ผู้เขียน | พันธวัช นาคสุข |
---|---|
เผยแพร่ |
สงครามเกาหลี 1950-1953 (Korean War) หนึ่งในสงครามที่เกิดช่วงสงครามเย็น (Cold War) เป็นสงครามระหว่างสาธารณรัฐเกาหลี หรือ “เกาหลีใต้” กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือ “เกาหลีเหนือ”
สงครามนี้เกิดขึ้นวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 – 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1953 มีสาเหตุจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ได้แบ่งดินแดนเกาหลีที่เคยถูกญี่ปุ่นปกครองเป็น 2 ส่วน ที่เส้นขนาน 38 องศาเหนือ เพื่อคานอำนาจระหว่างกัน “เกาหลีเหนือ” ปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ส่วนฝั่ง “เกาหลีใต้” ปกครองแบบประชาธิปไตย ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
จากความแตกต่างทางด้านการเมืองและอุดมการณ์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในอนาคต
จุดเริ่มต้นสงครามเกาหลี 1950-1953
จุดเริ่มต้นของสงครามมาจากความล้มเหลวในการจัดการเลือกตั้งเสรีทั่วคาบสมุทรเกาหลีใน ค.ศ. 1948 เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน จึงเสนอให้รวมเกาหลีทั้ง 2 เป็นประเทศเดียวกัน
สหภาพโซเวียตเห็นด้วย แต่มีเงื่อนไขว่ารัฐบาลที่จะปกครองเกาหลีต้องเป็นรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นตามเงื่อนไขของสหภาพโซเวียตเท่านั้น สหรัฐอเมริกาจึงนำปัญหานี้เสนอต่อองค์การสหประชาชาติพิจารณาเมื่อกันยายน ค.ศ. 1947 ต่อมาสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติให้เลือกตั้งทั่วไปในเกาหลี และให้อยู่ในความควบคุมของสหประชาชาติ แต่สหภาพโซเวียตปฏิเสธความร่วมมือ ทำให้การเลือกตั้งมีเพียงฝั่งเกาหลีใต้เท่านั้น
วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1948 สมัชชาแห่งชาติเกาหลีประกาศจัดตั้ง สาธารณรัฐเกาหลี ขึ้นเป็นทางการ มี ซึงมัน รี (Syngman Rhee) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรก จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาและต่อต้านคอมมิวนิสต์
ด้านสหภาพโซเวียตตอบโต้ โดยจัดตั้ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ขึ้นมา มี คิม อิล-ซ็อง (Kim Il-sung) เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล
หลังจากมีการก่อตั้งรัฐบาลของทั้ง 2 ฝั่ง ใน ค.ศ. 1949 สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตได้มีการถอนกำลังออกจากประเทศเกาหลี
หลังจากที่ประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 ได้ถอนตัวไปแล้ว ซึงมัน รี กับ คิม อิล-ซ็อง มีความต้องการที่จะรวมประเทศเกาหลี จึงส่งทหารปะทะกันเล็กน้อยตามแนวชายแดนระหว่างกันตลอด ค.ศ. 1949 และต้น ค.ศ. 1950 จนกระทั่งวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 กองทัพเกาหลีเหนือเคลื่อนผ่านเส้นขนานที่ 38 มายังเกาหลีใต้ พร้อมเปิดฉากโจมตีอย่างรวดเร็ว เกาหลีเหนืออ้างว่ากองทัพเกาหลีใต้ของ ซิงมัน รี ได้บุกรุกข้ามชายแดนมาก่อน และซิงมัน รี จะต้องถูกจับกุมตัวและประหารชีวิต
การบุกโจมตีของเกาหลีเหนือได้สร้างความประหลาดใจแก่ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ตื่นตระหนกมากที่สุด เพราะเกาหลีใต้เปรียบเสมือนกำแพงป้องกันอิทธิพลคอมมิวนิสต์จากสหภาพโซเวียตและจีน ถ้าเกาหลีเหนือสามารถยึดเกาหลีใต้ได้ จะทำให้สหรัฐอเมริกาสูญเสียจุดยุทธศาสตร์ในคาบสมุทรเกาหลีไป สหรัฐอเมริกาจึงพยายามยุติสงครามให้ไวที่สุด
มหาอำนาจแทรกแซง
ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส ทรูแมน (Harry S. Truman) ได้สั่งให้ ดีน แอชิสัน (Dean Acheson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เดินทางไปที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ เพื่อขอคำอนุมัติให้นำกำลังทหารสหประชาชาติเข้าทำการแทรกแซงเกาหลี เพื่อช่วยเหลือเกาหลีใต้ และดันกองทัพเกาหลีเหนือให้กลับไปที่เส้นขนาน 38 องศาเหนือ
เรื่องดังกล่าวประธานาธิบดีทรูแมน กระทำโดยไม่ได้มีการเสนอให้ที่ประชุมสภาคองเกรส (United States Congress) ร่วมพิจารณาด้วย เนื่องจากประธานาธิบดีทรูแมน ไม่ต้องการให้สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับเกาหลีเหนือ เพราะถ้าสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามอย่างเป็นทางการอาจทำให้สหภาพโซเวียต ที่สนับสนุนเกาหลีเหนือประกาศสงครามตามด้วย ซึ่งจะเพิ่มระดับไปเป็นสงครามครั้งใหญ่ระหว่างชาติมหาอำนาจได้
หลังจากที่ยื่นคำขอแก่สหประชาชาติ คณะรัฐมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติได้ผ่านมติดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์ ทั้งที่สหภาพโซเวียตก็เป็นสมาชิกถาวรในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มี สิทธิการยับยั้ง (Veto) มติแผนแก้ปัญหาของสหประชาชาติที่ต่อต้านเกาหลีเหนือ
เหตุที่มติสามารถผ่านไปได้นั้น มีสาเหตุจากผู้แทนของสหภาพโซเวียตไม่ได้เข้าประชุม เนื่องจากสหภาพโซเวียตกำลังประท้วงเรื่องที่นั่งของจีนว่า ตัวแทนของประเทศจีนในคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องเปลี่ยนจากคนของพรรคก๊กมินตั๋ง มาเป็นคนของพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะว่าพรรคคอมมิวนิสต์มีชัยชนะบนแผ่นดินใหญ่แล้ว จึงเป็นการไม่เหมาะสมที่คนของพรรคก๊กมินตั๋งจะยังคงดำรงตำแหน่งตัวแทนอยู่ สหภาพโซเวียตจึงไม่เข้าร่วมการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงในช่วงนี้
จากที่สหภาพโซเวียตไม่เข้าร่วมประชุม และมีเพียงยูโกสลาเวียเพียงประเทศเดียวที่งดออกเสียง ทำให้สหประชาชาติลงมติช่วยเหลือเกาหลีใต้อย่างเป็นเอกฉันท์
ในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1950 สหรัฐอเมริกาได้รับหน้าที่ปฏิบัติการณ์โดยตรง และมีกำลังเสริมจาก 15 ประเทศ ได้แก่ แคนนาดา,ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, แอฟริกาใต้, ตุรกี, กรีก, เนเธอร์แลนด์, เอธิโอเปีย, โคลัมเบีย, ฟิลิปปินส์, เบลเยี่ยม, ลักแซมเบิร์ก และไทย เข้าร่วมด้วย
จากความล้มเหลวที่จะรวมเกาหลีเป็นประเทศเดียว เนื่องจากความแตกต่างทางระบอบการปกครองและอุดมการณ์ จนนำไปสู่สงครามเกาหลี สหรัฐอเมริกาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งครั้งนี้ จึงต้องเข้ามาแทรกแซงสงคราม โดยได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติอย่างเอกฉันท์ เนื่องจากประเทศที่สนับสนุนเกาหลีเหนืออย่างสหภาพโซเวียตไม่ได้เข้าร่วมการประชุม รวมถึงสาธารณรัฐประชาชนคอมมิวนิสต์จีนก็ไม่ได้ถูกยอมรับจากสหประชาชาติ
ช่วยให้สหรัฐอเมริกากับสหประชาชาติเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ได้อย่างไม่มีอุปสรรค และในท้ายที่สุดสหรัฐอเมริกากับสหประชาชาติสามารถยุติสงครามเกาหลีได้ แม้จะมีการสูญเสียอย่างหนักทั้ง 2 ฝ่ายก็ตาม
หมายเหตุ : ในสงครามเกาหลี ไทยส่งทหารไปรบร่วมกับสหประชาชาติ โดยเดินทางออกจากประเทศไทย ด้วยเรือของทัพเรือ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) เมื่อสงครามยุติ ทหารไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น 136 นาย เป็นทหารบก 130 นาย ทหารเรือ 4 นาย และทหารอากาศ 2 นาย รัฐบาลโดยกองทัพบกได้สร้างอนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกสงครามเกาหลีขึ้น ณ ค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของทหารไทยในสงครามเกาหลี และยึดถือว่าวันที่ 22 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่ระลึกสงครามเกาหลีของประเทศไทย
อ่านเพิ่มเติม :
- ราชินี “มินจายอง” ผู้พลีชีพแทนพระเจ้าโกจง จักรพรรดิโดยชอบธรรมองค์สุดท้ายของเกาหลี
- พระนเรศวร คิดยกทัพบุกญี่ปุ่น ตอบโต้ “โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ” บุกเกาหลี จริงหรือ?
- ตำนาน “กุงเย” สร้างอาณาจักรใหม่ในเกาหลี โดนคนสนิทล้ม อ้างเหตุสติฟั่นเฟือน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปาร์คแท กยูน ; ภัททิรา จิตต์เกษม (ผู้แปล). สงครามเกาหลีและระบบสงบศึก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560
ประยุทธ เปี่ยมสุวรรณ์. สงครามเกาหลี (Korean War). สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2562, จาก http://www.infantry.geozigzag.com/pdf/I_am_infantry71.pdf
มนันญา ภู่แก้ว. สงครามเกาหลี. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2562, จาก เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
Lily Rothman. How the Korean War Started. Access 12 June 2019, from https://time.com/3915803/korean-war-1950-history/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562