ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2544 |
---|---|
ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
เผยแพร่ |
เรื่องความสนุกที่บ้านหมากแข้งที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ ผู้เขียนได้จากหนังสือพิมพ์บางกอกสมัย ฉบับวันที่ 4 ธันวาคม ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441 ) ในหอสมุดแห่งชาติ เหตุการณ์ผ่านไปร้อยกว่าปีแล้ว คิดว่าคงยังไม่มีใครเคยอ่านอีกมาก เพราะไม่เห็นพูดถึงหรืออ้างอิงที่ไหน
ผู้เขียนคิดว่าเป็นสีสันเล็กๆ น้อยๆ ของอดีต โดยเฉพาะทางภาคอีสาน ถ้าไม่เอามาถ่ายทอด เรื่องสนุกก็คง สูญหายไปเสียเปล่าๆ จึงขอนําเรื่องเก่ามาเล่าเผยแพร่อีก
วิธีเล่าจะไม่ใช้การคัดลอกโดยตรง เพราะเกรงท่านจะเบื่อ จะใช้วิธีแปลงความเก่าเป็นภาษาปัจจุบันไปเลย ยกเว้นบ้างก็แต่บางประโยคบางตอน เมื่อเล่าเสร็จแล้ว จะทำหมายเหตุและอภิปรายต่ออีกเล็กน้อยว่าพบปัญหาอะไร
บางกอกสมัย หน้า 14 ลงข่าวหัวเมือง หัวข้อ “บ้านหมากแข้ง แขวงกุมภวาปี” ว่าได้รับข่าวจากบ้านหมากแข้ง แขวงกุมภวาปี มณฑลลาวพวน กล่าวถึงการเล่นนักขัตฤกษ์ที่ “หนองมหาสนุก” ว่าแขวงเมืองกุมภวาปีนั้น จะหาทำเลที่แยบคายเหมือนหนองมหาสนุกนี้ยากนัก
หนองมหาสนุกตั้งอยู่ไกลจากบ้านหมากแข้งประมาณ 100 เส้นเศษเท่านั้น หนองดังกล่าวมีรูปเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวราวข้างละ 10 เส้นเศษ มีต้นไม้ล้อมรอบ ในหนองไม่มีผักใด ขอบหนองและกลางหนองน้ำลึกเท่ากันประมาณเพียงสะเอว “พระเดชพระคุณข้าหลวงต่างพระองค์ ซึ่งสําเร็จราชการมณฑลลาวพวนทรงโปรดสถานที่ทําเลหนองนี้มาก” จึงทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์จ้างราษฎร ปลูกสร้างตําหนักขึ้นที่กลางหนอง มีสะพานไต่ถึงกัน และปลูกเรือนแพน้อยๆ ขึ้นอีก 19 แพจนรอบหนอง นอกจากนั้นยังทําแพเล็กใหญ่ขึ้นอีกเป็นอันมาก
ผู้สื่อข่าวซึ่งไม่ปรากฏนามรายงานต่อไปว่า วันที่ 28 ตุลาคม ร.ศ. 117 มีการนัดประชุมเล่นนักขัตฤกษ์ในหนอง พระเดชพระคุณข้าหลวงต่างพระองค์ได้เสด็จไปที่หนองนั้นด้วย พร้อมด้วยข้าราชการและราษฎรเป็นอันมาก มีการออกร้านขายของที่เรือนแพรอบหนองเป็นการรื่นเริง ตามประสาเมืองดอน ผู้ออกร้านได้แก่
หม่อมเจ้าวัฒนา ขายซุปไก่, พระวิชิตสรสาตร ขายหมี่กะทิ, หลวงวุติวัฒกีกรรม ขายอ้อยควั่น, นายร้อยเอกเสง ขายบรั่นดี,นายร้อยตรีถึง ขายหมี่เจ๊ก, ขุนผลาญณรงค์ ขายหมูส้ม, พระจีนคณาภิบาล ขายเกาเหลา, ขุนไตรภาคสตากร ขายเครื่องกระป๋องต่างๆ, หลวงโยธีอภิบาล ขายขนมจีนน้ำพริก, ขุนบุราณารี ขายหมากบุหรี่, นายร้อยเอกจอน ขายอ้อยควั่น นายจําเนียรภักดี ขายลิ้นจี่กระป๋อง, นายภู่ ขายหมูแนมญวน, หม่อมราชวงศ์ชื่น ขายข้าวต้มหมู, นายร้อยเอกแฟง ขายข้าวแกง
นายอุ้ย ขายวัวหันทั้งตัว, ขุนพิสณฑ์ยุทธการ ขายถั่วยี่สงคั่วและต้ม, นายร้อยโทถึก ขายอ้อยควั่น, ขุนแพทยากร ขายข้าวต้มมัด, นายร้อยตรีหรั่ง ขายสาคูลวก, นายร้อยตรีเสม ขายขนมจีนน้ำยา, ขุนกรรมารกิจโกศล ขายข้าวเหนียวหน้าต่างๆ, หมื่นพินิจพลภักดิ์ ขายกับข้าวฝรั่งต่างๆ, นายร้อยตรีเชย ขายถั่วยี่สงคั่ว, ขุนสิทธิแพทย์ ขายหมากพลู บุหรี่, นายจันทรมณเฑียร ขายเครื่องกระป๋องต่างๆ, นายรองสุจินดา ขายกะละแม ขนมเบื้อง หมูส้ม, นายแปลก ขายตังเมทําเป็นรูปสัตว์กับดอกไม้ต่างๆ ส้ม ฟัก อุทรกังโกง “แปลว่าเหล้าโรงเจ้าข้า”
ฝ่ายมหาชน เมื่อได้เวลาก็ลงแพถ่อไปเที่ยวซื้อของออกเกลื่อนกลุ้มดูสนุกสนาน
“เวลาค่ำได้มีคอนเซอดในแพหลังหนึ่งซึ่งทําเป็นแพใหญ่ งดงามมาก แพได้ลอยไปลอยมาอยู่ในกลางหนอง”
ในเวลานั้นก็มีผ้าป่าของนายอุ้ยมหาดเล็กแห่รอบหนองด้วย เสียงแตรกลองคอนเซอดและกลองผ้าป่าดังหวั่นไหวไปทั้งหนอง
ฝ่ายการเล่น “ในประเทศโน้น” ซึ่งควรหมายถึงการเล่น ของชาวอีสาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีลาวแคนหลายวงเที่ยวแอ่ว เที่ยวโอ้ไปทั่ว ดึกประมาณ 5 ทุ่มเศษจึงได้หยุดการเล่นผ้าป่า แห่ผ้าป่าไปทอดเสียในดง
รุ่งขึ้นวันที่ 28 มีการขายของเช่นวันก่อน เวลากลางวันมีแห่กฐิน พระเดชพระคุณข้าหลวงต่างพระองค์โปรดให้ท่านหยัน แต่งเป็นเจ้าจีนแทนพระองค์ มีกระบวนแห่พร้อมด้วยแตร กลอง ยาว พิณพาทย์เครื่องใหญ่ แอ่วลาว มีคนรุ่นหนุ่มแต่งตัวแบบต่างๆ กันขี่แพแห่ด้วย ครั้นแห่รอบแล้วก็นํามาทอดแก่พระสงฆ์วัดบ้านเชียงพิน
เวลาบ่ายมีเรื่องสนุกเกิดขึ้นคือ นาย ส. กับนาย อ. เดิมมาด้วยยกันดีๆ โดยต่างเมาสุราด้วยกันทั้งคู่ ทันใดนั้นทั้งสอง เกิดนึกอย่างไรขึ้นมาไม่ทราบ ลุกขึ้นวางมวยกันคนละนอนสอง ฝ่ายคนที่ดูก็เฮฮากันขึ้น
ความทราบถึงพระเดชพระคุณข้าหลวงต่างพระองค์ “จึ่ง โปรดเกล้าฯ ให้คนทั้งสองลงสู่แพกลางน้ำ แล้วก็ให้กระทํายุทธหัถกันต่อไป คนดูรอบหนองได้โห่ฮากันสนุกสนานมาก เมื่อถูกเหมาะเข้าทีใดก็เหาะลงไปในน้ำ ฝ่ายคนหนึ่งก็เหาะตามลงไปปล้ำ น้ำเปนฟองอยู่จนต้องมีคนเข้าห้าม จึ่งได้เลิกกัน”
นี่เรียกได้ว่าเป็นพระอารมณ์ขันอีกอันหนึ่งของพระเดชพระคุณข้าหลวงต่างพระองค์
เวลาค่ำมีคอนเซอดและลาวแคนเหมือนวันก่อน แต่ผ้าป่าเปลี่ยนเป็นผ้าป่าของกองยุติธรรม 1 นายรองสุจินดา 1 กอง เสมียนคลังและมหาดไทย เมื่อแห่แหนเสร็จแล้วก็นําผ้าป่านั้นไปทอดทิ้งเสียในป่า
รุ่งขึ้นวันที่ 30 การขายของและการเล่นต่างๆ มีเหมือน เช่น วันที่ 28 ทั้งสิ้น เว้นแต่ผ้าป่า เป็นผ้าป่าของนายบริบาลรามเขตร กรมเมืองๆ หนองคาย อนึ่งในเวลากลางคืน ทั้งสามคืนนั้นหนังสือพิมพ์รายงานบรรยากาศเพิ่มเติมว่ามีคนถ่อแพเร่ ขายของคล้ายตลาดท้องน้ำในกรุงเทพฯ และมีลอยกระทงด้วยทั้งสามวัน แสงไต้แสงไฟสว่างเรื่องทั่วไปทั้งหนอง
แล้วในที่สุด ข่าวก็จบลงว่า “ที่มีนักขัตฤกษ์ขึ้นเช่นนี้ ข้าพเจ้าเหนว่าที่บ้านหมากแข้งเปนที่ดอน ไม่สู้จะมีการสนุกสนานอะไร จึ่งได้ทรงการสนุกเรื่องนี้ขึ้น คนทั้งหลายเปนที่ชื่นชมยินดีทั่วไป คนชาวกรุงที่ได้ไปการสนุกคราวนี้ได้พากันร้องโดยเสียงอันดังว่าคิดถึงงานภูเขาทองในกรุงเทพฯ จริงๆ เพราะวันตรงกัน”
ต่อไปเป็นการอภิปรายหมายเหตุเพิ่มเติม
กล่าวในนามของคนยุคปัจจุบันและคนที่ไม่ได้เป็นชาวบ้านหมากแข้งหรือชาวอีสาน เมื่อหยิบข่าวนี้มาอ่านที่แรกเห็นว่าเพลินๆ ดี ได้รู้ว่าคนแต่ก่อนรู้จักคิดรู้จักสร้างความรื่นเริงได้หลายวิธี
ต่อมาเมื่อต้องการรู้รายละเอียดเพิ่มเติมจึงพบว่าบางข้อ บางคํามีข้อสงสัยต้องเสียเวลาหาคําตอบกันพอสมควร จะขอ บันทึกไว้รวมกับหมายเหตุอื่นๆ ด้วยคือ
1. คําว่าหมากแข้ง แรกสุดอยากจะรู้ว่าหมากแข้งหมายถึงอะไร ทีแรกคิดว่า คงหาคําตอบได้สบาย ๆ เพราะเคยได้ยินมาก่อนหลายคราว ลองเปิดหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสานที่เพิ่งทําเสร็จเมื่อ ปี 2543 ดู พบว่าไม่มีคําว่า หมากแข้ง มีแต่หมากอื่น ๆ
นึกไม่ถึงว่าจะพบปัญหาตั้งแต่คําแรก ลองโทรศัพท์ถามพรรคพวกชาวอีสาน เขาว่าหมากแข้ง หมายถึง มะเขือพวง ยังไม่แน่ใจ กลับถึงบ้านลองเปิดหนังสือไม้เทศเมืองไทยดู ไม่พบคําว่าหมากแข้ง หรือมะเขือพวง ต้องรื้อหนังสือสารานุกรม ภาษาอีสาน ของ ดร.ปรีชา พิณทอง คําว่าหมากแข้งไม่มีอีก มีแต่หมากกลิ้ง (ล้อสําหรับเด็กกลิ้งเล่น), หมากเก็บหอย (โยนเปลือกหอยแล้วนับ), หมากค่าง (ชื่อพรรณ ไม้ชนิดหนึ่ง), หมากจก (จอบขุดดิน) ฯลฯ
ค้นคําว่าแข้ง ท่านแปลว่าแจ้ง เช่น ฟ้าเบิกแข้งคาไค้ซู่อัน เปิดคําว่าแค่งดูบ้าง ท่านว่าหมายถึงแข้ง อวัยวะส่วนขา
ต้องคําว่า “แค้ง” ถึงจะแปลว่ามะเขือพวง ชาวอีสานเรียก มะเขือพวงว่า “หมากแค้ง” และหมากแค้งนั้นก็มีหลายชนิดทั้ง หมากแค้งขม หมากแข้งขาว หมากแค้งสะเภา หมากแค้งเครือ
สุดท้ายดูหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ของราชบัณฑิตยสถาน บ้าง (ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2528 โน่น) ปรากฏว่าได้ คําตอบน่าสนใจอยู่ ท่านว่าหมากแข้งเป็นชื่อเดิมของ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ โดยทางรถยนตร์ 562 กิโลเมตร
“จังหวัดอุดรธานีเดิมเป็นบ้านร้าง เรียกว่าบ้านหมากแข้ง โดยเหตุที่บ้านนั้นมีต้นหมากแข้ง (มะเขือพวง) ใหญ่ต้นหนึ่ง วัด ผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 40 เซนติเมตร เมื่อ พ.ศ. 2436 นายพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงต่างพระองค์ซึ่งทรงบัญชาการมณฑลลาวพวนได้ย้ายที่บัญชาการจากหนองคาย มาตั้งที่บ้านหมากแข้งซึ่งเป็นบ้านร้าง แต่หาได้ตั้งเป็นเมืองไม่ ใช้แต่ที่ประทับในค่ายทหารเป็นที่บัญชาการ ถึง พ.ศ. 2481 จัดการปกครองใหม่ แต่ให้ตั้งบ้านหมากแข้งเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น อ.หนองหาน เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์นั้นเสด็จกลับเข้ากรุงเทพฯ แล้ว
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนามาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลก็คงตั้งที่บัญชาการอยู่ที่บ้านหมากแข้งนี้ แต่ก็ยังมิได้ตั้งเป็นเมือง ต่อมาถึง 2449 พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ออกมา ข้าหลวงเทศาภิบาล ได้ตัดถนนหนทางบ้านหมากแข้งขึ้นหลายสาย จึงมีผู้คนอพยพไปตั้งบ้านเรือนมากขึ้น พ.ศ. 2450 มีท้องตรายกบ้านหมากแข้งเป็นเมืองอุดรธานี”
เป็นอันได้ความคร่าวๆ ว่าบ้านหมากแข้งมีที่มาจากต้นหมากแค้งหรือหมากแข้งแน่นอน แต่ที่พูดถึงหมากแข้งใหญ่ลําต้นเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เซนติเมตรนั้น เป็นการพูดแบบด้วนๆ ห้วนๆ น่าเสียดายมากที่ไม่เล่าต่อว่าหมากแข้งนั้นอยู่บริเวณไหน และยังอยู่หรือไม่ ถ้าตายไปแล้ว จังหวัดอุดรธานีก็ควรปลูกขึ้นมาใหม่แล้วทำนุบำรุงให้งดงามในฐานะที่มาของเมือง
2. บ้านหมากแข้ง ในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมภาคอีสาน กล่าวถึง “บ้าน” ต่างๆ หลายบ้าน เช่น บ้านกรวด, บ้านแก้ว, บ้านกุดลง, บ้านเชียง… ฯลฯ แต่ไม่ได้กล่าวถึง “บ้านหมากแข้ง”
มีที่ใกล้เคียงที่สุดคือ “บ้านเดื่อหมากแข้ง” ซึ่งท่านให้ดู
ทำไมจึงเกิดคําว่าบ้านเพื่อหมากแข้งให้ยุ่งยากขึ้นมาอีก ต้องเวลาอ่านและทําความเข้าใจกันอีกพักหนึ่ง สุดท้ายได้คำตอบในหน้า 5282 ว่า
“การที่กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมทรงตั้งกองข้าหลวงฯ ที่บ้านหมากแข้งซึ่งเป็นบ้านร้าง อยู่ติดกับบ้านเดื่อ เรียกกันว่าบ้าน เดื่อหมากแข้ง บ้านหมากแข้งนี้ประชาชนย้านไปตั้งอยู่ที่บ้านอื่นเพราะโรคระบาด เห็นว่าสถานที่หมู่บ้านเก่าที่ร้างราบเรียบดี ไม่ต้องโค่นป่าถางพง และท่านเคยเดินทางผ่านมา ได้เคยปลูกพลับพลาพักระหว่างทางถึง 2 ครั้ง”
โดยสรุปก็คือ มีการรวมบ้านเดื่อกับบ้านหมากแข้งเข้าเป็นคําเดียวกัน กลายเป็นบ้านเดื่อหมากแข้ง แต่ที่สุดคนมักพูด บ้านหมากแข้ง (แล้วไฉนในสารานุกรมจึงไม่ใส่คําว่าบ้านหมากแข้งเข้าไปด้วย)
3. คําว่าเมืองกุมภวาปี อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย บอกว่าเป็นอําเภอขึ้นกับ อุดรธานี เดิมเป็นบ้าน เรียกว่าบ้านบึงหม้อ อยู่ในเขตเมืองหนองหาน ยกเป็นเมืองกุมภวาปีในรัชกาลที่ 5 แล้วยุบเมืองเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2442 คํานี้มีอธิบายในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคอีสาน ผู้เขียนไม่ติดใจอะไร แต่ถ้าไม่ค้นคว้าก็คงไม่รู้ที่ไปที่มาอยู่ดี
4. มณฑลลาวพวน มาจากการแบ่งพื้นที่เพื่อการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ในที่นี้ไม่ต้องรู้ละเอียดก็ได้ แต่ถ้าอยากรู้ละเอียดควรอ่านหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 2 รัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2475 ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 ดูหน้า 209
มณฑลนี้ก่อน พ.ศ. 2436 เคยรวมหัวเมืองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เช่น เมืองพวน เมืองเชียงขวาง เข้าด้วย ต่อมาเมื่อไทยเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส ข้าหลวงใหญ่ที่ต้องถอยมาอยู่ที่บ้านหมากแข้ง จึงตั้งหมากแข้งขึ้นเป็นเมือง
5. พระเดชพระคุณ ข้าหลวงต่างพระองค์ สําเร็จราชการมณทลลาวพวน ในข่าวไม่ได้บอกว่าเป็นใคร ต้องรู้มาก่อนมาก่อนสักเล็กน้อย สรุปว่าหมายถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระอนุชาองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายทองกองก้อนใหญ่ (5 เมษายน 2399-25 มกราคม 2467 ) เคยเป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อ เป็นข้าหลวงสําเร็จราชการมณฑลลาวพวน เป็นเสนาบดีกระทรวงวัง กระทรวง กลาโหม และผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นต้นสกุลทองใหญ่
เจ้านายพระองค์นี้ทรงชอบเรื่องเทคโนโลยี และมีพระอารมณ์ขันเอาการ ทรงเคยนิพนธ์เรื่องนาฬิกา ลงในหนังสือวชิรญาณ วิเศษ เคยเล่นกล้องถ่ายรูปตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 5 เคยออกหนังสือสยามประภืทล้อเลียนหนังสือสยามประเภทของนาย ก.ศ.ร. กุหลาบ และก่อนจะจัดให้คนเมาชกกันบนแพในหนองมหาสนุก ทรงเคยตักบาตรด้วยนักโทษมาก่อน
6. หนองมหาสนุก คํานี้ไม่พบในสารานุกรมวัฒนธรรมหรืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เข้าใจว่าผู้สื่อข่าวจะตั้งขึ้นเอง แต่เป็นปัญหาว่าถ้าอย่างนั้น หนองนี้โดยทั่วไปเรียกกันว่าหนองอะไรเล่า
ผู้เขียนนึกถึง “หนองประจักษ์” เพราะดูสัมพันธ์กับข่าว แต่ก็จนใจไม่ได้ไปอุดรธานีนานแล้ว ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้องหรือไม่
เปิดสารานุกรมวัฒนธรรมภาคอีสาน เล่ม 15 ดู ไม่มีการอธิบายคําว่าหนองมหาสนุก หรือหนองประจักษ์แต่อย่างใด มีแต่ ภาพหนองประจักษ์ประกอบในเรื่องอําเภอเมืองอุดรธานี (หน้า 5286) กับคําอธิบายเรื่องหนองอื่น ๆ เช่น หนองบุนนาก, หนองปล่อง, หนองป่าพง เป็นต้น
ดูคําว่า ประจักษ์ บ้าง ก็อธิบายแต่พระประวัติ, อนุสาวรีย์, ค่ายทหาร กับพระตําหนักหนองประจักษ์ (หน้า 5273) ซึ่งเดิม เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัด
ในหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์บอกสั้นๆ ว่า หนองประจักษ์ เป็นอ่างเก็บน้ำใน อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี “สร้างและเสร็จ ใน พ.ศ. 2496”
คําว่าหนองประจักษ์ เกิดขึ้นเมื่อไร มีที่มาอย่างไร ยังต้องถือว่าเป็นปัญหา เป็นปัญหาเล็กๆ ซึ่งเชื่อว่าคงมีผู้รู้ช่วยอธิบายได้ เหมือนปัญหาต้น ๆ ที่เชื่อว่าคนในพื้นถิ่นสามารถให้คําตอบได้สบายๆ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2562