ไขปมกรมหลวงประจักษ์ฯ พระอนุชาในร.5 ชำระเหตุคนเมาบู๊กันแถวบ้านหมากแข้ง

(ขวา) กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (public domain) (ซ้าย) ภาพประกอบเนื้อหา - หุ่นชกมวยไทย

หนังสือพิมพ์บางกอกสมัย ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม ร.ศ. 117 พ.ศ. 2411 ในหอสมุดแห่งชาติ บอกเล่าเหตุการณ์อันมีสีสันไว้และมีช่วงหนึ่งเกี่ยวข้องกับพระอนุชาพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5 

เรื่องราวนี้เป็นเอนก นาวิกมูล ค้นพบและนำมาเขียนเผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม พ.ศ. 2544

เนื้อหาในบางกอกสมัย หน้า 14 ลงข่าวหัวเมือง หัวข้อ “บ้านหมากแข้ง แขวงเมืองกุมภวาปี” ว่าได้รับข่าวจากบ้านหมากแข้ง แขวงเมืองกุมกวาปี มณฑลลาวพวน กล่าวถึงการเล่นนักขัตฤกษ์ที่ “หนองมหาสนุก” ว่าในแขวงเมืองกุมกวาปีนั้น จะหาทําเลที่แยบคายเหมือนหนองมหาสนุกนี่ยากนัก

หนองมหาสนุกตั้งอยู่ไกลจากบ้านหมากแข้งประมาณร้อยเส้นเศษเท่านั้น หนองดังกล่าวมีรูปเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวราวข้างละ 10  เส้นเศษ มีต้นไม้ล้อมรอบ ในหนองไม่มีผักใด ขอบหนองและกลางหนองน้ำลึกเท่ากัน ประมาณเพียงสะเอว “พระเดชพระคุณข้าหลวงต่างพระองค์ ซึ่งสําเร็จราชการมณฑลลาวพวนทรงโปรดสถานที่ทําเลหนองนี้มาก” จึงทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์จ้างราษฎร ปลูกสร้างตําหนักขึ้นที่กลางหนอง มีสะพานไต่ถึงกัน และปลูกเรือนแพน้อย ๆ ขึ้นอีก 19 แพจนรอบหนอง นอกจากนั้นยังทําแพเล็กใหญ่ขึ้นอีกเป็นอันมาก

ผู้สื่อข่าวซึ่งไม่ปรากฏนามรายงานต่อไปว่า วันที่ 28 ตุลาคม ร.ศ. 117 มีการนัดประชุมเล่นนักขัตฤกษ์ในหนอง พระเดชพระคุณข้าหลวงต่างพระองค์ได้เสด็จไปที่หนองนั้นด้วย พร้อมด้วยข้าราชการและราษฎรเป็นอันมาก มีการออกร้านขายของที่เรือนแพรอบหนองเป็นการรื่นเริง ตามประสาเมืองดอน

“เวลาค่ำได้มีคอนเซอดในแพหลังหนึ่งซึ่งทําเป็นแพใหญ่งดงามมาก แพได้ลอยไปลอยมาอยู่ในกลางหนอง”

ในเวลานั้นก็มีผ้าป่าของนายอุ้ยมหาดเล็กแห่รอบหนองด้วย เสียงแตรกลองคอนเซอดและกลองผ้าป่าดังหวั่นไหวไปทั้งหนอง

ฝ่ายการเล่น “ในประเทศโน้น” ซึ่งควรหมายถึงการเล่นของชาวอีสาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีลาวแคนหลายวงเที่ยวแอ่วเที่ยวโอ้ไปทั่ว อีกประมาณ 6 ทุ่มเศษจึงได้หยุดการเล่นผ้าป่า แห่ผ้าป่าไปทอดเสียในดง

รุ่งขึ้นวันที่ 28 มีการขายของเช่นวันก่อน เวลากลางวันมีแห่กฐิน พระเดชพระคุณข้าหลวงต่างพระองค์โปรดให้ท่านหยัน  แต่งเป็นเจ้าจีนแทนพระองค์ มีกระบวนแห่พร้อมด้วยแตร กลองยาว พิณพาทย์เครื่องใหญ่ แอ่วลาว มีคนรุ่นหนุ่มแต่งตัวแบบ ต่างๆ กันขี่แพแห่ด้วย ครั้นแห่รอบแล้วก็นํามาทอดแก่พระสงฆ์ วัดบ้านเชียงพิน

เวลาบ่ายมีเรื่องสนุกเกิดขึ้นคือ นาย ส. กับนาย อ. เดิม เดินมาด้วยกันดีๆ โดยต่างเมาสุราด้วยกันทั้งคู่ ทันใดนั้นทั้งสองเกิดนึกอย่างไรขึ้นมาไม่ทราบ ลุกขึ้นวางมวยกันคนละนอนสองนอน ฝ่ายคนที่ดูก็เฮฮากันขึ้น

ความทราบถึงพระเดชพระคุณข้าหลวงต่างพระองค์ “จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้คนทั้งสองลงสู่แพกลางน้ำ แล้วก็ให้กระทํายุทธหัถกันต่อไป คนครอบหนองได้โห่ฮากันสนุกสนานมาก เมื่อถูกเหมาะเข้าที่ใดก็เหาะลงไปในน้ำ ฝ่ายคนหนึ่งก็เหาะตามลงไปปล้ำกัน น้ำเป็นฟองอยู่จนต้องมีคนเข้าห้าม จึ่งได้เลิกกัน”

นี้เรียกได้ว่าเป็นพระอารมณ์ขันอีกอันหนึ่งของพระเดชพระคุณข้าหลวงต่างพระองค์

เวลาคํามีคอนเซอดและลาวแคนเหมือนวันก่อน แต่ผ้าป่าเปลี่ยนเป็นผ้าป่าของกองยุติธรรม 1 นายรองสุจินดา 1 กอง เสมียนคลังและมหาดไทย เมื่อแห่แหนเสร็จแล้วก็นําผ้าป่านั้นไปทอดทิ้งเสียในป่า

พระเดชพระคุณ ข้าหลวงต่างพระองค์ สําเร็จราชการมณฑลลาวพวน

ในข่าวที่ใช้คำเรียกว่า “พระเดชพระคุณ ข้าหลวงต่างพระองค์ สําเร็จราชการมณฑลลาวพวน” แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นใคร

บทความของเอนก นาวิกมูล สรุปว่าหมายถึง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระอนุชาองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5

ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 มีพระนามเดิมว่าว่าพระองค์เจ้าชายทองกองก้อนใหญ่ ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2399 เคยเป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อ เป็นข้าหลวงสําเร็จราชการมณฑลลาวพวน เป็นเสนาบดีกระทรวงวัง กระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารเรือ สิ้นพระชนม์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2467

เป็นต้นสกุลทองใหญ่

เจ้านายพระองค์นี้ทรงชอบเรื่องเทคโนโลยี และมีพระอารมณ์ขันเอาการ ทรงเคยนิพนธ์เรื่องนาฬิกา ลงในหนังสือวชิรญาณวิเศษ เคยเล่นกล้องถ่ายรูปตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 5 เคยออกหนังสือสยามประเภทล้อเลียนหนังสือสยามประเภทของนาย ก.ศ.ร. กุหลาบ มาแล้ว

และก่อนจะจัดให้คนเมาชกกันบนแพในหนองมหาสนุก ทรงเคยตักบาตรด้วยนักโทษมาก่อนด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ความสนุกที่บ้านหมากแข้ง” โดย เอนก นาวิกมูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2544


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2563