“ทูตอเมริกัน” สมัย ร.4 เผย เจรจากับ “สยาม” ควรพาเรือปืนมาด้วยจะได้ไม่เสียเวลา

เทาเซนด์ แฮรีส (by James Bogle, 1855)

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงที่ไทย (หรือที่เรียกกันว่า “สยาม” ในสมัยนั้น) เปิดรับสัมพันธ์กับต่างชาติอย่างกว้างขวาง และเทาเซนด์ แฮรีส (Townswnd Harris) นักการทูตอเมริกันที่มีคนเอาเรื่องราวของเขาไปทำเป็นภาพยนตร์จนโด่งดัง ก็เดินทางมาในช่วงนี้ เพื่อขอเจรจาทางการค้ากับไทย

แฮรีส ไม่ใช่ผู้แทนจากสหรัฐฯ ที่เข้ามาเจรจากับไทยเป็นรายแรก เขาได้รับหน้าที่ให้มาเจรจาแก้ไข “สนธิสัญญาโรเบิร์ต” ที่ทำขึ้นในปี พ.ศ. 2376 โดย เอ็ดมันด์ โรเบิร์ต ผู้แทนของสหรัฐฯ ในครั้งนั้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ให้สหรัฐฯ ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับอังกฤษที่ได้รับจาก “สนธิสัญญาเบาริ่ง”

ผู้แทนสหรัฐฯ รายนี้เดินทางเข้ามาถึงสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาในวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน 2399 เมื่อได้เห็นบรรยากาศบ้านเมืองไทยในสมัยนั้น เขาก็รู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับสภาพแวดล้อมที่เขาเคยประสบในประเทศจีน หรืออินเดีย ดังที่เขาบรรยายว่า

“2-3 ไมล์เหนือปากน้ำขึ้นมาจะเริ่มเห็นบ้านชนบทของไทย โดยทั่วไปแล้ว บ้านเหล่านี้ดูเรียบร้อยและสะอาดตามาก และดีกว่าบ้านของชาวชนบทในอินเดีย จีน และโดยเฉพาะบ้านของชาวมลายูมาก. บ้านมีเสาหลายต้น สูงเหนือพื้นดิน 6 ฟุต ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยทำให้อุณหภูมิของอากาศแห้งมากขึ้นเท่านั้น. ยังช่วยทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านปลอดภัยจากแกสกรดคาร์โบนิก หรือไข้มาเลเรีย

แฮรีส ได้พบปะกับข้าราชการระดับสูงและเจ้านายไทยหลายพระองค์ เขาได้แสดงความชื่นชมในความสามารถของทั้งข้าราชการ และเจ้านายโดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แฮรีสมักเรียกว่า “พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สอง” ดังความในบันทึกของเขาที่กล่าวว่า

“ศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2399 (ภายหลังวันที่ได้เข้าเฝ้าถวายสาส์นของประธานาธิบดีอเมริกันแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเป็นทางการ ณ ท้องพระโรงในพระบรมมหาราชวังแล้ว) เทาเซนด์ แฮรีสได้ ‘ไปพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สอง มีการยิงสลุด 21 นัด. บรรดาทหารของพระองค์อยู่ในระเบียบวินัยดียิ่งกว่าพวกทหารของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่หนึ่งเสียอีก บางคนแต่งกายในแบบยุโรป มีทหารองครักษ์นำหน้าเรา และเป็นทหารที่ฝึกมาแล้วอย่างดีที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็น ปืนใหญ่สนามที่ใช้ในการยิงสลุตก็ได้รับการดูแลรักษาอย่างงดงาม.’”

แต่เมื่อต้องพูดถึงการเจรจากับทางการไทย แฮรีส ก็เริ่มมีน้ำเสียงเปลี่ยนไป เพราะทางสยามต้องการให้สนธิสัญญากับสหรัฐฯ มีเนื้อหาบางประการแตกต่างไปจากสนธิสัญญาที่ทำกับอังกฤษ แต่ แฮรีส ยืนยันว่า ทางสหรัฐฯ จะต้องได้สิทธิโดยอาศัยสนธิสัญญาเบาริ่งเป็นบรรทัดฐานเท่านั้น นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังใช้เวลาหลายวันในการเจรจาในรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ใช่สาระสำคัญของสนธิสัญญา (เช่น ถ้อยคำที่ควรใช้ในอารัมภบท) ทำให้ แฮรีส เหลืออดจนต้องระบายลงในบันทึกประจำวันว่า

“หวังว่าข้าพเจ้าจะไม่ถูกส่งมาที่นี่อีก หนทางอันถูกต้องเพื่อการเจรจากับไทย คือส่งเรือรบ 2 หรือ 3 ลำ ขนาดกินน้ำลึกไม่เกิน 16 ฟุตมา ให้เรือมาถึงในเดือนตุลาคมและแล่นขึ้นมายังกรุงเทพฯ ทันที แล้วก็ยิงสลุต. ด้วยวิธีนี้ สนธิสัญญาคงจะไม่ต้องการเวลาหลายวันมากกว่าที่ข้าพเจ้าต้องใช้เวลาหลายๆ สัปดาห์อยู่นี้”

แต่การเจรจากับไทยก็จบลงด้วยดี สิ้นเดือนพฤษภาคม แฮรีสก็เตรียมตัวเดินทางต่อไปยังญี่ปุ่น เพื่อรับตำแหน่งกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่นเป็นคนแรก ซึ่งเขาต้องใช้เวลาในการเจรจาต่อรองนานถึง 18 เดือน กว่าที่โชกุนจะยอมให้เขาเข้าพบ และใช้เวลาอีก 4 เดือนในการเจรจา จนบรรลุผลสำเร็จในปี 2401 ก่อนที่เขาจะเดินทางกลับสหรัฐฯ ในอีก 3 ปี ถัดมา

ซึ่งในช่วงเวลาที่เขาอยู่ในญี่ปุ่นนี่เอง ที่มีข่าวลือว่าเขามีสัมพันธ์กับเกอิชาวัย 17 ปี จนมีคนนำเรื่องนี้ไปทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง “The Barbarian and the Geisha” แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีมูลความจริง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“เมืองไทยในความรู้สึกของ เทาเซนด์ แฮรีส” โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ธันวาคม 2559