าจะเป็นเจ้านาย จึงพร้อมใจขานนามพระองค์ว่า “หมอพรเทวดา”

กรมหลวงชุมพรฯ ทรงจริงจังกับการเป็น “หมอพร”

เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์ ความรักอาลัยของผู้ที่รักใคร่เทิดทูนบูชาพระองค์ยังคงตราตรึงอยู่อย่างมิอาจลืมเลือน ความดีงามเก่งฉกาจในทุกๆ ด้านของพระองค์ได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันปากต่อปาก มีการต่อเติมเสริมแต่งให้ทรงเป็นเสมือนผู้วิเศษ

จนพัฒนาเป็นความเชื่อที่ว่า พระวิญญาณของพระองค์ยังคงอยู่คอยให้ความคุ้มครองภยันตราย สดับตรับฟังทุกข์ร้อนของบรรดาลูกๆ หรือช่วยเหลืออำนวยให้ได้รับผลสำเร็จในสิ่งปรารถนาเหมือนเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระชนมชีพ จึงเกิดการบนบานขอให้ทรงช่วย เมื่อได้รับผลตามความต้องการก็ยิ่งทวีคูณความเชื่อในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์สิ่งต่างๆ ที่เนื่องในพระองค์ไม่ว่าจะเป็นพระรูปเหรียญ ล้วนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนตั้งไว้บนที่สูงเพื่อเคารพบูชา

จึงไม่น่าแปลกที่ ม.ร.ว. อภิเดชจะบอกเล่าถึงเสด็จปู่ของท่านว่า “—คนนับถือกรมหลวงชุมพรฯ เยอะ—แต่—คนสนใจท่านแต่ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์—”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤษภาคม 2562