ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ 100 กว่าปีก่อน เผชิญปัญหาเสียงรถม้าหนวกหู ที่วิ่งไปมาทั้งวัน เสียงดังจากเกือกม้ากระทบกับผิวถนนที่ทำจากก้อนหินที่เรียงและอัดจนเรียบเสมอกัน เสียงคงดังเอาการทีเดียว ทางการจึงต้องหาทางออกใหม่ๆ คือ การปูถนนด้วย “ยางพารา”
เมื่อข่าวนี้เผยแพร่ไปยังประเทศผู้ปลูกยางพารา ต่างก็เตรียมการเพื่อโอกาสทางการค้าของตนเอง สำหรับประเทศไทย “ประกอบกสิกรรม” เล่มที่ 1 ฉบับที่ 4 เดือนตุลาคม ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) ของกรมเพาะปลูกเกษตราธิการ ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อ “บำรุงการกสิกรรมในสยาม” บันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
“กรุงลอนดอน คิดจะปูถนนด้วยยาง
หนังสือพิมพ์ เคปีแตล แอนด์ คอมเมิศ กล่าวว่า เวลานี้ในกรุงลอนดอนได้กำลังดำริห์จะปูถนน ซึ่งเปนที่ประชุมชนมาก ๆ ด้วยยางแผ่นหรือยางก้อน เพื่อประสงค์จะไม่ให้รถม้า ผู้คนเดินมีเสียงอึกกระทึก
ข่าวเรื่องนี้ได้ลงในหนังสือที่เกี่ยวกับการประกวดพรรณ์ยาง แลประกวดสินค้าซึ่งจะมีที่สภาการเพาะปลูก ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม ศกนี้ แลได้กล่าวต่อไปว่า
ชนิดยางที่จะทำการอันนี้ได้ทดลองเปนการสำเร็จหลายอย่างแล้ว แลได้มีใบบอกอันแข็งแรงไปยังผู้ทำยางทุก ๆ เมืองในโลก ให้นำพรรณ์ยางต่าง ๆ ไปประกวด แลผู้ที่รัฐบาลหรือสภาพานิชการตั้งให้เป็นกรรมการต้องไปพร้อมกันในที่นั้นทุกท่าน เพื่อมีการประชุมอันสำคัญสำหรับตัดสินยางนี้ ยางทุก ๆ ชนิดให้ส่งตรงไปจากสวนยาง พร้อมทั้งเครื่องทำยางนั้นด้วย
การที่คิดจะปูถนนด้วยยางนี้ ถ้าหากเป็นการสำเร็จไปได้ก็คงจะกระทำให้สินค้ายางมีความเจริญขึ้นอีกเปนแน่”
อ่านเพิ่มเติม :
- นายช่างกรมทางหลวง เล่าประสบการณ์โหด-ฮา ในการสร้างถนนเมื่อ 60 ปีก่อน
- ชีวิต หลวงราชไมตรี บิดาแห่ง ยางพารา(ตะวันออก) ที่มาของวลี “เศรษฐีขี่ม้าตาบอดปลูกยางพารา
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2563