2482 รัฐบาลจอมพล ป. ออกกฎหมายบังคับประชาชนปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ รุ่งหรือร่วง?

จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ชม ผลผลิต การเกษตร
จอมพล ป. พิบูลสงครามและท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ชื่นชมผลผลิตจากการส่งเสริมที่ดินทำกินการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพของราษฎร

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี นโบายการสร้างชาติไทยที่สำคัญด้านหนึ่งคือการให้ประชาชนปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสอดคล้องกับภาวะสงครามโลกที่กำลังอุบัติขึ้น อันอาจนำไปสู่การขาดแขลนอาหาร นโยบายนี้ได้ถูกผลักดันเป็นกฎหมาย มุ่งหวังให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และยังเป็นการช่วยประเทศชาติอีกแรงหนึ่ง

ราวเดือนกันยายน พ.ศ. 2482 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัวและการเลี้ยงสัตว์ โดยจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนช่วยตัวเอง ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ไม่เป็นภาระต่อคนอื่นและสังคม ในขณะที่โลกกําลังเกิดสงครามอยู่ และไม่ “ถ่วงความเจริญก้าวหน้าของชาติ ดั่งที่เป็นอยู่ส่วนมากในทุกวันนี้” โดยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เริ่มนโยบายด้วยการออกคําสั่งนายกรัฐมนตรี ให้ข้าราชการทั้งส่วนกลางและภูมิภาคปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์เป็นตัวอย่าง

Advertisement

กระทั่งได้ออกพระราชบัญญัติการสวนครัว และการเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชย์แห่งครัวเรือน พุทธศักราช 2482 ตราเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2482 เป็นกฎหมายที่บังคับให้ประชาชนที่อยู่นอกเขตเทศบาลนครหรือนอกเขตเทศบาลเมืองต้องปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ตามข้อกำหนดที่กรรมการจังหวัดหรือกรรมการอำเภอจะกำหนดให้ประชาชนปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดใด หากประชาชนไม่ทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ มีโทษปรับ 12 บาท

ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ออก กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในพระราชบัญญัติ การสวนครัว และการเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชน์แห่งครัวเรือน พุทธศักราช 2482 ประกาศเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2482 (พ.ศ. 2483 นับศักราชแบบใหม่) แนะนำให้ประชาชนปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ดังนี้

ประเภทผัก ได้แก่ ผักกาด แตง ถั่ว บวบ พริก มัน มะเขือ หอม เห็ด ผักชี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กระเจี๊ยบ กระเทียม กระชาย กะทือ กะเพรา ผักกูด ผักขม ผักบุ้ง ผักแพงพวย ผักกระเฉด ผักตำลึง ผักเสี้ยน ผักหนาม มะระ มะแว้ง มะอึก กุยช่าย ขึ้นฉ่าย ข่า ขิง ขมิ้นขาว ตะไคร้ ตั้งโอ๋ น้ำเต้า บัวสาย ฟักเขียว ฟักข้าว ฟักทอง แฟง แมงลัก สะระแหน่ โหระพา

ประเภทพืชผล ได้แก่ กล้วย ข้าวโพด ส้ม มะกอก มะกรูด มะขาม มะดัน มะนาว มะปราง มะพร้าว มะเฟือง มะม่วง มะยง มะยม มะรุม มะละกอ กระถิน ขนุน ขี้เหล็ก แค ชะอม ชมพู่ ตะลิงปลิง ทับทิม น้อยหน่า ฝรั่ง เพกา พุทรา ยอ ละมุด สะตอ สะเดา โสน สับปะรด อ้อย

ประเภทสัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้ง กบ ตะพาบน้ำ เต่า ปู ปลา ปลาไหล หอย

ประเภทสัตว์บก ได้แก่ ไก่ กระต่าย แกะ นก เป็ด แพะ สุกร ห่าน

(หมายเหตุ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 ได้ประกาศเพิ่ม ฝ้าย วัว และควาย)

กระทั่งประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 อาหารจึงมีความจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างสูงสุด การปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเมื่อทหารญี่ปุ่นเข้ามาประจำการในประเทศไทย อาหารและเสบียงจึงมีความจําเป็นยิ่งขึ้น เพราะทหารญี่ปุ่นจะซื้อผักที่ปลูกกันอยู่จนขาดตลาด และประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามเศรษฐกิจไม่ดี การปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์จึงเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจของครัวเรือนอีกทางหนึ่ง

เนื่องจากความต้องการเนื้อสัตว์และพืชผักเพิ่มขึ้น จากการที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามารับซื้อไปบริโภคด้วย กระทรวงกลาโหมจึงออกหนังสือทางปฏิบัติการเลี้ยงปศุสัตว์และการทําสวนครัวไปถึงกระทรวงมาดไทยและกระทรวงเกษตราธิการลงวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ให้ช่วยเร่งรัดดําเนินการให้ทุกจังหวัดมีหน่วยจําหน่ายลูกปศุสัตว์เพื่อนำไปขายให้ประชาชนนำไปเลี้ยง และอาจจะต้องเป็นหน่วยเคลื่อนที่ไปยังอำเภอห่างไกล และให้ทุกจังหวัดจัดหน่วยจําหน่ายพันธุ์ผักที่เหมาะแก่ท้องถิ่น เพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารอันอาจจะเกิดขึ้นในภาวะสงคราม

จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยพูดในหลายโอกาสว่าให้ช่วยกันปลูกพืชผักสวนครัว ดังปรากฏใน คำปราศรัยในงานฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 ว่า “ถ้าใครไม่ทํางานเพื่อล้างตนเอง ผู้นั้นเป็นต้องอดตายอย่างแน่นอน พูดให้เห็นได้ชัด ในเวลานี้ถ้าใครไม่ทําสวนครัว อีกไม่ช้าคนนั้นจะอดผัก และการไม่กินผักนี้แหละ ท่านจะต้องตายโดยโรคเลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น ถ้าใครไม่เลี้ยงสัตว์คนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเอาเนื้อสัตว์ที่ไหนมากิน”

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ปลูกผักสวนครัว เพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว

พ.ศ. 2486 ปรากฏว่าชาวนาทํานาได้ข้าวบริโภคภายในประเทศเพียงพอต่อความต้องการแล้ว รัฐบาลจึงกําหนดนโยบายว่า ถ้าใครจะทํากสิกรรมใหม่ ขออย่าปลูกข้าว ให้ทําการเลี้ยงสัตว์ ปลูกฝ้าย และพืชไร่อื่น ๆ เช่น ฝ้าย ถั่ว ละหุ่ง หอม กระเทียม เป็นต้น ต่อมากลาง พ.ศ. 2487 เมื่อมีการทิ้งระเบิดอย่างรุนแรงในกรุงเทพฯ จนประชาชนอพยพหลบออกไปอยู่รอบนอกของกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร รัฐบาลจึงต้องชักชวนส่งเสริมให้ทําสวนครัวอีก ด้วยการปลูกผักและได้จัดหาเมล็ดพันธุ์ผักในราคาย่อมเยามาจําหน่ายให้ประชาชน

อย่างไรก็ตาม นโยบายของรัฐบาลในความพยายามที่จะให้ประชาชนปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์นั้นกลับมีปัญหาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะประชาชนนอกเขตเทศบาลนครหรือนอกเขตเทศบาลเมืองที่ถูกบังคับให้ปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการที่รัฐบาลพยายามเสนอร่างพระราชบัญญัติการสวนครัว และการเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชย์แห่งครัวเรือน ฉบับที่ 2 เพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติเดิมเสียใหม่ โดยให้เหตุผลว่า “มีผู้ฝ่าฝืนไม่ทำการสวนครัวและการเลี้ยงสัตว์ตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่มากขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ… ให้มีบทลงโทษให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมยิ่งขึ้นตามกาลสมัย”

เรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 รัฐบาลได้เสนอให้แก้ไขกฎหมาย โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มบทลงโทษ ไม่ใช่การปรับปรุงนโยบายหรือมาตรการส่งเสริมการปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนั่นได้รับเสียงคัดค้านจากส.ส.หลายคน

นายเยียน (?) ศรีสุพรรณดิษฐ์ ส.ส.ชุมพรกล่าวว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นหมันเสียนานแล้ว เพราะฝ่ายบริหารไม่ได้เข้มงวดกวดขันดูแลกันอย่างเต็มที่ เมื่อแรกออกพระราชบัญญัติยังคงทำสำเร็จผล ดังที่มีการประกวดพืชผักสวนครัวและผลไม้กันในช่วงปีแรก แต่พอเวลาผ่านไป เจ้าหน้าที่กลับละเลยและไม่ได้เข้มงวดดูแลควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย “ขอยืนยันว่าการสวนครัวมิได้เป็นไป ทั้งนี้ทั้งนั้นหาใช่เป็นเพราะความฝ่าฝืนของราษฎรไม่ น่าจะเป็นด้วยฝ่ายบริหารละเลยไม่ควบคุมดูแลมากยิ่งกว่าสิ่งอื่น…” ส.ส.ชุมพรกล่าว

และแสดงความเห็นว่า การแก้ไขพระราชบัญญัตินี้มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การเพิ่มโทษซึ่งถือว่าหนักมาก จะกระทบกระเทือนจิตใจประชาชนยิ่งขึ้นไปอีก เพราะในเวลานี้ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะข้าวยากหมากแพง อุทกภัย และปัญหาเศรษฐกิจอยู่แล้ว จึงแนะนำให้ฝ่ายบริหารไปทำหน้าที่กวดขันอย่างเอาจริงเอาจังเสียก่อน

นายมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยชี้แจงว่า ฝ่ายบริหารได้ทำหน้าที่ทุกวิถีทาง ทั้งชี้แจง แนะนำ และปรับปรุง แต่ประชาชนไม่ค่อยจะปฏิบัติตามหรือเชื่อฟัง โดยอธิบายว่า “ทั้งนี้ฉันเองก็ได้เคยไปตรวจตามท้องที่และได้เห็นว่าเป็นอยู่ทั่วไป ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ก็ชี้แจงว่า ได้เคยควบคุมแนะนำให้ทำแล้ว บางทีก็ไม่ค่อยจะเกรงกลัวนัก ทั้งนี้ถ้าหากว่าจะได้เพิ่มโทษขึ้นเสียบางทีจะได้ผลดีขึ้น…”

โทษตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จากเดิมปรับ 12 บาท แต่จะให้แก้ไขเป็นปรับ 50 บาท ซ้ำยังต้องถูกนำตัวไปทำงานโยธาด้วย ซึ่งนายปรึกษ์ แก้วปลั่ง ส.ส.สุรินทร์ก็ไม่พอใจประเด็นนี้เช่นกัน โดยอธิบายว่า เมื่อเจ้าหน้าที่กำหนดให้ประชาชนปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ประชาชนก็ทำตามที่สั่ง ไม่ได้ขัดขืน แต่พืชที่ปลูกนั้นเป็นพืชเฉพาะฤดู เมื่อหมดฤดูไปแล้วจึงปลูกพืชชนิดนั้นไม่ได้ เมื่ิอเจ้าหน้าที่มาตรวจไม่พบ ประชาชนก็ถูกปรับ, เมื่อให้เลี้ยงไก่ แต่เกิดโรคระบาดจนไก่ตาย เจ้าหน้าที่มาตรวจไม่พบ ประชาชนก็ถูกปรับ, พืชบางชนิดที่กำหนดให้ปลูก หาพันธุ์พืชมาปลูกยาก บางพื้นที่อยู่ห่างไกลซื้อขายพันธุ์พืชลำบาก จึงนำมาปลูกไม่ได้ เมื่อเจ้าหน้าที่มาตรวจไม่พบ ประชาชนก็ถูกปรับ

ประชาชนซื้อพืชผักสวนครัวในบริเวณตลาดนักที่กรมโฆษณาการ (กรมโคสนาการ) จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม

นายสว่าง สนิทพันธ์ ส.ส.สุพรรณบุรี ก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ กล่าวว่า “ความจริงพระราชบัญญัติสวนครัวและเลี้ยงสัตว์นี้ เท่าที่ฉันสังเกตเห็นโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ราษฎรเต็มใจทำ ทั้งนี้เพราะเขาเห็นผลของเขาอยู่แจ้งชัดแล้ว คือทำสวนครัวก็ได้กินผัก เลี้ยงสัตว์ก็ได้สัตว์เป็นอาหารหรือขายได้ ราษฎรไม่คิดอิดหนาระอาใจแม้แต่น้อย

แต่เหตุใดการสวนครัวเลี้ยงสัตว์จึงไม่เจริญขึ้นสมความประสงค์ของรัฐบาล ทั้งนี้เป็นความผิดของรัฐบาลเอง… เช่นบอกให้ราษฎรเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ให้มาก แต่ลงท้ายที่สุดถึงปีที่มีโรคระบาดมาสองคราวสามคราว ตายไปหมด รัฐบาลเองก็ไม่มีแพทย์อะไรที่จะรักษาให้สัตว์เหล่านั้นยืนยงคงอยู่ได้ เกิดมาก็ตายไป ยิ่งกว่านั้น บังคับให้เลี้ยงหมู ลูกหมูก็ไม่มี จะให้ไปซื้อตัวละ 15 บาท 18 บาท อย่างน้อย ๆ ก็ตัวละ 10 บาท 12 บาท นอกจากนั้นอาหารของหมูก็ไม่มี จะกินรำก็ไม่มีจะกิน ทางรัฐบาลส่งไป นายอำเภอก็ไปแย่งหมูกินเสียหมด…

ทีนี้ปัญหาสำคัญมีอยู่ว่าบังคับให้ราษฎรเลี้ยงสัตว์ทำสวนครัว ทีนี้เขาเลี้ยงหมูมาก ๆ ทำสวนครัวมาก ๆ ใครจะเป็นคนไปซื้อหมู เขาเลี้ยงไว้มาก ๆ จะฆ่าก็กลัวบาป นานไปก็ตายไปเอง ผักสวนครัวก็เน่าไปไม่มีใครซื้อ เอาซี ถ้ารัฐบาลจะตั้งฉางไว้ซื้อ ตั้งเจ้าหน้าที่ไว้ซื้อหมู มีโรงเลี้ยงหมูได้ขนาดแล้วเอามาขายรัฐบาล รัฐบาลรับซื้อเช่นนี้ ฉันคิดว่าราษฎรคงยินดีเลี้ยงกันมาก แต่เดี๋ยวนี้เมื่อเลี้ยงไว้ได้ขนาดแล้ว คนที่ไปซื้อมีแต่เจ๊กไปซื้อ คนต่างด้าวไปซื้อเขาก็กดราคา…”

นอกจากนี้ยังมีส.ส.อีกหลายคนอภิปรายสะท้อนปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาโรคระบาดและสภาพอากาศ ดินแล้ง น้ำท่วม ที่มีผลต่อการปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์อย่างมาก ทำให้เมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบจึงไม่พบพืชผักสวนครัวหรือสัตว์ที่กำหนดให้ปลูกหรือเลี้ยง เพราะเกิดจากปัญหาที่ประชาชนควบคุมไม่ได้ ซึ่งส.ส.หลายคนแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า ปัญหาเกิดจากการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ไม่มีข้อปฏิบัติที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

โดยต้องการให้รัฐบาลไปจัดการควบคุมดูแลตามพระราชบัญญัตินี้ให้เข้มงวดเสียก่อน มิใช่การเพิ่มโทษปรับจาก 12 บาทเป็น 50 บาท ซึ่งนับเป็นเรื่องรุนแรง และยังถูกเกณฑ์มาทำงานโยธาอีก ซึ่งทำให้พลัดพรากจากครอบครัว ทางบ้านไม่มีใครดูแลกิจการงานต่าง ๆ หากเป็นผู้สูงอายุก็น่าสงสารไม่น้อย ขณะเดียวกันก็มีส.ส.บางส่วนสนับสนุนการแก้ไขพระราชบัญญัติ และเห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ว่า การเพิ่มโทษจะทำให้ประชาชนไม่กระทำผิดกฎหมายและปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

ท้ายที่สุด ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นอันตกไปด้วยคะแนน 32 : 30

นับตั้งแต่นั้นมา พระราชบัญญัติการสวนครัว และการเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชย์แห่งครัวเรือน พุทธศักราช 2482 ก็ไม่ปรากฏเป็นที่กล่าวถึงอีก ทว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ยังให้ความใส่ใจเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ถึงกับได้เร่งรัดให้ปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์กันอยู่อีกใน พ.ศ. 2493

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้คงเสื่อมลงเรื่อย ๆ เพราะไม่เหมาะสมกับกาลสมัย เนื่องจากไม่ได้มีการขาดแคลนพืชผักสวนครัว ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ เมื่อประเทศพัฒนาความเจริญในหลาย ๆ ด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สังคม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ฯลฯ ทำให้สภาพบ้านเรือนไม่ได้เหมาะสมต่อการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ได้ทุกแห่ง อีกทั้งการประกอบอาชีพก็มีความหลากหลาย ประชาชนสามารถประกอบอาชีพอื่นเพื่อหารายได้ กฎหมายนี้จึงไม่มีการบังคับใช้มานาน กระทั่งพระราชบัญญัตินี้ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2546

แต่การปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคภายในครอบเรือนก็ยังคงอยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาโดยตลอด บางคนเลี้ยงไก่ไข่ไว้กินเอง เหลือน้อยก็แบ่ง เหลือมากก็ขาย ในช่วงที่มะนาวมีราคาแพง บางคนก็หันมาปลูกมะนาวเอง ขณะที่วิถีชีวิตของ “ชาวคอนโด” ในกรุงเทพฯ แม้พื้นที่จำกัด แต่ก็นิยมปลูกผักกินเอง เช่น ผักบุ้ง โหรพา แมงลัก กะเพรา

แต่หากอนาคตหากเกิดภาวะคับขันขึ้นมาจริง ๆ รัฐบาลอาจบังคับปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์เหมือนในอดีตก็ได้ ใครจะรู้?


อ้างอิง :

พระราชบัญญัติการสวนครัว และการเลี้ยงสัตว์ เพื่อประโยชย์แห่งครัวเรือน พุทธศักราช 2482

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24/วันที่ 10 ตุลาคม 2482

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 26/วันที่ 12 ตุลาคม 2482

กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในพระราชบัญญัติ การสวนครัวและการเลี้ยงสัตว์เพื่อประโยชน์แห่งครัวเรือน พุทธศักราช 2482

กดกะซวงมหาดไทย ออกตามความไนพระราชบัญญัติ การสวนครัวและการเลี้ยงสัตว์เพื่อประโยชน์แห่งครัวเรือน พุทธสักราช 2482 (ฉบับที่ 2)

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5/วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2486

พระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. 2546

ชาติชาย มุกสง. (2556). รัฐ โภชนาการใหม่กับการเปลี่ยนแปลงวิถีการกินในสังคมไทย พ.ศ. 2482-2517. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2563