“เลี้ยงโต๊ะจีน” กับการควบคุมชาวจีนในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5

บรรยากาศการกินเลี้ยงโต๊ะในศาลเจ้าบรรพชนประจำตระกูลแซ่แห่งหนึ่งในเมืองแต้จิ๋ว (ถ่ายภาพโดย เหยาสือหง ภาพจากหนังสือเกร็ดวัฒนธรรมแต้จิ๋ว, พิมพ์ครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยซัวเถา, 2004)

เมื่อพูดว่า “โต๊ะจีน” เราส่วนใหญ่เข้าใจตรงกันว่าเป็นวัฒนธรรมการกินอย่างหนึ่งของจีน คาดว่าคงมีน้อยคนหรือไม่มีเลย ที่จะคิดไปว่าคำว่า “โต๊ะจีน” นี้ จะหมายถึงเฟอร์นิเจอร์แบบจีน  ดังนั้นเราจึงใช้คำว่า “กินโต๊ะจีน” กันโดยทั่วไปแบบไม่เข้าใจคลาดเคลื่อน

ส่วนโต๊ะจีนที่จะพูดคุยกันในวันนี้ ดร. นนทพร อยู่มั่งมี  จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เขียนไว้ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมกราคม 2563 กับบทความชื่อ “โต๊ะจีน : อำนาจรัฐและการควบคุมการใช้พื้นที่เมืองของชาวจีนในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5

หากก่อนจะมีโต๊ะจีน ก็ต้องมีคนจีนและชุมชนก่อน คนจีนเดินทางเข้ามาทำการค้าและขายแรงงานในเมืองไทยช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18  ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีคนจีนจำนวนมากเดินทางออกสู่โพ้นทะเล

ด้วยสถานการณ์การเมืองภายในประเทศจีนในด้านต่างๆ เช่น การรุกรานประเทศจีนของชาติตะวันตกที่ส่งผลให้จีนต้องเปิดเมืองท่าสำคัญ 4 เมือง (เอ้หมึง, ฝูโจว, หนิงโป และเซี่ยงไฮ้), ความไม่สงบจากกบฏไต้เผงที่ทำการต่อต้านราชวงศ์ชิงทำให้มีการปราบปรามอย่างต่อเนื่องระหว่าง พ.ศ. 2381-2408 ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทำให้การคมนาคมขนส่งทันสมัยขึ้น เรือกลไฟที่เข้ามาแทนเรือใบประมาณ พ.ศ. 2413  ทำให้การเดินทางสู่โพ้นทะเลของชาวจีนสะดวก รวดเร็ว และมีจำนวนปริมาณผู้เดินทางมากขึ้น

ซึ่งแน่นอนว่าปลายทางหนึ่งของชาวจีนโพ้นทะเลคือ ประเทศไทย

ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติบันทึกว่า เมื่อถึงช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 จากสถิติของกระทรวงนครบาลได้สำรวจจำนวนราษฎรในกรุงเทพฯ พื้นที่อำเภอชั้นใน เมื่อ พ.ศ. 2450 พบว่ามีราษฎรทั้งสิ้น 522,054 คน โดยมีราษฎรไทยทั้งสิ้น 317,975 คน (ชาย 142,512 คน หญิง 175,463 คน) ส่วนราษฎรจีนมีทั้งสิ้น 181,479 คน (ชาย 160,818 คน หญิง 20,661 คน) ขณะที่ราษฎรเชื้อชาติอื่นมีเพียงจำนวนไม่มากนัก ได้แก่ แขก (รวมทุกศาสนา) มี 15,883 คน และฝรั่ง (ชาวตะวันตก) มี 1,564 คน และกลุ่มเชื้อชาติอื่นๆ อีก 5,153 คน

ทว่าชาวจีนจำนวนมากที่อยู่ในเมืองไทยขณะนั้น ยังแบ่งกันเป็นกลุ่มต่างๆ อีกด้วย โดยบางกลุ่มก็มีการรวมตัวกันที่เข้มแข็ง มีหัวหน้า, มีสมาชิก, มีผลประโยชน์, มีระบบระเบียบในการจัดการของกลุ่มแบบลับๆ ฯลฯ กลุ่มประเภทนี้ เรียกกันโดยทั่วไปว่า “อั้งยี่”

ทีนี้เราก็มาทำความรู้จักกับ “โต๊ะจีน” กันบ้าง

“เลี้ยงโต๊ะจีน” กับการควบคุมชาวจีนในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5

โต๊ะจีนเป็นรูปแบบการเลี้ยงอาหารแบบหนึ่งของจีน ซึ่งประกอบด้วยชุดอาหารหลายอย่างด้วยกัน ส่วนมากจะมีประมาณ 8-10 อย่าง แต่บางครั้งอาจมีถึง 12 อย่างก็มี แบ่งเป็นกลุ่มตามการเสิร์ฟ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 อาหารเรียกน้ำย่อย ได้แก่ ออเดิฟ

กลุ่มที่ 2 ซุปน้ำข้นที่เชื่อว่ามีสรรพคุณบำรุงร่างกาย ได้แก่ ซุปหูฉลาม หรือซุปกระเพาะปลา

กลุ่มที่ 3 อาหารประเภทกับข้าวทำจากเนื้อสัตว์ที่ให้ความหมายในทางเป็นมงคล ได้แก่ กุ้ง หมู ไก่ เป็ด และปลา ซึ่งมีความหมายโดยรวมแสดงถึงความก้าวหน้าในการงาน มีโชคลาภ มั่งคั่งมั่นคง และอายุยืน

กลุ่มที่ 4 อาหารล้างปากเพื่อดับความเลี่ยน ได้แก่ ซุปใสต่างๆ

กลุ่มที่ 5 อาหารประเภทเมนูอิ่ม เนื่องจากคนจีนมีความเชื่อว่าต้องให้แขกมาร่วมงานได้รับประทานอย่างดีและอิ่มหนำสำราญจึงจัดอาหารดีๆ มาก่อน และจัดอาหารหนักๆ สำหรับแขกที่ยังรับประทานไม่อิ่ม

กลุ่มที่ 6 ของหวาน มีความหมายเพื่อให้ชีวิตปราศจากความขมขื่น

การกินโต๊ะจีนหรือการเลี้ยงโต๊ะจีน วันนี้เราเห็นได้ในสังคมไทยเป็นเรื่องปกติ ในงานเฉลิมฉลองต่างๆ เช่น งานแต่งงาน, งานวันเกิด, งานเลี้ยงฉลองตำแหน่งใหม่, งานเลี้ยงของหน่วยงานในโอกาสต่างๆ, งานบวช ฯลฯ  ขณะที่ในสังคมของคนจีนโพ้นทะเลเอง การเลี้ยงโต๊ะจีนยังใช้ในงานอื่นๆ อีก เช่น งานศพ, งานปีไหว้ศาลเจ้าในชุมชน ฯลฯ

เมื่อถอยหลังไปในสมัยรัชกาลที่ 5 การเลี้ยงโต๊ะจีนก็ไม่ได้มีแต่ของกินอร่อยๆ เท่านั้น หลายครั้งการเลี้ยงโต๊ะจีนก็มีเหตุระทึกขวัญตามมาด้วย หอจดหมายเหตุแห่งชาติมีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนมาก หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เหตุการณ์วิวาทครั้งใหญ่ของชาวจีนอั้งยี่โรงสีบริเวณบางรัก ใน พ.ศ. 2432 กรมพระนครบาลมีมาตรการจัดการพื้นที่เมืองต่อพวกอั้งยี่ด้วยการยึดตึก เรือน โรง ที่พวกอั้งยี่ใช้เป็นแหล่งชุมนุมมาเป็นของรัฐ พร้อมทั้งตักเตือนผู้ที่เป็นเจ้าของอาคารสถานที่ต่างๆ ซึ่งให้บรรดาอั้งยี่เช่าดังนี้

“จีนอั้งยี่สามจำพวกมีความผิดเปน มหันตโทษ มัทธยมโทษ ลหุโทษ ต้องบทพระอัยการให้ริบราชบาทว์ ที่ตึกที่โรงซึ่งเปนกงสีของพวกอั้งยี่ ยี่ฮ่อซิวลี่กือ ตั้วกงสี งี่เฮง แลวิญาณกทรัพย์ อวิญญาณกทรัพย์ ของกงสีทั้ง 3 ยี่ห้อเปนของแผ่นดินให้สิ้นเชิง แต่กงสีอ้ายพวกอั้งยี่ยี่ฮ่อใดที่ ตึก เรือน โรง ที่แผ่นดินไม่เปนของพวกอั้งยี่เอง เปนแต่เช่ายืมที่ตึกเรือนโรงของผู้อื่นตั้งเปนกงสี

ใบอนุญาตเลี้ยงโต๊ะออกโดยเจ้าหน้าที่กรมกองกองตระเวน สมัยรัชกาลที่ 5 (เอกสารจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

สำหรับเลี้ยงโต๊ะเรียกจีนเข้าอั้งยี่เปนที่สำหรับเก็บเครื่องอาวุธแลบังคับการต่างๆ ตามธรรมเนียมของอ้ายพวกอั้งยี่นั้น ผู้เจ้าของที่ตึก เรือน โรง ซึ่งให้พวกจีนอั้งยี่เช่ายืมเปนกงสีนั้นมีความผิด เพราะอ้ายพวกจีนอั้งยี่ทั้ง 3 ยี่ฮ่อนี้ได้เคยก่อการวิวาท ตี ฟัน แทง กันแลกระทำโจระกำม์ ล่วงเลมิดพระราชกำหนดกฎหมายเนืองๆ มา

ซึ่งเปนการทราบปรากฏทั่วกันได้ แลอ้ายพวกจีนอั้งยี่ตั้งกงสีขึ้นแห่งใด ก็เปนที่ชุมนุมเลี้ยงโต๊ะเรียกจีนเข้าอั้งยี่ เปนที่รวบรวมเกบเครื่องศาสตราวุธต่างๆ เปนที่น่ากลัวอันตราย ไม่ควรเจ้าของที่จะให้เช่า ยืม ฤอาไศรย ซึ่งเปนการเหมือนให้ที่สำนักนิ์แลกำลังแก่อ้ายพวกจีนอั้งยี่พวกคนร้าย”

เมื่อเกิดเรื่องหลายๆ ครั้งเข้า การเลี้ยงโต๊ะจีนก็ต้องมี “ใบอนุญาตเลี้ยงโต๊ะ” จากทางการ ทุกครั้งที่มีการจัดเลี้ยงโต๊ะ เพื่อที่กองตระเวนจะได้เข้ามาดูแลความเรียบร้อย

ความอร่อยของอาหารหลายจานบนโต๊ะจีน วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเลี้ยงโต๊ะของกลุ่มอิทธิพล และควบคุมกำกับของภาครัฐในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งหมดนี้อะไรจะเด็ดกว่ากัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2563