ร.6 ทรงวิจารณ์ ทรัพยศาสตร์ ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกในสยาม “ผู้แต่งไม่รู้จักชาติดีพอ”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

“ทรัพยศาสตร์” เป็น “ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรก” ของสยามที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2454 ผู้เขียนคือ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) อดีตอัครราชทูตไทยประจำประเทศต่างๆ หลายประเทศในยุโรป, เสนาบดีกระทรวงโยธาธฺการ, เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ฯลฯ หนังสือทรัพยศาสตร์ที่พระยาสุริยานุวัตรเขียนนั้นกระทรวงธรรมการออกใบอนุญาตให้เป็นตำราเรียนแล้ว โดยครั้งหนึ่ง อัศวพาหุ เคยมีวิจารณ์ถึงตำราเรียนเล่มนี้

ทั้งนี้ “อัศวพาหุ” เป็นนามปากกาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้แสดงความคิดเห็น ซึ่งตีพิมพ์ใน สมุทสาร ฉบับปีที่ 2 ฉบับที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2485 ของราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในประเด็นต่างๆ คือ

1. ภาษาที่ใช้ โดยอ้างถึงคำนำของหนังสือที่ทรัพยศาสตร์ว่า สำนวนที่ใช้นั้นเปนสำนวนที่ออกจากความตรึกตรองในภาษาอื่นเปนต้นมา เพราะฉนั้นจึง ฟังไม่เรียบร้อยอย่างที่จะได้เขียนลงตามความตรึกตรองในภาษาไทยแท้”  หรือที่พระยาสุริยานุวัตรออกตัวว่าภาษาที่ตนใช้ไม่เป็นภาษาไทยที่ดีแต่เป็น “มุกต์แกมเบื้อ

อัศวพาหุ จึงวิจารณ์ในประเด็นนี้ว่า “ภาษาไทยเราและสำนวนอย่างไทยเราของนั้น ไม่ดีพอสำหรับคนไทยสมัยใหม่เสียแล้วฤา จึงต้องให้ใช้ภาษาและสำนวนอย่าง มุกต์แกมเบื้อ’? หรือว่ากระทรงธรรมการเห็นว่าการตรึกตรองในภาษาไทยไม่ได้ลึกซึ้งเหมือนตรึกตรองในภาษาต่างประเทศ จึงปราถนาจะนำแนะทางทางตรองตามแบบต่างประเทศ? หรือจะเป็นการขอไปที คือเพราะเหตุที่ยังมิได้มีผู้ใดเคยเรียบเรียงหรือแปลตำหรับ ‘โปลิติคัลอีคอโนมี’ เป็นภาษาไทย จึงอนุญาตให้ใช้ตำรับฉบับนี้ ซึ่งถึงแม้จะเป็นภาษาไทยไม่สู้สนิทก็ต้องยอมให้ใช้ไปคราว 1”

  1. อย่าหลงเข้าใจผิด ทรัพยศาสตร์ไม่ใช่หนังสือ “คู่มือแก้จน”

อัศวพาหุอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า คนจน’ (และซึ่งโดยมากอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นคนนอกราชการมีเวลาว่างและกระเป๋าว่างอยู่โยดมากนั้น) รู้สึกคันคะเยออยากรู้ อยากเรียน เพราะคงจะทำให้วังไปว่า นี่แล้วเป็นตำราที่จะแสดงให้เห็นหนทางที่จะได้มั่งมี โดยไม่ต้องออกกำลังกายมากมาย และไม่ต้องลำบากยากใจระวังความประพฤติเคร่งครัดเหมือนอย่างที่ทำราชการอยู่

ถ้าผู้ใดคิดเห็นเช่นนี้และหวังอยู่เช่นนี้แล้ว และไปซื้อหนังสือ ‘ทรัพยศาสตร์’ มาอ่าน บางทีจะรู้สึกเสียใจที่ผิดคาดหมาย เพราะหนังสือไม่ใช่ตำราแสดงวิธีมั่งมีทันใจหามิได้ พูดสั้นๆ หนังสือนี้ไม่ใช่เป็นหนังสือแสดงศาสนาพระศรีอารย์ และไม่ได้ชี้หนทางให้ดำเนินไปถึงต้นกัลปพฤกษ์หามิได้”

  1. ผู้เขียนและหนังสือทรัพยศาสตร์ไม่น่าจะได้รับการยกย่องจากกระทรวงธรรมการให้เป็นตำราเรียน

อัศวพาหุให้เห็นผลว่า “ข้าพเจ้ามีความเสียใจที่รู้ลึกว่า ท่านผู้แต่งหนังสือ ทรัพยศาสตร์’ ช่างตีราคาชาติของเราต่ำเสียจริงๆ  ถ้าผู้ใดได้อ่านหนังสือนั้นแล้วจะต้องรู้สึกเช่นข้าพเจ้าเหมือนกัน คือรู้สึกว่าท่านผู้แต่งท่านแสดงความรักชาติของท่านโดยอาการอย่างผู้ใหญ่รักเด็กที่ไม่รู้เดียงสา หรืออย่างบิดารักบุตร์ หรือมูลนายรักทาสซึ่งมีปัญญาย่อหย่อยกว่าท่าน สรุปรวมความว่า ท่านทำให้เรารู้สึกว่าท่านถ่อมตัวลงมาสอนเรา

การที่ท่านตั้งตนไว้ในฐานะเช่นนี้ มีการสมควรอย่างไรบ้างหรือไม่? ถ้าพิจารณาดูให้ดีจะต้องเห็นว่า แท้จริงท่านไม่รู้จักชาติของท่านดีพอที่ควรจะเป็นผู้สั่งสอนชาติได้เลย การที่เพื่อนเตือนเพื่อนเปนคนละอย่าง เพราะไม่มีท่าทางบังคับว่าต้องเชื่อฟัง เมื่อเห็นชอบก็เชื่อ เมื่อไม่เห็นชอบก็แล้วไป

แต่นี่กระทรวงธรรมการหนุนหลังยกย่องให้หนังสือของพระยาสุริยานุวัตร์เป็นตำรา ก็แปลว่าเหมือนสมมุติ ให้ท่านผู้นั้นเปนอาจารย์ของกุลบุตร์ไทยสืบไป ข้าพเจ้าเปนคนไทยผู้ 1  จึงรู้สึกว่าเปนน่าที่จะต้องแสดงความเห็นอย่างเอกชนเปล่งเสียงท้วงขึ้นว่า ผู้ที่จะมาเปนศาสดาอาจารย์ของบุตร์หลานเราต้องเปนที่ชนทั่วๆ ไปนิยมนับถือว่าเปนผู้ควรเป็นครูจึงถูก”

4. ข้อมูลในหนังสือคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว เช่น เรื่องชนชั้นในสังคมที่ พระยาสุริยานุวัตร แบ่งคนเป็น 3 ชนชั้น คือ ชั้นสูง, ชั้นกลาง, ชั้นต่ำ และแสดงความเห็นว่าชนชั้นกลางเป็นกำลังสำคัญของชาติ ด้วยมีจำนวนมาก และมีการสะสมทรัพย์ จึงมีทรัพย์มากกว่าชนชั้นอื่นๆ

อัศวพาหุมีความเห็นที่ต่างออกไปคือ “ความข้อนี้บางทีจะเปนจริงสำหรับเมืองบางเมืองในยุโรป แต่แม้ในประเทศยุโรปเองก็ไม่เป็นเช่นนั้นหมด และในอะเมริกาซึ่งเปนเมืองอันคนทำงานและประกอบการค้าขายทั่วไปนั้น คนชั้นกลางก็ไม่มี มีแต่ผู้จ้างกับลูกจ้าง 2 ชั้นเท่านั้น

ส่วนเมืองไทยเรามีชนชั้นกลาง ด้วยฤา? ใครเปนคนชั้นกลาง ข้าพเจ้าได้ตรวจดูในหนังสือ ‘ทรัพยศาสตร์’ แล้วก็ไม่ได้พบคำอธิบายโดยชัดเจนอย่างไรเลย ในข้อที่จะกำหนดลักษณะแห่งบุคคลชั้นสูง, กลาง และต่ำ คงพบแต่ข้อความที่แสดงไว้แห่ง 1 ว่า คนชั้นต่ำจะมีเงินเหลือใช้เพียงปีละ 50 บาท ชั้นกลางมีเหลือใช้ปีละ 500 บาท และชั้นสูงเหลือใช้ปีละ 5000 บาท

ดังนี้จึงเกิดปัญหาน่าถามขึ้นว่า ถ้าจะกำหนดเอาส่วนเงินเหลือใช้ในปี 1 ๆ เปนเกณฑ์ฉนี้แล้ว จะมีคนชั้นสูงในหมู่ผู้มีบรรดาศักดิ์สูงๆ สักกี่คน…

ปัญหาข้อนี้เหลือสติกำลังข้าพเจ้าจะหาคำตอบได้  จึงต้องขอกลับย้อนตั้งปัญหาขึ้นบ้างว่าการแบ่งคนเปนชั้นๆ ในเมืองมีเหมือนอย่างในยุโรปฤา? ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่เปนเช่นนั้น เพราะคนไทยไม่มีใครสูงกว่าใคร เว้นแต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวแล้ว ใครๆเสมอกันหมด…”

  1. หนังสือทรัพยศาสตร์ ไม่เหมาะสมกับสังคมในเวลานั้น

อัศวพาหุอธิบายเรื่องนี้ว่า “ในประเทศยุโรปและอะเมริกาที่เกิดมีผู้ริเริ่มแต่งหนังสือโปลิติคัลอีคอโมมีขึ้นนั้น เปนเหตุด้วยทรัพย์สมบัติไปรวมอยู่ในมือแห่งบุคคลหรือสกุลบางสกุล ซึ่งในอดีตสมัยเคยเปนนักรบ ตีได้ดินแดนก็เลยยึดเปนของตน ทั้งที่มีสะสมทรัพย์สมบัติไว้ได้มากๆ เพราะเหตุเดียวกันนั้นก็มี พวกเหล่านี้เปนบุคคลที่เขาเรียกว่าชั้นสูง หรือ อะริสโดแคร็ต’

พวกบุตรผู้มีสกุลโดยมากมักเปนผู้ที่อยู่เปล่าๆ ไม่ทำการงานอะไร เพราะมีทรัพย์สมบัติสะสมไว้เพียงพอแล้ว และถ้าใช้ทรัพย์นั้นเปนทุนก็พาให้ทรัพย์งอกขึ้นได้อีกเสมอ ส่วนคนชั้นต่ำที่ไม่ได้มีทรัพย์รับเปนมรฎกมาจากปู่ย่าตายาย ก็ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำไปทุกวัน แต่กระนั้นก็ยากที่จะมั่งมีขึ้นได้ เพราะทุนน้อยก็ทำให้ทรัพย์งอกขึ้นโดยยาก

อีกประการ 1 ที่แผ่นดินก็จำกัด คนยิ่งเกิดทวีขึ้นก็ยิ่งต้องการอยู่มากขึ้น แต่ที่แผ่นดิรนไปตกอยู่เสียในมือเจ้าของบางคนแล้ว ที่จึงไม่พอกันอยู่…จึงได้มีผู้มีความคิดตรึกตรองหางทางที่จะช่วยแก้ไขความอัดคัตขัดสนของคนชั้นต่ำนั้น โดยช่วยคิดบอกหนทางที่จะประหยัดทรัพย์ก่อนแล้วจึงเลยลุกลามต่อไป จนถึงคิดเฉลี่ยทรัพย์ดังนี้วิชาที่เรียกว่า ‘โปลิติคัลอีคอโนมี’ จึงได้เกิดมีขึ้น เพราะความจำเป็นมีอยู่เช่นนั้น

และด้วยเหตุนั้นเอง วิชา ‘ทรัพยศาสตร์’ จึงเป็นวิชาซึ่งนักการเมือง (โปลิติเซียน) ผู้ต้องการได้คะแนนของคนบางจำพวกนั้น ต้องเรียนรู้ไว้สำหรับพูดล่อใจให้คนนิยม แล้วตนจะได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาเป็นต้น ก็เมื่อกรุงสยามก็ยังไม่มีปาร์ลิเมนต์ จะต้องการ ‘ทรัพยศาสตร์’ ทำอะไรกัน”

6. หนังสือของพระยาสุริยานุวัตรเป็นหนังสือที่ไม่ควรใช้คำว่า “ศาสตร์”

อัศวพาหุเสนอว่า “หนังสือรวบรวมลัทธิหรือความรู้ในเรื่องใดเรื่อง 1 ซึ่งมีทั้งอรรถทั้งแปล และมีข้อความแสดงความจริงความรู้เห็นของมนุษยในอดีตสมัย เช่นแพทยศาสตร์ บอกอาการไข้ และบอกยาที่แก้ไข้นั้นๆ ดังนี้เปนต้น นี่หนังสือ ทรัพยศาสตร์’ของพระยาสุริยานุวัตร์หาเปนเช่นนั้นไม่ และข้าพเจ้าอ่านดูรู้สึกว่าเหมือนอ่านความเห็นเอกชนในหนังสือพิมพ์อะไรฉบับ 1 มากกว่าอ่านถ้อยคำของผู้ที่ตั้งใจสอนวิชาศาสตร์

คือมีพูดเปนแสดงโวหารยืดยาวจนยากที่จะจังหัวข้อได้ และบางทีก็มีหัวข้อได้ และบางทีก็มี ‘แอดตเอวร์ติสเมนต์’ เครื่องจักรทำนาอย่างคนอะเมริกันปนอยู่ในนั้นด้วย บางแห่งก็ขมิบไว้เสีย เหตุข้าพเจ้าจึงร้องว่า หนังสือของพระยาสุริยานุวัตร์นี้ผิดองค์ศาสตร์ และแท้จริงเปนหนังสือแสดงความเห็นเอกชนเรื่อง 1 ซึ่งไม่ผิดกับหนังสือที่ใครๆ แต่งมาแล้วนั้นเลย เช่นหนังสือ ‘เมืองไทยจงตื่นเถิด’ ของข้าพเจ้าเองนั้น ถ้าข้าพเจ้าจะเรียกชื่อเสียบ้างว่า ‘มนุษยศาสตร์’ หรือ ‘สยามประเทศะศาสตร์’ ฉนี้ท่านจะว่ากระไร”

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563