สุลต่านโอมาน “อัล ซาอิด” รัชสมัยเริ่มต้นความรุ่งเรืองแห่งโอมาน ดินแดนเก่าแก่

สุลต่าน กาบุส บิน ซาอิด อัล ซาอิด (Qaboos bin Said al Said) เสด็จฯ ในนิทรรศการผลิตภัณฑ์โอมาน เมื่อปี 1998 (ภาพจาก MOHAMMED MAHJOUB / AFP)

ประเทศโอมานถือเป็นดินแดนประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีความหลากหลายทางภูมิประเทศ และในด้านการเมืองการปกครอง รัชสมัยแห่งสุลต่าน กาบุส บิน ซาอิด อัล ซาอิด (Qaboos bin said al Said) สุลต่านองค์สำคัญแห่งยุค ว่ากันว่ารัชสมัยของพระองค์เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของยุคอันรุ่งเรืองแห่งโอมาน

สุลต่าน กาบุส บิน ซาอิด อัล ซาอิด ทรงรับการศึกษาในอังกฤษ และยังประจำการในกองทัพเครือบริติชระยะเวลาหนึ่งด้วย พระองค์เสด็จฯ กลับโอมานในค.ศ. 1966 และขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดาใน ค.ศ. 1970 (ภายหลังการรัฐประหาร)

จักรพันธุ์ กังวาฬ บรรยายในบทความ “ท่องไปในโอมาน” จากนิตยสาร “สารคดี” ว่า โอมานในเวลานั้นมีถนนลาดยางแค่ 10 กิโลเมตร จากสนามบิน Bait al Falaj สู่มัสกัต ขณะที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างไฟฟ้า และโรงพยาบาลก็มีจำกัด ระบบไฟฟ้ามีแค่เฉพาะเมืองมัสกัต และอีกเมืองเท่านั้น โรงพยาบาลก็มีเพียงแห่งเดียว และยังเป็นโรงพยาบาลซึ่งดำเนินการโดยมิชชันนารีอเมริกัน

ในด้านการศึกษา บทความบรรยายว่า โรงเรียนระดับประถมในเมืองมัสกัต มีเพียง 3 แห่งเท่านั้น เช่นเดียวกับในเมืองซาลาลาห์ และ Muttrah นักเรียนทั้งประเทศมีราว 900 คน การศึกษาในระดับสูงกว่านั้นจำเป็นต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ในค.ศ. 1970 ไม่มีชาวโอมานในประเทศที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเลย ส่วนใหญ่ที่สำเร็จการศึกษาก็มักไม่ได้เดินทางกลับโอมาน

เมื่อสุลต่านขึ้นครองราชย์ พระองค์ประกาศว่า จะพัฒนาประเทศไปสู่ความก้าวหน้า เมื่อมีการพบแหล่งน้ำมันเพิ่มขึ้น รายได้จากน้ำมันจึงกลายเป็นรายได้หลักของประเทศ กระทั่ง ค.ศ. 1984 รายได้ร้อยละ 84 ของประเทศมาจากการขายน้ำมัน ตัวเลขรายได้จากน้ำมันของโอมานอยู่ที่ 1,292 ล้านโอมานริยัล หรือประมาณ 3,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เวลาผ่านไปจนถึงค.ศ. 1990 โอมานมีถนนลาดยางกว่า 4,500 กิโลเมตร มีถนนซูเปอร์ไฮเวย์ที่เชื่อมโยงแต่ละส่วนของประเทศ โรงพยาบาลเพิ่มเป็น 47 แห่ง ระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น มีมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ที่เมืองชีบ (Seeb) ใกล้กับเมืองมัสกัต

เมืองมัสกัต ถือเป็นเมืองเก่าแก่ที่ขึ้นชื่อของโอมาน มีความสำคัญหลายด้านมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยในช่วงเวลานั้นเอง กองทัพเรือโปรตุเกสยึดเมืองมัสกัต และสร้างป้อมปราการ 2 แห่ง คือ ป้อมมิรานี และป้อมจารารี บนหน้าผาเหนืออ่าวโอมาน เมืองมัสกัต ได้รับการยกฐานะเป็นเมืองหลวงเมื่อค.ศ. 1780

กองทัพเรือโปรตุเกสยึดครองเมืองแถบชายฝั่งโอมานนานถึง 150 ปี จนถึง ค.ศ. 1650 ราชวงศ์ยะรูบา ขับไล่ชาวโปรตุเกสออกไป และปกครองโอมานต่อมาอีกหลายร้อยปี แต่ในค.ศ. 1714 เกิดสงครามกลางเมือง พวกเปอร์เซียจึงเข้ามารุกรานดินแดน ชาวเมืองโชฮาร์นำโดยอาหมัด อัล บู ซาอิ (Ahmad Al Bu Said) ผู้สถาปนาราชวงศ์อัล บู ซาอิด (ราชวงศ์ซึ่งปกครองโอมานจนถึงปัจจุบัน) เป็นฝ่ายเข้าต่อต้าน

เนื่องจากเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีภูมิประเทศหลากหลาย จึงมักพบเห็นโบราณสถานจำพวกป้อมปราการกระจายทั่วประเทศ ขณะที่กลุ่มคนโอมานก็มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะตัว

จากคำบอกเล่าของผู้ไปเยือนโอมาน เมื่อ พ.ศ. 2542 สภาพเมืองมัสกัต มีความเจริญไม่แพ้เมืองหลวงอื่นของโลก มีโครงสร้างพื้นฐานครบครัน


อ้างอิง:

จักรพันธุ์ กังวาฬ. “ท่องไปในโอมาน”. ใน สารคดี ปีที่ 15 ฉบับ พฤศจิกายน 2542. น. 114-120.