ความผูกพันของเจ้าจอมมารดาวาดในรัชกาลที่ 5 ผู้ขับร้องเพลงกล่อมพระบรรทม

เจ้าจอมมารดาวาด
เจ้าจอมมารดาวาด

ความผูกพันของ “เจ้าจอมมารดาวาด” ใน “รัชกาลที่ 5” ผู้ขับร้องเพลงกล่อมพระบรรทม

สตรีที่มีโอกาสเข้ารับราชการในพระราชสำนักฝ่ายในในตำแหน่งเจ้าจอมนั้น โดยมากมักเป็นธิดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งบิดามารดาเป็นผู้นำขึ้นถวายตัว และทรงรับไว้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เหตุผลที่สำคัญคือ เพื่อสร้างความมั่นคงแห่งราชบัลลังก์ อันหมายถึงประเทศชาติ โดยการดึงความจงรักภักดีของข้าราชการเหล่านี้มาสู่องค์พระมหากษัตริย์

Advertisement

ความผูกพันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อสตรีเหล่านั้น ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติ และความสามารถในการผูกน้ำพระทัยของพระองค์ ดังปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับความเป็นเจ้าจอมที่ทรงโปรดปรานอยู่หลายท่าน

แต่ความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมท่านหนึ่งนั้น มิใช่เพียงเพื่อรักษาเสถียรภาพของราชบัลลังก์ และมิใช่เพราะคุณสมบัติหรือความสามารถที่โดดเด่นของท่าน ดังเช่นเจ้าจอมท่านอื่น แต่เป็นความผูกพันที่ลึกซึ้งส่วนพระองค์และส่วนตัวของเจ้าจอมท่านนั้น ไม่มีหลักฐานปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ท่านเคยเป็นเจ้าจอมที่โปรดปราน เป็นเพียงความผูกพันที่ดำเนินไปอย่างเงียบ ๆ ทว่าทรงคุณค่าอันยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความจงรักภักดี นับแต่ตัวท่านเจ้าจอมสืบมาจนสายสกุลของท่าน

เจ้าจอมท่านนั้นคือ เจ้าจอมมารดาวาด พระมารดาใน พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร หรือพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกําแพงเพ็ชรอัครโยธิน

ความผูกพันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาวาดนั้น ส่วนหนึ่งมีความสัมพันธ์ทางสายสกุลเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ ท่านปริก มารดาของเจ้าจอมมารดาวาด เป็นธิดาพระยาอิศรานุภาพ (ขุนเณรน้อย) ซึ่งเป็นทั้งราชินิกุล รัชกาลที่ 3 คือ ต้นสกุลทางมารดาเป็นพระน้องนางของพระชนนีเพ็ง พระชนนีในสมเด็จพระศรีสุราไลย

และเป็นราชินิกุล รัชกาลที่ 5 คือ พระเทพเพ็ชรรัตน์ (นาค) บิดาพระยาอิศรานุภาพ สืบเชื้อสายมาจาก พระยารัตนจักร (หงส์ทอง) ซึ่งสมรสกับสตรีสกุลชาวสวนบางเขน ซึ่งเป็นราชินิกุล รัชกาลที่ 5 ดังนั้นจึงอาจกล่าวว่า บรรพชนเจ้าจอมมารดาวาดนั้นมีความสัมพันธ์กับพระบรมราชวงศ์จักรีอย่างใกล้ชิด

โดยเฉพาะเชื้อสายของพระยาอิศรานุภาพที่เป็นสตรี จะเข้ารับราชการในพระราชสำนักฝ่ายใน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ในตำแหน่งซึ่งใกล้ชิด และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยยิ่งนัก คือตำแหน่งพระนมและพระพี่เลี้ยง โดยเฉพาะเป็นพระนมและพระพี่เลี้ยงในพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอในสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ดังนี้

ธิดาชื่อ พู่และทิม เป็นพระพี่เลี้ยงและพระนมในสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี ภายหลังโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลฯ กรมหลวงวิสุทธิกษัตรีย์

ธิดาชื่อ สินและสัมฤทธิ์ เป็นพระพี่เลี้ยงและพระนมในสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ภายหลังโปรดสถาปนาเป็น จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

ธิดาชื่อ เอกและปริก เป็นพระพี่เลี้ยงและพระนมในสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ท่านปริกนั้นสมรสกับนายเสถียรรักษา นามเดิมว่าเที่ยง ตําแหน่งปลัดวังซ้ายในกรมวัง มีบุตรธิดาหลายคน คนสําคัญที่จะกล่าวถึงคือ เจ้าจอมมารดาวาด

ท่านปริกเป็นสตรีที่มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์และสะอาด จึงได้รับเลือกเป็นพระนมในสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์

ด้วยเหตุนี้ ธิดาของพระนมปริก คือเจ้าจอมมารดาวาด จึงเป็นลูกแม่นมเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดูดดื่มน้ำนมและได้รับการฟูมฟักเห่กล่อมจากสตรีคนเดียวกัน นับเป็นการเริ่มความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง และเมื่อคุณวาดเติบโตเป็นสาว ได้ถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายในตำแหน่งเจ้าจอมรุ่นแรก ๆ จึงนับเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ที่ลึกล้ำยิ่งขึ้น

ดังได้กล่าวแล้วว่า ไม่เคยมีหลักฐานปรากฏเกี่ยวกับบทบาทใด ๆ ของเจ้าจอมมารดาวาด ทั้งนี้ เป็นเพราะความผูกพันดังกล่าวอยู่ในพระราชหฤทัยและในใจของทั้งสองฝ่าย จากคำบอกเล่าของ หม่อมเจ้าหญิงกาญจนฉัตร (ฉัตรไชย) สุขสวัสดิ์ ซึ่งนับเนื่องเป็นหลานย่าของเจ้าจอมมารดาวาดโดยตรง ได้ทรงเล่าประทานนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ว่าหน้าที่ของเจ้าจอมมารดาวาด คือ เป็นพนักงานพระภูษา ทำหน้าที่จัดเปลี่ยนฉลองพระองค์และผ้าทรง ซึ่งนับเป็นหน้าที่ที่รับใช้สนองพระเดชพระคุณใกล้ชิดติดพระองค์ แสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมแน่นแฟ้นของทั้งสองฝ่าย

เล่ากันว่า วิธีการจัดเครื่องฉลองพระองค์ถวายของเจ้าจอมมารดาวาดก็คือ ท่านจะยกผ้าทรงออกมากองเป็นตั้งสูง เพื่อถวายให้ทรงเลือก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็จะตรัสสัพยอกล้อเลียนเสมอ ๆ ว่า “ยังกับแขกขายผ้า”

การล้อเลียนนี้ก็ทรงล้อเลียนเทียบเคียงกับเรื่องราวที่ลึกซึ้งที่ทรงรู้กันกับเจ้าจอมมารดาวาด เพราะบรรพบุรุษสายมารดาของเจ้าจอมมารดาวาดนั้นมีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสายสกุล แขกสุนี วัดหงส์และวัดหนังจากเมืองพัทลุง จึงนับเป็นคําล้อเลียนที่รู้เฉพาะระหว่างท่านทั้งสอง แสดงให้เห็นชัดถึงพระเมตตาและความสนิทสนมเป็นพิเศษที่ได้พระราชทานแก่เจ้าจอมมารดาวาด โดยที่ไม่มีหลักฐานเอกสารปรากฏ จะมีก็แต่ความทรงจำที่ประทับแน่นในจิตใจ โดยเฉพาะเจ้าจอมมารดาวาด และถ่ายทอดความทรงจำอันบรรเจิดนี้สู่ลูกหลาน ซึ่งนับวันสิ่งเหล่านี้ก็จะสูญสลายหายไปตามกาลเวลา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน และพระชายา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงประภาวสิทธินฤมล

หน้าที่สําคัญอีกหน้าที่หนึ่งของเจ้าจอมมารดาวาด ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นหน้าที่ที่นำมาซึ่งความผูกพันและกระชับเกลียวสัมพันธ์ของทั้งสองท่านให้แน่นแฟ้นทวีคูณ หน้าที่นั้นคือการขับร้องเพลงกล่อมพระบรรทม

เกี่ยวกับหน้าที่นี้จะต้องกล่าวเท้าความให้ทราบถึงเรื่องราวพระราชภารกิจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์มีพระราชภารกิจที่หนักหน่วงยิ่งนัก เพราะภาวะของประเทศไทยในขณะนั้นหมิ่นเหม่ต่อการที่จะต้องสูญเสียอธิปไตยของชาติ เพราะฉะนั้น พระราชภาระทุกอย่างที่ทรงปฏิบัติล้วนมีเอกราชของชาติเป็นเดิมพันทั้งสิ้น จึงต้องทรงทุ่มเททั้งกำลังพระวรกายและกำลังพระทัยให้แก่พระภารกิจนั้นตลอดเวลาที่ทรงงาน

ดังนั้น ในเวลาที่เสด็จเข้าที่พระบรรทม ข้าราชสำนักฝ่ายในจึงต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ทรงพระสำราญ คลายทุกข์กังวลจากพระราชภารกิจ วิธีหนึ่งคือการขับร้องเพลงกล่อมพระบรรทม

เจ้าจอมที่มีฝีมือในการบรรเลงเครื่องดนตรีทั้งหลาย เช่น เจ้าจอมประคอง ชำนาญซอสามสาย เจ้าจอมสังวาลย์ เชี่ยวชาญกระจับปี่ ก็จะจัดเป็นวงดนตรีขึ้น วงดนตรีที่จะบรรเลงนี้ จะต้องห่างจากที่พระบรรทมพอสมควร พอให้เสียงดนตรีและเสียงขับร้องดังแว่ว ๆ เข้าไปดังพอฟังสบายพระกรรณ นำความเพลิดเพลินมาสู่พระองค์จนทรงพระบรรทมหลับ เพลงที่ใช้ขับร้องโดยมากจะใช้บทละครเรื่องอิเหนา ซึ่งส่วนมากจะเป็นเพลง 2 ชั้น ฟังสบาย ๆ ไม่เอื้อนยืดยาวเกินไป

ผู้ทําหน้าที่ขับร้องกล่อมพระบรรทมนี้ก็คือ เจ้าจอมมารดาวาด เป็นสิ่งที่อาจคาดเดาได้โดยไม่น่าจะเกินจากความเป็นจริง ว่าสุ้มเสียงขับกล่อมพระบรรทมนั้น น่าที่จะกลั่นกรองออกจากใจที่เปี่ยมล้นไปด้วยความผูกพันอันลึกซึ้งผสมผสานกับความจงรักภักดีที่เจ้าจอมมารดาวาดมีต่อองค์เจ้าชีวิต และในฐานะบุรุษอันเป็นที่รัก

ในส่วนองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ในยามที่ทรงเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าทั้งพระวรกายและพระหฤทัย จากพระราชภารกิจที่ต้องทรงรับผิดชอบ คือยามนิทราเข้าที่พระบรรทม เมื่อทรงสดับสำเนียงเสนาะของเจ้าจอมมารดาที่ทรงมีความผูกพันและรู้น้ำพระทัย เสียงนั้นก็น่าที่จะทำให้ทรงรำลึกได้ถึงความหลังที่เคยเต็มไปด้วยความผาสุกในวัยอันเยาว์ เสียงร้องเพลงกล่อมพระบรรทมของเจ้าจอมมารดาวาด จึงน่าจะเป็นเครื่องขับกล่อมให้ทรงบรรทมหลับอย่างเบาสบายพระราชหฤทัย

จึงอาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาวาดนั้น ผิดแผกกว่าเจ้าจอมมารดาท่านอื่น ๆ ที่ดำเนินไปอย่างเงียบ ๆ แต่ทว่าเป็นความผูกพันที่แน่นแฟ้นลึกซึ้ง และสายใยแห่งความผูกพันของท่านทั้งสอง คือ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ซึ่งเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ โดยเฉพาะกิจการอันเกี่ยวกับกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม จนได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นพระบิดาแห่งการรถไฟหลวง และได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็น พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกําแพงเพ็ชรอัครโยธิน

ในบั้นปลายของชีวิต เจ้าจอมมารดาวาด ได้ติดตามพระโอรสออกมาอยู่ ณ วังบ้านดอกไม้ แขวงบ้านบาตร จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ ประมาณ พ.ศ. 2452

เจ้าจอมมารดาวาด
เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ 5 (ภาพวาดโดย สันติ ดีรอด)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2563