ที่มาตำแหน่ง “เจ้าชายแห่งเวลส์” ถึงการเมืองเบื้องหลังการสถาปนา “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์”

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ และผลการค้นหา ผลการค้นเว็บเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ในพระราชพิธีสถาปนาเจ้าชายแห่งเวลส์ เมื่อ ค.ศ. 1969 (Photo by - / CENTRAL PRESS / AFP)

เจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) มักเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นตำแหน่ง “รัชทายาท” ของกษัตริย์อังกฤษ (และสหราชอาณาจักร) ตำแหน่งนี้มีที่มาอย่างไร สะท้อนความสัมพันธ์เวลส์กับอังกฤษอย่างไร

ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า “สหราชอาณาจักร” หรือชื่อเต็มคือ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland) ที่มักจะเรียกกันติดปากว่า “อังกฤษ” นั้น ประกอบขึ้นจากรัฐทั้งสี่ คือ อังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์

ย้อนกลับไปในสมัยที่ยังไม่ได้รวมตัวกันเป็นสหราชอาณาจักร ในยุคหลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลาย กลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ บนเกาะอังกฤษและไอร์แลนด์ช่วงชิงดินแดนและอำนาจกันเรื่อยมา ในเวลส์เกิดเป็นแว่นแคว้นน้อยใหญ่ ในบางช่วงเวลาแตกออกเป็น 3 อาณาจักรคือ อาณาจักรกวีนเนดด์ (Gwynedd) อาณาจักรพาววีส (Powys) และอาณาจักรเดฮีอูบาร์ธ (Debeubarth) แม้จะสามารถรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นได้ในระยะหนึ่ง แต่ก็กลับมาแตกแยกเป็นแว่นแคว้นต่าง ๆ อีกครั้ง

แม้จะไม่ตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษโดยตรง แต่ดินแดนเวลส์ตกอยู่ใต้อิทธิพลจากอังกฤษมาโดยตลอด เมื่อถึงศตวรรษที่ 13 กษัตริย์ในดินแดนเวลส์ถูกลดฐานะเป็นเพียงเจ้าฟ้าชาย และบางองค์เป็นเพียงลอร์ดหรืออัศวินเท่านั้น และแต่ละพระองค์ต้องยอมสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์แห่งอังกฤษ

จุดเริ่มต้นของการพิชิตเวลส์เริ่มจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1272-1307) กษัตริย์แห่งอังกฤษ ทรงบังคับให้ Llywelyn ap Gruffudd ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ทั้งปวง ต้องยอมรับพระองค์เป็นเจ้าเหนือหัว แต่ Llywelyn ทรงปฏิเสธ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 จึงทรงยกทัพบุกเวลส์เมื่อ ค.ศ. 1277

ทว่า เจ้าชายแคว้นต่าง ๆ ในเวลส์ส่วนใหญ่ไม่ได้ยินยอมร่วมมือกับ Llywelyn แต่กลับเข้าร่วมกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 รวมถึง Dafydd ap Gruffudd ผู้เป็นพระอนุชาของ Llywelyn เอง ไม่นานพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงพิชิตเวลส์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ทรงประนีประนอมด้วยการให้ Llywelyn ดำรงตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ต่อไป ไม่นานจากนั้น Llywelyn และ Dafydd ได้กลับมารวมมือกันแข็งข้อต่ออังกฤษอีกครั้ง แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างรวดเร็ว

Llywelyn สิ้นพระชนม์ในสงคราม Dafydd ถูกตัดสินประหารชีวิต นับแต่ ค.ศ. 1277 เวลส์จึงตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษโดยสมบูรณ์ เจ้าชายแห่งเวลส์ ที่เป็นชาวเวลส์ จึงสิ้นสุดลงนับแต่นั้น

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงปรับเปลี่ยนตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ให้กลายเป็นตำแหน่งของเจ้าชายอังกฤษ ตำนานเล่ากันว่า เมื่อแรกประสูติเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด (ภายหลังครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2) พระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ณ ปราสาทคาร์นาร์วอน (Caernarfon Castle) เมื่อ ค.ศ. 1284 นั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ได้อุ้มพระราชโอรสมายังหอคอยของปราสาท แล้วมีพระราชดำรัสต่อหน้าขุนนางชาวเวลส์ว่า “Here is your new Prince of Wales”

แต่การสถาปนาเจ้าชายแห่งเวลส์มีขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1301 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงสถาปนาเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระชนมพรรษา 17 พรรษา เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์อย่างเป็นทางการ ณ ปราสาทคาร์นาร์วอน เรียกพิธีนี้ว่า “พิธีอินเวสติเชอร์” (The Investiture) ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประการหนึ่ง อันแสดงให้เห็นว่าอังกฤษมีอำนาจเหนือเวลส์ และนับแต่นั้นมาจึงกลายเป็นธรรมเนียมว่า กษัตริย์อังกฤษจะทรงสถาปนารัชทายาทให้ดำรงตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์

พิธีสถาปนาเจ้าชายแห่งเวลส์ที่ปราสาทคาร์นาร์วอนนี้มิได้กระทำขึ้นในทุกรัชกาล หลังจาก ค.ศ. 1301 แล้ว ได้ประกอบพิธี ณ ปราสาทนี้อีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1911 ในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงสถาปนาเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระราชโอรสองค์โตเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ (ภายหลังครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8)

และครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 ในรัชสมัยของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสถาปนาเจ้าชายชาร์ลส์ (ปัจจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3) พระราชโอรสองค์โต เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์

พระราชพิธีสถาปนาเจ้าชายแห่งเวลส์ เมื่อ ค.ศ. 1969 (Photo by – / CENTRAL PRESS / AFP)(Photo by AFP / AFP)

อย่างไรก็ตาม รัชทายาททางนิตินัยมีความสำคัญมากกว่าตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ เพราะรัชทายาทที่ได้ขึ้นครองราชย์หลายพระองค์ก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์มาก่อน เช่น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 (ครองราชย์ ค.ศ. 1660-1685) ไม่เคยได้รับการสถาปนาเป็นจ้าชายแห่งเวลส์อย่างเป็นทางการ หรือพระเจ้าจอร์จที่ 6 (พระราชบิดาในพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ครองราชย์ ค.ศ. 1936-1952) ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อดำรงตำแหน่งดยุคแห่งยอร์ก (Duke of York) เนื่องจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ผู้เป็นพระเชษฐาสละราชย์สมบัติ

และแม้แต่พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ไม่เคยดำรงตำแหน่ง “เจ้าหญิงแห่งเวลส์” แต่อย่างใด เพราะตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์สงวนไว้เฉพาะบุรุษ ส่วนเจ้าหญิงแห่งเวลส์เป็นตำแหน่งของพระชายาในเจ้าชายแห่งเวลส์ (เช่น เจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ อดีตพระชายาในเจ้าชายแห่งเวลส์พระองค์ปัจจุบัน)

หลังจากรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 เป็นต้นมานั้น มีกษัตริย์เพียง 12 พระองค์เท่านั้นที่เคยทรงดำรงตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์มาก่อน ได้แก่ พระเจ้าริชาร์ดที่ 2, พระเจ้าเฮนรีที่ 5, พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5, พระเจ้าเฮนรีที่ 8, พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6, พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1, พระเจ้าจอร์จที่ 2, พระเจ้าจอร์จที่ 3, พระเจ้าจอร์จที่ 4, พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7, พระเจ้าจอร์จที่ 5, และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8

อย่างไรก็ตาม พระราชพิธีการสถาปนาเจ้าชายแห่งเวลส์ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการต่อเนื่องถึงสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ใช่พระราชพิธีสำคัญนัก มักจะกระทำโดยไม่เอิกเกริก กระทำที่อาคารรัฐสภาบ้าง หรือสถาปนาในคราวเดียวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกบ้าง พระราชพิธีการสถาปนาเจ้าชายแห่งเวลส์พึ่งจะกลายเป็นรัฐพิธีสำคัญเมื่อศตวรรษที่ 20 นี้เอง และมีเหตุผลสำคัญทางการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทั้งพระราชพิธีใน ค.ศ. 1911 และ ค.ศ. 1969 มีขึ้นในช่วงเวลาที่แนวคิดชาตินิยมเวลส์กำลังพุ่งสูง สำหรับพระราชพิธีครั้งนั้น มีเหตุสืบเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนในหุบเขา Tryweryn ในดินแดนเวลส์ เพื่อผันน้ำสำหรับใช้ในเมืองลิเวอร์พูล (Liverpool) ของอังกฤษ ซึ่งกลุ่มชาตินิยมเวลส์ไม่พอใจเรื่องนี้มาก โดยเห็นว่าเป็นการนำทรัพยากรของเวลส์ไปให้อังกฤษ

พระราชพิธีสถาปนาเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ ใน ค.ศ. 1969 นั้นรัฐบาลสมัยนั้นต้องการให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เข้าไปฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับเวลส์ โดยทรงเข้าศึกษาชั่วคราวที่ University of Aberystwyth ทรงศึกษาภาษาและวัฒนธรรมเวลส์ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนพระราชพิธีสถาปนาเจ้าชายแห่งเวลส์ อย่างไรก็ตาม พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชทานตำแหน่ง “เจ้าชายแห่งเวลส์” เพื่อพระเกียรติยศแก่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1958 แล้ว

รัฐบาลได้ใช้พระราชพิธีการสถาปนาเจ้าชายแห่งเวลส์เป็นเครื่องมือในการลดอิทธิพลแนวคิดชาตินิยม ในแง่หนึ่งแม้กลุ่มชาตินิยมเวลส์มองว่า พระราชพิธีนี้เป็นสัญลักษณ์ของการยึดครองเวลส์โดยอังกฤษมานานหลายศตวรรษ แต่อีกด้านหนึ่งชาวเวลส์กลุ่มกษัตริย์นิยมหรือกลุ่มนิยมอังกฤษก็มีเสียงตอบรับต่อพระราชพิธีนี้ไปในทางบวก

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ มีพระราชดำรัสในพระราชพิธีวันนั้นว่า

“I, Charles, Prince of Wales, do become your liege man of life and limb and of earthly worship and faith and truth I will bear unto thee to live and die against all manner of folks.”

นับตั้งแต่บัดนั้นมา เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ เป็นเวลากว่า 64 ปี ก่อนขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุปราณี มุขวิชิต. ประวัติศาสตร์อังกฤษและราชวงศ์. โอเดียนสโตร์, 2549.

https://www.britannica.com/place/Wales

http://www.englishmonarchs.co.uk/prince_wales.html

https://www.historyextra.com/period/20th-century/charles-prince-wales-investiture-caernarfon-castle-50-years-welsh-nationalism-what-happened/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2563