พ่อค้าเหล็กกักตุนสินค้า เมื่อ 2517 รมต.ชี้แจง ไม่ได้กักตุน แต่ครอบครองเกินปริมาณที่แจ้ง

เหล็กเส้น ที่ยุคหนึ่ง เกิดการ กักตุนสินค้า
ภาพประกอบเนื้อหา - เหล็กเส้น

การ “กักตุนสินค้า” เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ รัฐบาลจึงพยายามห้ามการกักตุนสินค้ามาโดยเสมอ ดังเห็นได้จากการผลักดัน “พระราชบัญญัติ” ที่เกี่ยวกับการกักตุนสินค้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2497

หรือแม้แต่รัฐบาลของคณะรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร พ.ศ. 2534 และการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ก็ออกประกาศห้าม “กักตุนสินค้า” เช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่า การกักตุนสินค้านั้นเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ

ย้อนกลับไปในสมัยรัฐบาลของสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้ใช้มาตรา 17 ในการดำเนินการปราบปราม การกักตุนสินค้า กระทั่งเกิดกรณีพ่อค้าเหล็กเส้นรายหนึ่งกักตุนสินค้า แล้วได้รับประกันตัว ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่า เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ จนกระทั่ง สถาปน์ ศิริขันธ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ตั้งประทู้ถามรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 9 วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 ว่า

“ภายหลังจากรัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรา 17 เพื่อปราบปรามและลงโทษพ่อค้าที่กักตุนสินค้า อันมีผลกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจของชาติ ทราบว่าคณะกรรมการได้จับกุมตัวผู้กระทำผิด ข้อหามีและกักตุนเหล็กเส้นไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่แจ้งไว้ต่อทางราชการ และต่อมาทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีให้มีประกันตัวไปในวงเงินค่าประกันตัวสองหมื่นบาท เรื่องนี้ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการทั่วไปว่า เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนได้ส่วนเสีย และรับผลประโยชน์จากผู้ต้องหา”

สถาปน์ ศิริขันธ์ จึงตั้งคำถามสี่ข้อ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดังนี้

หนึ่ง มีเหตุผลและความจำเป็นอันรีบด่วนประการใด ที่เจ้าหน้าที่รีบให้มีประกันตัวบุคคลผู้กระทำผิดเพียงมูลค่าเงินประกันเล็กน้อย

สอง เนื่องจากมาตรการนี้เป็นมาตรการเด็ดขาดที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องใช้ เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่บรรดาพ่อค้าที่แสวงความร่ำรวยบนความทุกข์ยากของประชาชน แต่กลับปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องใช้ความอะลุ้มอล่วยช่วยเหลือพ่อค้าผู้กระทำผิดในทางมิชอบ ซึ่งมีแนวโน้มส่อให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่จะต้องมีส่วนได้เสียใช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่เพราะเหตุใด

สาม ในกรณีที่หากมีบุคคลอื่น ๆ กระทำความผิดทำนองเดียวกันนี้ รัฐบาลจะวางมาตรการลงโทษฉับพลัน แทนการที่จะให้มีประกันตัวได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่น ทั้งจะเป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบและปฏิบัติงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

สี่ การนำมาตรา 17 มาใช้นั้น รัฐบาลย่อมทราบดีว่า เป็นมาตรการพิเศษในการลงโทษและปัดเป่าปัญหาสังคมและเศรษฐกิจใช่หรือไม่ ถ้าหากใช่ เหตุใดรัฐบาลจึงให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องนำวิธีปฏิบัติแบบปกติธรรมดามาใช้กับกรณีเช่นว่านี้

กมล วรรณประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงต่อคำถามข้อแรกว่า จากการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่ได้รีบให้กาประกันตัวแต่อย่างใด “…การให้ประกันตัวไปก็เพราะการกระทำผิดของผู้กระทำผิดไม่มีลักษณะเป็นการกักตุน หากเป็นการกระทำผิดมีสินค้าไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่แจ้งแก่ทางราชการเท่านั้น…”เช่นนั้นแล้วจึงสมควรแก่การให้ประกันตัว ด้วยจำนวนเงินประกันที่ที่สมควรแก่กรณีนี้แล้ว

ชี้แจงต่อคำถามข้อสองว่า ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ได้มีส่วนได้เสียกับพ่อค้าหรือผู้กระทำผิดแต่อย่างใด “…ได้ของกลางคือเหล็กเส้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบว่าแจ้งปริมาณไม่ตรงตามความเป็นจริง ได้เสนอคณะกรรมการป้องกันการค้ากำไรเกินควรสั่งริบ เพื่อนำของกลางดังกล่าวขายให้แก่ประชาชนตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีอันเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว…”ส่วนการดำเนินคดีต่อพ่อค้ารายนี้นั้น พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้อง และพนักงานอัยการจะได้ดำเนินการต่อไป

ชี้แจงต่อคำถามข้อสามว่า หากต้องการให้รัฐบาลนำมาตรา 17 มาใช้ลงโทษโดยฉับพลัน แทนที่จะให้มีประกันตัวนั้น ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ทำเป็นอันขาด เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นการปิดโอกาสในการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ซ้ำยังจะถูกวิพากษิวิจารณ์จากหนังสือพิมพ์และประชาชนว่าผู้ต้องหาไม่ได้รับความเป็นธรรมอีกด้วย

ชี้แจงต่อคำถามข้อสี่ว่า “การนำมาตรา 17  มาใช้ในคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวเรื่องกักตุนสินค้านั้น รัฐบาลต้องการให้เป็นมาตรการพิเศษในการปัดเป่าปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ…แต่ไม่ต้องการให้เป็นมาตรการพิเศษถึงขนาดให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัตินอกเหนือไปจากหน้าที่ตามที่มีคำสั่งไว้หรือมีกฎหมายให้อำนาจไว้…” 

และอธิบายว่า รัฐบาลเห็นควรว่าการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดต้องเป็นไปตามกฎหมาย และตามความเหมาะสมตามแต่กรณี ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรม และในคดีดังกล่าวนั้น เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการถูกต้องแล้ว

จบกระทู้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ มีนาคม 2564