สถาปัตยกรรมแรกมีโรงพยาบาลในโลก แรกมีโรงพยาบาลในไทย

ด้านหน้าของตึกอำนวยการโรงพยาบาลศิริราช สมัย 2 ชั้น (ขอบคุณภาพจากเพจ Siriraj Museum - พิพิธภัณฑ์ศิริราช)

ถ้าให้บรรยายหน้าตาของ “โรงพยาบาล” หลักที่เราจะเอ่ยถึงมีอะไร ห้องฉุกเฉินที่มีรถเข็นและเตียงเตรียมพร้อมสำหรับผู้ป่วย, โอพีดีที่มีเก้าอี้นั่งจำนวนมากสำหรับผู้ป่วยและญาติ, ห้องยาที่ระบบยืนยันชื่อและนามสกุลผู้ป่วยทุกครั้งก่อนจ่ายยาเพื่อลดความเสี่ยง ฯลฯ นั่นคือหน้าตาของโรงพยาบาลในวันนี้

แล้วโรงพยาบาลในอดีตเป็นอย่างไร หนังสือ “ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย” รวบรวมข้อมมูลเกี่ยวกับเรื่องไว้ว่าเป็นคำตอบให้ได้ทราบกันทั้งในระดับโลก และในเมืองไทย

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ไม่ได้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อใช้เป็นที่หลบภัยธรรมชาติ หากยังมีการก่อสร้างสถานที่สำหรับการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้า ซึ่งมักใช้เป็นที่รักษาเยียวยาผู้คน เป็นสถานพยาบาลไปในตัวด้วย

ในอารยธรรมอียิปต์มีการสร้างเทวสถานของเทพอิมโฮเตป (Imhotep) เทพเจ้าแห่งการเยียวยา ขณะที่อารยธรรมกรีกมีเทวสถานของแอสคลีพิอุส (Asclepius) เทพแห่งการรักษาโรค ในเมืองเอพิดอรัสเป็นสถานที่ที่ผู้ป่วยเดินทางมาเพื่อรับการรักษาพยาบาล ซึ่งมีห้องสำหรับผู้มาพักอาศัยถึง 160 ห้อง  ส่วนอาณาจักโรมัน โบสถ์และวิหารที่สร้างขึ้นมีสถานที่สำหรับรับรองผู้แสวงบุญที่ต้องการพักอาศับและเยียวยารักษา ที่เรียกว่า Hospitaium โดยผังของอาคารเป็นรูปไม้กางเขน เพื่อให้ผู้ที่มาพักอาศัยภายในสามารถสักการะและรับพลังการเยียวยาของพระเจ้าได้จากทุกทิศ

ต่อมาเมื่อยุโรปเข้าสู่ยุคฟื้นฟูวิทยาการ เกิดการค้นพบความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ในทางการแพทย์ก็เช่นกัน วิธีการรักษาพยาบาลด้วยทฤษฎี, ยา, เครื่อง และเทคนิคใหม่ๆ ก็เกิดขึ้น  สถานพยาบาลที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาจักรน้อยลง จนเมื่อเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดการขยายตัวของสังคมเมือง จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขาภิบาล อันนำไปสู่การเกิดโรคระบาดต่าง เช่น วัณโรค, อหิวาตกโรค ฯลฯ โรงพยาบาลในเวลานั้นจึงมีสภาพแออัด ในที่สุดก็เกิดการปฏิรูปการออกแบบโรงพยาบาล

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล มีส่วนสำคัญผลักดันการปฏิรูปการออกแบบโรงพยาบาล ด้วยแนวคิดใหม่ในการออกแบบโรงพยาบาลที่เรียกว่า Pavilion Plan ซึ่งพยายามลดความแออัด และสร้างการไหลเวียนของอากาศ เพื่อที่ช่วยลดอัตราการติดเชื้อโรคในโรงพยาบาล โดยจัดเตียงผู้ป่วยแยกออกจากกันเป็นแนวยาว มีทางเดินเชื่อมต่อ ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี

สำหรับสยาม สมัยกรุงศรีอยุธยา บาทหลวงฝรั่งเศสและคณะมิชชันนารีสร้างโรงพยาบาลขนาดเล็กขึ้นใน พ.ศ. 2212  ซึ่งตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (และปิดลงเมื่อสิ้นแผ่นดินพระองค์) ต่อมาเมื่อมีวิทยาการสมัยใหม่ก็มีการสร้างโรงพยาบาลขึ้นเช่นกัน ใน พ.ศ. 2423  องค์กรมิชชันนารีได้สร้างโรงพยาบาลของมิชชันนารี เพชรบุรี ที่จังหวัดเพชรบุรี

ต่อมาใน พ.ศ. 2431 ทางการได้สร้างโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่สร้างโดยชาวไทย ประกอบด้วยที่ทำการโรงพยาบาล, ที่ผสมยา, โรงครัว และอาคารไม้มุงจาก 4 หลัง สำหรับผู้ป่วยพักค้างประมาณ 50 คน

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองการ คณะราษฎรได้ผลักดันให้มีการสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดชายแดน ได้แก่ อุบลราชธานี หนองคาย และ นครพนม ด้วยรูปแบบ “สถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎร” กล่าวคือก่อสร้างโดยใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก มีรูปทรงสี่เหลี่ยมเรียบง่าย หลังคาเรียบ ไม่มีจั่ว และเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นสําคัญ ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี ที่สร้างใน พ.ศ. 2480 เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นที่โดดเด่น สะท้อนยุคสมัยที่จังหวัดลพบุรีถูกกําหนดให้เป็นศูนย์กลางทางทหารรัฐบาลคณะราษฎรสมัยนั้น

ต่อจากนั้นก็มีการก่อตั้งโรงพยาบาลจังหวัดจนครบทุกจังหวัด ส่วนใหญ่จะออกแบบให้มีอาคารตึกอํานวยการ มาตรฐานตามลักษณะอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแบบโมเดิร์นรูปทรงสี่เหลี่ยม และแบบอาคารไทยเครื่องคอนกรีต กลายเป็นรูปแบบหลักของสถาปัตยกรรมโรงพยาบาลจังหวัด ส่วนรูปทรงอาคารอํานวยการแบบโมเดิร์นนั้น ต่อมาได้กลายเป็นรูปแบบหลักในการออกแบบโรงพยาบาลชุมชนที่ขยายตัวไปทุกอําเภอ ทั่วประเทศ

ข้อมูลจาก

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ บรรณาธิการ. ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย, หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข, เมษายน 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 2563