“เศรษฐีสงคราม” คนรวยจากกักตุน-ค้าขายตลาดมืด ห้วงวิกฤตของแพงขึ้นแค่ไหน?

"ทหารญี่ปุ่นบุกขึ้นฝั่งในอันดามันเดือนมีนาคม ค.ศ. 1942" (ระบุเพียงอันดามัน ไม่ระบุสถานที่หรือประเทศใด)

ในสถานการณ์วิกฤต ไม่ว่าจะเป็นสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด ปฏิกิริยาต่อเนื่องตามมาก็คือ “การกักตุนสินค้า”

นี่เป็นบรรยากาศที่คล้ายๆ กับเวลาเกิดสงคราม ด้วยสิ่งของที่เคยมีเคยกินเคยใช้กันในยามปกติ “ขาดแคลน” เพราะความตื่นตระหนกของประชาชนที่ซื้อหามากกว่าปกติ เพราะพ่อค้ากักตุนเพื่อสร้างรายได้และกำไรที่มากขึ้น

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอนำผลงานวิชาการของ ผศ.ดร.พวงทิพย์ เกียรติสหกุล จากบทความ “ชีวิตราษฎรไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูราพา : มุมมองผ่านการเข้ามาควบคุมทางรถไฟสายใต้ของกองทัพญี่ปุ่น” (วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาษาไทย, ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2553) สรุปมาให้ทุกท่านช่วยกันพิจารณา

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาควบคุมทางรถไฟสายใต้ในสงครามมหาเอเชียบูรพา ประชาชนในภาคใต้ต้องเผชิญก็คือ “สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูง” เพราะกำลังการผลิตที่มีอยู่เดิมต้องรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน ไม่ว่าจะเป็นทหารในกองทัพญี่ปุ่น, เชลยศึกสัมพันธมิตร และกรรมกรมาลายูและจีน เพราะการกว้านซื้อของเหล่านายหน้าจนสินค้าขาดตลาด แล้วค่อยทำกำไรด้วยการตั้งราคาขายได้ตามที่ต้องการ

กองทัพญี่ปุ่นดำเนินการจัดซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างไร

เรื่องเสบียงกองทัพนั้น ญี่ปุ่นดำเนินการโดยให้ “กองจัดหาอาหาร” ที่จะทำหน้าที่ติดต่อกับพ่อค้าเอกชนญี่ปุ่นที่เคยทำการค้าอยู่ในไทยเป็นผู้จัดซื้อจัดหา โดยพ่อค้าที่เป็นนายหน้ามักใช้วิธี “กว้านซื้อ” สินค้าต่างๆ ในปริมาณมากตามที่กองทัพต้องการจากพ่อค้าใหญ่น้อยต่างๆ ด้วยราคาที่สูงกว่าที่พวกเขาขายอยู่ทั่วไป แล้วนำมาขายต่อให้กับกองทัพญี่ปุ่นในราคาที่แพงขึ้น บรรดาพ่อค้าจึงชอบที่จะขายให้นายหน้าของกองทัพมากกว่า สินค้าที่ประชาชนเคยกินเคยใช้จึงเกิดปัญหาขาดแคลน และมีราคาสูงขึ้น

อนุกรรมการเศรษฐกิจของไทยพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยการรับเป็นฝ่ายจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคให้กองทัพญี่ปุ่นแทน เพื่อจะได้สามารถควบคุมราคาซื้อของกองทัพญี่ปุ่นได้ หากในทางปฏิบัติ 2 บริษัทรายใหญ่ที่ได้รับอนุมัติจากกองทัพ (คือบริษัทมิตซุยบุซซันไกซา และบริษัทมิตซูบิชิโชจิ ) เป็นผู้จัดซื้อตัวจริง ที่ดำเนินการติดต่อกับร้านค้าที่คุ้นเคยไว้ล่วงหน้า แล้วส่งบัญชีที่ต้องการซื้อมาให้อธิบดีกรมพาณิชย์อนุมัติเท่านั้น

หากปริมาณสินค้าที่ยืนขอไม่ได้รับการอนุมัติ พวกเขาก็จะใช้ “ตลาดมืด” แก้ปัญหา

ดังเช่นกรณีนี้ จดหมายลงวันที่ 31 ธันวาคม 2484 ของบริษัทมิตซุยบุซซันไกซา ขออนุญาตซื้อน้ำตาลจำนวน 6,820 กระสอบหากได้รับการอนุมัติเพียง 2,000 กระสอบ ส่วนที่ขาดก็จะไปจบที่การกว้านซื้อจาก “ตลาดมืด” ในราคาที่สูงกว่าปกติ ผลที่ตามมาก็คือประชาชนไม่มีสินค้าใช้หรือมีแต่ในราคาที่แพงกว่าปกติหลายเท่าตัว

ผู้เขียน (ผศ.ดร.พวงทิพย์ เกียรติสหกุล) รวบรวมข้อมูลที่ทำให้เห็นชัดเจนว่า ของที่บ่นๆ ว่า “แพงขึ้น” นั้นมันขนาดไหน

“เอกสารชั้นต้นของคณะรัฐมนตรีที่ได้ทําการสํารวจ และจัดทําบัญชีเปรียบเทียบราคาขายปลีกเครื่องอุปโภคบริโภค ของส่วนกลางในช่วงก่อนสงคราม (1 ธันวาคม 2484) กับในระหว่างสงคราม (31 มีนาคม 2487) พบว่า ราคาเครื่องอุปโภคสูงขึ้น โดยเฉลี่ย 170 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งสามารถแยกเป็นราคาข้าวสูงขึ้น 38 เปอร์เซ็นต์ ปลา 191 เปอร์เซ็นต์ ผักและพืชผล 307 เปอร์เซ็นต์ เนื้อสัตว์ต่างๆ 192 เปอร์เซ็นต์ ของชําต่างๆ 181 เปอร์เซ็นต์ แป้ง 109 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเครื่องอุปโภคราคาสูงขึ้น โดยเฉลี่ย 1,226 เปอร์เซ็นต์ แยกเป็นของใช้เบ็ดเตล็ดสูงขึ้น 848 เปอร์เซ็นต์ เครื่องนุ่งห่มสูงขึ้น ถึง 1,604 เปอร์เซ็นต์ (สจช. [2] สร.0201.98.6/8 2485-2488)…” [เน้นโดยผู้เขียน]

รัฐบาลไทยในเวลานั้น มอบหมายให้กระทรวงหมาดไทยและกระทรวงพาณิชย์ หาแนวทางก้ไขปัญหาดังกล่าว วันที่ 26 ธันวาคม 2485 จึงมีการออกประกาศ “ระเบียบการปันส่วนเครื่องอุปโภคบริโภคบางอย่าง (ฉบับที่ 1)” เพื่อแบ่งเฉลี่ยเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่ประชาชนได้ตามสมควรและทั่วถึง และเพื่อสนับสนุนการตั้งร้านจำหน่ายสินค้าของไทย (ในช่วงแรกกำหนดเกณฑ์ปันส่วนสินค้าจำเป็นมี 3 ชนิด คือ น้ำตาลทรายขาว, ไม้ขีดไฟ และน้ำมันก๊าด)

แต่ในทางปฏิบัติ ระเบียบดังกล่าวยังคงมีปัญหายุ่งยาก เช่น ประชาชนย้ายที่อยู่ไม่ได้แจ้งอำเภอ คณะกรรมการปันส่วนประจำอำเภอยังคงแบ่งจำนวนสินค้าให้แก่ร้านจำหน่ายในจำนวนเท่าเดิม ร้านจำหน่ายบางแห่งก็นำสินค้าที่เหลือออกขายในตลาดมืด, สินค้าที่ได้รับไม่เต็มตามจำนวนที่ระบุ ร้านจำหน่ายหาทางออกไม่ให้ตัวเองขาดทุนด้วยการยักยอกสินค้าปันส่วนไปขายเกินราคาหลังร้านแทน ฯลฯ

นอกจากนี้ การกว้านซื้อสินค้าของกองทัพญี่ปุ่นบางครั้งก็ไม่ได้เพื่อใช้เป็นเสบียงอาหารให้ทหารญี่ปุ่นในไทยเท่านั้น แต่ยังกว้านซื้อเพื่อส่งออกไปทหารญี่ปุ่นในมลายูอีกด้วย โดยแอบอ้างว่าเป็นของกองทัพเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระอากรส่งออก นั่นทำให้สินค้าที่มีจำกัดขาดแคลนรุนแรงมากยิ่งขึ้น ราคาสินค้าแพงยิ่งขึ้น ประชาชนเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในสงครามแต่ละครั้ง มักมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่ร่ำรวย, ก้าวหน้า, มีกำไร ฯลฯ จนถึงกลายเป็นเศรษฐีในระยะเวลาอันสั้น หรือ “เศรษฐีสงคราม”

แต่ใช่ว่าเวลาอื่นๆ ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศลำบาก ยากแค้น จากภัยธรรมชาติ, โรคระบาด ฯลฯ จะไม่มีคนฉวยโอกาสจนร่ำรวยในชั่วข้ามคืน แต่ไม่ทราบว่าพวกเขา…เศรษฐีอะไร?

 


เผยแพร่ครั้งในระบบออนไลน์เมื่อ 11 มีนาคม 2563