
ผู้เขียน | ผศ.ดร. อาชว์ภูริชญ์ น้อมเนียน ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
---|---|
เผยแพร่ |
เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) นั้น ทรงให้ความสนพระทัยในเรื่องการปกป้องพระราชอาณาจักร ด้วยพระอัจฉริยภาพที่ทรงมองว่ากิจการบินจะช่วยป้องกันประเทศ, ช่วยเหลือประชาชน และช่วยทำให้เศรษฐกิจ สังคม การเดินทางเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ จึงโปรดเกล้าฯ ก่อให้เกิดแผนกการบินขึ้นในกระทรวงกลาโหม เป็นผลให้กิจการการบินไทยได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ
โดยปรากฏว่าในวันที่ 13 มกราคม 2456 พระองค์ท่านได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน โดยมีนายทหารนักบินขึ้นแสดงการบินถวายและโปรยกระดาษถวายพระพรชัยมงคลในครั้งนี้ด้วย
แต่ด้วยว่าการซื้อเครื่องบินในสมัยนั้นจำเป็นต้องติดต่อซื้อขายจากต่างประเทศ ดังปรากฏมาในจดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ของสักขีตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน ถึงวันที่ 5 สิงหาคม พระพุทธศักราช 2458 มีบันทึกไว้ว่า “วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2458 มีการพระราชพิธีพระราชทานพระแสงราชศาสตราประจำเมืองตรังแลถือน้ำเสือป่ามณฑลภูเก็ต” นั้น
มหาอำมาตย์โท พระยาสุรินทราชา สยามธิราชภักดีพิริยพาห สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้อ่านคำกราบบังคมทูลแสดงความสวามิภักดิ์และถวายไชยมงคล โดยข้อความตอนหนึ่งที่ได้แสดงความประสงค์จะทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องบิน แต่ไม่ทราบวิธีการจัดซื้อจึงกราบทูลมีข้อความดังนี้
“เพื่อที่จะให้เปนพยานแห่งความจงรักภักดีของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พวกข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีความปรารถนาจะถวายเครื่องบินซึ่งโลกกำลังเอาใจใส่แลมีความเห็นกันอยู่ทั่วไปว่า เครื่องบินนี้เปนสิ่งสำคัญสำหรับป้องกันพระราชอาณาจักร แลความอิศรภาพของชาติได้อย่างหนึ่ง จึ่งได้พร้อมกันออกทุนทรัพย์เปนเงิน 24173 บาท 08 สตางค์ แต่ครั้นจะจัดซื้อเองก็ไม่ทราบเกล้าทราบกระหม่อมว่าจะจัดซื้อที่ใดอย่างใดดี จึ่งขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายจำนวนเงินที่ได้พร้อมกันออกนั้น มิบถวายสำหรับซื้อเครื่องบิน เพื่อเปนเครื่องหมายแห่งความซื่อสัตย์สุจริตแลความจงรักภักดีของพวกข้าพระพุทธเจ้า“
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสตอบโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทูลเกล้าฯ ถวายทุนทรัพย์เพื่อซื้อเครื่องบินซึ่งเป็นการบันทึกของสักขีความว่า
“ในการที่ข้าราชการแลทวยราษฎร พร้อมใจกันมอบทุนทรัพย์ถวายสำหรับจ่ายซื้อเครื่องบิน เป็นเครื่องสำหรับใช้ในกิจการป้องกันพระราชอาณาเขตร จึ่งทรงมีพระราชหฤทัยยินดีที่จะรับทรัพย์นั้นไว้ เพื่อใช้ในการป้องกันรักษาบ้านเมือง โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่มีน้ำใจสามัคคีออกทุนทรัพย์แสดงความภักดีไว้วางใจในพระองค์ ในการที่จะทรงจัดจ่ายทุนทรัพย์นี้ให้เปนประโยชน์อย่างดี“
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ที่มาบัตรสนเท่ห์ที่ส่งมาตำหนิและข่มขู่ รัชกาลที่ 6 เกิดขึ้นจากอะไร?
คลิกอ่านเพิ่มเติม : สมัยรัชกาลที่ 6 เกิดปัญหางบประมาณ เมื่อกระทรวงกลาโหมของบฯ เพิ่ม
อ้างอิง :
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2558). จดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ของสักขี ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน ถึงวันที่ 5 สิงหาคม พระพุทธศักราช 2485. กรุงเทพมหานคร: บริษัท โรงพิมพ์กรุงเทพ จำกัด
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2563