โรคระบาดกลางสงครามเอเธนส์ VS สปาร์ตา นำมาสู่ยุคประชาธิปไตยกลายพันธุ์?

ภาพโรคระบาดในยุคโบราณ โดย Michiel Sweerts คาดว่าวาดระหว่าง 1652-1654 เชื่อว่า เป็นภาพที่เชื่อมกับเหตุการณ์โรคระบาดในเอเธนส์ หรืออย่างน้อยก็มีบางส่วนในภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น (ภาพจาก Los Angeles County Museum of Art - Public Domain)

ในสงครามกรีกที่น่าสนใจครั้งหนึ่งซึ่งถูกขนานนามว่า “สงครามเพโลพอนนีเซียน” (Peloponnesian War) อันเกิดในช่วง 431–404 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากจะสะท้อนความขัดแย้งครั้งใหญ่ของสำหรับชาวกรีกในช่วงเวลานั้นแล้ว ยังสะท้อนผลกระทบจากโรคระบาดด้วย

“สงครามเพโลพอนนีเซียน” คือสงครามระหว่างจักรวรรดิเอเธนส์ และกลุ่มสปาร์ตาพร้อมเหล่าพันธมิตรที่ส่วนใหญ่มาจากแถบเพโลพอนนีสหรือเรียกกันว่า “สันนิบาตเพโลพอนนีส” โดยส่วนหนึ่งแล้วก็ตั้งขึ้นเพื่อคานอำนาจฝั่งทัพเรือเอเธนส์ที่ครองความยิ่งใหญ่ในทะเลเอเจียน บรรดาเกาะในทะเลแถบนี้คือส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเอเธนส์ เอเธนส์ ยังเป็นผู้นำของสันนิบาตเดเลียน (Delian League) อันเป็นการรวมตัวของนครรัฐอื่นๆ ในดินแดนกรีซโดยมีเอเธนส์ เป็นผู้นำ

ส่วนฝั่งสปาร์ตา มีกองทัพบกที่แข็งแกร่ง และอยู่ในสภาพระแวดระวัง สภาพเช่นนี้สืบเนื่องมาจากสังคมชาวสปาร์ตัน ต้องใช้งานชาวเมสซีเนียน (เรียกโดยรวมว่า Helot) พวกสปาร์ตัน จึงต้องจับตากลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด เพราะหวั่นเรื่องการเคลื่อนไหวปฏิวัติต่างๆ นั่นหมายความว่า พวกเขาก็จับตาดูแหล่งอำนาจอื่นๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทเหนือกลุ่มนั้นด้วยเช่นกัน ซึ่งฝั่งเอเธนส์ ก็นิยมขยับขยายอำนาจของตัวเองออกไปด้วย สถานการณ์นี้จึงทำให้เกิดความตึงเครียดในภูมิภาค สงครามจึงแทบเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากยิ่ง และย่อมปะทุขึ้นไม่ช้าก็เร็วนั่นเอง

ทิวซิดิดีส

เรื่องราวรวมถึงสาเหตุของการทำสงครามครั้งนั้นปรากฏในบันทึกของทิวซิดิดีส (Thucydides) นักประวัติศาสตร์กรีกผู้จดบันทึกสงครามครั้งนี้ ทิวซิดิดีสเป็นชาวเอเธนส์ที่มีชีวิตในช่วงเกิดสงคราม ขณะที่บันทึกหลักฐานอื่นมีรายละเอียดไม่เท่ากับหลักฐานจากทิวซิดิดีส

สำหรับหลักฐานเกี่ยวกับประวัติชีวิตของทิวซิดิดีส ผู้นี้มีไม่มากนัก ข้อมูลโดยทั่วไปแล้วบอกว่า เขาเป็นชนชั้นสูงชาวเอเธนส์ มีชีวิตอยู่ในช่วงมหาสงคราม เขาเป็นผู้ควบคุมกองเรือในเอเจียน และยังได้รับมอบหมายภารกิจให้ไปช่วยเหลือพันธมิตรของเอเธนส์ จากแม่ทัพสปาร์ตา แต่ไปไม่ทันเวลา เมืองแห่งนั้นจึงตกเป็นของสปาร์ตา ทิวซิดิดีส ถูกลงโทษด้วยการเนรเทศ และเชื่อว่า เมื่อมีเวลาเขาจึงใช้บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ สามารถพูดคุยกับคนทั้งสองฝ่าย รวบรวมหลักฐาน

เนวิลล์ มอร์ลีย์ (Neville Morley) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์คลาสสิกและยุคโบราณจากมหาวิทยาลัย Exeter มองว่า ทิวซิดิดีส ไม่ได้โน้มเอียงเข้าข้างเอเธนส์ และไม่ได้เข้าข้างฝั่งสปาร์ตา เช่นกัน นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเชื่อข้อมูลโดยรวมของทิวซิดิดีส (มีรายละเอียดบางจุดที่นักวิชาการสาขาอื่นไม่ปักใจเชื่อ ซึ่งจะกล่าวถึงในเนื้อหาต่อไป) แม้จะมีสมมติฐานว่า เขาอาจไม่ได้บอกเล่าข้อมูลแบบครบถ้วนสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยก็ไม่ได้บิดเบือนข้อมูลออกไป เขาให้ข้อมูลสงครามครั้งนั้นในมุมมองของเขาอันรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดท่ามกลางสงครามด้วย

เนวิลล์ ยังยกประเด็นตักเตือนอีกข้อว่า ในประวัติศาสตร์มีทิวซิดิดีส 2 ราย รายหนึ่งคือ ทิวซิดิดีส บุตรแห่ง Melesias ขณะที่ “ทิวซิดิดีส” ซึ่งเป็น “นักประวัติศาสตร์” คือ ทิวซิดิดีส บุตรแห่ง Olorus

ชนวนสงคราม

ชนวนของสงครามจากการอธิบายของโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ระบุไว้ว่า จุดแตกหักเริ่มมาจากนครรัฐคอรินธ์ ซึ่งเป็นสมาชิกสันนิบาตเพโลพอนนีส (ฝั่งสปาร์ตา) เริ่มสร้างฐานการค้าทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แข่งกับเอเธนส์ เวลาต่อมา นครรัฐคอรินธ์ ไม่ลงรอยกับนครรัฐคอร์ซิรา แห่งสันนิบาตเดลอส (ฝั่งเอเธนส์)

เอเธนส์ ที่เป็นผู้นำกลุ่มจึงเข้ามาช่วยเหลือนครรัฐคอร์ซิรา ส่วนสปาร์ตา ก็เข้ามาช่วยเหลือคอรินธ์ ภายหลังจึงเกิดสงครามปะทุกลายเป็นมหาสงครามเพโลพอนนีเซียน ซึ่งแบ่งออกได้เป็นหลายช่วง

เมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้นไม่นาน ปีที่ 2 ของสงครามก็เริ่มมีโรคระบาดเข้ามาส่งผลกระทบต่อสงครามที่กินเวลายาวนาน 30 ปี จากการศึกษาของนักประวัติศาสตร์ โรคระบาดเข้ามาเล่นงานฝั่งเอเธนส์ ซึ่งขณะนั้นกำลังถูกปิดล้อมโดยสปาร์ตา ภายในเวลา 3 ปีต่อมา ประชาการส่วนใหญ่ติดโรคระบาด คาดว่าประชากรราวร้อยละ 25 หรือประมาณ 75,000 ถึง 100,000 คน เสียชีวิตลงเพราะโรคระบาด แต่นี่เป็นอีกหนึ่งข้อมูลตัวเลขจากยุคโบราณซึ่งนักประวัติศาสตร์ยังตั้งคำถามถึงน้ำหนักความน่าเชื่อถืออยู่ บันทึกของทิวซิดิดีสก็ไม่ได้เอ่ยถึงตัวเลขผู้เสียชีวิต

บันทึกของทิวซิดิดีส ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับโรคระบาดค่อนข้างละเอียด และเชื่อว่าบันทึกเกี่ยวกับโรคระบาดของเอเธนส์ ส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ภูมิภาคตะวันตกมาอีกหลายพันปี อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยโดยนักประวัติศาสตร์ยุคใหม่พบว่า ในรอบ 100 ปีหลังมานี้ นักฟิสิกส์และนักวิจัยไม่เห็นด้วยกับต้นตอและลักษณะของโรคระบาด

ข้อมูลเบื้องต้นของโรคระบาดนั้น เนวิลล์ เล่าไว้ว่า มีจุดเชื่อมโยงกับช่วงเริ่มต้นสงคราม เพริคลีส (Pericles) ผู้นำคนสำคัญของเอเธนส์(ทั้งในทางการเมืองและอื่นๆ) และเป็นผู้นำเอเธนส์ เข้าสู่สภาวะสงคราม เขามองว่า ฝั่งสปาร์ตา แข็งแกร่งอย่างมากในการรบบนบก ขณะที่เอเธนส์ มีพื้นที่ใกล้ชิดทะเล เอเธนส์ ไม่เพียงมีกำแพงล้อมรอบเมืองเท่านั้น กำแพงยังล้อมรอบไปถึงท่าของเมืองด้วย กลยุทธ์ของเพริคลีส คือใช้กำแพงเป็นเกราะกำบัง พวกเขามีเสบียงเพียงพอ ตราบใดที่พวกเขามีทัพเรืออันเป็นที่เลื่องลือเป็นกำลังสำคัญในการรบ พวกเขาย่อมไม่ได้รับอันตรายใดๆ จากการบุกของสปาร์ตัน เมื่อสปาร์ตัน บุกไม่สำเร็จก็จะเหนื่อยหน่ายไปเอง ขณะเดียวกันพวกเขาจะส่งกองเรืออ้อมไปโจมตีฝั่งตรงข้ามทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรรายเล็กรายน้อยของสปาร์ตา

“300” ยอดนักรบ “ชายรักชาย” ในยุคกรีกโบราณ

ปีแรกของสงครามออกมาในรูปแบบข้างต้น พวกสปาร์ตัน รุกรานมาเรื่อย แต่เมื่อไม่พบอะไรก็เผาพืชผลและจากไป ส่วนทัพเรือของเอเธนส์ ก็ยึดพื้นที่ทะเล และสปาร์ตันกับพันธมิตรก็ไม่กล้าเข้าเผชิญหน้ารบกันทางทะเล ช่วงเวลานั้นฝั่งเอเธนส์ ก็มีสูญเสียกำลังคนบ้างจนปรากฏสุนทรพจน์ของเพริคลีส ซึ่งนักการเมืองสหรัฐฯ ยังหยิบยกไปใช้อย่างวาทะว่า

“นี่คือประชาธิปไตยที่พวกเราต่อสู้เพื่อ นี่คือสิ่งที่เราเตรียมพร้อมเสียสละตัวเองเพื่อมัน”

(เอเธนส์ เป็นนครที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีเสรีภาพมากกว่าสปาร์ตา ซึ่งเป็นเผด็จการทหาร)

แต่หลังจากสุนทรพจน์นี้ผ่านไป โรคระบาดก็ตามมา

โรคระบาดในสงคราม

ทิวซิดิดีส เล่าไปถึงโรคระบาดว่า เป็นโรคระบาดที่เดี๋ยวมาเดี๋ยวไป กินเวลารวมประมาณ 4-5 ปี เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ทิวซิดิดีส บอกเล่าพุ่งเป้าไปยังปีแรกของโรคระบาดมากกว่า เขาชี้ให้เห็นว่ามันส่งผลทุกข์ทรมานอย่างไรบ้าง

สิ่งที่ทิวซิดิดีส บอกเล่าเกี่ยวกับโรคระบาดนั้น ระบุว่าโรคที่ชาวเอเธนส์ พบเจอเป็นสิ่งใหม่และเน้นชัดว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน อีกประการหนึ่งที่พอสังเกตได้คือ หากเกิดระบาดในวงกว้าง ประชากรติดโรคจำนวนมากก็อาจชี้อีกทางว่า พวกเขาไม่เคยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคมาก่อน

ทิวซิดิดีส เล่าว่า โรคเริ่มจากเอธิโอเปีย (ไม่มีคำยืนยันใดๆ ทางวิทยาศาสตร์ เป็นเพียงสิ่งที่ทิวซิดิดีส บอกเล่าสิ่งที่เขาเชื่อ) เขาเล่าว่ามันระบาดเข้าสู่อียิปต์ และแถบชายฝั่งแอฟริกันไปทางตะวันตกมาสู่ลิเบีย (ชื่อเรียกตามพื้นที่ปัจจุบัน)

ทิวซิดิดีส ยังบอกเล่าว่าโรคระบาดส่งผลกระทบต่อ “ดินแดนของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่” (น่าจะหมายถึงเปอร์เซีย) โรคระบาดแพร่ไปทางตะวันออกในเวลาต่อมา แต่ไม่อาจบ่งชี้ได้ว่า ระบาดไปไกลแค่ไหน จากนั้นก็มาถึงตาของเอเธนส์ โรคระบาดแพร่กระจายไปทั่วเอเจียน อย่างน้อยก็มีเกาะแห่งหนึ่งที่โดนระบาดใส่ขณะที่โรคระบาดแพร่กระจายไปตามเส้นทาง และค่อนข้างแน่ชัดว่าเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เอเธนส์ จะพลอยมีโรคระบาดไปด้วยเนื่องจากเอเธนส์ เป็นศูนย์กลางการค้า มีเรือเข้าออกมากมาย

ขณะที่บางพื้นที่ของกรีซโบราณยังเป็นพื้นที่แยกออกมา ส่วนฝั่งสปาร์ตา และพันธมิตรได้รับผลกระทบจากโรคระบาดน้อยมาก พวกเขาไม่โดนระบาดใส่ก็ว่าได้ แต่สำหรับเอเธนส์ ที่เชื่อมต่อกับโลกภายนอก มีประชากรจำนวนมาก หนำซ้ำประชากรยังอยู่แต่ในกำแพงด้วย บริบทแวดล้อมนี้นำมาสู่การระบาดของโรคติดต่อไม่มากก็น้อย

โรคชนิดใด?

หากถามว่าโรคที่ระบาดคือโรคอะไร กรณีนี้เป็นสิ่งที่เกริ่นข้างต้นว่า มีบางจุดที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสงสัย ทิวซิดิดีส เล่าอาการของโรคหลากหลายมากมายจนนักประวัติศาสตร์ (หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์เอง) ยังไม่สามารถฟันธงชี้ชัดว่าเป็นโรคอะไร

เนวิลล์ เล่าว่า บันทึกของทิวซิดิดีส ใส่รายละเอียดทั้งหมดลงไปโดยไม่ได้แยกระหว่างอาการที่บ่งชี้สัญญาณของโรคจากข้อมูลอื่นๆ เบื้องต้นแล้วมีไข้ จากนั้นผู้มีอาการเริ่มจาม เสียงแหบ และไออย่างรุนแรง (ถึงตอนนี้บางคนอาจเริ่มคิดว่าเป็นโควิด-19 หรือไม่ก็เป็นได้)

แต่กล่าวได้ว่า โดยรวมแล้วเริ่มจากอาการในลำคอและเริ่มลงไปที่ปอดและท้อง ผู้ป่วยเริ่มอาเจียนน้ำดี (spewing out bile) มีอาการชัก และอาเจียนแบบไม่มีสารใดออกมา อาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลานาน

ส่วนผิวหนังเริ่มมีจุดแดงพร้อมตุ่มหนอง เกิดแผลเปื่อย ผู้ป่วยจะรู้สึกร่างกายร้อน ไม่สามารถห่มผ้าบางๆ ได้ และอยากสัมผัสน้ำเย็น กระหายน้ำตลอดเวลา กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ หากมีอาการติดต่อกันนานระยะหนึ่งก็จะเริ่มส่งผลต่อแขนขา มีแนวโน้มเนื้อนิ้วมือและเท้าเน่า แผลเปื่อยอย่างรุนแรง ถ่ายเหลว ท้องร่วง

แต่น่าสนใจว่า ทิวซิดิดีส ก็ป่วยและรอดชีวิต นอกเหนือจากผู้บันทึกบอกเล่าแล้วก็มีบางรายรอดชีวิตด้วย

ทิวซิดิดีส เล่าว่า สิ่งที่โรคร้ายส่งผลกระทบประการหนึ่งคือ การที่ผู้คนหมดหวัง เขาเล่าว่า ผู้คนจะมองว่าพวกเขาหมดหวังแล้ว ยาใดๆ ล้วนไม่มีผล ไม่มีใครหาวิธีรักษาได้ และไม่มีใครพบการรักษาที่ได้ผลกับทุกคน เชื่อว่า อาจมีบางคนที่พบวิธีทำให้อาการบรรเทาลง แต่เมื่อไปทดลองกับคนอื่นกลับไม่ได้ผล ขณะที่แพทย์คือผู้ที่ติดโรคมากกว่าผู้อื่นเพราะต้องรักษาผู้มีอาการ ส่วนศาสนาและความเชื่อก็ไม่ได้ผลเช่นกัน

ทิวซิดิดีส ไม่ได้เล่าว่า รัฐรับมือกับโรคนี้อย่างไร แต่โดยรวมแล้ว เนวิลล์ อธิบายว่า การรับมือโรคสมัยโบราณจะมีการสังเวย สันนิษฐานว่า ผู้คนส่วนมากเวลานั้นเชื่อว่า โรคระบาดถูกส่งมาโดยเทพเจ้า โรคระบาดคือเทพอพอลโล ยิงธนูมาปักโดน (อีเลียด ของโฮเมอร์ เล่าว่าแคมป์กรีกมีโรคระบาด และบอกว่าเป็นฝีมืออพอลโล ที่เดือดดาลเพราะอกาเมนนอน)

เนวิลล์ มองว่า สิ่งที่ทางการน่าจะกังวลที่สุดในสมัยนั้นคือการจัดการร่างของผู้เสียชีวิตมากกว่า ประเด็นนี้คืออีกหนึ่งข้อที่ทิวซิดิดีส เล่าถึงผลกระทบของโรค ทิวซิดิดีส ไม่ได้เล่าสภาพแบบชัดเจน แต่นักโบราณคดีพบหลุมศพขนาดใหญ่ในภายหลังอันเป็นหลุมที่ตรงกับช่วงเวลานั้น และแสดงให้เห็นว่าผู้คนสมัยนั้นยังไม่มีระบบจัดการร่างผู้เสียชีวิตจากโรคแบบเหมาะสม ผู้คนไม่อยากจัดงานศพแบบเหมาะสม พวกเขาจะหาฟืนและไม้จากงานศพของคนอื่น จากนั้นก็วางศพที่จะจัดการไว้ด้านบนต่อ หรือไม่ก็หาซากฟืนและไม้ที่กำลังอยู่ระหว่างเผาอยู่แล้วแทรกศพที่จะจัดการลงไป แต่สภาพนี้ก็ไม่มีหลักฐานพอจะบ่งชี้ว่าเป็นรัฐหรือคนทั่วไปทำ

โรคที่เป็นไปได้?

หากวิเคราะห์เบื้องต้นจากอาการของโรค เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของการที่ทิวซิดิดีส บันทึกไว้ มีความเป็นไปได้ 2 ชนิดที่โรคระบาดในเอเธนส์ จะเป็นโรคเหล่านี้ในยุคโมเดิร์น คือ ไข้ทรพิษ กับโรคไข้รากสาดใหญ่

แต่หากพิจารณาจากระเบียบวิธีสมัยใหม่ อาทิ นิติเวชทางมานุษยวิทยา, ประชากรศาสตร์, ระบาดวิทยา รวมถึงการวิเคราะห์ดีเอ็นเอแล้ว การระบาดในบันทึกของทิวซิดีดีส มีข้อน่าสงสัย

จากการสร้างโมเดลตัวอย่างผ่านการคำนวณทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับอัตราการติดเชื้อและผู้มีอาการ ประกอบกับการจำลองระยะเวลาว่า เชื้อโรคใช้เวลาแพร่กระจายจากเมืองสู่เมืองนานแค่ไหน และระบาดในพื้นที่หนึ่งได้นานเพียงใด ทำให้มองว่า โรคทั้ง 2 กลุ่มมีความเป็นไปได้น้อยที่จะเป็นโรคต้องสงสัยในสมัยนั้น

งานวิจัยหยิบยกผลการขุดค้นพบหลุมศพขนาดใหญ่เมื่อปี 2001 ที่เชื่อว่าเป็นหลุมของผู้เสียชีวิตในช่วงที่เกิดการระบาดในบันทึก ทีมงานสามารถสกัดจุลินทรีย์ไทฟอยด์ (Salmonella enterica serovar Typhi) จากกระดูกกะโหลก 3 ชิ้น แต่เนื่องด้วยโรคไทฟอยด์เป็นโรคระบาดทั่วไปในกรีก จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นสาเหตุของโรคระบาดลุกลามในครั้งนั้น

มีคำถามที่น่าสนใจข้อหนึ่งว่า ไฉนโรคนี้ไม่ระบาดไปถึงฝั่งสปาร์ตา และพันธมิตร เนวิลล์ อธิบายว่า ไม่มีข้อมูลใดเกี่ยวกับโรคระบาดในฝั่งสปาร์ตา ปรากฏเพียงแค่ข้อกล่าวอ้างที่บอกว่ากระทบสปาร์ตา เล็กน้อยเท่านั้น และน่าจะสืบเนื่องมาจากสปาร์ตา เป็นชนที่นิยมการแยกอยู่อย่างโดดเดี่ยว ชาวสปาร์ตัน ไม่ได้ทำการค้าขาย เท่าที่มีข้อมูล พวกเขาเป็นกลุ่มที่พึ่งพาตนเอง ถ้าจะพบชาวสปาร์ตัน ได้ก็ต้องบนสมรภูมิ โดยทั่วไปแล้วไม่ค่อยได้เผชิญหน้ากับสปาร์ตัน ในตลาดการค้าแถบเอเจียน แต่นี่เป็นเพียงสันนิษฐานเท่านั้น เหตุผลตามความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้นทั้งหมดก็ได้หากพิจารณาร่วมกับกรณีโครินเธียนส์ อีกหนึ่งพันธมิตรของสปาร์ตา ซึ่งแข็งแกร่งในการรบทางเรือและเป็นมหาอำนาจอีกรายในทางการค้า ทิวซิดิดีสก็บอกว่า โครินเธียนส์ ไม่ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน

สงครามท่ามกลางโรค

เมื่อเกิดโรคระบาดท่ามกลางสงครามแล้ว ดูเหมือนว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังพุ่งเป้าก็คือ ทำสงครามอยู่ดี พวกเขายังไม่มีท่าทีขอสงบศึก ไม่ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การรบ จนกระทั่งเพริคลีสติดโรคระบาดและเสียชีวิตลง ซึ่งการสูญเสียแบบนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่

ในภาพรวมแล้ว นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดไม่น่าจะกระทบต่อกลยุทธ์การรบ แต่เป็นการเสียชีวิตของเพริคลีส มากกว่าที่กระทบต่อกลยุทธ์ นำมาซึ่งสภาพเมืองเอเธนส์ แบบที่ไม่สามารถควบคุมได้ กระหาย นิยมความรุนแรง ซึ่งนำมาสู่กลยุทธ์ที่ไม่เหมาะสม

น่าเสียดายที่ทิวซิดิดีส ไม่ได้เอ่ยถึงทางการของเอเธนส์ ว่าพวกเขาทำอย่างไรต่อ แต่เนวิลล์ สันนิษฐานว่า ในเวลานั้น ทางการเอเธนส์ก็คงไร้หนทางเหมือนคนอื่นๆ

เนวิลล์ คาดว่า เพริคลีส น่าจะติดโรคหลังผ่านปีแรกของสงครามไปแล้ว เนื่องจากทิวซิดิดีส เล่าถึง ปีแรกแล้วกระโดดไปเอ่ยถึงเพริคลีส ที่เอ่ยสุนทรพจน์ปกป้องการวางกลยุทธ์ของตัวเอง (ใช้กำแพงเมืองกำบัง และอาศัยความแข็งแกร่งทัพเรือกระจายออกไปเล่นงานฝั่งตรงข้าม) ซึ่งถูกวิจารณ์ จากนั้นเขาติดโรคและเสียชีวิตลง ทิวซิดิดีส ยังสดุดีผู้นำรายนี้อยู่บ้างเมื่อเอ่ยถึงการปกครองของเขา

เมื่อผู้นำเสียชีวิตลง โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ เล่าว่า ผู้นำคนใหม่ของเอเธนส์ ไม่มีความสามารถและบารมีเหมือนกับเพริคลีส จนเอเธนส์แตกออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ประชาธิปไตยและนิยมเผด็จการ

ทิวซิดิดีส เอ่ยถึงอิทธิพลของเพริคลีส ว่า “ในเวลานี้ เอเธนส์เป็นประชาธิปไตยในนาม แต่ที่จริงแล้วอยู่ภายใต้การสั่งการของผู้นำสูงสุด (the first man)” นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเพริคลีส ที่สามารถโน้มน้าวใจประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ เขาสั่งการว่าให้ใครทำอะไรและพวกเขาก็ทำตาม แต่เมื่อผู้นำรายนี้จากไปก็ไม่มีใครเทียบเท่าเขามาสานต่อ

เมื่อเป็นเช่นนี้ นักประวัติศาสตร์มองว่า สิ่งที่ชาวเอเธนส์ทำในเวลาต่อมาคือ ออกไปเผชิญหน้ากับสปาร์ตา ซึ่งเดิมทีแล้วมีชาวเอเธนส์จำนวนไม่น้อยเริ่มหงุดหงิดจากที่ต้องนั่งมองพืชผลของพวกเขาถูกทำลายและถูกบอกให้ฟังว่า “ไม่ต้องห่วง นี่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมนะ”

บทเรียนจากการรบของเอเธนส์ หลังยุคเพริคลีส

กลยุทธ์ของชาวเอเธนส์ เริ่มเปลี่ยนไปหลังยุคเพริคลีส กล่าวคือ เริ่มมองหาจุดที่โจมตีสปาร์ตา และพันธมิตรมากกว่าเดิม แต่ที่ยังคงรักษาอยู่คือใช้กำแพงเมืองเป็นเครื่องกำบังทางบก และไม่เผชิญหน้ารบกับสปาร์ตันบนแผ่นดิน นี่เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยน ทิวซิดิดีส เล่าว่า กลยุทธ์นี้เป็นผลให้เอเธนส์ รบชนะหลายครั้ง

เอเธนส์ ได้ชัยที่ยุทธการสแปคทีเรีย จับเชลยสปาร์ตัน ได้หลายร้อยคน ในช่วงนี้เอเธนส์ ถือไพ่เหนือกว่าหลายด้าน ข้อผิดพลาดของเอเธนส์คือพวกเขาได้ใจ ประมาทเกินไป และเริ่มออกสำรวจซึ่งจุดนี้แปรเปลี่ยนจากได้เปรียบกลายเป็นหายนะ

มุมมองของทิวซิดิดีส ต่อสงครามครั้งนี้ส่วนหนึ่งคือมองว่าการสูญเสียเพริคลีส คือจุดเปลี่ยน ชาวเอเธนส์ ที่ไร้มือวางแผนจะเป๋เพราะความทะเยอทะยานและความแค้นเคืองของตัวเอง

เวลาต่อมา เอเธนส์ ภายใต้การนำของ “ทิวซิดิดีส” พ่ายแพ้ที่แอมฟิโปลิส ผลของความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้พวกนิยมเผด็จการยึดอำนาจในเอเธนส์ ภายหลังเอเธนส์ เจรจาสงบศึกกับสปาร์ตา แต่หลังจากนั้นยังคงมีปะทะกันประปรายและเกิดศึกในมหาสงครามครั้งนี้อีก 2 ช่วงต่อมา และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเอเธนส์ ซึ่งทำให้พวกเขาถูกลดอำนาจ อยู่ภายใต้อำนาจของสปาร์ตา

มหาสงครามครั้งนี้ปรากฏข้อถกเถียงอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ มีคนพูดถึงความเสียหายในสงครามครั้งนี้ว่า สิ่งที่เสียหายมากที่สุดของเอเธนส์ คือประชาธิปไตย

โดยภายหลังความพ่ายแพ้ เอเธนส์ ถูกกลุ่มคณาธิปไตย (สนับสนุนฝั่งสปาร์ตา) ขึ้นมาปกครอง หรือที่รู้จักกันในนาม “30 ทรราช” (Thirty Tyrants) แม้ว่าภายหลังจะเกิดรัฐประหารโดย Thrasybulus ผู้นิยมประชาธิปไตยซึ่งไม่ยอมรับว่าความพ่ายแพ้ของเอเธนส์ คือจุดจบของประชาธิปไตยในเอเธนส์) เอเธนส์ พ้นจากอำนาจของสปาร์ตา และกลับมาปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอีก แต่ก็ไม่เจริญรุ่งเรืองดังเดิม เป็นเอเธนส์ ยุคนี้ที่ตัดสินประหารชีวิตโซเครติส (Socrates)

กรีซในยุคนั้นกลายเป็นสปาร์ตาครองอำนาจ อีกหลายทศวรรษต่อมานครรัฐมาซิโดเนียคือฝ่ายที่พิชิตกรีซได้ทั้งหมด นำมาสู่ยุคพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช

มีการวิเคราะห์กันว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เอเธนส์ มาสู่จุดเปลี่ยนคือ พวกเขาละทิ้งคุณค่าและธรรมเนียมของพวกเขา (ในเชิงการปกครองประชาธิปไตย) หากไม่มีความยึดมั่นเชื่อมั่นในคุณค่าของมันแล้ว ย่อมนำมาสู่ “บทสนทนาของชาวมีเลียน” (Melian Dialogue)

บทสนทนานี้ปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์โดยทิวซิดิดีส เป็นบทสนทนาระหว่างเอเธนส์ กับฝั่งเกาะมีลอส (Melos) ซึ่งวางตัวเป็นกลางในช่วงมหาสงครามเพโลพอนนีเซียน (แม้มีหลักฐานทางโบราณคดีในเวลาต่อมาว่าระหว่าง 428-425 ก่อนคริสตกาล ชาวมีเลียนสนับสนุนทุนให้สปาร์ตา)

ราว 426 ก่อนคริสตกาล (หลังผ่านช่วงแรกของสงครามที่เกิดโรคระบาดและเอเธนส์ สูญเสียเพริคลีสไปแล้ว) เอเธนส์ ยกทัพไปบุกเกาะมีลอส โดยเอเธนส์ไม่ยอมรับความเป็นกลางและให้เลือกว่าถ้าไม่อยู่กับเอเธนส์ ก็ต้องตาย บทสนทนาในบันทึกท่อนหนึ่งปรากฏใจความว่า

“เอเธนส์ : ลืมพระเจ้าไปเสียเถอะ เรื่องของเรื่องคือมันเกี่ยวกับอำนาจและความเข้มแข็ง เราแข็งแกร่งกว่าคุณ ดังนั้น คุณต้องทำตามที่เราบอก”

ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร บันทึกบทสนทนาของทิวซิดิดีส น่าจะต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจเกินเหตุและความหยิ่งยโสของเอเธนส์ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ชาวเอเธนส์อาจไม่ได้คิดแบบนี้ทั้งหมด แต่มีคนที่คิดแบบนี้มากพอลงมติให้โจมตี ซึ่งเนวิลล์ มองว่า ประชาธิปไตยที่ไม่ผ่านการควบคุมไตร่ตรองให้ดีมีแนวโน้มทำในสิ่งที่ดูแล้วไร้ซึ่งไหวพริบ

 


อ้างอิง

Katherine Kelaidis. “What the Great Plague of Athens Can Teach Us Now”. The Atlantic. Online. Published 23 MAR 2020. Access 7 APR 2020. <https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2020/03/great-plague-athens-has-eerie-parallels-today/608545/>

Littman RJ. “The plague of Athens: epidemiology and paleopathology”. Mt Sinai J Med. 2009 OCT;76(5):456-67. Online. Access 7 APR 2020. <https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19787658?fbclid=IwAR01rcsVYBbcqLw2lS5uE3N1APlQO81ItHB7pj6El8NZzQNdskzBtd5FahU>

NEVILLE MORLEY, RYAN EVANS. “THE PLAGUE AND THE PELOPONNESIAN WAR”. War On The Rocks. Online. Published 23 MAR 2020. Access 7 APR 2020. <https://warontherocks.com/2020/03/the-plague-and-the-peloponnesian-war/>

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. กับดักทิวซิดิดีส (Thucydides). มติชน. ออนไลน์. เผยแพร่ 11 เมษายน 2561. เข้าถึง 7 เมษายน 2563. <https://www.matichon.co.th/columnists/news_910236>


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 26 กันยายน พ.ศ.2563